วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

หมอสูติแนะวิธีเลือกผ้าอนามัยให้เหมาะกับตัวเอง

On March 12, 2021

คอลัมน์ : เปิดโลกสุขภาพ

ผู้เขียน : พญ.สุขุมาลย์ สว่างวารี สูตินรีแพทย์ รพ. พญาไท 1

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 12-19 มี.ค. 64 )

หากพูดถึงผ้าอนามัยก็มักจะคิดถึงแต่เรื่องของสุภาพสตรีเท่านั้น แต่ความเป็นจริงผ้าอนามัยมีรายละเอียดมากมาย และสุภาพบุรุษบางท่านก็อาจมีประสบการณ์ใช้เช่นกัน

ผ้าอนามัยตามความหมายของวิกิพีเดียคือ แผ่นที่ใช้ซับเลือดประจำเดือนของสตรี ลักษณะใช้แล้วทิ้ง มีรูปแบบการใช้งานตามแต่ละประเภท ส่วนใหญ่ทำจากวัสดุที่มีความสามารถซึมซับของเหลวได้ดี มีความนุ่ม และห่อทับด้วยผ้าสำลี บางชนิดเพิ่มกลิ่นหอมเพื่อดับกลิ่นประจำเดือนด้วย

ในประเทศไทยผ้าอนามัยถือว่าเป็นเครื่องสำอางควบคุมตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2535

สำหรับประโยชน์หลักๆของผ้าอนามัยได้แก่

1.ใช้ซึมซับเลือดประจำเดือน

2.ใช้ซึมซับตกขาวหรือมูกผิดปกติ โดยเฉพาะผ้าอนามัยแบบบาง หรือแผ่นรองซับใน

3.ซับสารคัดหลั่งทางทวารหนัก เช่น กรณีริดสีดวงทวาร หรือผู้ที่ทานยาขับไขมันและมีการรั่ว

4.บุคคลที่มีภาวะปัสสาวะเล็ด

5.เด็กที่ยังคุมการขับปัสสาวะได้ไม่ดี

สำหรับผ้าอนามัยที่นิยมใช้ในปัจจุบันมักเป็นส่วนผ้าอนามัยชนิดที่ใช้ภายนอก ซึ่งเรียกกันโดยทั่วไปว่า maxi pad สำหรับผ้าอนามัยชนิดสอดมีความนิยมน้อยกว่าแบบใช้ภายนอก โดยมักแบ่งเป็นชนิดบางและหนาที่สามารถซึมซับปริมาณของเหลวได้มากกว่าแบบบาง หรืออาจแบ่งเป็นชนิดปกติ ชนิดพิเศษ ชนิดใช้กลางวันหรือกลางคืน บางชนิดแบ่งตามความยาวของขนาดผ้าอนามัยอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า pantiliners หรือแผ่นอนามัย มีลักษณะเป็นแผ่นบางขนาดเล็ก ใช้ดูดซับของเหลวที่ไหลออกมาทางช่องคลอดเป็นประจำทุกวัน หรืออาจใช้ในวันที่ประจำเดือนกำลังจะหมด หรือใช้เป็น backup (แผ่นกัน) สำหรับผู้ที่ใช้ผ้าอนามัยชนิดสอด

วิธีเลือกซื้อและใช้ผ้าอนามัย

เนื่องจากผ้าอนามัยเป็นผลิตภัณท์ที่อยู่ติดกับอวัยวะเพศที่มีผิวบอบบางและมีโอกาสการติดเชื้อได้ง่าย ดังนั้น การเลือกใช้ผ้าอนามัยต้องได้รับการดูแลในเรื่องความสะอาดมากเป็นพิเศษ การเลือกผ้าอนามัยที่เหมาะสมและรู้วิธีใช้อย่างถูกต้องจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ

1.เลือกดูห่อบรรจุที่ใหม่ ปิดสนิท ไม่ฉีกขาด ไม่มีรอยเปื้อน และไม่มีกลิ่นอับชื้น

2.เลือกขนาด แบบ และความหนาของผ้าอนามัย ให้เหมาะสมกับปริมาณของประจำเดือนในแต่ละวัน

