วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

โอชา..ไหมล่ะ? ยินดีต้อนรับ “ตู่ ดิจิทัล”

On October 18, 2018

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

(โลกวันนี้วันสุข  ประจำวันที่ 19-26 ตุลาคม 2561)

การเปิดเพจส่วนตัว prayutofficial พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้งเว็บไซต์ชื่อ www.prayutchan-o-cha.com ทวิตเตอร์ส่วนตัวชื่อ twitter.com/prayutofficial ไอจีส่วนตัวชื่อ instagram.com/prayutofficial และเฟซบุ๊คส่วนตัวชื่อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha เพื่อสื่อสารตรงกับประชาชน พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะนโยบายต่างๆที่รัฐบาลได้ดำเนินการมาในระยะเวลา 4 ปี เป็นประเด็นที่น่าจับตามอง

โดยมีรายงานว่า เพจส่วนตัวของ พล.อ.ประยุทธ์นั้น เปิดมาตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2561 ซึ่งน่าจะมีไว้เพื่อเตรียมใช้หาเสียง เช่นเดียวกับหัวหน้าพรรคและนักการเมืองที่ใช้โซเชียลมีเดียก็ทำกันมาตลอด ส่วนที่มีแต่ชื่อไม่มี “ยศ” ก็เพื่อลดภาพความเป็นทหาร พร้อมกับระบุบ้านเกิดที่จังหวัดนครราชสีมา (ค่ายสุรนารี) อาจเพื่อให้ได้ใจคนอีสาน

“ตู่ ดิจิทัล” ต้องปรับตัว ไม่ให้ถูกกล่าวหาสืบทอดอำนาจ

พล.อ.ประยุทธ์ชี้แจงอย่างละเอียดถึงกรณีเปิดเพจเฟซบุ๊คส่วนตัวและสื่อโซเชียลมีเดียช่องทางต่างๆ (16 ตุลาคม) ว่า ตนเป็นมือใหม่ ต้องเป็น “ตู่ ดิจิทัล” บ้าง เพราะเราเดินหน้านโยบายไทยแลนด์ 4.0 ตนเป็นเบบี้บูมเมอร์ จึงต้องใช้ให้เป็นและพยายามปรับตัว ไม่ใช่มาทำเพราะรัฐบาลอยู่มา 4 ปี เมื่อมีการใช้โซเชียลมากขึ้นเรื่อยๆก็ต้องปรับตัว

พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวติดตลกว่า “อย่าลืมไลค์กันหน่อย อันไลค์ก็ได้” ที่ผ่านมาให้ทุกคนวิจารณ์ได้หมด เปิดไปดูมีทั้งชมมีทั้งว่าต่างๆ ต้องการเปิดเวทีตรงนี้ให้ทุกคนได้ติชม อะไรที่เป็นประโยชน์จะรับมาดำเนินการให้เหมาะสม ต้องทำใจให้กว้างมากขึ้น ยอมรับข้อติเตียน ขออย่างเดียวขอให้สุภาพ บางทีใช้คำไม่ค่อยสุภาพ ไม่เหมาะสม เยาวชนติดตามเรียนรู้อยู่ ข้อสังเกตที่บอกว่าชอบหรือไม่ชอบตนนั้น คนไม่ชอบก็คือไม่ชอบ จะพูดหรือทำอะไรดีๆก็ไม่ชอบอยู่ดี ต้องดูว่าสิ่งที่เขาติใช่ข้อเท็จจริงหรือไม่ ถ้าใช่เราก็แก้ไข ส่วนอะไรที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงเราก็ชี้แจงได้

“การทำงานครั้งนี้ผมไม่ได้ใช้งบมากมาย หลายคนเปิดทั้งเว็บไซต์ เฟซบุ๊ค ไอจี เปิดกันเยอะแยะ ไม่เห็นเสียสตางค์มากมาย ทำได้หมด เชิญเข้าไปกดไลค์กันด้วย เข้าไปให้ข้อเสนอแนะ คำว่าไลค์ของผม พอกดปุ๊บมันไลค์ทันที ชอบเลยทันที แต่ก็มีคนด่า เขียนแสดงความคิดเห็น มีทั้งไลค์และอันไลค์ ขอให้ติชมในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่หยาบคาย อะไรที่ไม่เข้าใจถ้าผมตอบได้ก็จะตอบ โดยให้คณะทำงานของผมคือนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกฯ ติดตามเรื่องเหล่านี้แล้วสรุปให้ผมทราบทุก 3-5 วัน ว่าอะไรที่ผมควรตอบเอง ซึ่งส่วนใหญ่ผมจะเขียนตอบเองแล้วให้เขานำข้อความนี้ไปใส่”

