วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ในสถานการณ์โควิด-19

On July 17, 2020

คอลัมน์ : พบหมอศิริราช

ผู้เขียน : รศ. นพ. ปารยะ อาศนะเสน

สาขาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้ ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส (Coronavirus) หรือที่เรารู้จักดีในชื่อ “โควิด-19” (COVID-19) ที่สามารถติดต่อจากคนไปสู่คนได้ง่ายมาก อาจทำให้ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้หรือโรคแพ้อากาศหลายคนกังวลใจ มาทำความเข้าใจให้คลายความกังวลกัน

โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้หรือโรคแพ้อากาศ เป็นโรคที่พบได้บ่อยในประเทศไทย และอุบัติการณ์ของโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ในประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ สารก่อภูมิแพ้ในประเทศไทยที่พบบ่อยที่สุดที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการคือไรฝุ่น ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้มักจะแพ้สารก่อภูมิแพ้หลายชนิด โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้มีผลต่อคุณภาพชีวิตคนไทย โดยทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแย่ลง อาการที่พบได้บ่อยที่สุดของผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ในประเทศไทยคือ อาการคัดจมูก น้ำมูกไหล คัน และจาม

ความสัมพันธ์ระหว่างโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้และโควิด

เนื่องจากเยื่อบุจมูกมีจำนวนตัวที่จับหรือรับเชื้อโควิด (angiotensin-converting enzyme (ACE) 2 receptor) มากที่สุดในระบบทางเดินหายใจ โควิด จึงทำให้เกิดการติดเชื้อที่เยื่อบุจมูก และทำให้ผู้ป่วยมีอาการทางจมูกได้ ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดใหญ่ หรือมีการติดเชื้อไวรัสที่ทางเดินหายใจส่วนบน รวมทั้งผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด จึงอาจจะมีอาการคล้ายกันได้ในระยะแรก ดังนั้น ผู้ป่วยเหล่านี้อาจติดเชื้อโควิดได้ โดยอาการของโควิดอาจปรากฏชัดในเวลาต่อมา

ปัจจุบันมีการรายงานจำนวนผู้ป่วยที่เป็นโควิดที่มีการสูญเสียการรับกลิ่น และ/หรือการรับรสอย่างเฉียบพลันมากขึ้น โดยอาจเป็นอาการนำก่อนที่จะมีอาการอื่นๆของโควิดตามมาถึงร้อยละ 20-60 ของผู้ป่วย และมักพบในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ โดยเฉพาะผู้ที่มีการสูญเสียการรับกลิ่น และ/หรือการรับรส จึงอาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิด คิดว่าผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ติดเชื้อโควิดได้ อาจทำให้ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้โดนรังเกียจจากสังคม นอกจากนั้นการที่เยื่อบุจมูกของผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้มีอาการอักเสบเรื้อรังตลอดเวลา ทำให้มีโอกาสติดเชื้อไวรัสได้ง่ายกว่าคนปกติ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้สามารถติดเชื้อโควิดได้ง่ายกว่าคนปกติที่แข็งแรงดี หรือผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ที่ติดเชื้อโควิดจะมีการดำเนินโรคที่รุนแรง เช่น เกิดภาวะแทรกซ้อนมากกว่าผู้ป่วยปกติที่ติดเชื้อโควิด  ดังนั้น โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้จึงไม่ได้ถูกจัดว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงของโควิด หรืออีกนัยหนึ่งโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ไม่ได้เพิ่มความรุนแรงของโควิด ถ้าผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ติดเชื้อโควิดก็เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่สามารถแพร่เชื้อไปสู่คนปกติได้

ข้อแตกต่างระหว่างผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้และผู้ป่วยโควิด

ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ถ้าไม่มีการติดเชื้อร่วมด้วยจะไม่มีไข้หรืออาการอื่นๆของการติดเชื้อ เช่น เจ็บคอ ไอ อ่อนเพลีย เมื่อยเนื้อเมื่อยตัว อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโควิดก็อาจจะไม่มีไข้ได้ นอกจากนั้นถ้าผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ไม่ได้มีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆที่ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด เช่น ประวัติเดินทางมาจากประเทศหรือพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคโควิดในช่วง 14 วันก่อนมีอาการ, มีคนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัวที่ร่วมอาศัยเดินทางไปประเทศหรือพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคโควิด หรือมีไข้ร่วมกับอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเร็ว หรือเหนื่อยหอบ อาจทำให้นึกถึงการติดเชื้อโควิดน้อยลง ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้มักจะมีอาการทางจมูกเด่นกว่าผู้ป่วยโควิด ซึ่งมักจะมีอาการทางเดินหายใจส่วนล่างเด่น แต่อาจต้องระวัง เพราะผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้อาจมีโรคหืดร่วมด้วย

