วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

“ปิยบุตร”ชี้พิษร้ายรธน.60เกิดศึกแย่งเก้าอี้ก่อมลพิษประชาธิปไตย

On June 20, 2019

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊คส่วนตัว ระบุว่า

การแย่งเก้าอี้รัฐมนตรีคือผลพวงของการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร

ตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เราพบเห็นข่าวการแย่งตำแหน่งรัฐมนตรีใน 19 พรรคร่วมรัฐบาล กลุ่มพรรคที่มี ส.ส. 1 คนก็รวมตัวกันเรียกร้องตำแหน่ง กลุ่มพรรคที่มี ส.ส. 2-3 คนก็รวมตัวกันเรียกร้องตำแหน่ง

กลุ่มพรรคขนาดกลางก็ต้องสู้รบปรบมือกับพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในการดึงกระทรวงสำคัญไว้กับตนเอง ภายในกลุ่มพรรคขนาดกลางเองก็ต้องแบ่งสันปันส่วนตำแหน่งให้แต่ละก้อนในพรรค ก้อนไหนไม่ได้ก็ปรากฏเป็นข่าวแสดงความไม่พอใจขึ้น และพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็ต้องปวดหัวกับการแบ่งตำแหน่งรัฐมนตรีในพรรคตนเองที่มีอีกประมาณ 10 มุ้ง

ทั้งหลายทั้งปวงนี้สร้างความรู้สึกสิ้นหวัง ผิดหวัง อิดหนาระอาใจ ให้กับพี่น้องประชาชนมาก จนคนเริ่มคิดว่านี่แหละการเมืองไทย นี่แหละเลือกตั้งมาแล้วก็มาแก่งแย่งตำแหน่งกัน เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีกับการเมืองไทยขึ้นอีก

แน่นอนว่าการแบ่งสันปันส่วนตำแหน่งรัฐมนตรีให้แก่พรรคร่วมรัฐบาลและภายในของแต่ละพรรคเองนั้นอยู่คู่กับการเมืองไทยมาช้านาน เป็นรูปแบบการเมืองแบบเก่าดั้งเดิม เมื่อมีแค่ 35 เก้าอี้ แต่คนอยากเป็นมีหลักร้อยก็ต้องเกิดปัญหาเป็นธรรมดา

พี่น้องประชาชนอาจรู้สึกเบื่อและไม่พอใจกับนักการเมืองและพรรคการเมืองที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ แต่หากพิเคราะห์ให้ถ่องแท้แล้ว ปัญหาการแย่งเก้าอี้ครั้งนี้ที่หนักหนาสาหัสกว่าทุกครั้งในอดีตมิใช่เกิดจากนักการเมืองเท่านั้น แต่มันเป็นพิษร้ายโดยตรงจากรัฐธรรมนูญ 2560

ในการเลือกตั้งครั้งหลังๆ เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาพรรคการเมืองอันดับที่ 1 จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล รวบรวมเสียงให้ได้เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร โดยเกินมาสัก 30-50 ที่ (หากจำนวน ส.ส. มี 500 คน รวมเสียงได้สัก 280-300 ก็จะได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพแล้ว)

แต่ครั้งนี้พรรคการเมืองที่ได้อันดับสองชิงจัดตั้งรัฐบาล โดยมีพรรคร่วม 19 พรรค และมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรมาเพียงเล็กน้อยที่ 254 เสียง กลายเป็น “รัฐบาลสหพรรค-ปริ่มน้ำ”

การก่อรัฐบาล “สหพรรค-ปริ่มน้ำ” แบบนี้ได้มิใช่เรื่องปกติแน่

ปัจจัยอะไรที่เป็นแรงผลักดันให้พรรคอันดับสองต้องชิงตั้งรัฐบาลให้ได้?

ปัจจัยอะไรที่ทำให้พรรคขนาดกลางยอมร่วมรัฐบาล “สหพรรค” และยอมผิดคำพูดกับประชาชน?

ปัจจัยอะไรที่ทำให้เกิดพรรคเล็กๆเป็นสิบพรรค?

ปัจจัยอะไรที่มีเสียงปริ่มน้ำชนิดที่เรียกว่า ส.ส. ห้ามขาด ห้ามลา ห้ามไปเข้าห้องน้ำ ห้ามไปกินข้าว ในการลงมติสำคัญ กลับดึงดันกันไปจนตั้งรัฐบาลได้?

