วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

บาร์ที่ทุกคนคุ้นเคย

On August 2, 2019

คอลัมน์ : ร้ายสาระ

ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ

โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่  วันที่ 2 – 9 สิงหาคม 2562)

คนงานก่อสร้างพบโครงกระดูก 2 ร่างใต้พื้นห้องครัวร้านเหล้าเก่า สถานที่ที่ครั้งหนึ่งในอดีตเคยเป็นแหล่งมั่วสุมของคนทุกชนชั้น เจ้าหน้าที่ชันสูตรลงความเห็นว่าเป็นร่างชนพื้นเมืองโบราณแม้ว่าตำรวจจะพบนาฬิกาพกในกองกระดูก

เช้าวันที่ 22 มิถุนายน 1906 ขณะที่คนงานก่อสร้างบริษัทฮาเวิร์ดบราเดอร์สกำลังรื้อถอนร้านเหล้าเก่าออยส์เตอร์แพดดี้บริเวณหัวมุมถนนเฟิร์สอเวนิวตัดกับถนนเฟอร์รีย์ในเมืองพิตต์สเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย เพื่อก่อสร้างอาคารสูง พวกเขาพบโครงกระดูก 2 ร่างถูกฝังอยู่ใต้พื้นครัว

เจ้าหน้าที่ชันสูตรระบุว่าเป็นโครงกระดูกของชนพื้นเมืองอินเดียนแดงที่ถูกฝังไว้บริเวณนี้เมื่อนานหลายสิบปีมาแล้ว แต่คนที่รู้ความเป็นมาของร้านเหล้าแห่งนี้รู้ดีว่ามีอะไรมากกว่านั้น เพราะมันเคยถูกใช้เป็นที่กบดานของบรรดามิจฉาชีพ แหล่งมั่วสุมของมือกฎหมายกังฉิน และที่ทำมาหากินของหญิงขายบริการ

ที่มาของชื่อ

ออยส์เตอร์แพดดี้เป็นชื่อเล่นของฮิว โอดอนเนล เจ้าของร้านเหล้าชาวไอริช เขาได้ฉายานี้มาสมัยที่ทำงานเป็นคนแกะเปลือกหอยนางรมให้กับร้านอาหารทะเลแด๊ดไฮน์เลย์ ออยส์เตอร์แปลว่าหอยนางรม ส่วนแพดดี้เป็นสแลงแปลว่าคนไอริช

ปี 1875 ฮิวแยกตัวออกมาเปิดร้านอาหารของตัวเอง ซึ่งก็คือออยส์เตอร์แพดดี้นั่นเอง แต่ขายเหล้าเป็นหลัก จนกระทั่งในปี 1887 กฎหมายใหม่บังคับให้ร้านจำหน่ายสุราต้องยื่นขอใบอนุญาตจำหน่ายสุรา ฮิวได้ยื่นเรื่องโดยศาลนัดวันพิจารณา

ผู้พิพากษาอ่านเอกสารขออนุญาตจำหน่ายสุราก่อนเงยหน้าขึ้นมองหน้าฮิวแล้วถามว่า “คุณใช่ไหมที่ใครๆเรียกว่าออยส์เตอร์แพดดี้” ฮิวตอบทันที “ใช่ครับ” ผู้พิพากษาตัดบทโดยทันทีเช่นกันว่า “ผมแปลกใจมากที่คุณกล้ามายื่นเอกสารขอใบอนุญาต จบนะ”

ฮิวยอมแพ้กลับบ้านปิดร้านเหล้า เก็บข้าวเก็บของเดินทางไปเมืองซิสเตอร์วิล รัฐเวสต์เวอร์จิเนีย พยายามเปิดร้านอาหารที่นั่นแต่ไม่สำเร็จ เขาเดินทางต่อไปเมืองจอห์นส์ทาวน์ โชคร้ายเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ เงินเก็บเริ่มร่อยหรอ สถานการณ์บีบบังคับให้เขาต้องกลับไปเป็นลูกจ้างร้านอาหารอีกครั้งจนถึงบั้นปลายของชีวิต

