วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2567

“การเมืองแห่งอนาคต” ของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

On March 8, 2018

 

101 ชวน ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มาสนทนาสดในรายการ 101 One-on-One เพื่อตอบทุกคำถามเกี่ยวกับ “การเมืองแห่งอนาคต” โดยมี ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ เป็นผู้ดำเนินรายการ และตอบคำถามหลากหลายจากผู้ชมทางบ้านอย่างเต็มอิ่มสองชั่วโมงเต็ม

ยอดผู้ชมรายการสดร่วม 150,000 วิว ยอดการแสดงความคิดเห็นและถามคำถามจากผู้ชมมากกว่า 3,000 คอมเมนต์ ทันทีที่จบรายการ คงเป็นเครื่องสะท้อนว่า ความคิดและปฏิบัติการทางการเมืองของธนาธร “โดนใจ” ผู้คนจำนวนไม่น้อย จนเกิดโมเมนตัม “การเมืองแห่งอนาคต” ขนาดกำลังดี สร้างชีวิตชีวาให้แวดวงการเมืองกลับมาคึกคักรับเลือกตั้ง

นี่คือบทสนทนา “คำต่อคำ” จากรายการในวันนั้น ใครที่ยังไม่ได้ชมรายการ เราอยากชวนคุณอ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ เพื่อลองชั่งใจว่า การฝากความหวังไว้กับชายหนุ่มวัย 40 ปี ผู้ยอมรับว่าตนเองไม่ได้สมบูรณ์แบบและไม่ได้รอบรู้ทุกเรื่อง แต่ยืนยันว่าจุดแข็งของตนคือการยืนอย่างมีกระดูกสันหลัง ควรค่าแก่การเสี่ยงหรือไม่?

 

 

 

ธนาธรคือใคร เป็นนักธุรกิจอยู่ดีๆ ทำไมมาสนใจงานการเมือง

ปัจจุบันผมดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท ธุรกิจของครอบครัวผมมีหลายธุรกิจ ผมรับผิดชอบเฉพาะธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ ส่วนกลุ่มธุรกิจอื่นเป็นของพี่น้องท่านอื่น ผมทำธุรกิจนี้ตั้งแต่เรียนจบปริญญาตรี ประมาณ 16-17 ปีแล้ว ก่อนหน้านั้นผมไม่เคยคิดจะอยู่ในแวดวงธุรกิจ ไม่สนใจเรื่องธุรกิจครอบครัวเลย

ตอนเรียนจบ ผมตั้งใจทำงานในองค์กรไม่แสวงหากำไร เป็นงานพัฒนาเยาวชนในแอลจีเรีย ความใฝ่ฝันตอนเด็กๆ ซึ่งอาจโรแมนติกสักหน่อยคือ อยากไปทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นพื้นที่ถูกลืมในการพัฒนาของโลก เราอยากใช้พลังของเราไปทำงานที่นั่น

ตอนนั้นผมเรียนจบคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหลักสูตรร่วมระหว่างธรรมศาสตร์กับมหาวิทยาลัยน็อตติงแฮม เรียนสองปีที่ไทย อีกสองปีที่อังกฤษ ตอนเรียนจบที่อังกฤษก็คิดอยู่แล้วว่าทางบ้านคงไม่ให้ผมไปแอฟริกา แผนของผมคือจะเก็บข้าวของจากอังกฤษตรงไปแอลจีเรียเลย แล้วบอกที่บ้านทีหลัง แต่ก่อนเดินทาง คุณแม่โทร.มาบอกว่าทางบ้านมีข่าวร้าย พ่อผมเป็นมะเร็ง ให้กลับบ้านมาทำงาน ตอนนั้นตัดสินใจยากมาก เพราะคิดแล้วว่าถ้ากลับไป ในชีวิตนี้คงไม่ได้ทำอะไรที่แอฟริกาอีกแล้ว แต่ท้ายที่สุดผมก็ตัดใจกลับมาทำธุรกิจครอบครัว