ปัจจัยนั้นคือรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ที่กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา 250 คน มาจากการแต่งตั้งของหัวหน้า คสช. แล้ว ส.ว. ทั้งหมดก็มาเลือกหัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรี

พรรคการเมืองอันดับสองที่เสนอชื่อหัวหน้า คสช. เป็นนายกฯ มี ส.ว. 250 คนซุกในกระเป๋าเป็นทุนแบบนี้ ก็ต้องดึงดันเป็นแกนตั้งรัฐบาล

พรรคขนาดกลางที่ประกาศหาเสียงไว้ชัดเจนว่าไม่เอาการสืบทอดอำนาจ คสช. ยอม “พลิกลิ้น” กลับมาร่วมสืบทอดอำนาจ คสช. ก็เพราะทราบดีว่าหากไปร่วมกับอีกฝ่ายก็ยากที่จะได้เป็นรัฐบาล เพราะไม่มีเสียง ส.ว. ช่วย

พรรคขนาด 1 ที่ ได้ที่นั่งเพราะผลพวงจากการคำนวณสูตรของ กกต. และเสียง 1 ที่ของแต่ละพรรคกลายเป็นสิ่ง “มีค่า” มากสำหรับการตั้งรัฐบาล

ลองจินตนาการดูว่า หากไม่มีมาตรา 272 หากไม่มี ส.ว. 250 คนที่หัวหน้า คสช. แต่งตั้ง หาก ส.ว. ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ พรรคการเมืองเหล่านี้จะตัดสินใจเช่นนี้หรือไม่?

พรรคอันดับสองคงต้องยกธงขาวยอมแพ้ ไม่ตั้งรัฐบาล

พรรคขนาดกลางคงมาร่วมกันหยุดการสืบทอดอำนาจ คสช. ไม่ต้องผิดคำพูดกับประชาชนแบบนี้

ส่วนพรรคขนาดเล็กก็อาจไม่มีที่นั่งในสภาก็ได้ หรือถ้ามี จำนวนเสียง 1-3 เสียงของแต่ละพรรค ก็ไม่ส่งผลนัยสำคัญในการตั้งรัฐบาล

ดังนั้น มาตรา 272 จึงเป็นบทบัญญัติที่ก่อให้เกิดผลประหลาดต่อการจัดตั้งรัฐบาล บิดเบือนการตัดสินใจของแต่ละพรรค กำหนดพฤติกรรมและการตัดสินใจให้แต่ละพรรคเฉไฉไปจากที่ควรเป็น

เมื่อก่อรัฐบาลด้วยความผิดปกติ การแบ่งสันปันส่วนตำแหน่งก็ย่อมผิดปกติตามมา การต่อรองก็ตามมา การจัดตั้งคณะรัฐมนตรีก็ล่าช้าผิดปกติตามมา

ประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดเป็นเจ้าของประเทศ และเป็นผู้จ่ายภาษี ต้องถูกบังคับให้พบเห็นการแย่งเก้าอี้รัฐมนตรีและการตั้งคณะรัฐมนตรีที่ล่าช้าแบบนี้

เราจำเป็นต้องพิจารณาให้ถ้วนถี่ว่า การเมืองที่ไม่ดีไม่ใช่เกิดจากนักการเมืองเท่านั้น เราถูกปลูกฝังมาโดยตลอดจนเชื่อว่าการเมืองห่วยเพราะนักการเมืองห่วย แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ตรงกันข้าม การเมืองที่ไม่ดี ประชาธิปไตยที่กระท่อนกระแท่น มลพิษของประชาธิปไตยเกิดขึ้นได้เพราะระบอบรัฐประหารต่างหาก

รัฐประหารทำลายพัฒนาการประชาธิปไตย และเมื่อคณะรัฐประหารต้องการสืบทอดอำนาจต่อ พวกเขาจึงจำเป็นต้องกำหนดโครงสร้างการเมืองบิดเบี้ยวผิดเพี้ยนเข้าไปในรัฐธรรมนูญเพื่อประกันการสืบทอดอำนาจ การเมืองแบบอัปลักษณ์ก็เกิดขึ้นมา เสร็จแล้วพวกเขาก็มาชี้หน้าตำหนินักการเมืองจากการเลือกตั้ง ตำหนิประชาชนว่าไม่ได้เรื่อง ได้เลือกตั้งแล้ว ได้ประชาธิปไตยแล้ว ก็มัวแต่ทะเลาะขัดแย้งกัน แล้วก็เป็นพวกเขาอีกนั่นแหละที่เข้ามายึดอำนาจ พร้อมทวงบุญคุณต่อไปอีกว่า นี่ไง เห็นหรือไม่ ได้ประชาธิปไตยไปแล้วก็เกิดวิกฤตอีก ทำให้พวกเขาเหนื่อย ต้องมายึดอำนาจและแก้ไขปัญหาให้ แล้วก็วนเวียนอยู่เช่นนี้ร่ำไป ทั้งๆที่จริงแล้วต้นตอของปัญหานี้คือระบอบรัฐประหาร

หากประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดต้องการไปให้พ้นจากสภาพการณ์นี้

หากนักการเมืองจากการเลือกตั้งต้องการไปให้พ้นจากการเป็น “นั่งร้าน” ให้กับระบอบรัฐประหาร (แถมยังถูกเขาด่า ถูกเขาทวงบุญคุณอีก)

เราต้องเริ่มต้นร่วมมือกันจัดการรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อเอาสิ่งผิดปกติอย่าง “ระบอบรัฐประหาร” ออกไป และนำคืนความปกติให้กับการเมืองไทย


You must be logged in to post a comment Login