แหล่งมั่วสุม

ออยส์เตอร์แพดดี้มีกฎเหล็กหนึ่งข้อคือ “ห้ามปากโป้ง” เป็นที่รู้กันดีว่าคนเราพอเหล้าเข้าปากมักคุยโม้โอ้อวดและจะมีเรื่องที่ไม่สมควรให้คนอื่นได้รับรู้หลุดออกจากปากเสมอ ด้วยเหตุนี้เองจึงมีกฎข้อห้ามลูกค้าว่า ไม่ว่าเห็นใครทำอะไรหรือได้ยินใครพูดอะไรในร้าน ห้ามนำเอาไปโพนทะนาโดยเด็ดขาด

บาร์เทนเดอร์โจ แอนเดอร์สัน ทำหน้าที่ผู้คุมกฎ และดูเหมือนเขาจะสร้างวีรกรรมไว้มากมายยิ่งกว่าตัวฮิวซึ่งเป็นเจ้าของร้านเสียอีก กฎห้ามปากโป้งนี้เองที่ทำให้เหล่าอาชญากรนิยมมามั่วสุมกันที่ออยส์เตอร์แพดดี้ เพราะไม่ว่าจะพลั้งเผลอโชว์ของที่ปล้นมาหรือพูดอะไรที่ไม่สมควรออกไป ทุกอย่างก็ยังคงเป็นความลับอยู่ภายในร้านเท่านั้น

เวลา 03.00 น. วันที่ 22 สิงหาคม 1887 ไทนี สโลน เสมียนสำนักงานนายอำเภอ กับซิม คิง เพื่อนโจรลักเล็กขโมยน้อย ควงสาวขายบริการ 2 คนมาที่ร้านออยส์เตอร์แพดดี้ พลันไทนีเหลือบไปเห็นไอด้า มิลเลอร์ สาวบริการอีกคนสวยถูกใจกว่า แต่ไอด้าไม่ได้นั่งคนเดียว เธออยู่กับแพตซี แมคกรอว์ และเอ็ด ทาช

ไทนีบอกให้ไอด้ามานั่งกับเขา แพตซีไม่พอใจไล่ให้ไทนีไปไกลๆ ไทนีย้อนถามกลับว่า “ไม่ไปจะทำไม” แพตซีตอบว่า “อยากคุยกับลูกตะกั่วไหม” ไทนีถามกลับอีกว่า “พูดแบบนี้หมายความว่ายังไง” แพตซีแสดงสีหน้ารังเกียจก่อนจะตอบว่า “กูหมายความอย่างที่บอก”

จากการที่ไทนีทำงานในสำนักงานนายอำเภอทำให้หลายคนสงสัยว่าเขาเข้ามาหาข่าวแล้วเอาไปแจ้งนายอำเภอ แพตซีเกรี้ยวกราดต่อ “จะว่าไปแล้วมึงสมควรโดน ไอ้ชั่ว ไอ้ลูกกะหรี่” พูดไม่ทันขาดคำแพตซีก็ชักปืนออกมาจากเอวยิงไทนีล้มลงจมกองเลือด

ฮิวกระโดดเข้ามาขวาง แต่สายไปเสียแล้ว บาดแผลที่ไทนีได้รับสาหัสเกินกว่าจะเยียวยา เขาเสียชีวิตในเวลาต่อมา ไม่นานนักตำรวจเดินทางมาที่ร้านเหล้าเพราะได้ยินเสียงปืน ตำรวจชักปืนออกมาส่องที่แพตซีเพื่อบังคับควบคุมตัว ฮิวรีบเข้าไปปัดมือตำรวจจนปืนหลุดจากมือพร้อมกับบอกว่า “แพตซีไม่ใช่คนยิง” ตำรวจมองหน้าฮิวพร้อมกับบอกว่า อย่าทำแบบนี้อีก มิฉะนั้นจะโดน (ยิง) เสียเอง

ตำรวจกลับไปนำกำลังมาสมทบ คราวนี้รวบตัวทุกคนที่อยู่ในร้านเหล้า สุดท้ายแล้วแพตซีจำนนต่อหลักฐาน เหตุการณ์นี้คือตัวอย่างของกฎเหล็ก “ห้ามปากโป้ง” แม้ว่าจะมีเหตุฆาตกรรมต่อหน้าต่อตาก็ไม่มีใครเอ่ยปากบอกว่าใครเป็นฆาตกร

