วันจันทร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2567

หนังสือบิทคอยน์ สแตนดาร์ด เขียนผิดไหม

On April 16, 2024

ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 16 เม.ย. 67)

ดร.เซเฟเดียน แอมมัส (Saifedean Ammous) ได้เขียนหนังสือชื่อ The Bitcoin Standard: the Decentralized Alternative to Central Banking ตีพิมพ์เมื่อปี 2561 หนังสือนี้กลายเป็นประหนึ่ง “คัมภีร์” ของพวกชอบเล่นบิทคอยน์ หนังสือนี้มีข้อผิดพลาดหลายจุด

ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ได้ชี้ให้เห็นถึงข้อผิดพลาดมาหลายจุด แต่ในบทความนี้ ขอชี้เพียงจุดเดียวที่หน้า 62 ของหนังสือดังกล่าว เพื่อเป็นการถกเถียงเพื่อจะได้ “ตาสว่าง” ไม่ได้มองตามที่หนังสือเล่มนี้เขียนโน้มน้าวผู้คนไว้มากมายหลายจุด

ดร.แอมมัสได้เขียนไว้ในหน้า 62 ว่า “The total U.S. M2 measure of the money supply in 1971 was around $600 billion, while today it is in excess of $12 trillion, growing at an average annual rate of 6.7%. Correspondingly, in 1971, 1 ounce of gold was worth $35, and today it is worth more than $1,200”. หรือแปลคร่าวๆ ว่าเงินในระบบมี 600 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 1971 (พ.ศ.2514) และเพิ่มมาเกินกว่า 12 ล้านล้านเหรียญแล้วในปัจจุบัน (ตามข้อมูลตัวเลขดังกล่าวคงเป็นปี 2015 หรือ พ.ศ.2558 ก่อนการตีพิมพ์หนังสือในปี 2561) ในทำนองเดียวกับทองคำที่เพิ่มขึ้นในห้วงเวลาเดียวกันจาก 35 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์เป็น 1,200 เหรียญต่อออนซ์

การเพิ่มขึ้นของอุปทานเงินนี้เท่ากับประมาณ 7.0% ต่อปี ในขณะที่ราคาทองคำเพิ่มขึ้น 8.4% ต่อปี กรณีนี้แม้จะเพิ่มขึ้นในทำนองเดียวกัน แต่ก็ต่างกันเกือบ 20% แสดงว่าแม้ปริมาณเงินจะเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังน้อยกว่าการเพิ่มค่าของทองคำ การที่ผู้เขียนมักจะอ้างว่าการเพิ่มอุปทานเงินในตลาด ทำให้เกิดปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจจึงอาจไม่จริงดังอ้างเสียแล้ว  ยิ่งถ้าพิจารณาจากจำนวนเท่าที่เพิ่มขึ้น ก็ปรากฏว่าปริมาณอุปทานเงินเพิ่มขึ้นเป็น 20 เท่า ในขณะที่ราคาทองคำเพิ่มเป็นถึง 34 เท่า ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

อุปทานเงินอาจเพิ่มขึ้นและก็มีลดลงด้วยเช่นกัน แต่ถึงแม้มีอุปทานเพิ่มขึ้น สิ่งหนึ่งที่พึงเข้าใจร่วมกันก็คือประชากรโลกก็เพิ่มขึ้น จาก 3,770 ล้านคนในปี 1971 เป็น 7,404 ล้านคนในปี 2558 แม้จะไม่ได้เพิ่มขึ้นเท่าราคาทองคำและอุปทานเงิน แต่ก็เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัว จะให้ปริมาณเงินยังคงมีอยู่เท่าเดิมได้อย่างไร  กรณีนี้การกำหนดจำนวนบิทคอยน์ที่ 21 ล้านบิทคอยน์ จะเพียงพอที่จะใช้หรือ คนที่ขุดบิทคอยน์ได้ก่อน ก็คงเป็นคนได้เปรียบในสังคม ส่วนคนที่ขุดไม่ได้ ก็คงเป็นประชากรชั้น 2 ไปในที่สุด และผู้ที่ครองบิทคอยน์ไว้มากๆ ก็จะเป็นชนชั้นสูง เป็นชนชั้นปกครอง ยิ่งในกรณีนายซาโตชิ นากาโมโตะที่ครองไว้ 1 ล้านเหรียญในจำนวน 22,000 บัญชี (แต่ไม่รู้บัญชีไหนแน่) ก็ยิ่งกลายเป็นจักรพรรดิ รวยกว่าใครๆ มีอำนาจเหนือใครๆ ยิ่งกว่าเจงกิสข่าน อเล็กซานเดอร์มหาราช จูเลียส ซีซาร์ เป็นต้น

