วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

อายุเกิน 35 ปีควรระวัง เสี่ยงครรภ์คลอดก่อนกำหนด

On December 14, 2018

คอลัมน์ : โลกสุขภาพ

ผู้เขียน : พญ.ดลยา ประสาทอาภรณ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 14-21 ธันวาคม 2561)

ปัจจุบันผู้หญิงแต่งงานช้า ส่งผลทำให้มีบุตรเมื่ออายุมากขึ้น ซึ่งหากตั้งครรภ์ตอนอายุมากๆก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดได้ การฝากครรภ์ในโรงพยาบาลที่มีแพทย์ที่มีประสบการณ์ พร้อมด้วยเครื่องมือทางการแพทย์และเทคโนโลยีครบครัน ที่สำคัญคือมีหน่วยดูแลทารกแรกเกิดวิกฤตคอยดูแล ย่อมช่วยให้คลอดเจ้าตัวน้อยออกมาได้อย่างปลอดภัย

คุณแม่ตั้งครรภ์ที่อายุมากกว่า 35 ปี ถือเป็นตัวเลขอายุที่มีความเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดเนื่องมาจากวัยที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ การคลอดก่อนกำหนด (Preterm Labor) เป็นภาวะการคลอดก่อนอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์ ซึ่งทารกเหล่านี้ถึงแม้ว่าอวัยวะต่างๆจะครบสมบูรณ์ แต่การทำงานของอวัยวะแทบทุกส่วนไม่เท่าทารกที่ครบกำหนด ทำให้ช่วงหลังคลอดของทารกที่คลอดก่อนกำหนดมักต้องการการดูแลเป็นพิเศษและอยู่รักษาในโรงพยาบาลนานกว่าปรกติ

สาเหตุของการคลอดก่อนกำหนดเกิดขึ้นจาก 2 ปัจจัยคือ ทั้งจากแม่และเด็ก ปัจจัยจากแม่ ได้แก่ 1.อายุ โดยเฉพาะแม่ที่อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป หรือคุณแม่วัยใสที่อายุน้อยกว่า 18 ปีก็ถือเป็นความเสี่ยงได้เช่นกัน เนื่องมาจากการดูแลตัวเองที่ไม่ดีพอ 2.โรคประจำตัวต่างๆ ถ้าคุณแม่มีโรคประจำตัวก็ถือว่าเป็นครรภ์เสี่ยง หรือเป็นโรคในระหว่างตั้งครรภ์ เช่น เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เกิดความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ 3.เคยมีประวัติคลอดก่อนกำหนดมาก่อน ครรภ์ต่อมาก็มีโอกาสคลอดก่อนกำหนดได้เช่นกัน 4.มดลูกมีความผิดปรกติ เช่น ปากมดลูกสั้น มีโอกาสทำให้เจ็บท้องคลอดก่อนกำหนดได้ 5.ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ในขณะตั้งครรภ์ 6.การติดเชื้อ ครรภ์ที่โตขึ้นมีโอกาสไปกดเบียดกระเพาะปัสสาวะ ส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กระตุ้นให้เจ็บท้องคลอดก่อนกำหนดได้ ปัจจัยจากเด็ก หากบุตรในครรภ์มีความผิดปรกติของโครโมโซมหรือมีภาวะติดเชื้ออาจทำให้แม่มีอาการเจ็บท้องคลอดก่อนกำหนดได้ ทั้งนี้ โครโมโซมที่ผิดปรกติในเด็กจะแปรผันตามอายุแม่ที่เพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น เมื่อรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ควรฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่นๆ หากมีอาการผิดปรกติควรรีบมาพบแพทย์ โดยสัญญาณเตือนคลอดก่อนกำหนดได้แก่ มีอาการเจ็บครรภ์สม่ำเสมอ 4 ครั้งภายใน 20 นาที มีมูกเลือดออกทางช่องคลอด เป็นต้น ควรรีบมาโรงพยาบาล เพราะหากมาถึงเร็วแพทย์สามารถให้ยายับยั้งการคลอดไว้ก่อนได้ เช่น ฉีดยากระตุ้นการเจริญของปอด การให้ยายับยั้งการหดตัวของมดลูก ทำให้ลูกสามารถอยู่ในครรภ์คุณแม่ไปเรื่อยๆจนครบกำหนดได้ เพราะ 1 วันที่เด็กอยู่ในท้องของแม่ดีกว่าที่เขาจะออกมาเติบโตอยู่ข้างนอกเพราะคลอดก่อนกำหนด ให้พัฒนาการทางการเจริญเติบโตของเด็กเป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น หากเด็กคลอดก่อนกำหนดออกมาเจอกับสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมือนกับอยู่ในครรภ์แม่ โอกาสแทรกซ้อนจะมีได้มากกว่า ถึงแม้จะมีการดูแลอย่างดีแต่ก็ไม่สามารถเลียนแบบเหมือนกับตอนที่เด็กอยู่ในท้องแม่ได้

