วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2567

ในวิกฤตมีโอกาส

On March 15, 2018

คอลัมน์ : สันติธรรม “ในวิกฤตมีโอกาส” โดย บรรจง บินกาซัน (โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 656 วันที่ 16-23 มีนาคม 2561)

แม้นบีมุฮัมมัดและมุสลิมในเมืองมักก๊ะฮฺถูกกดขี่ข่มเหงเพราะการเผยแผ่อิสลามเป็นระยะเวลา 13 ปี จนต้องอพยพไปอยู่ที่เมืองยัษริบ หัวหน้าชาวอาหรับก็ยังไม่เลิกราวีบีฑามุสลิม ทั้งนี้เพราะหัวหน้าชาวมักก๊ะฮฺมองว่าอิสลามที่นบีมุฮัมมัดนำมาเผยแผ่ในหมู่ชาวอาหรับคืออันตรายที่ข่มขู่คุกคามวัฒนธรรมและการปกครองของพวกตน และเมื่อมีชาวอาหรับหันมาเป็นสาวกของนบีมุฮัมมัดมากขึ้น หัวหน้าชาวมักก๊ะฮฺจึงตัดสินใจกำจัดนบีมุฮัมมัดและมุสลิมในเมืองยัษริบให้สิ้นซาก 

hudaibiyah

ดังนั้น หลังจากนบีมุฮัมมัดอพยพไปยังเมืองยัษริบได้ 2 ปี หัวหน้าชาวมักก๊ะฮฺได้ระดมคนของตนเกือบพันคนมุ่งหน้ามายังยัษริบและเฉลิมฉลองชัยชนะล่วงหน้ามาตลอดทางด้วยความมั่นใจ

เมื่อนบีมุฮัมมัดรู้ความเคลื่อนไหว ท่านจึงนำมุสลิมประมาณ 300 คนที่ยังไม่พร้อมในเรื่องการรบออกมาตั้งรับนอกเมือง อย่างไรก็ตาม ในการรบครั้งแรกของนบีมุฮัมมัดและมุสลิม แม้อาวุธและกำลังคนจะน้อยกว่า แต่ฝ่ายรุกรานต้องประสบความพ่ายแพ้กลับไปพร้อมกับความอาฆาตเคียดแค้น

หลังจากนั้นการรุกรานมุสลิมในเมืองยัษริบได้เกิดขึ้น 3 ครั้ง แต่ส่วนใหญ่แล้วมุสลิมเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะจนทำให้ชาวอาหรับหลายเผ่าหันมาเข้ารับอิสลามและสวามิภักดิ์ต่อนบีมุฮัมมัดมากขึ้น เผ่าใดที่คิดจะรุกรานเมืองยัษริบก็ต้องคิดแล้วคิดอีก ภาวการณ์สู้รบจึงน้อยลงแม้จะยังไม่หมดก็ตาม

ประมาณปีที่ 8 หลังการอพยพ นบีมุฮัมมัดและมุสลิมที่เมืองยัษริบคิดถึงครอบครัวของตัวเองที่มักก๊ะฮฺ และอยากกลับไปทำพิธีเวียนรอบก๊ะอฺบ๊ะฮฺ (หรือที่เรียกกันว่าพิธีอุมเราะฮฺ) ดังนั้น นบีมุฮัมมัดจึงนำมุสลิมจำนวน 1,400 คนมุ่งหน้าสู่มักก๊ะฮฺ ทุกคนอยู่ในชุดผ้าสีขาวพันกายส่วนบนผืนหนึ่งและนุ่งส่วนล่างผืนหนึ่ง โดยไม่พกพาอาวุธติดกายยกเว้นมีดสั้นที่จำเป็นสำหรับชีวิตประจำวัน นี่เป็นประเพณีการเข้าสู่เมืองมักก๊ะฮฺเพื่อทำพิธีทางศาสนา ซึ่งชาวอาหรับรู้ดีและปฏิบัติกันมาเป็นเวลานานนับพันปี

เมื่อหัวหน้าชาวมักก๊ะฮฺรู้ถึงการมาของมุสลิม พวกเขาได้ส่งตัวแทนออกมาพบนบีมุฮัมมัดนอกเมืองมักก๊ะฮฺเพื่อข่มขู่ขัดขวางมุสลิมมิให้เข้าเมืองมักก๊ะฮฺ ทั้งๆที่รู้ว่าการทำเช่นนี้เป็นการทำลายประเพณีของชาวอาหรับ แต่หัวหน้าชาวอาหรับเกรงว่าถ้าปล่อยให้มุสลิมเข้าเมืองมักก๊ะฮฺ ชาวอาหรับเผ่าอื่นๆจะคิดว่าหัวหน้าชาวมักก๊ะฮฺยอมรับอำนาจของนบีมุฮัมมัดและจะหันไปสวามิภักดิ์นบีมุฮัมมัดมากขึ้น