อันที่จริง ดร.แอมมัส ยังเคยบอกในคลิปหนึ่ง <1>ว่าอุปทานเงินที่เพิ่มขึ้น ทำให้เงินลดค่าลงไปปีละ 14% โดยเฉลี่ยตลอด 60 ปีที่ผ่านมา กรณีนี้ย่อมเป็นเท็จ เพราะเอาแค่ตลอด 44 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขก็เป็นเพียง 7% เท่านั้น  การให้ตัวเลขเกินจริง ทำให้เห็นว่า ดร.แอมมัสอาจจงใจที่จะทำให้ผู้อ่านเชื่อตามที่ท่านพูดเพื่อให้เกิดการยอมรับในบิทคอยน์ ซึ่งในความเห็นของ ดร.โสภณมองว่าไม่ได้มีมูลค่าอะไร เป็นเพียงสิ่งที่สร้างมาด้วยคอมพิวเตอร์เท่านั้น

และถ้าเงินสูญค่าไปปีละ 14% จริง ก็ถือได้ว่าเงินเฟ้อปีละ 14% ในทางตรงกันข้ามเพราะถ้าจะเอาเงินจำนวนเดิมไปซื้ออะไร ก็คงต้องเติมเงินเพิ่มนั่นเอง อย่างไรก็ตามจากข้อมูลของ IMF <2>ในปีล่าสุดก็เป็นเพียง 5.8% และหากมองภาพรวมตั้งแต่ปี 2000 – 2028 อัตราเงินเฟ้อก็มักไม่เกิน 5% เท่านั้น และอัตราเงินเฟ้อตามแนวโน้มของโลกในอนาคต (2024-2028) อยู่ในช่วงขาลงด้วยซ้ำไป

จุดหักล้างแนวคิดของ ดร.แอมมัสอีกจุดหนึ่งก็คืออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสุทธิ (Real GDP Growth) ซึ่ง ณ ปี 2024 อยู่ที่ 2.9% โดยประเทศกำลังพัฒนาอยู่ที่ 4% และประเทศพัฒนาแล้วอยู่ที่ 1.4% <4>และคาดว่าในระหว่างปี 2024-2028 ก็จะอยู่ที่ระดับ 2.9% โดยเฉลี่ยทั้งโลก อัตราการเจริญเติบโตนี้ได้หักเงินเฟ้อไปแล้ว แสดงว่าโลกมีการพัฒนาเหนือกว่าเงินเฟ้อ มั่งคั่งขึ้นเหนือเงินเฟ้อ ไม่ใช่ว่าเงินเสื่อมสูญค่าไปจนอะไรต่างๆ ด้อยค่าลงตามที่ ดร.แอมมัสพยายามนำเสนอแต่อย่างใด

การโฆษณาชวนเชื่อเรื่อง (ให้ซื้อ) บิทคอยน์ (ซึ่งส่วนมากซื้อไปเก็งกำไรระยะสั้น) เป็นสิ่งที่พึงพิจารณาให้ถ้วนถี่ นักลงทุนจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อ ยิ่งราคาบิทคอยต์ขึ้น นายซาโตชิผู้สร้างและยังครองบิทคอยน์ 1.1 ล้านเหรียญยิ่งร่ำรวย (ขณะนี้ก็รวยเป็นอันดับต้นๆ ของโลก) เพราะแรงซื้อบิทคอยน์อยู่แล้ว

ที่มา:

<1> The TRUE COST of INFLATION – Saifedean Ammous: Author of The Bitcoin Standard  https://www.youtube.com/watch?v=MwpzXiVHZgI

<2> Inflation rate, average consumer prices  https://www.imf.org/external/datamapper/PCPIPCH@WEO/OEMDC/ADVEC/WEOWORLD

<3> Global inflation rate from 2000 to 2022, with forecasts until 2028 https://www.statista.com/statistics/256598/global-inflation-rate-compared-to-previous-year/

<4> Real GDP growth, 1980 – 2028. https://www.imf.org/external/datamapper/NGDP_RPCH@WEO/OEMDC/ADVEC/WEOWORLD


You must be logged in to post a comment Login