วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

ชนะเพื่อรอแพ้

On April 29, 2019

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 29 เม.ย. 62)

โจทย์การจัดตั้งรัฐบาลที่รอให้ขั้วพรรคเพื่อไทยและขั้วพรรคพลังประชารัฐแก้นับวันยิ่งยากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเงื่อนไขจาก 2 พรรคตัวแปรสำคัญอย่างภูมิใจไทยที่ติดปมเรื่องคนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับกัญชาเสรี ขณะที่ประชาธิปัตย์เริ่มเด่นชัดว่าจะเลือกเป็นฝ่ายค้านอิสระมากกว่าไปหามเสลี่ยงให้ “ลุงตู่” นั่ง เมื่อเพิ่มเงื่อนไขศาลรัฐธรรมนูญไม่รับตีความสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อยิ่งยุ่งกันไปใหญ่ การจัดตั้งรัฐบาลจึงเหลือทางออกแค่ 2 ทาง ระหว่างทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะแล้วไปสู้กันใหม่ กับดันทุรังใช้เสียง ส.ว.ลากตั้งโหวตหนุน “ลุงตู่” เป็นนายกฯ โดยยอมเสี่ยงกับการเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภาล่าง ซึ่งดูแล้วโอกาสจะออกทางเลือกที่สองมีความเป็นไปได้สูง

การเมืองช่วงเข้าสู่โค้งสุดท้ายก่อนที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะประกาศรับรองผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการถือว่าเข้มข้นอย่างยิ่ง

ทั้งนี้เพราะหลังจากการประกาศผลแต่ละเขตอย่างเป็นทางการจาก กกต. แล้ว การเคลื่อนไหวเพื่อจัดตั้งรัฐบาลที่หยุดชะงักมาพักใหญ่จะกลับมาเคลื่อนไหวกันอีกครั้งอย่างเปิดเผย

ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐที่แม้จะมีจำนวนว่าที่ ส.ส. น้อยกว่าพรรคเพื่อไทยอยู่หลายคน แต่ไม่ได้ทำให้ความพยายามในการชิงจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศลดน้อยลง และยังมีความมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยมว่าจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้แน่นอน

ถ้าฟังน้ำเสียงของ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ ก็ยิ่งเพิ่มความมั่นใจว่าในที่สุดแล้วจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในสภาได้ และไม่ต้องมีนายกฯนอกบัญชีพรรคการเมือง ไม่ต้องมีรัฐบาลแห่งชาติ

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในสภานั้นไม่ใช่ปัญหา เพราะเสียง ส.ว.ลากตั้ง 250 เสียง ใครก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าพร้อมยกมือสนับสนุน “ลุงตู่” แน่นอน เพราะ คสช. เป็นคนเลือกและแต่งตั้งมาเองกับมือ

ปัญหาของการตั้งรัฐบาลมีอย่างเดียวคือ ทำอย่างไรถึงจะรวบรวมเสียง ส.ส. ให้ได้เกินครึ่งหนึ่งของสภา หรือ 250 คนได้

ปัญหานี้ตอนแรกดูเหมือนว่าแก้ไขได้ แต่ยิ่งนานวันยิ่งทำให้โจทย์ที่มั่นใจว่าแก้ไขได้นั้นมีความยากมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาจาก 2 พรรคตัวแปรสำคัญอย่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย

ในแง่ของพรรคประชาธิปัตย์นั้น ต้องรอลุ้นว่าหัวหน้าพรรคคนใหม่จะเป็นใครระหว่างนายกรณ์ จาติกวณิช นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หรือนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่จะมีการประชุมใหญ่พรรคลงมติเลือกกันในวันที่ 15 พฤษภาคม หลัง กกต. ประกาศรับรองผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 พฤษภาคม และเป็นการรู้ผลว่าใครจะมาคุมบังเหียนพรรคประชาธิปัตย์ก่อนเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรกเพียง 9 วัน

จะเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐทั้งพรรค หรือไปแบบงูเห่า หรือไปเป็นฝ่ายค้านอิสระ อยู่ที่คนมาเป็นหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่เป็นสำคัญ แต่หากดูจากหน้าตาของคนชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแล้ว โอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์จะเลือกเป็นฝ่ายค้านอิสระมีความเป็นไปได้สูง

ในขณะที่พรรคภูมิใจไทยทำโจทย์การจัดตั้งรัฐบาลทั้งขั้วเพื่อไทยและขั้วพลังประชารัฐยากขึ้นจากนโยบายกัญชาเสรี ที่หัวหน้าพรรคอย่างนายอนุทิน ชาญวีรกูล ประกาศในที่สาธารณะหลายครั้งว่าหากไม่รับนโยบายกัญชาเสรีไปทำยินดีเป็นฝ่ายค้าน

ดูแล้วทั้งขั้วเพื่อไทยและขั้วพลังประชารัฐค่อนข้างอึดอัดกับจุดยืนของพรรคภูมิใจไทย เพราะแม้จะมีความเคลื่อนไหวผลักดันเรื่องกัญชาจากคนกลุ่มหนึ่งอย่างต่อเนื่องจริงจังโดยอ้างเรื่องการแพทย์ แต่ดูเหมือนว่ากระแสสังคมส่วนใหญ่ยังไม่ยอมรับเรื่องนี้

ยิ่งเมื่อควบรวมการที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับตีความชี้ขาดสูตรที่จะใช้คำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ กกต. หวังใช้คำสั่งศาลเป็นไม้กันหมาไม่ให้ถูกฟ้องร้องตามมาภายหลัง ยิ่งเพิ่มโจทย์ให้การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ทวีความยากมากขึ้น เพราะไม่ว่าจะตัดสินใจใช้สูตรไหนล้วนเสี่ยงกับการถูกฟ้องร้องทั้งสิ้น

การจัดตั้งรัฐบาลจึงเหลือทางออกแค่ 2 ทาง

หนึ่งคือทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะแล้วไปสู้กันใหม่ อีกหนึ่งคือดันทุรังใช้เสียง ส.ว.ลากตั้งโหวตหนุน “ลุงตู่” เป็นนายกฯ โดยยอมเสี่ยงกับการเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภาล่าง

ถ้าให้ฟันธงระหว่าง 2 ทางออกนี้ ดูแล้วโอกาสจะออกทางเลือกที่สองคือยอมเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยเป็นไปได้สูงกว่า


You must be logged in to post a comment Login