3.เมื่อแกะใช้แล้วควรเก็บไว้ในที่แห้ง มิดชิด ไม่ควรใช้ผ้าอนามัยที่เปิดห่อแล้วเหลือเก็บไว้นานๆ เพราะอาจเกิดความชื้น เชื้อราขึ้นได้

4.ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก 3-4 ชั่วโมง หรือแล้วแต่ปริมาณประจำเดือน ไม่ควรใส่ผ้าอนามัยชิ้นเดิมนานเกิน 8 ชั่วโมง หากใส่นานเกินไปอาจเกิดการสะสมของเชื้อโรคจนทำให้เกิดการติดเชื้อในช่องคลอดได้

5.สังเกตอาการ หากรู้สึกคัน หรือรู้สึกแสบ ระคายเคือง แสดงว่าเกิดอาการแพ้ผ้าอนามัยชนิดนั้น ควรเปลี่ยนไปใช้ยี่ห้ออื่น หรือแบบอื่น หรือปรึกษาแพทย์

6.หลังจากเปลี่ยนผ้าอนามัยแผ่นเก่า ควรม้วนและห่อกระดาษให้มิดชิดก่อนทิ้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เลอะเทอะเปรอะเปื้อนหรือมีเชื้อโรคกระจายสู่สิ่งแวดล้อม และไม่ให้เป็นที่รังเกียจของผู้พบเห็น

7.ไม่ลืมที่จะอ่านวันหมดอายุก่อนใช้

8.สำหรับผ้าอนามัยแบบสอดมีข้อควรระวังพิเศษเพิ่มเติม เนื่องจากมีการใส่วัตถุเข้าสู่ร่างกาย หากหลงลืมหรือปล่อยทิ้งไว้ในช่องคลอดนานเกิดไปอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เนื่องจากมีการติดเชื้อเข้ากระแสเลือด เรียกว่ากลุ่มอาการท็อกซิกช็อก (Toxic Shock Syndrome : TSS)

โดยพิษจากการติดเชื้อดังกล่าวจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้ ได้แก่

  • ไข้สูงเฉียบพลัน
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • ท้องเสียหรืออาเจียนอย่างรุนแรง
  • มีผื่นคล้ายถูกแดดเผาขึ้นบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า
  • ปวดศีรษะ เกิดอาการมึนงง
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • ตา ปาก และคอแดงผิดปกติ
  • เกิดอาการชัก

ทั้งนี้ อาการของภาวะดังกล่าวจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หากไม่รีบรักษาอย่างเร่งด่วนจะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย เช่น ช็อก ไตวาย ในกรณีที่รุนแรงที่สุดอาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้

หากพบว่าตัวเองมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งที่เข้าข่ายต้องสงสัยว่าจะเกิดกลุ่มอาการท็อกซิกช็อก ควรหยุดใช้ผ้าอนามัยแบบสอดและรีบไปพบแพทย์โดยทันที ซึ่งเมื่อถึงมือแพทย์แล้ว หากได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะดังกล่าว ผู้ป่วยจะต้องพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล และรับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาการติดเชื้อ อีกทั้งจะต้องให้น้ำเกลือผ่านทางหลอดเลือดดำเพื่อกระตุ้นความดันโลหิตและรักษาภาวะขาดน้ำ หากมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆจะต้องรักษาตามอาการจนกว่าจะหายเป็นปกติจึงจะกลับบ้านได้

ดังนั้น ผ้าอนามัยที่เป็นเรื่องใกล้ตัวของสาวๆที่ต้องใช้ในทุกเดือน หรือกระทั่งผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้ผ้าอนามัย ควรมีความใส่ใจในการเลือก และการใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆอย่างใส่ใจ เพื่อป้องกันความผิดปกติที่จะเกิดจากเรื่องใกล้ตัว


You must be logged in to post a comment Login