นอกจากนั้นถ้าผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ได้รับการรักษาโรคอย่างเหมาะสม เช่น ล้างจมูก ใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก รับประทานยาต้านฮิสทามีนหรือยาแก้แพ้ หรือใช้ยาต้านฮิสทามีนชนิดพ่นร่วมกับยาสเตียรอยด์พ่นจมูก อาการทางจมูกรวมถึงความผิดปกติในการรับกลิ่นควรจะดีขึ้น แต่ถ้าผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะมีความผิดปกติในการรับกลิ่น และ/หรือการรับรสที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน หรือมีปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด อาจสงสัยโควิด ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ควรจะได้รับการรักษาเพื่อคุมอาการให้ดีในช่วงที่มีการระบาดของโควิด เพื่อที่จะให้แพทย์วินิจฉัยแยกโรคได้ง่าย ไม่สับสนในการวินิจฉัยเมื่อผู้ป่วยมีอาการ โดยเฉพาะอาการทางจมูก

การดูแลผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด

การหาสารก่อภูมิแพ้ที่ผู้ป่วยแพ้โดยการทดสอบทางผิวหนังควรเลื่อนไปก่อน แต่ถ้าจำเป็นอาจใช้วิธีเจาะเลือดหาสารก่อภูมิแพ้ที่ผู้ป่วยแพ้แทน การรักษาผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ในปัจจุบันมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ควบคุมอาการของผู้ป่วยได้ ไม่มีอาการทางจมูก (คัดจมูก คัน จาม น้ำมูกไหล) ไม่มีอาการทางตา (คัน เคืองตา แสบตา น้ำตาไหล) ไม่รบกวนการนอนหลับ ไม่รบกวนกิจวัตรชีวิตประจำวัน การเรียน การเล่นกีฬา ไม่มีโรคร่วม เช่น ไซนัสอักเสบ ริดสีดวงจมูก หูชั้นกลางอักเสบ ความผิดปกติของการหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น จมูกไม่ได้กลิ่น หรือได้กลิ่นน้อยลง

จากการศึกษาพบว่าร้อยละ 20-30 ของผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ไม่ตอบสนองต่อการรักษาที่ตนเองได้รับอยู่ และมักมีอาการคัดจมูกเป็นอาการเด่น ถ้าผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้มีการติดเชื้อโควิดร่วมด้วย และยังคงมีอาการของโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ อาจยังคงมีอาการจาม ซึ่งจะแพร่กระจายเชื้อโควิดได้มากขึ้นด้วย ดังนั้น ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ในช่วงที่มีการระบาดของโควิดควรได้รับการรักษาไม่ให้มีอาการทางจมูก เพื่อให้แพทย์สามารถวินิจฉัยแยกโรคได้ง่ายขึ้นว่าผู้ป่วยที่ยังคงมีอาการทางจมูกอยู่ไม่ได้เกิดจากโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ที่ยังคุมอาการได้ไม่ดี แต่เกิดจากสาเหตุอื่น เช่น หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือโควิด นอกจากนั้นเมื่อผู้ป่วยควบคุมอาการของโรคได้ดีก็ไม่จำเป็นต้องมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ทำให้ผู้ป่วยลดอัตราเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อโควิด และในผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ที่มีการติดเชื้อโควิดร่วมด้วย การที่คุมอาการของโรคได้ดีจะช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อโรคผ่านทางการจามด้วย

การรักษาผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ด้วยยาชนิดต่างๆนั้นไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสติดเชื้อโควิดได้ง่ายขึ้น หรือผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ที่ติดเชื้อโควิดมีความรุนแรงของโรคมากขึ้น ผู้ป่วยจึงควรได้รับการรักษาเหมือนที่เคยได้ก่อนที่มีการระบาดของโควิด และควรประเมินอาการตนเองและปรับยาเองตามอาการ

ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่แสดงให้เห็นว่าการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือจะป้องกันการติดเชื้อไวรัสหรือโควิดได้ ถ้าผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ต้องการล้างจมูกเพื่อบรรเทาอาการทางจมูก และ/หรือไซนัส ก็สามารถล้างได้ แต่ควรทำความสะอาดอุปกรณ์ในการล้างจมูก เช่น ขวดบีบน้ำเกลือ กระบอกฉีดยา หรือลูกยางแดงให้ดี เพื่อลดการติดเชื้อ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ การล้างจมูกให้ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ที่เป็นโควิดอาจทำให้มีการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่นได้ ถ้าผู้ป่วยอยู่คนเดียวในที่อยู่อาศัยหรือกักตัวอยู่ การล้างจมูกไม่น่าจะก่อให้เกิดปัญหาอะไร ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ว่าการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือจะทำให้ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ที่เป็นโควิดหายจากการติดเชื้อเร็วขึ้นหรือไม่