หัวหน้าแก๊งตัวจริง

ปี 1887 บลิงกี้ มอร์แกน นำพวกเข้าปล้นห้างสรรพสินค้าเบเนดิกต์และรูดี้ในเมืองคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ ได้เสื้อขนสัตว์จำนวนมากมูลค่ารวม 15,000 ดอลลาร์ ก่อนจะกลับมากบดานที่ร้านเหล้าออยส์เตอร์แพดดี้

คิด มันน์ หนึ่งในเพื่อนร่วมแก๊งถูกตำรวจรวบตัวได้ ขณะที่นำตัวเขากลับไปขึ้นศาลที่เมืองคลีฟแลนด์ บลิงกี้พาพวกไปดักชิงตัวทำให้ตำรวจนายหนึ่งเสียชีวิต ต่อมาภายหลังตำรวจตามไปทลายแก๊งบลิงกี้ได้สำเร็จ บลิงกี้ถูกแขวนคอในข้อหาฆ่าเจ้าพนักงาน

นายตำรวจชาร์ล กัลแลนต์ เคยทำงานเป็นบาร์เทนเดอร์ที่ออยส์เตอร์แพดดี้ เขาไม่เชื่อว่าฮิวจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากร แต่บาร์เทนเดอร์โจที่มาทีหลังน่าจะทำงานบาร์เทนเดอร์บังหน้าเท่านั้น แต่อยู่เบื้องหลังการวางแผนปล้นหลายครั้ง โครงกระดูกมนุษย์ 2 ร่างอาจเป็นลูกสมุนของโจ เกิดการขัดแย้งเรื่องแบ่งทรัพย์สินที่ปล้นมาจึงถูกโจสังหารแล้วฝังร่างไว้ใต้พื้นห้องครัว

เจ้าหน้าที่ชันสูตรโจเซฟ อาร์มสตรอง ลงความเห็นว่าโครงกระดูกเป็นร่างของชนพื้นเมืองอินเดียนแดงที่ถูกฝังไว้ตั้งแต่ก่อนที่ชาวยุโรปจะมาตั้งรกรากบริเวณนี้ หลังจากที่ชาวบ้านได้ยินดังนั้นก็กรูกันมาเก็บกระดูกไปเป็นที่ระลึก

นักสืบจอห์น ลัลลีย์ ไม่เห็นด้วยกับข้อสันนิษฐานของโจเซฟ เขาสังเกตเห็นว่ามีร่องรอยของน้ำด่างหรือปูนขาวเพื่อใช้ย่อยสลายเนื้อเยื่อผู้เคราะห์ร้าย ประกอบกับพบนาฬิกาพกในกองกระดูก เป็นไปไม่ได้ที่ชนพื้นเมืองโบราณจะมีนาฬิกาพก และบางส่วนของนาฬิกามีรอยถูกกรดบางอย่างกัดกร่อน

คนที่ควรจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงกระดูกปริศนาได้ก็คือ โจ แอนเดอร์สัน และฮิว โอดอนเนล แต่โจเสียชีวิตก่อนจะพบโครงกระดูกเกือบ 10 ปีแล้ว ส่วนฮิวย้ายออกจากเมืองไปแล้ว กว่าจะตามพบตัวก็ไม่ทันการ เพราะเขาป่วยเป็นมะเร็งขั้นสุดท้ายและเสียชีวิตหลังจากนั้นไม่นานนัก ทิ้งปริศนาโครงกระดูกใต้พื้นครัวว่าพวกเขาเป็นใครกันแน่ และทำไมเจ้าหน้าที่ชันสูตรจึงยืนกระต่ายขาเดียวว่าเป็นร่างชนพื้นเมืองทั้งที่ขัดแย้งกับหลักฐานแวดล้อม

1

1.ร้านเหล้าออยส์เตอร์แพดดี้ราวปี 1902

2

2.ร้านเหล้าออยส์เตอร์แพดดี้ปี 1887

3

3.บลิงกี้ มอร์แกน

4

4.ไทนี สโลน

5

5.คนงานก่อสร้างพบโครงกระดูกมนุษย์ใต้พื้นห้องครัว

6

6.ตำรวจค้นหาหลักฐานในที่เกิดเหตุ


You must be logged in to post a comment Login