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงเฟซบุ๊คส่วนตัวที่ไม่มียศนำหน้าว่า มีหรือไม่มียศทำไมต้องสงสัยกัน บางทีเขาขี้เกียจจิ้ม ยศตนก็มีอยู่แม้จะเกษียณไปแล้ว การเปิดเพจเป็นการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน ใช้ชื่อให้สั้นกระชับที่สุด ทั้งย้ำที่เคยพูดว่า “การเมืองไม่ใช่ของเล่น” ที่ไม่ใช้คำว่า “เล่นการเมือง” เพราะการเมืองคือเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินที่ต้องมีธรรมาภิบาล จะเห็นว่าวันนี้มีความเคลื่อนไหวของหลายพรรคการเมือง จึงไม่อยากให้ใช้คำว่าเล่นการเมือง การที่จะเข้ามาสู่แวดวงการเมืองในอนาคตนั้นอาจจะรวมตนด้วย ขอใช้คำว่า “อาจจะ”

ส่วนการเปิดเพจถือเป็นการหาเสียงเอาเปรียบพรรคการเมืองต่างๆหรือไม่นั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “พรรคอื่นไม่เปิดหรืออย่างไร ให้ความเป็นธรรมกับผมบ้าง ไม่ใช่การหาเสียง จะหาเสียงอย่างไรให้คนรัก แต่นี่หาเสียงให้คนด่าด้วยซ้ำ ฉะนั้นกรุณาเบาๆลงหน่อย ผมต้องการให้สังคมได้เรียนรู้ว่าจะอยู่กันอย่างไร ต้องมองด้วยความเป็นธรรม”

สำหรับการประเมินเสียงตอบรับจากประชาชนหลังจากประกาศว่าสนใจงานการเมืองนั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ติดตามตลอด เป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจเอง ถ้าจะทำงานทางการเมืองต่อไปจะทำได้อย่างไร เหตุผลความจำเป็นของตนและชาติบ้านเมืองที่สำคัญคืออะไร นั่นคือสิ่งที่ตั้งเจตนารมณ์ไว้ เราจะปฏิรูป จะเดินหน้ายุทธศาสตร์ชาติอย่างไรโดยไม่ถูกกล่าวหาว่าสืบทอดอำนาจ สิ่งเหล่านี้ตนระมัดระวังอย่างที่สุด

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการปรับตัวและทำโซเชียลเชิงรุกว่า ปรับตัวเองว่าจะต้องโปร่งใส สุจริต มีเจตนาบริสุทธิ์ มีเจตนารมณ์ทางการเมืองที่มีธรรมาภิบาล ตนเปลี่ยนคนอื่นไม่ได้ แต่ถ้าได้อยู่และหากทุกคนจะเข้ามาร่วมกับตนก็ต้องทำตามตน จะให้สิ่งต่างๆเกิดขึ้นแบบเดิมอีกไม่ได้ อย่าลืมว่านายกฯมีอำนาจมาก เราต้องตั้งหลักให้มั่นว่าการเป็นนายกฯหรือรัฐบาลต้องทำเพื่อประชาชน มีประชาชนเป็นศูนย์กลางเสมอ เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

เป็นนายกฯจะอดทนให้ถึงที่สุด!

ส่วนคำถามว่าการเปิดโซเชียลเสียงติติงจำนวนมากจะทำให้อารมณ์เสียหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “ไม่ วันนี้ผมพูดแบบนั้นหรือไม่ ผมอารมณ์ดีหรือไม่ เสียงนุ่มนวลไพเราะไหม แต่บางครั้งต้องเห็นใจผมบ้าง การทำงานบางครั้งก็ว้าวุ่น มีเรื่องเยอะ หลายเรื่องทำแล้วไม่จบเพราะไม่เข้าใจ หลายเรื่องทำไปก็มีปัญหา บางเรื่องปัญหาเดิมๆก็ทับซ้อน ถ้าทุกคนไม่ปรับตัวมันไม่ได้ ขอร้องทุกคนอย่าทำให้เกิดความเสียหายขึ้นอีก ปัจจุบันที่มีการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อให้เกิดความเป็นสากลและทันสมัย”

หากวิจารณ์รุนแรงจะถือเป็นความผิดหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ถ้าจะเอาผิดก็ทำได้ทั้งหมด เพราะมีคอมเมนต์หยาบคายหลายคอมเมนต์ เรื่องนี้อยู่ที่จิตสำนึก ลูกหลานมาอ่านแล้วเขาจะว่าอย่างไร ใช้คำผรุสวาท คำหยาบคาย คำด่าพ่อล้อแม่ มันไม่สมควร ทำไมไม่ทำให้ดิจิทัลของเราพัฒนาไปสู่ช่องทางการสื่อสารที่บริสุทธิ์ เพื่อเด็กและเยาวชนจะได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นได้ ทุกคนช่วยเรื่องนี้ได้

“บอกแล้วว่าถ้าชอบผมมากๆ อีกพวกก็จะออกมาด่าผมมากขึ้น หรือบางพวกชอบผมก็ไปด่าคนอื่น แต่ก็รับได้ เพราะผมไม่ได้เป็นอย่างที่เขาว่าก็จบ เรื่องนี้ต้องทำใจ ผมไม่โกรธใครทั้งนั้น ถ้าโกรธผมก็คงไม่บอกใคร”