ผมจำไม่ได้ว่าเริ่มสนใจสังคมและการเมืองมาตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่จำได้ว่าม็อบแรกที่ไปร่วมคือม็อบสีลม ตอนไล่พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ตอนนั้นน่าจะเรียนปีหนึ่ง ไปแบบไม่รู้จักใครแต่รู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่าง สิ่งหนึ่งที่ติดตัวผมมาตั้งแต่เด็กจนถึงทุกวันนี้คือ นิสัยรักความเป็นธรรม อยากเห็นสังคมดีขึ้น เราเลยสนใจติดตามข่าวสารความเป็นไปของบ้านเมือง ได้รู้จักเพื่อนกลุ่มใหม่ๆ คนกลุ่มใหม่ๆ ที่ดึงเราเข้าสู่โลกของการทำงานเกี่ยวกับการเมืองไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม ผมติดตามข่าวสารสถานการณ์บ้านเมืองมาตลอด 20 กว่าปี

อยากชวนให้วิเคราะห์สถานการณ์การเมืองไทย ทำไมเราถึงมาอยู่จุดนี้ได้ แล้วทางออกคืออะไร

ปีนี้ผมอายุเข้า 40 ถ้าคุณอายุเท่าผมจะผ่านรัฐประหารมา 4 ครั้ง รวม 1 ครั้งที่ล้มเหลว มันน่าจะพอได้แล้ว น่าจะพิสูจน์ได้แล้วว่ารัฐประหารไม่ใช่ทางออกของสังคมไทย การแก้ปัญหาด้วยการแทรกแซงของทหารคงไม่ใช่ทางออกแล้ว ถ้าเราปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไป อาจมีครั้งที่ 5 ครั้งที่ 6 ซึ่งผมคิดว่าไม่ยั่งยืน

รัฐบาลชุดนี้อยู่มา 4 ปี เทียบเท่ารัฐบาลเลือกตั้ง 1 วาระพอดี คสช.เข้ามาในนามของความสงบสุข ซึ่งผมคิดว่าเป็นความสงบสุขที่มีต้นทุนสูงมาก ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา เรามองไม่เห็นเลยว่าขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยเพิ่มขึ้นอย่างไร โอกาสในการพัฒนาประเทศหลายด้านหายไป เป็นต้นทุนมหาศาลที่เราต้องจ่าย นั่นคือเหตุผลที่สังคมไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตใหม่ อนาคตที่ดีขึ้น

 

คุณบอกว่ารัฐประหารเป็นทางออกที่ไม่ได้นำไปสู่อะไร แต่ในขณะเดียวกันคนก่อรัฐประหารหรือผู้สนับสนุนอาจมองว่าให้โอกาสรัฐบาลเลือกตั้งมานานแล้ว ไม่เห็นพาประเทศไปถึงไหนได้เลย แล้วสังคมไทยจะเดินต่อไปอย่างไร

ที่ผ่านมาพอมีการเลือกตั้ง ฝ่ายหนึ่งก็ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง พอมีการรัฐประหาร อีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่ยอมรับรัฐประหาร ทำให้เกิดการเมืองบนท้องถนนที่รุนแรงมาก เกิดสงครามกลางเมืองเล็กๆ ขึ้นมา ผมคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนำมาสู่สังคมที่ใกล้ล่มสลายเต็มทีแล้ว เราอยู่กันอย่างนี้ต่อไปไม่ได้แล้ว

ถ้าถามผมว่าสังคมข้างหน้าจะเดินไปอย่างไร อนาคตของเราคืออะไร นั่นคือสิ่งที่เราพยายามทำ

ผมอยากชักชวนทุกคนที่เคยเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับ กปปส. ให้หันกลับมายึดมั่นในการเมืองแบบรัฐสภาอีกครั้ง ถ้าการเมืองระบอบรัฐสภาเข้มแข็ง ผมเชื่อว่าเราแก้ปัญหาทุจริต แก้ปัญหาการลุแก่อำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ เราต้องเชื่อมั่นกับมัน ถ้าเราไม่เชื่อมั่นแล้วปล่อยให้อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเข้ามาแทรกแซง การเอาพลังของสังคมมาต่อสู้ทางการเมืองแทนที่จะเอาพลังของสังคมมาพัฒนาประเทศมีต้นทุนที่สูงมาก

