วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

ผลลบที่จำเป็น

On September 13, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

การแต่งตั้งนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตแกนนำ กปปส. เป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพรส์ทางการเมือง เมื่อพิจารณาถึงเหตุผลในเรื่องของตัวงานและอำนาจหน้าที่มีน้ำหนักค่อนข้างน้อยจึงทำให้เหตุผลทางการเมืองมีมากกว่าโดยปริยาย แต่เหตุผลทางการเมืองก็ต้องแยกออกจาก “ผล” ทางการเมืองที่ได้รับ เพราะการแต่งตั้งครั้งนี้ไม่ว่าจะมองในแง่ไหนก็ไม่ได้ให้ผลบวกในทางการเมืองหรือช่วยเพิ่มคะแนนให้กับรัฐบาลทหาร คสช. ในทางตรงกันข้ามอาจให้ผลด้านลบมากกว่าด้วยซ้ำ

มติคณะรัฐมนตรีในการแต่งตั้งนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตแกนนำ กปปส. เป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เมื่อวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา ในทางการเมืองไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นเรื่องไม่เกินกว่าความคาดหมาย

แต่ประเด็นที่น่าพิจารณาคือ การแต่งตั้งมีความสมเหตุสมผลอย่างที่ผู้มีอำนาจอธิบายหรือไม่

สำคัญที่สุดคือ รัฐบาลทหาร คสช. จะได้อะไรหรือเสียอะไรจากการแต่งตั้งในครั้งนี้

การแต่งตั้งนายพุทธิพงษ์เป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองในทางเปิดเผยถูกอธิบายเหตุผลว่า ต้องการใช้ประโยชน์และประสบการณ์จากการเป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มาช่วยงานรัฐบาลทหาร คสช. ใน 2 ส่วนคือ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับความเดือดร้อนของประชาชน และส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประสานงานกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

เมื่อพิจารณาตามเหตุผลในทางเปิดเผยต่อสาธารณะว่าต้องการใช้ประสบการณ์ของการเป็นอดีต ส.ส. เข้ามาช่วยประสานงานต่างๆ ทำให้มีประเด็นที่น่าพิจารณาว่าการติดต่อประสานงานมีความจำเป็นต้องใช้คนที่มีประสบการณ์เป็นอดีต ส.ส. หรือไม่ โดยเฉพาะการประสานงานกับ สนช. ซึ่งมาจากการแต่งตั้ง ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ที่สำคัญสมาชิกส่วนมากเป็นข้าราชการในปัจจุบันและอดีตข้าราชการ ไม่ใช่นักการเมือง

ที่ลืมไม่ได้เลยคือ ช่วงระยะเวลากว่า 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลทหาร คสช. ไม่เคยมีปัญหาในเรื่องการประสานงานกับ สนช. แถมการประสานงานยังเต็มเปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพชนิดที่เรียกว่าขอความร่วมมือได้ทุกเรื่อง

เมื่อการประสานงานระหว่างรัฐบาลทหาร คสช. กับ สนช. ไม่เคยมีปัญหา และไม่มีแนวโน้มว่าจะมีปัญหา ประกอบกับระยะเวลาอยู่ในอำนาจของรัฐบาลทหาร คสช. และอายุขัยของ สนช. ที่เหลืออยู่ไม่กี่เดือน มองไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องเอาอดีต ส.ส. มาช่วยประสานงาน

ขณะที่หน้าที่ที่ถูกระบุว่าให้มาช่วยงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความเดือดร้อนของประชาชนก็ไม่มีความชัดเจนว่ามีอำนาจหน้าที่แค่ไหน อย่างไร จะให้มานั่งรับฟังปัญหาจากประชาชน รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนก็คงไม่ใช่ เพราะมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว

จะว่าให้ไปประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชนก็ดูมีน้ำหนักน้อย เพราะตลอดเวลากว่า 4 ปีที่ผ่านมา ก็มีคนทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว และไม่ปรากฏว่าคนที่ทำหน้าที่อยู่ก่อนแล้วลาออกหรือถูกไล่ออกแต่อย่างใด

เช่นเดียวกับกรณีแรกคือ เมื่องานที่เกี่ยวข้องกับความเดือดร้อนของประชาชนไม่ได้มีข้อบกพร่อง เพราะรัฐบาลทหาร คสช. โชว์ตัวเลขความสำเร็จในการแก้ปัญหาให้ประชาชนที่ร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรมมาตลอดว่ามีประสิทธิภาพค่อนข้างสูง ระดับความจำเป็นที่ต้องตั้งนายพุทธิพงษ์เข้ามาช่วยงานจึงมีน้อยมาก

เมื่อเหตุผลในเรื่องของตัวงานมีน้ำหนักน้อย จึงทำให้เหตุผลทางการเมืองในการแต่งตั้งนายพุทธิพงษ์มีมากกว่าโดยปริยาย

ยิ่งเมื่อมองถึงความเป็นเซเลบทางการเมืองของนายพุทธิพงษ์ เมื่อมองถึงบทบาทในการชุมนุมเคลื่อนไหวปิดกรุงเทพฯ เมื่อมองถึงระยะเวลาการทำงานของรัฐบาลทหาร คสช. ที่เหลือเพียงน้อยนิด เมื่อมองถึงคดีความหลายคดีที่ติดตัวอยู่ เมื่อมองถึงการเลือกตั้งที่ใกล้มาถึง คิดว่าคนที่ติดตามการเมืองคงมองเห็นเหตุผลที่แท้จริงของการแต่งตั้งได้ไม่ยาก

ส่วนคำถามที่ว่ารัฐบาลทหาร คสช. จะได้อะไรจากการแต่งตั้งนายพุทธิพงษ์ในครั้งนี้

คำตอบคือไม่ได้อะไร แต่จำเป็นต้องแต่งตั้ง แม้จะส่งผลลบก็ถือเป็นผลลบที่จำเป็น


You must be logged in to post a comment Login