ส่วนถ้ามีการด่าทอจะฟ้องร้องหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เคยฟ้องร้องใครหรือไม่ ถ้าเป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคลก็ไม่ได้ เหมือนกับทุกคน ถ้าใครมาดูหมิ่นจะได้หรือไม่ ถ้าไปพูดหรือเขียนในสิ่งที่ไม่ใช่ บิดเบือนอย่างชัดเจน มีมากเข้าจะยอมได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่จะทนให้ถึงที่สุดเพราะเป็นนายกฯ แม้แต่คำว่าประชาธิปไตยก็ต้องไม่ใช่ประชาธิปไตยที่ไร้ขื่อแป ไม่สนใจกฎหมาย ต้องอยู่ภายใต้หลักกฎหมายที่ทุกคนยอมรับ พร้อมดูแลเสียงส่วนน้อยด้วย ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วย เสียงส่วนน้อยไม่เห็นด้วยแล้วประท้วง วุ่นวายทั้งหมด อย่างนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตย

ไม่ใช้งบหลวงดูแลสื่อโซเชียล

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ซึ่งรับผิดชอบดูแลเพจส่วนตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเข้ามาโพสต์เอง เล่นเฟซบุ๊คเอง ส่วนงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการสื่อออนไลน์ก็ไม่ได้ใช้งบประมาณราชการและไม่มาก มีทีมงาน 1-2 คนซึ่งไม่ใช่ข้าราชการ แต่นายพุทธิพงษ์ก็ไม่ได้ระบุว่าเป็นงบประมาณส่วนตัวของ พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่

ส่วนเว็บไซต์ระบุที่อยู่เป็นสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า ที่อยู่ไม่จำเป็นต้องเป็นที่บ้าน สามารถใช้ที่ทำงานได้ เพื่อให้ประชาชนส่งข้อมูลมาให้ ทีมงานก็ไม่ได้เข้ามาทำงานในทำเนียบรัฐบาล ทีมงานทำงานที่ไหนก็ได้ การทำกราฟิคอยู่ที่ไหนก็ทำได้ ไม่ต้องมีสำนักงาน ไม่ต้องตั้งจุดบัญชาการ

“หากท่านนายกฯอยากโพสต์อะไร ถ้าเป็นรูปท่านอาจจะโพสต์ลงเองได้ทันที แต่ถ้าเป็นคำพูดก็จะมีทีมงานของผมช่วยทำกราฟิคให้ ซึ่งไม่ได้ยากเย็นอะไร”

หากมีคนมาแสดงความคิดเห็นในเชิงลบจำเป็นต้องบล็อกหรือลบคอมเมนต์หรือไม่ นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า เราต้องเปิดกว้าง แม้จะมีนักเลงคีย์บอร์ดจำนวนมากที่มาแสดงความคิดเห็นเชิงไม่สนับสนุน แต่เราก็ต้องอ่าน ถ้าเรากลัวว่ามีคนมาพูดแต่สิ่งไม่ดี เราก็ไม่มีช่องทางที่เปิดกว้างให้ประชาชน

“ผมจะลบหรือบล็อกคำไม่สุภาพบ้าง แต่จะทำให้น้อยที่สุด คำหยาบคาย ด่าทอ ที่เราเห็นว่ามันมากเกินไป คำพูดแบบนี้เราห้ามไม่ได้ ถ้าไม่เริ่มก็ไม่มีช่องทาง สิ่งดีๆจากความเห็นของประชาชนมีเยอะมาก หากเรามัวแต่กลัวคำด่าทอเราก็ไม่เจอสิ่งดีๆ ตอนนี้มีประชาชนส่งข้อมูลในคอมเมนต์มาเยอะ เราก็จะคัดกรองไปสานงานต่อ”

กกต. ชี้ไม่เป็นความผิดไม่ใช้ทรัพย์สินและเวลาราชการ

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับการเปิดเพจเฟซบุ๊คของนายกรัฐมนตรีว่า ไม่เข้าข่ายหาเสียง สามารถทำได้ และ กกต. ยังไม่ได้พิจารณาเรื่องนี้ เช่นเดียวกับการลงพื้นที่ของรัฐมนตรีบางคนในนามพรรคการเมือง หากไม่ใช้ทรัพย์สินและเวลาราชการก็ไม่เป็นความผิด กกต. จะตรวจสอบทุกกรณีตามอำนาจหน้าที่ โดยเฉพาะในมาตรา 22 ของกฎหมาย กกต. ที่ต้องสอดส่อง สืบสวน หรือไต่สวน เพื่อป้องกันและขจัดการกระทำอันจะก่อให้เกิดความไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรมในการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นเวลาในระหว่างประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม

ทั้งนี้ นายอิทธิพรยืนยันด้วยว่า อำนาจชี้ขาดว่าสิ่งใดเป็นกิจกรรมทางการเมืองเป็นของ คสช. ซึ่งไม่ได้ทับซ้อนกับอำนาจของ กกต. คำสั่ง คสช. ถือเป็นกฎหมายที่ กกต. และทุกคนต้องปฏิบัติตาม หาก กกต. สงสัยประเด็นหรือการตีความเรื่องใดก็สามารถสอบถามและปรึกษา คสช. เพื่อให้เข้าใจตรงกันได้

เพจรัฐบาลและทีมงาน

สำนักข่าวบีบีซีไทยรายงานว่า ก่อนหน้านี้รัฐบาลมีการเปิดเพจทั้งเฟซบุ๊ค เว็บไซต์ และแอพพลิเคชั่นทางมือถือ เพื่อประชาสัมพันธ์และเป็นช่องทางบอกกล่าวของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลชุดนี้ ดังนี้

