วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

เมื่อธรรมนูญศาสนาถูกปฏิเสธ

On September 18, 2020

คอลัมน์ : สันติธรรม

ผู้เขียน : บรรจง บินกาซัน

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 18-25 ก.ย. 2563)

หลังสมัยนบีมุฮัมมัดเสียชีวิตใน ค.ศ. 622 อาณาจักรอิสลามแผ่ขยายออกไปทั้งในเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา ชนชาติอาหรับที่เคยถูกเหยียดหยามว่าเป็นชนชาติป่าเถื่อนไม่รู้หนังสือได้กลายเป็นผู้ปกครองโลกส่วนใหญ่ และกฎหมายที่ชาวอาหรับนำไปใช้ปกครองดินแดนที่ยึดได้นั้นมาจากคัมภีร์กุรอานและแบบอย่างคำสอนของนบีมุฮัมมัด

บางชาติในแอฟริกา เช่น อียิปต์ โซมาเลีย ซูดาน ถูกชาวอาหรับปกครองอยู่นานจนผู้คนหันมาพูดภาษาอาหรับแทนภาษาเดิมของตน

แม้จะเป็นชนชาติที่ไม่มีอารยธรรมมาก่อน แต่คัมภีร์กุรอานมีส่วนสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจให้ชาวอาหรับศึกษาหาความรู้ เพราะคัมภีร์กุรอานถือว่าความรู้เป็นของขวัญที่พระเจ้าประทานแก่มนุษย์ และเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์มีความสูงส่ง ด้วยเหตุนี้ชาวอาหรับจึงสานต่อความรู้ที่ชาวกรีกและชาวโรมันสร้างสมไว้โดยการแปลตำราสำคัญๆจากภาษากรีกและโรมันเป็นภาษาอาหรับ

ในช่วงที่อาณาจักรอิสลามมีความเจริญรุ่งเรืองสุดขีดนั้น โลกมี 2 อาณาจักรอิสลามที่เป็นคู่แข่งกัน นั่นคือ อาณาจักรอับบาซีย์ซึ่งมีเมืองหลวงอยู่ที่แบกแดด (ในอิรักปัจจุบัน) และอาณาจักรอันดะลุสในคาบสมุทรไอบีเรีย (โปรตุเกสและสเปนปัจจุบัน) โดยมีเมืองหลวงอยู่ที่คอร์โดบา

2 ราชวงศ์ที่ปกครองอาณาจักรอิสลามนี้แข่งกันสร้างความเจริญด้วยการเชื้อเชิญผู้มีความรู้จากทุกชนชาติและศาสนามาร่วมกันแปลและเขียนตำราวิชาการต่างๆ โดยผู้ปกครองให้การอุปถัมภ์และค่าตอบแทนทางวิชาการแก่ผู้มีความรู้ในเวลานั้นอย่างมีความสุข ในช่วงเวลานี้เองที่ 2 อาณาจักรมีนักวิชาการที่เขียนตำรับตำราวิชาการไว้มากมาย

คำร่ำลือเรื่องความเจริญของเมืองแบกแดดและเมืองคอร์โดบาทำให้หลายคนในโลกใฝ่ฝันว่าอยากไปเยือนสักครั้งหนึ่งในชีวิต ในเวลานั้นใครที่ต้องการจะศึกษาหาความรู้ขั้นสูงต้องมาที่เมืองคอร์โดบาหรือไม่ก็แบกแดด และก่อนที่จะเรียนวิชาต่างๆก็ต้องเรียนภาษาอาหรับก่อน เพราะตำราส่วนใหญ่เขียนเป็นภาษาอาหรับ

renaissance

ในช่วงเวลาที่อิสลามเจริญรุ่งเรืองอยู่ในสเปน ยุโรปอยู่ในยุคมืด ปัญญาชนชาวยุโรปจึงเดินทางมาศึกษาหาความรู้ในเมืองคอร์โดบา เพราะอยู่ใกล้กว่าแบกแดด หลังจากศึกษาหาความรู้แล้ว ชาวยุโรปได้แปลตำราจากภาษาอาหรับที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยคอร์โดบาเป็นภาษาละติน และนำกลับไปต่อยอดในประเทศของตน จนทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ” (Renaissance) ขึ้นมา

ในเวลานั้น 2 อาณาจักรอิสลามแม้จะเป็นคู่แข่งกัน แต่ทั้ง 2 อาณาจักรยังคงใช้คัมภีร์กุรอานเป็นธรรมนูญในการปกครอง และใช้แบบอย่างคำสอนของนบีมุฮัมมัดเป็นกฎหมาย ในขณะที่อาณาจักรคริสเตียนซึ่งมีเมืองหลวงอยู่ที่กรุงโรมยังใช้คัมภีร์ไบเบิลเป็นธรรมนูญในการปกครอง

ในช่วงยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ในยุโรปหลายคน เช่น กาลิเลโอ, เคปเลอร์ และโคเปอร์นิคัส เกิดความขัดแย้งอย่างแรงกับบาทหลวงแห่งคริสตจักร เพราะการค้นพบของนักวิทยาศาสตร์เหล่านี้หลายอย่างขัดกับสิ่งที่บาทหลวงเคยเชื่อและสั่งสอนกันมา นักวิทยาศาสตร์หลายคนจึงถูกจับไปลงโทษทรมานหรือประหารโดยศาลศาสนา

สภาพการณ์ที่นักวิทยาศาสตร์และคนที่ฝักใฝ่วิทยาศาสตร์หลายคนถูกจับกุมตัวไปตัดสินลงโทษในศาลของบาทหลวงคริสตจักรเวลานั้นทำให้หลายคนไม่พอใจ ในที่สุด มาร์ติน ลูเธอร์ ผู้เป็นทั้งนักวิชาการศาสนา นักเขียน และนักปฏิรูปในเวลานั้น อดรนทนไม่ได้กับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมของผู้มีอำนาจในคริสตจักร จึงทำหนังสือประท้วงและไม่ยอมรับอำนาจของคริสตจักรโรมันคาทอลิกอีกต่อไป

ตรงจุดนี้เองที่ทำให้คริสตจักรโรมันซึ่งเคยเป็นหนึ่งเดียวได้มีคริสตจักรโปรเตสแตนต์ (หรือคริสตจักรของผู้คัดค้าน) ขึ้นมา นักวิทยาศาสตร์เหล่านี้ไม่ได้ปฏิเสธคำสอนจากคัมภีร์ไบเบิล แต่จำกัดบทบาทของศาสนาและบุคลากรทางศาสนาไว้เพียงในโบสถ์แค่เพื่อทำพิธีกรรมเท่านั้น ส่วนในเรื่องของสังคมและอื่นๆเป็นเรื่องของคนมีความรู้ในด้านต่างๆจะทำกันเองโดยศาสนาไม่ต้องมายุ่งเกี่ยว

นี่คือที่มาของระบบโลกานิยม (Secularism) และเป็นการสิ้นสุดบทบาทของคัมภีร์ไบเบิลที่เคยเป็นธรรมนูญในการปกครอง เพราะหลังจากนั้นเนื่องจากความเจริญทางวัตถุที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศที่นับถือนิกายโปรเตสแตนต์ รัฐธรรมนูญและกฎหมายได้ถูกร่างขึ้นมาโดยมนุษย์ที่ไม่พิจารณาคำสอนของศาสนาอีกต่อไป


You must be logged in to post a comment Login