ไม่มีข้อห้ามในการใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกในผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ถ้าผู้ป่วยเคยใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกอยู่แล้วก็สามารถใช้ต่อได้ ไม่จำเป็นต้องหยุดใช้ หรือแม้ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ที่ยังไม่เคยใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกก็สามารถใช้ได้ แม้ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ที่ติดเชื้อโควิดก็สามารถใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกได้ เพราะไม่ได้ทำให้การติดเชื้อหรือภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยแย่ลง และไม่แนะนำให้หยุดใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก

การรักษาด้วยวัคซีนภูมิแพ้ด้วยการฉีดหรือการอมใต้ลิ้นไม่ควรเริ่มในผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ช่วงนี้ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ แต่ถ้าผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ที่ได้รับการรักษาด้วยวัคซีนภูมิแพ้อยู่แล้วในช่วงที่ปรับขนาดวัคซีนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ควรจะนัดการมารับวัคซีนห่างออกไปเป็นทุก 2-4 สัปดาห์ได้ ถ้าอยู่ในช่วงที่ให้ขนาดวัคซีนคงที่ (คือได้ขนาดสูงสุดที่ผู้ป่วยรับได้แล้ว) อาจนัดการมารับวัคซีนห่างออกไปเป็นทุก 6-8 สัปดาห์ได้ วัคซีนชนิดอมใต้ลิ้นมีข้อได้เปรียบกว่าวัคซีนชนิดฉีดคือ ผู้ป่วยไม่ต้องมาโรงพยาบาลบ่อย สามารถรับการรักษาที่บ้านผู้ป่วยได้ ทำให้ลดอัตราการติดเชื้อโควิดจากการเดินทางมาโรงพยาบาลได้ ถ้าอาการของผู้ป่วยค่อนข้างคงที่ และไม่ได้มีอาการมากขึ้น หลังหยุดการรักษาด้วยวัคซีนภูมิแพ้อาจหยุดการรักษาไปชั่วคราวก่อนก็ได้ ถ้าผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ที่รักษาด้วยวัคซีนภูมิแพ้ติดเชื้อโควิดควรหยุดการรักษาด้วยวัคซีนภูมิแพ้ไว้ก่อนจนกว่าผู้ป่วยจะหายดี หรือมีภูมิคุ้มกันต่อโควิดแล้ว ค่อยมาพิจารณาเริ่มการรักษาด้วยวัคซีนภูมิแพ้ใหม่

ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้รวมทั้งทุกคนควรดูแลและป้องกันตนเองจากเชื้อโควิด โดยใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน ล้างมือด้วยสบู่และน้ำนานอย่างน้อย 20 วินาที ใช้แอลกอฮอล์เจลที่มีปริมาณของแอลกอฮอล์อย่างน้อยร้อยละ 60 ทามือในที่ที่ไม่มีสบู่และน้ำให้ล้างมือ เวลาไอหรือจามใช้กระดาษชำระแล้วทิ้ง ไม่ควรไอหรือจามใส่มือ ถ้าไม่มีกระดาษชำระให้ไอหรือจามใส่แขนบริเวณข้อศอก ทำความสะอาดวัตถุหรือพื้นผิวที่ต้องจับต้องบ่อยๆ ถ้าป่วยหรือไม่สบายควรอยู่บ้าน รวมทั้งหลีกเลี่ยงการสัมผัส เช่น การจับมือทักทาย การจูบ กอด และควรเว้นระยะห่างจากผู้อื่น (Social distancing) อย่างน้อย 2 เมตร รวมถึงใช้ยาควบคุมอาการของโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ให้ดี

อาการของโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้และการติดเชื้อโควิดอาจจะคล้ายกันได้ในระยะแรก การสูญเสียการรับกลิ่น และ/หรือการรับรสอย่างเฉียบพลัน อาจเป็นอาการน ก่อนที่จะมีอาการอื่นๆของโควิดได้ ผู้ป่วยควรรายงานความผิดปกติในการรับกลิ่น และ/หรือการรับรสของผู้ป่วยให้แพทย์ทราบเสมอ ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้อาจถูกคนรอบข้างเข้าใจผิดคิดว่าติดเชื้อโควิดได้ ทำให้โดนรังเกียจจากสังคม ผู้ป่วยควรรักษาและควบคุมโรคไม่ให้มีอาการทางจมูกในช่วงที่มีการระบาดของโควิดนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดดังกล่าว โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ไม่ใช่ปัจจัยเสี่ยงของโควิด และไม่ได้เพิ่มความรุนแรงของโควิด การรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ด้วยยาชนิดต่างๆนั้นไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสติดเชื้อโควิดได้ง่ายขึ้นหรือมีความรุนแรงของโรคมากขึ้น จึงควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อควบคุมอาการของตนให้ดี พร้อมกับดูแลและป้องกันตนเองจากโควิดในช่วงที่มีการระบาด


You must be logged in to post a comment Login