เพจ “ไทยคู่ฟ้า” เปิดตัวเมื่อเดือนมกราคม 2560 เป็นเพจประชาสัมพันธ์ข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ปัจจุบันมีผู้กดติดตามกว่า 35,000 คน เนื้อหาที่โพสต์เป็นเรื่องเกี่ยวกับการแจ้งกำหนดการ ข่าวสารการปฏิบัติภารกิจของนายกรัฐมนตรี การแถลงข่าวมติคณะรัฐมนตรีและนโยบายของรัฐบาล

ครั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์เดินทางไปจันทบุรีเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาได้ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรที่มารอพบ พล.อ.ประยุทธ์กดติดตามเพจเฟซบุ๊คไทยคู่ฟ้าเพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของรัฐบาล เมื่อเกษตรกรคนใดกดติดตามเพจดังกล่าวจะมีเจ้าหน้าที่แจกหมวกไทยคู่ฟ้าจากสำนักนายกรัฐมนตรีให้เป็นรางวัล

พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงเพจนี้ในรายการศาสตร์พระราชาฯเมื่อวันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ว่า เฟซบุ๊คไทยคู่ฟ้าได้ปรับรูปแบบการนำเสนอให้สอดรับไลฟ์สไตล์ของประชาชนยุค 4.0

เพจ “Gen.Prayut Chan-o-cha ทีมงาน” เริ่มโพสต์ข้อความและรูปภาพเกี่ยวกับการทำงานของนายกรัฐมนตรีตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2560 โดยล่าสุด (16 ตุลาคม) มีกดถูกใจ 37,075 คน และกดติดตาม 40,484 คน ส่วนเนื้อหาที่โพสต์แทบไม่แตกต่างจากเพจไทยคู่ฟ้าที่เน้นประชาสัมพันธ์ภารกิจของนายกรัฐมนตรี

ปัจจุบันเพจยังคงเปิดใช้งานอยู่ ล่าสุด (16 ตุลาคม) ได้แชร์โพสต์เพจ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha” เซลฟี่กับทีมหมูป่าที่เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์

เพจ “เปรี้ยง” เปิดตัวเมื่อเดือนมิถุนายน 2560 เรียกเสียงฮือฮาเป็นครั้งแรกจากการโพสต์บทกลอน “หายใจเป็นไทย” ที่เขียนด้วยลายมือของ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อมอบให้กับข้าราชการระดับสูงในการประชุมหัวหน้าส่วนราชการในวันที่ 29 มิถุนายน โดยเพจถูกตั้งคำถามว่านำข้อมูลมาจากแหล่งใด เพราะโดยปรกติการประชุมของนายกฯมักจะไม่มีข้อมูลอินไซด์หลุดออกจากที่ประชุม จึงถูกมองว่าเป็น “ทีมงานรัฐบาล” ทำ แต่ทีมงานได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่ใช่ทีมงานรัฐบาล แต่เป็นอดีตคนข่าวที่มีแหล่งข่าวที่รู้จักส่งข้อมูลมาให้

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์บอกว่าไม่รู้จักเพจนี้ พร้อมระบุว่า “อาจจะมีคนหวังดีกับรัฐบาลเลยสร้างเพจขึ้นมา” ซึ่งล่าสุด (16 ตุลาคม) มีกดถูกใจเพจ 48,604 คน และกดติดตาม 53,191 คน

เพจ “สายตรงไทยนิยม” วันที่ 3 เมษายน 2561 รัฐบาลเปิดเฟซบุ๊คสายตรงไทยนิยมที่เป็นชื่อเดียวกับโครงการ “ไทยนิยมยั่งยืน” โครงการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศที่รัฐบาลพยายามปลุกปั้น โดยรัฐบาลระบุว่าเป็นสื่อออนไลน์ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อรับคำร้องเรียน ร้องทุกข์ ข้อเสนอแนะ แสดงความคิดเห็น และใช้ในการกระจายข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐ ข้อมูลสาธารณประโยชน์ ข้อเท็จจริงต่างๆที่อยู่ในความสนใจของประชาชนเป็นสำคัญ ประชาชนสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนได้ผ่าน 3 ช่องทางคือ Facebook, Website และ Mobile Application ทั้งเป็นช่องทางเสริมของสายด่วน 1111 และ 1567 ซึ่งโทรฟรีทั่วไทยตลอด 24 ชั่วโมง ล่าสุด (16 ตุลาคม) มีกดถูกใจเพจ 21,241 คน และกดติดตาม 23,674 คน