ดังนั้น เพื่อเป็นการแสดงว่าพวกตนยังมีอำนาจอยู่ ตัวแทนของหัวหน้าชาวมักก๊ะฮฺจึงบีบให้นบีมุฮัมมัดลงนามในสนธิสัญญาสงบศึก ซึ่งเรียกว่า “สนธิสัญญาฮุดัยบียะฮฺ” โดยมีเงื่อนไขว่า

 1.ทั้ง 2 ฝ่ายจะวางอาวุธไม่สู้รบกันเป็นเวลา 10 ปี

 2.มุสลิมจะไม่เข้าเมืองมักก๊ะฮฺในปีนั้น แต่ให้กลับมาในปีหน้าและอยู่ในมักก๊ะฮฺได้ 3 วัน

 3.หลังจากสนธิสัญญานี้ ถ้าชาวมักก๊ะฮฺคนใดหนีไปยังเมืองยัษริบ คนผู้นั้นต้องถูกส่งคืน แต่ถ้าผู้อพยพจากมักก๊ะฮฺคนใดกลับมา คนผู้นั้นจะไม่ถูกส่งคืนยัษริบ

 4.ชาวอาหรับคนใดหรือเผ่าใดมีสิทธิจะเลือกเข้ามามีส่วนร่วมในสัญญาโดยอยู่กับฝ่ายใดก็ได้

เมื่อสาวกของนบีมุฮัมมัดอ่านสัญญา หลายคนรู้สึกไม่พอใจในความเสียเปรียบ ความไม่พอใจยิ่งทวีมากขึ้นเมื่อตัวแทนชาวมักก๊ะฮฺไม่ยอมให้นบีมุฮัมมัดลงนามทำสนธิสัญญาโดยใช้ชื่อและตำแหน่งว่า “มุฮัมมัด ศาสนทูตของพระเจ้า” แต่ให้ลงนามว่า “มุฮัมมัด บุตรของอับดุลลอฮฺ” ซึ่งสาวกของท่านถือว่าเป็นการไม่ให้ความเคารพ และสาวกคนสนิทบางคนถึงกับไม่ยอมรับการตัดสินใจของนบีมุฮัมมัด

แม้จะเสียเปรียบอย่างไรก็ตาม แต่นบีมุฮัมมัดพอใจในข้อตกลงเรื่องการสงบศึก เพราะท่านปรารถนาสันติภาพมาเป็นเวลานานแล้ว ท่านจึงยอมลงนามตามนั้นและสั่งบรรดาสาวกของท่านให้ทำตามสัญญา พร้อมกันนั้นท่านได้บอกบรรดาสาวกของท่านว่าพระเจ้าได้สัญญาว่าจะประทานชัยชนะให้แก่พวกเขา

ในช่วงเวลาแห่งสนธิสัญญาที่ปราศจากการสู้รบนี้เองที่นบีมุฮัมมัดได้ส่งตัวแทนนำสารเชิญชวนสู่อิสลามไปยังหัวหน้าเผ่าอาหรับต่างๆ ไม่เพียงเท่านั้นท่านยังให้ตัวแทนนำสารไปยังจักรพรรดิโรมันไบแซนติน จักรพรรดิแห่งเปอร์เซีย และผู้ปกครองอียิปต์ด้วย

 ภาวะความสงบจากสนธิสัญญาที่ดูว่าเสียเปรียบนี้เองที่ทำให้อิสลามข้ามเลยแผ่นดินอาหรับไปยังดินแดนที่ผู้คนมิใช่ชาวอาหรับ และทำให้มุสลิมได้รับชัยชนะตามสัญญาที่พระเจ้าได้ให้ไว้ในเวลาต่อมา

 

ทางนำจากคัมภีร์กุรอาน

“มุฮัมมัดเป็นศาสนทูตของพระเจ้า และบรรดาผู้ที่อยู่กับเขานั้นเข้มแข็งต่อบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาและเมตตาปรานีในหมู่พวกเขากันเอง”

(กุรอาน 48:29)

พจนารถศาสดามุฮัมมัด  

“โลกนี้เป็นแค่เพียงความสุขชั่วคราว และไม่มีความสุขชั่วคราวอะไรแห่งโลกนี้ดีไปกว่าภรรยาที่ดี”

 


You must be logged in to post a comment Login