วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

เศรษฐกิจโลกเสี่ยงสูง IMF ลด GDP โลกเหลือ 3.3%

On April 12, 2019

Economic Intelligence Center (EIC):ธนาคารไทยพาณิชย์ รายงานกรณีกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แถลงการณ์ปรับลดคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจโลกในปี 2019 เหลือ 3.3% ลดลงจาก 3.5% รวมถึงคาดการณ์ปริมาณการค้าโลกที่ถูกปรับลดลงเหลือ 3.4% จาก 4% จากประมาณการเดิมตามรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ในเดือนมกราคม ปี 2019 โดยมองว่า ความเสี่ยงหลักต่อเศรษฐกิจโลก ได้แก่ มาตรการกีดกันทางการค้า เศรษฐกิจจีนที่ชะลอลงจากการปฏิรูปเศรษฐกิจภายในและสงครามการค้า เศรษฐกิจยูโรโซนที่ชะลอตัวต่อเนื่องจากปัจจัยเฉพาะในหลายประเทศสมาชิก ความไม่แน่นอนจาก Brexit และภาวะการเงินโลกที่มีแนวโน้มตึงตัวยังส่งผลลบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง ทำให้เศรษฐกิจราว 70% ของโลกซึ่งครอบคลุมเกือบทุกภูมิภาคหลักเผชิญกับภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอลงกว่าที่คาดในปี 2019

อย่างไรก็ตาม IMF คาดว่า เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2019 และในปี 2020 ขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ (EM) ที่มีเสถียรภาพเพิ่มขึ้นและขยายตัวได้ดีในปี 2020 ประกอบกับปัจจัยสนับสนุนจากการปรับทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นของธนาคารกลางของเศรษฐกิจหลัก มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งการคลังและการเงินของจีนที่ทยอยส่งผล และปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มคลี่คลายลง เช่น การชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ในเยอรมนี และความวุ่นวายทางการเมืองในภูมิภาค

ความเสี่ยงที่สูงขึ้นในหลายด้านเป็นความท้าทายต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งหลังของปี 2019 ซึ่งความเสี่ยงสำคัญที่ต้องจับตา 3 ประการ คือ 1) มาตรการกีดกันทางการค้า ซึ่งต้องติดตามความคืบหน้าในการเจรจาข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ-จีน และข้อตกลง USMCA ระหว่างสหรัฐฯ แคนาดาและเม็กซิโก รวมถึงการตัดสินใจขึ้นภาษีนำเข้าหมวดยานยนต์และชิ้นส่วนโดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ ภายในวันที่ 18 พฤษภาคม 2) บทสรุปของ Brexit โดยเฉพาะรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปในอนาคต ซึ่งล่าสุดสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปเห็นชอบร่วมกันเพื่อเลื่อนเส้นตาย Brexit ไปจนถึงเดือนตุลาคม 2019 เพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่สหราชอาณาจักรจะต้องออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีข้อตกลง (No-deal Brexit) และให้เวลาสหราชอาณาจักรหาบทสรุปรูปแบบความสัมพันธ์ที่ได้รับการยอมรับจากรัฐสภาอังกฤษ และ 3) ภาวะการเงินที่อาจกลับมาตึงตัวเกินคาด ไม่ว่าจะมาจากทิศทางของอัตราดอกเบี้ยทั้งระยะสั้นและระยะยาวในภูมิภาคหลักที่อาจพลิกกลับมาเพิ่มสูงขึ้น หากเงินเฟ้อหรือคาดการ์เงินเฟ้อเริ่มเร่งตัว รวมถึงความเสี่ยงจากหนี้ภาคเอกชนในสหรัฐฯ และจีนที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวได้หากเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวจากการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงินการคลัง สหรัฐฯ และจีนสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าเพื่อยุติสงครามการค้าได้เบื้องต้น สหรัฐฯ ไม่ขึ้นภาษีนำเข้าหมวดยานยนต์และชิ้นส่วน และสหราชอาณาจักรไม่เกิดเหตุการณ์ No-deal Brexit รวมทั้งการดำเนินนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศหลักยังคงผ่อนคลายต่อเนื่อง

มุมมองของอีไอซีต่อนัยเศรษฐกิจไทยสอดคล้องกับประมาณการใหม่ของ IMF โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่ชะลอลงและยังคงมีความเสี่ยงสูง อีไอซีปรับลดคาดการณ์ GDP ในปี 2019 ใหม่ที่ระดับ 3.6% (จากเดิม 3.8%) และปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกไทยปี 2019 ในรูปดอลลาร์สหรัฐชะลอลงเหลือ 2.7% (จากเดิม 3.4%) สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยและหลายประเทศในกลุ่มอาเซียนยังคงเผชิญความเสี่ยงจากปริมาณการค้าโลกมีแนวโน้มขยายตัวลดลงในปี 2019 จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ DM และผลกระทบจากสงครามการค้า อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยจะยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและอุปสงค์ภายในจากการใช้จ่ายทั้งการลงทุนในประเทศที่คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวหลังการจัดตั้งรัฐบาล และการบริโภคภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มเติบโตตามการฟื้นตัวของรายได้และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อย่างไรก็ดี แม้เศรษฐกิจโลกจะมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลงและความผันผวนจากปัจจัยภายนอกประเทศยังคงมีสูง แต่เสถียรภาพภาคต่างประเทศของไทยยังคงแข็งแกร่ง ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถต้านทานผลกระทบจากภายนอกได้ ทั้งนี้อีไอซีมองเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2019 ทรงตัวอยู่ในกรอบ 31-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2019 และดุลบัญชีเดินสะพัดไทยยังคงเกินดุลอยู่ในระดับสูงราว 6.4% ของ GDP
gdp


You must be logged in to post a comment Login