การประเมินครรภ์เสี่ยงเพื่อเช็กว่าคลอดก่อนกำหนดประกอบด้วย การตรวจภายในโดยพิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงของปากมดลูก ความกว้าง ระยะห่าง ขนาดตัวและตำแหน่งทารกในครรภ์ เพื่อประเมินความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนด ตรวจอัลตราซาวนด์เพื่อวัดความยาวและดูรูปร่างของปากมดลูกในการประเมินภาวะครรภ์เสี่ยงและโอกาสคลอดก่อนกำหนด เจาะตรวจน้ำคร่ำ (Amniocentesis) เพื่อตรวจสอบความสมบูรณ์ของทารกและภาวะติดเชื้อต่างๆ

อันตรายของทารกที่คลอดก่อนกำหนดคือ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปรกติ และส่งผลต่อระบบร่างกายดังนี้ ปอด พบปัญหาเรื่องการขาดสารลดแรงตึงผิว (Surfactant) ได้ในทารกคลอดก่อนกำหนด โดยปอดเราจะมีถุงลมคล้ายกับลูกโป่ง สารลดแรงตึงผิวมีหน้าที่ทำให้ถุงลมไม่แฟบ เด็กที่คลอดก่อนกำหนดสารลดแรงตึงผิวจะยังทำงานได้ไม่เต็มที่ ทำให้ถุงลมแฟบ ทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะต้องใช้แรงในการหายใจค่อนข้างมากเพื่อไปเปิดถุงลมของเขา ทำให้เกิดอาการเหนื่อย ทารกจะมีอาการหายใจหอบและอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ

หัวใจ อาจมีปัญหาจากการที่เส้นเลือดที่เชื่อมต่อระหว่างเส้นเลือดแดงใหญ่ที่ออกจากหัวใจเพื่อไปเลี้ยงร่างกายกับเส้นเลือดที่ไปสู่ปอดยังเปิดอยู่ (PDA) จะทำให้มีเลือดผ่านไปสู่ปอดมาก เป็นผลทำให้ทารกหายใจหอบและอาจเกิดภาวะหัวใจวายได้

สมอง เนื่องจากเส้นเลือดในสมองของทารกแรกคลอดค่อนข้างเปราะบาง โดยเฉพาะเด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 1,500 กรัม มีความเสี่ยงที่จะมีเลือดออกในสมองได้ เนื่องจากเส้นเลือดเปราะแตกง่าย

ลำไส้ เนื่องจากลำไส้ของเด็กยังบอบบาง การย่อยและการดูดซึมอาหารยังไม่ดีนัก ทำให้ต้องให้นมทีละน้อยๆ และอาจต้องให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำร่วมด้วย คุณแม่อาจเข้ามามีบทบาทช่วยได้ในเรื่องของนมแม่ เพราะข้อดีของนมแม่คือย่อยง่ายและมีภูมิต้านทานค่อนข้างมาก ซึ่งจะช่วยระบบย่อยของลูกให้ดีขึ้นได้

ดวงตา จอประสาทตายังพัฒนาไม่สมบูรณ์ หลังเกิดอาจมีการพัฒนาของเส้นเลือดจอประสาทตาผิดปรกติ ซึ่งถ้าเป็นรุนแรงอาจส่งผลต่อการมองเห็นของทารกได้

หู เสี่ยงที่จะมีความบกพร่องต่อการได้ยิน

การติดเชื้อ ทารกที่คลอดก่อนกำหนดมักติดเชื้อได้ง่าย เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันยังทำงานได้ไม่เต็มที่

นอกจากนี้ในระยะยาวอาจจะมีผลกระทบต่อความบกพร่องทางปัญญา พฤติกรรม พัฒนาการทางด้านต่างๆได้ การดูแลทารกคลอดก่อนกำหนด กุมารแพทย์สาขาทารกแรกเกิดและปริกำเนิดจะให้การดูแลเบื้องต้นคือ ให้ข้อมูลพูดคุยรายละเอียดและคำแนะนำกับคุณพ่อคุณแม่ ติดตามอาการของทารกอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมอุณหภูมิของร่างกายทารกให้เหมาะสม ดูแลรักษาทารกจนมีน้ำหนักตัวไม่ต่ำกว่า 2,000 กรัม จึงจะกลับบ้านได้ ทารกสามารถหายใจและรับประทานนมได้เอง เตรียมความพร้อมให้กับคุณพ่อคุณแม่ก่อนกลับไปบ้าน ที่สำคัญคือเรื่องพัฒนาการ เพราะเด็กที่คลอดก่อนกำหนดอาจมีความเสี่ยงเรื่องพัฒนาการช้ากว่าเด็กที่คลอดครบกำหนดทั่วไปได้ ต้องมีการตรวจเช็กเฝ้าติดตามอาการ และนัดพบคุณหมอด้านพัฒนาการเด็กเพื่อกระตุ้นพัฒนาการให้ใกล้เคียงกับเด็กปรกติ


You must be logged in to post a comment Login