วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

ฝึกทักษะช่วยฟื้นคืนชีพให้สื่อมวลชนเพื่อรับมือกรณีฉุกเฉิน

On July 17, 2018

ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ปาร์ค  สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย ร่วมกับ ศูนย์กู้ชีพ นเรนทร รพ.ราชวิถี จัดเสริมทักษะการปั๊มหัวใจ (CPR) และสอนเทคนิควิธีเอาตัวรอดเมื่อเกิดภัยธรรมชาติให้กับสื่อมวลชน ภายใต้โครงการส่งเสริมและป้องกันคนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนและสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทั้งนี้ในงานยังมีการเสวนา หัวข้อ “เมื่อหัวใจหยุดเต้น”โดยเชิญผู้มีประสบการณ์มาเล่าถึงสถานการณ์จริงที่สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นให้รอดชีวิตได้ และพิธีมอบเกียรติบัตรให้กับผู้ช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน

พญ.ณธิดา สุเมธโชติเมธา กลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน รพ.ราชวิถีกล่าวว่า การเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันมีแนวโน้มพบได้บ่อยขึ้น ทั้งอัตราป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจ และจำนวนผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งผู้ที่เข้ารับการรักษาอาการเจ็บหน้าอกและกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันมีจำนวนมาก ดังนั้น การช่วยชีวิตเบื้องต้น หรือ CPR จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว และสำคัญอย่างมาก สะท้อนได้จากข้อมูลของสมาคมหัวใจอเมริกัน (American Heart Association: AHA) พบว่า การทำ CPR อย่างถูกวิธีสามารถช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้ถึง 3 เท่า

การนำสื่อมวลชนมาฝึกทักษะการปั๊มหัวใจในครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นให้เห็นความสำคัญ และขยายบอกต่อไปในวงกว้าง โดยขั้นตอนที่ถูกต้อง คือ เมื่อพบผู้ป่วยหมดสติ ให้มองบริเวณรอบๆว่าปลอดภัยหรือไม่ หากปลอดภัยจึงเข้าไปแตะต้องผู้ป่วยได้ จากนั้นปลุกเรียกผู้ป่วย ถ้าไม่ตื่น ต้องโทรเรียกรถพยาบาล1669 ทันที ให้ตรวจดูว่าผู้ป่วยยังหายใจหรือไม่ โดยตรวจดูที่หน้าอกหรือท้อง หากไม่มีการขยับหรือเคลื่อนตัว หรือหายใจเฮือกๆ ให้ทำCPRทันที

นพ.อรุณ วิทยะศุภร นายแพทย์เกษียณผู้มีประสบการณ์ในการทำซีพีอาร์ เพื่อช่วยเหลือชีวิตลูกของตนเอง กล่าวว่า ย้อนไปวันที่เกิดเหตุการณ์ ขณะอยู่ในรถ และลูกนั่งอยู่ข้างๆพอหันไปดู พบว่า ลูกเงียบผิดปกติ และพบว่ามีอาการหมดสติ ในทางการแพทย์เห็นแล้วว่าขาดอากาศหายใจ มือไม้บิด สิ่งแรกที่ทำได้คือการทุบหน้าอก เพื่อให้เกิดแรงกระแทกส่งไปที่หัวใจ หลังจากนั้นพยายามนำรถจอดข้างทางเพื่อทำ CPR ระหว่างนั้นตนเห็นคนถือโทรศัพท์ จึงร้องขอให้โทรไปที่ 1669 และได้รถฉุกเฉินของเอราวัณที่ผ่านมาให้ความช่วยเหลือ เหตุการณ์วันนั้นจึงผ่านมาได้ด้วยดี ซึ่งอาการของลูกเกิดจากหัวใจห้องล่างสามารถทำงานเพียงห้องเดียว ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ

นพ.อรุณ กล่าว่า หากพบผู้ป่วยหยุดหายใจการช่วยเหลือที่รวดเร็วจะช่วยผู้ป่วยได้มาก เพราะช่วงเวลา 4-5 นาทีอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตหรือมีผลกระทบต่อสมองได้ ดังนั้นการเรียนรู้ฝึกทักษะช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินจึงควรฝึกตั้งแต่เด็กเล็กเพื่อให้รู้ว่าอย่างนี้ คือ CPR  และฝึกสอนต่อเนื่อง เมื่อเกิดเหตุการณ์จริงเขาจะรู้ว่าควรทำอย่างไร เหมือนกับประเทศญี่ปุ่นที่ฝึกให้คนทุกวัยเรียนรู้วิธีเอาตัวรอดจากแผ่นดินไหว และควรอยู่ในหลักสูตรการศึกษา โดยอาจขอความร่วมมือจากบุคลากรด้านสาธารณสุขเข้ามาฝึกสอน ตามความเหมาะสม

ขณะที่ นายเกรียงไกร ล้ำเลิศปัญญานักธุรกิจ และนักศึกษาหลักสูตรชั้นสูงการบริหารงานภาครัฐและกฎหมายมหาชน รุ่น17สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า โดยปกติตนเองจะออกกำลังกายด้วยการจ๊อกกิ้งในสวนสาธารณะเป็นประจำอยู่แล้ว และเคยประสบเหตุการณ์เจอผู้ที่มาออกกำลังกายเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นมาแล้วถึง 5 ครั้ง แต่ใน 4 ครั้งที่ผ่านมาตนไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วยเพราะเนื่องจากว่าไม่มีความรู้ในเรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยเฉพาะการทำ CPR แต่ครั้งที่ 5 ตนมีโอกาสได้ทำ CPR ให้ผู้ป่วย เนื่องจากก่อนที่จะเกิดหตุตนได้เข้าร่วมการฝึกอบรมการปฐมพยาบาลรวมทั้งการทำ CPR ที่ จ.ลพบุรี มาแล้ว จึงมีความมั่นใจที่จะให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย และให้คนรอบข้างช่วยโทรเรียกรถพยาบาล ซึ่งในระหว่างนั้นก็ได้มีการพูดสายกับเจ้าหน้าที่ตลอดจนรถพยาบาลมารับ

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับคนทุกวัย แต่ในเด็กเล็กอาจจะไม่มีแรงมากพอในการทำ CPR แต่การเรียนรู้จะทำให้เขามีทักษะในการกู้ชีพฉุกเฉินเมื่อโตขึ้น จึงอยากให้ กทม.ที่เป็นเจ้าของพื้นที่สวนสาธารณะหลายแห่ง จัดอบรมและฝึกทักษะให้กับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย(รปภ.)ถึงแม้ว่า รปภ.ที่จ้างมาจะเป็นบริษัท  outsource ก็ตาม เพราะที่ผ่านมา ส่วนมาก รปภ.ในสวนสาธารณะไม่มีความรู้หรือทักษะการทำ CPR เลย หรือมีข้อแม้เลยว่า รปภ.ที่จะมาทำหน้าที่ที่สวนสาธารณะควรมีความรู้ในเรื่องดังกล่าว เพราะสวนสาธารณะเป็นสถานที่ที่คนมาออกกำลังกายจำนวนมาก มีโอกาสที่จะเจอผู้ป่วยฉุกเฉินเหมือนกับที่ ตนเองเคยเจอมาแล้วถึง 5 ครั้ง

a02

a01


You must be logged in to post a comment Login