แนะเปิดเพจต้องรับฟัง อย่าลบคอมเมนต์

ที่น่าสนใจคือ การเปิดเพจดังกล่าวเป็นช่วงที่ละคร “บุพเพสันนิวาส” กำลังพุ่งกระฉูด และนักแสดงนำจาก “บุพเพสันนิวาส” ได้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์เพื่อรณรงค์ส่งเสริมภาพยนตร์และละครที่เกี่ยวกับการเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่ง ดร.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก ชี้ว่าการสร้างกระแสหรือโหนกระแสละครดังพร้อมเปิดเพจดังกล่าวถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร เพราะเอา “ความเป็นไทย” มาเป็นจุดขาย ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์พยายามเอามาสร้างภาพลักษณ์มาตลอด แต่หากเปิดเพจแบบเดิมๆของรัฐบาล ข่าวสารที่ออกมาจะเป็นเพียงข่าวธรรมดาข่าวหนึ่งที่ไม่ได้มีจุดเด่นดึงดูดความสนใจแก่ผู้รับสาร

ดร.นันทนาแนะทีมงานว่า เมื่อใช้สื่อใหม่ในการสื่อสารแล้ว รายการคืนวันศุกร์ก็หมดความจำเป็น เพราะไม่มีช่องทางการฟีดแบ็กจากคนดู “ไหนๆจะเปิดสื่อใหม่แล้วคอมเมนต์ต่างๆก็อย่าไปลบ รับฟังเป็นบวกก็รับฟังที่เป็นลบด้วย นายกฯจะได้เห็นว่าคนนิยมและไม่นิยมท่านตรงไหน เห็นความคิดเห็นที่ตรงไปตรงมาจากประชาชน เป็นประโยชน์และเพิ่มเรทติ้งความนิยมของนายกฯ”

ยินดีต้อนรับ “ตู่ ดิจิทัล”

หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์เปิดเพจส่วนตัวทั้งเฟซบุ๊คและสื่อโซเชียลมีเดียช่องทางต่างๆ ถือเป็นการเปิดพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างใกล้ชิดโดยไม่มีการคัดกรอง โดยเฉพาะเฟซบุ๊ค 2 วัน (วันที่ 17 ตุลาคม 2561 เวลา 07.30 น.) ปรากฏว่ามีผู้กดถูกใจแล้ว 199,139 คน และกดติดตาม 208,598 คน ขณะที่คอมเมนต์ตามโพสต์แต่ละครั้งอีกนับไม่ถ้วน ซึ่งมีผู้แสดงความเห็นเชิงลบเป็นจำนวนมาก รวมถึงการเสนอแนะต่างๆ

นายสมบัติ บุญงามอนงค์ “บก.ลายจุด” ว่าที่หัวหน้าพรรคเกียน คอมเมนต์ว่า “รับสมัครแอดมินมั้ยครับ พอดีไม่มีเงินใช้ บัญชีธนาคารถูกอายัดมา 4 ปีกว่าแล้ว” และ “อ่านเมนต์เพจนี้สบายมาก ไม่หนักใจ อ่านไปอ่านมามีแต่ความบันเทิง ต่อให้ไม่จ้างให้เป็นแอดมินก็จะเข้ามาอ่านบ่อยๆ ชอบมาก ขอให้เพจนี้อยู่นานๆ”

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม นายสมบัติยังได้เดินทางไปยื่นใบสมัครงานที่ประตูทำเนียบรัฐบาล ตำแหน่งแอดมินเพจ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เพจเฟซบุ๊คส่วนตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยระบุประวัติส่วนตัวว่า จบการศึกษาจากมหาลัยยูทูบ มีประสบการณ์เล่นเฟซบุ๊คและยูทูบมามากกว่า 10 ปี เข้าใจวัฒนธรรมโลกออนไลน์เป็นอย่างดี และสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียมากมายนับไม่ถ้วน รวมถึงได้รับการปรับทัศนคติมาแล้ว และมีประสบการณ์ในด้านการตรวจสอบองค์กรต่างๆ

โดยระบุจุดหมายในการทำงานคือ ต้องการใช้ความรู้ความสามารถในด้านการบัญชีตามที่ได้ศึกษามา และมุ่งมั่นตั้งใจปฏิบัติงานปิดกั้นคัดกรอง รวมถึงไล่ลบคอมเมนต์ที่ไม่ชื่นชมผู้นำได้เร็วเป็นพิเศษ อีกทั้งสามารถบล็อกสกัดกั้นความเห็นต่างไม่ให้ระคายเคืองให้อารมณ์เสียได้ โดยขอค่าตอบแทนเป็นบัญชีธนาคารที่โดนอายัดไว้เมื่อ 4 ปีที่แล้วคืน และในช่องลงนามของตนเองได้เขียนว่าเป็น “ผู้ประสบภัย คสช. คนหนึ่ง”

นายสมบัติกล่าวว่า ขอฝากให้เป็นทางเลือกว่าจะคืนเงินตนเองดีๆหรือจะรับเข้าทำงานแอดมินเพจ ทั้งนี้ จะเดินทางมาทำเนียบรัฐบาลอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์จนกว่ารัฐบาลจะคืนเงิน หรืออธิบายได้ว่าเหตุใดอายัดบัญชีมานาน 4 ปี เพราะคดีสิ้นสุดไปแล้วทั้ง 3 ศาล

นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความทั้งทางทวิตเตอร์ส่วนตัว Oak Panthongtae ว่า “ยินดีต้อนรับครับ! ท่านนักการเมืองจำเป็น เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน#ลุงฉุนเป็นคนตลก” และข้อความทางอินสตาแกรม oak_ptt ว่า “ลุงฉุนรับสมัครนักลบไซเบอร์ไหมครับ ลบเร็ว ลบหมด ลบทุกคอมเมนต์#ไม่เกี่ยวกับการเมืองนะครับ”

นายถือแถน ประสพโชค บุคคลที่ติดตามการทำงานของรัฐบาลและ คสช. อย่างใกล้ชิด คอมเมนต์ว่า “แนะนำให้ลุง live สดผ่านเพจครับ จะได้สื่อสารกับประชาชนแบบสดๆ รับรองคะแนนเสียงมาตรึมครับ”

นายเจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัว jessada denduangboripant ว่า “โอ้ ท่านอ่านคอมเมนต์เองด้วยเหรอครับ เข้มแข็งมาก สมเป็นว่าที่นักการเมืองเลยครับ โดนด่ายังไงก็ไม่สะดุ้งสะเทือน ฮะๆๆ … ป.ล. โอกาสหน้าลองเปิดโพลโหวตดูคะแนนนิยมบ้างสิครับ ลูกเพจจะได้มีส่วนร่วม อิๆๆ”

จากนั้นมีผู้แสดงความเห็นต่อจำนวนมาก เช่น เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยไม่กลัวหรือ อาจารย์เค้าเป็น fc ลุงตู่ ตามมาเมนต์ตลอดเลย เค้ายังโกรธเรื่องไม้ล้างป่าช้าที่อาจารย์เอามาแฉอยู่นะครับ คนระดับนี้เอาแต่กระแหนะกระแหน มันดูทุเรศน่าสมเพชจัง!! อย่างว่าเสพติดพวกโกงชาติหนีคุกเลยบ้าได้ขนาดนี้ และฝึกไว้ในวันข้างหน้าเผื่อเป็นนักการเมือง เป็นต้น

เพจยอดนิยมแนะนำ “ตู่ ดิจิทัล”

บุคคลที่รัฐบาลเคยมีประกาศห้ามหรืองดเว้นการติดต่อบนสื่ออินเทอร์เน็ตก็ได้เข้ามาแสดงความคิดเห็น อย่าง รศ.ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ รองศาสตราจารย์ศูนย์ศึกษาภาควิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยเกียวโต และนายแอนดริว มาร์แชล ผู้สื่อข่าวชาวสกอต ขณะที่ “วอยซ์ ออนไลน์” สอบถามความเห็นแอดมินเพจดังผู้ทรงอิทธิพลในโลกโซเชียลมีเดียเมืองไทยว่ามองวิธีเล่นโซเชียลมีเดียของนายกรัฐมนตรีอย่างไร และมีคำแนะนำอะไรบ้าง

โดยเพจดัง “อีเจี๊ยบ เลียบด่วน” ที่มีผู้ติดตามกว่า 2.8 ล้าน มองว่า การเปิดเพจของ พล.อ.ประยุทธ์เป็นเรื่องสนุก และชี้ว่าหากต้องการประสบความสำเร็จควรมีความจริงใจและเป็นตัวเองให้มากที่สุด เมื่อถูกคนอื่นด่าให้หันกลับมามองตัวเอง และประเมินว่าที่เขาตำหนิเป็นเพราะเราผิดพลาดจริงหรือไม่ อย่าเข้าข้างและอย่าหลอกตัวเอง

“ถ้าผิดจริงก็แก้ไข ขอโทษเขาซะ และระวังอย่าทำอีก คนเราทำผิดพลาดได้ทุกคน แอดมินเพจก็คน แต่ถ้าเรามาไตร่ตรองแล้วคิดว่าที่เราทำไปถูกต้อง ไม่ได้สร้างความเดือดร้อน ทำลายใคร ก็พยายามอธิบายให้เขาเข้าใจอย่างสุภาพ ใจเย็น เป็นมิตร เอาเท่าที่จะทำได้ ถ้าเขายังไม่ปลื้มก็ถือว่าจริตไม่ตรงกัน ก็อันไลค์ แยกทางกันไป”

ส่วนเพจ “CSI LA” ของนายเดวิด (ประมุข) อนันตศิลป์ บอกว่า “บิ๊กตู่” ตัดสินใจช้าเกินไปสำหรับการเปิดเพจรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน การเปิดภายหลังบริหารประเทศมามากกว่า 4 ปี หนีไม่พ้นที่จะทำให้หลายฝ่ายมองว่าต้องการหวังผลหาเสียงทางการเมืองมากกว่ารับฟังความคิดเห็น “ที่ผ่านมาผู้มีอำนาจหลายคนดูถูกคนโซเชียล มองว่าสื่อออนไลน์ไม่มีตัวตน แต่กลับมาเปิดเพจในวันนี้ ซึ่งผมคิดว่าสายเกินไปแล้ว”

นายเดวิดยังบอกว่า การสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียในฐานะผู้บริหารประเทศควรเป็นลักษณะสอบถามความคิดเห็นเพื่อดำเนินนโยบายหรือแนะนำเครื่องมือในการจัดการแก้ไขปัญหา เช่น เปิดให้โหวต การเปิดเพจให้ได้รับความนิยมควรสื่อสารในลักษณะที่มีความจริงใจอย่างแท้จริงมากกว่าการสร้างภาพหรือนำเสนอแค่ความสวยงามเท่านั้น

ทำนายเพจถูกถล่มจนต้องปิดหนี

นายวรชัย เหมะ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงเฟซบุ๊คประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha รวมทั้งไอจีและทวิตเตอร์เพื่อสื่อสารตรงกับประชาชนว่า คราวก่อนที่มีการทำโพลสอบถามว่าอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯอีกหรือไม่นั้น ปรากฏว่า 90% ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์เลย ทำให้ช่วงนั้น พล.อ.ประยุทธ์ถึงกับออกปากไม่อยากดูโซเชียลมีเดียรวมทั้งข่าวในหนังสือพิมพ์

มาคราวนี้ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ระวังจะโดนประชาชนคอนเมนต์ถล่มเพจจนต้องปิดหนีแน่นอน พล.อ.ประยุทธ์ต้องดูตัวเองด้วยว่าที่ผ่านมาได้บริหารประเทศอย่างไร ประชาชนกินอิ่ม มีเงินใช้หนี้หรือไม่ กลายเป็นว่าประชาชนมีหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น แถมยังจะมาเก็บภาษีกับสุนัขและแมวอีก ราคาสินค้าเกษตรก็ตกต่ำแทบทุกชนิด ไม่ได้ช่วยยกระดับรายได้ประชาชนเลย และยิ่งใกล้จะเลือกตั้งอยู่แล้วถามว่าเรื่องเข้ามาสร้างปรองดองทำแล้วหรือยัง ปฏิรูประบบราชการ ปฏิรูปการเมืองได้ทำแล้วหรือ แบบนี้ประชาชนยังจะรักและชื่นชอบ พล.อ.ประยุทธ์อยู่อีกหรือไม่ ดังนั้น ที่ พล.อ.ประยุทธ์เปิดเพจหวังโยนหิน แต่คาดว่าจะไปไม่รอดมากกว่า

“ยิ่งเอาเปรียบมากขึ้นเมื่อปล่อยให้ 4 รัฐมนตรีเดินสายพบปะประชาชนได้ ต่อให้อ้างว่าเป็นวันหยุด ไม่ใช่เวลาราชการ แต่ถามว่าพวกท่านก็มีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี ใครก็ต้องกลัว ต้องเกรงใจหรือไม่ ทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองได้สืบทอดอำนาจต่อ แต่พรรคการเมืองและนักการเมืองถูกมัดมือชก ทำอะไรไม่ได้เลย ซึ่งขัดหลักการประชาธิปไตย ขนาดจัดประชุมพรรคก็ยังส่งพวกสันติบาลหรือ กอ.รมน. ไปติดตาม แบบนี้เรียกคุกคามหรือไม่ ควรเลิกได้แล้ว”

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เป็นสัญญาณที่จะลงสู่สนามเลือกตั้งแล้ว ต้องเคารพ ถือเป็นการเล่นตามเกมในการสื่อสารกับพี่น้องประชาชน เพียงแต่ต้องเปิดกว้างให้ผู้อื่นสื่อสารในลักษณะเช่นนี้ได้อย่างเท่าเทียมด้วย ไม่ใช่ใช้อำนาจพิเศษห้ามคนอื่นทำ ดังนั้น วันนี้การที่เครือข่ายประชาชนที่ต้องการการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และมีผลในทางปฏิบัติ หรือกลุ่มเฟ (FFFE) ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นต้องเสรีและเป็นธรรมจึงถูกต้อง เพราะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในช่วงสถานการณ์ขณะนี้ที่เป็นช่วงรอยต่อสำคัญว่าจะนำไปสู่ประชาธิปไตยได้หรือไม่ ถ้าการเลือกตั้งเสรีเป็นธรรมทุกฝ่ายก็ยอมรับ สถานการณ์ก็จะคลี่คลายได้ แต่ถ้าไม่เสรีเป็นธรรม โดยยังใช้คำสั่ง คสช. ปิดกั้นอยู่ ก็จะเป็นต้นเหตุทำให้ประเทศตกอยู่ภายใต้กับดักต่อไป

ดังนั้น หัวใจสำคัญจึงอยู่ที่ กกต. แม้วันนี้อำนาจนอกเหนือ กกต. จะทำให้สถานการณ์คลุมเครือไปบ้าง แต่ถ้า กกต. ยืนหลักมั่น โดยต้องการสร้างให้ทุกฝ่ายศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย อะไรที่เป็นอุปสรรค ไม่ทำให้การเลือกตั้งเสรีและเป็นธรรม กกต. ต้องสื่อสารไปถึงผู้มีอำนาจพิเศษ ทำให้กติกาทุกอย่างชัด แต่ กกต. ทำไม่ได้ ประเทศก็จะกลับสู่ความไม่สงบเรียบร้อยอีกครั้ง

โอชา..ไหมล่ะ?

แม้ “ทั่นผู้นำ” และคณะทำงานจะพยายามเลี่ยงบาลีว่าไม่ได้ทำเพื่อหวังผลทางการเมือง ไม่ได้เป็นการหาเสียงล่วงหน้าเอาเปรียบนักการเมืองและพรรคการเมืองอื่นๆซึ่งทำไม่ได้เพราะยังติดล็อกคำสั่ง คสช. แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการโดดลงมาใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบนั้น จะเรียกว่าหาเสียงหรือไม่ก็เป็นการทำเพื่อหวังผลทางการเมือง เพราะคำว่า “หาเสียง” กับคำว่า “สื่อสาร” มีความหมายไปในทิศทางเดียวกัน คือหลังส่งสารออกไปหวังมีผลตอบรับกลับมาในทางที่ดี

แม้บรรดาชาวเน็ตจะรับน้องใหม่ “ตู่ ดิจิทัล” ทั้งค่อนแคะและวิพากษ์วิจารณ์ไปในทางลบมากมาย แต่ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับ “ลุงตู่” ด้วย เพราะการที่นักการเมืองหรือเซเลบทางการเมืองล้วนใช้สื่อสังคมออนไลน์สื่อสารกับประชาชนต่างก็มีจุดหมายเดียวกันกับ “ทั่นผู้นำ” ทั้งสิ้น เพราะการแสดงความเห็น การวิพากษ์วิจารณ์ การเสนอแนะ ล้วนทำไปเพื่อสร้างความนิยมให้ตัวเอง และเป็นการหาเสียงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ทั้งสิ้น

เมื่อ “ตู่ ดิจิทัล” เปิดเพจส่วนตัว คนส่วนใหญ่จึงสนับสนุน เพราะถือเป็นความกล้าหาญและเป็นการ “เปิดหน้าสู้” โดยยืนยันว่าไม่ได้ใช้สื่อโซเชียลหาเสียงทางการเมืองก็ยิ่งต้องแสดงให้เห็นว่าไม่ได้หาเสียงจริงๆ โดยปลดล็อกพรรคการเมืองเร็วที่สุด ซึ่งจะสง่างามสมกับความเป็นชายชาติทหาร ไม่ว่า “ตู่ ดิจิทัล” จะเล่นการเมืองหรือไม่ คงไม่จำเป็นต้องรอจนถึงเดือนธันวาคม ซึ่งมีคำถามว่ามีปัญหาอะไรจึงต้องเป็นเดือนธันวาคม ขณะที่ “ทั่นผู้นำ” และพวกถูกมองว่าเดินสายดูดและลงพื้นที่หาเสียงไม่เว้นแต่ละวัน

การกระทำแทบทุกอย่างอย่างเอาเปรียบทั้งกฎและกติกาจึงยิ่งทำให้ห่างไกลจากคำว่า “Free, Fair and Fruitful Election เพื่อการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และทำให้เห็นผลได้จริง” ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาคมโลกเขายึดถือปฏิบัติกันออกไปเรื่อยๆ และดูเหมือนจะเป็นเรื่องยากที่จะหาได้จากอำนาจรัฐที่มาจากกระบอกปืน

“ตู่ ดิจิทัล” จึงไม่ใช่แค่เปิดเพจส่วนตัวเพื่อสร้างภาพเท่านั้น แต่ต้องปลดล็อกการเมืองเต็มรูปแบบ ให้ทุกคนได้มีเวลาและโอกาสสู้กันอย่างเท่าเทียม

ไหนๆก็ตั้งกติกาได้เปรียบพรรคการเมืองอื่นอยู่แล้ว จะไม่ลองแสดงความมีน้ำใจนักกีฬา เลิกตีตรวนนักการเมือง พรรคการเมือง อย่างน้อยก็จะดูเท่กว่าที่เป็นอยู่ และสลัดภาพสุภาพบุรุษกระโปรงลายพรางเสียที

กลัวก็แต่เพจ “ทั่นผู้นำ” จะเจอคอมเมนต์สารพัดสารพันที่สุดแสนจะ “โอชา” จนอาจทนรับความจริงไม่ได้ อาจสร้างความฉุนจนพาลไปไล่จับหรือเล่นงานคนเห็นต่างด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เสียก่อน

การเมืองภายใต้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์จากการยึดอำนาจและอยู่นานอาจจะ “โอชา” จนเคยชิน

วันนี้ “ตู่ ดิจิทัล” ได้ลองกระโดดเข้ามาในโลกเสมือนจริงในสนามโซเชียลเป็นที่เรียบร้อยแล้วเป็นไง.. “โอชา..ไหมล่ะ?”

โลกจริงในสนามเลือกตั้ง “ทั่นผู้นำ” ที่รอนั่งเก้าอี้นายกฯคนนอก คงถูก “ยินดีต้อนรับ” ไม่น้อยกว่าแน่

บนกติกาที่ไม่ Free ไม่ Fair ถ้าพรรคหนุน “ทั่นผู้นำ” ชนะได้ก็ไม่แปลก และหนทางต่อสู้ยังต้องสู้กันอีกยาวไกล

แต่ถ้าแพ้แบบเห็นๆแล้วยังจะตะแบงให้ชนะเพื่ออยู่กันต่อไปยาวๆ งานนี้คงได้ “โอชา” กันอีกแบบ!!??

 


You must be logged in to post a comment Login