สิ่งที่ผมอยากบอกผู้สนับสนุน กปปส. คือกลับมาเถอะ กลับมายึดมั่น เชื่อมั่น ทำการเมืองรัฐสภาให้เข้มแข็งไปด้วยกัน ผมอยากทำเป็นตัวอย่าง ว่านักการเมืองที่ดีเป็นไปได้ นักการเมืองที่ผลักดันวาระของประชาชนเป็นไปได้ และเราสามารถตรวจสอบอำนาจการเมือง ตรวจสอบการทุจริตได้ด้วยผ่านกลไกรัฐสภา

ในทางเดียวกันคงไม่ยุติธรรม ถ้าผมจะไม่บอกอะไรกับกลุ่มที่เคยใส่เสื้อแดงเลย ถ้าผมจะบอกอะไรกับคนเสื้อแดงได้หนึ่งอย่าง ก็คือ ถ้าสิ่งที่คุณรักและหวงแหนคือผู้ชายที่ชื่อทักษิณ ชินวัตร ผมอาจจะช่วยอะไรในลักษณะเฉพาะเจาะจงไม่ได้ แต่ถ้าสิ่งที่คุณรักและหวงแหนคือประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน มาร่วมกับผม มาปลูกฝังเมล็ดพันธุ์ของประชาธิปไตยในสังคมไทยให้ยั่งยืนร่วมกัน ผมจะเป็นคนร่วมปลูกกับคุณ และร่วมปกป้องมันด้วยกัน

นี่คือสิ่งที่ผมอยากจะฝากบอกทั้งสองฝ่าย ผมคิดว่านี่คือทางออกจากความขัดแย้ง

ผมมีอีกหลายเรื่องที่อยากบอก แต่ติดล็อกที่เงื่อนไขบางอย่างทำให้เราพูดในสิ่งที่อยากพูดไม่ได้ พูดถึงนโยบายของเราไม่ได้ เราพูดถึงการทำพรรคการเมืองของเราไม่ได้ ผมมีความสนใจที่อยากจะเห็นพรรคการเมืองใหม่จริงๆ แต่จะเกิดอะไรขึ้น รอดูครึ่งหลังของเดือนมีนาคมดีกว่า

 

ทำไมถึงอาสามาเป็นตัวเลือกใหม่ ตัดสินใจยากไหม

มันหนักมหาศาลเลย ปัจจัยที่ทำให้ตัดสินใจจริงๆ คือผมมองไม่เห็นอนาคต กลับไปคำถามแรกเลยคือผมเป็นใคร นอกจากผมเป็นรองประธานบริษัทแล้ว ผมยังเป็นพ่อ ผมยังมีเพื่อน ชีวิตผมมีอะไรที่อยากทำอีกเยอะ ผมยังอยากอ่านหนังสือ ปีนเขา ฯลฯ แต่ผมคิดว่าผมทำสิ่งเหล่านั้นด้วยความสนุกไม่ได้ ตราบใดที่เรารู้สึกว่าเรามีพลังและไม่ได้ใช้พลังนั้นอย่างเต็มที่เพื่อทำให้สังคมดีขึ้น ผมรู้สึกว่าอยู่เฉยๆ ต่อไปไม่ได้ ถ้าเราไม่ทำอะไรบางอย่าง เพราะเรามองไม่เห็นความหวังในสังคม เรามองไม่เห็นเลยว่าสังคมไทยจะออกจากวิกฤตครั้งนี้ได้ยังไง

ผมคิดว่าคุณประยุทธ์คงยื้อเลือกตั้งนานกว่านี้ไม่ได้แล้ว ความคาดหวังของประชาชนก็ดี นานาชาติก็ดี ต่างคาดหวังให้สังคมไทยกลับสู่ประชาธิปไตย ผมคิดว่าคุณประยุทธ์คงมีแรงเสียดทานเยอะมากที่จะเลื่อนการเลือกตั้งออกไป

สมมติถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ไม่มีพรรคการเมืองใหม่เสนอตัวเป็นทางเลือกให้กับประชาชน ความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นได้มากที่สุดตอนนี้คือพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งแล้วกลับมาอีก ความเป็นไปได้หลังจากนั้นก็จะมีสองทางคือ พรรคเพื่อไทยรู้สึกสุขสบายกับการได้เสียงข้างมาก แล้วไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย หรือไม่มีวาระที่ยืนเพื่อประชาธิปไตย กับอีกความเป็นไปได้หนึ่งคือ พรรคเพื่อไทยยืนยันที่จะผลักดันวาระที่ก้าวหน้าเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ซึ่งอาจนำไปสู่การลงถนนอีกรอบหนึ่งและอาจกลับไปสู่จุดเดิมอีก เรามองไม่เห็นจริงๆ ว่าจะจบได้ยังไง

ผมอยากช่วยทำการเมืองระบอบรัฐสภาให้เข้มแข็งและเป็นทางเลือกได้ ในขณะเดียวกัน ถ้าสิ่งที่คุณรักและหวงแหนคือเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ผมจะปกป้องมันเอง ผมเชื่อว่าสองอย่างไปด้วยกันได้

 

เพราะอะไรคุณธนาธรซึ่งเป็นตัวเลือกใหม่ ถึงมั่นใจว่าจะพาสังคมไทยออกจากความขัดแย้งได้ มีหลักประกันอะไรที่รับรองได้ว่าจะไม่ซ้ำรอยพรรคเพื่อไทย

ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ปิยบุตรหรือผม สิ่งที่เรามั่นใจว่าเป็นจุดแข็งของเราและแตกต่างจากคนอื่นคือเรื่องจุดยืน มันไม่ใช่เรื่องเงินในกระเป๋าผมมีเท่าไหร่ ไม่ใช่ผมมีปริญญากี่ใบ ไม่ใช่เรื่องที่ผมเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จหรือเปล่า แต่เป็นเรื่องความแน่วแน่ในการมีจุดยืนทางการเมือง ถ้ากลับไปอ่านบทสัมภาษณ์ผมเมื่อ 20 ปีที่แล้ว กับอ่านบทสัมภาษณ์วันนี้ ผมคิดว่าผมพูดเหมือนเดิม

การมีจุดยืนแน่วแน่สำคัญอย่างไร เมื่อคุณเจอปัญหายาก เจอโจทย์ที่แก้ไม่ง่าย มีตัวแปรในสมการเยอะ เจอพายุถาโถมเข้าใส่ ถ้าคุณมีจุดยืนแน่วแน่คุณจะแก้ปัญหาพวกนี้ได้ง่ายตราบใดที่คุณมั่นคง พูดกับสื่อกี่ครั้งก็เหมือนเดิม พูดกับใครกี่รอบก็เหมือนเดิม นี่คือจุดแข็งของพวกเรา จุดแข็งของผมคือการยืนอย่างมีกระดูกสันหลัง ผมกล้าสบตาคนอื่นได้อย่างมั่นคงในทุกครั้งและทุกคน ถ้าถามว่าอะไรที่ทำให้คนมั่นใจเรา คือเรื่องนี้

ถ้าเรายืนหยัด หลักการชัดเจน นอกจากจะทำให้เราแก้ไขปัญหาได้ถูกต้องแล้ว ยังแก้ไขระบบอุปถัมภ์ได้อีกด้วย เพราะระบบอุปถัมภ์คือการจัดลำดับความสำคัญ และแก้ปัญหาเรื่องอัตตาได้ด้วย เพราะเราไม่ได้ตัดสินบนฐานอำนาจ ฐานเศรษฐกิจ หรือฐานการรักษาความสัมพันธ์ว่าเราจะได้อะไร แต่ตัดสินใจบนจุดยืนและหลักการบางอย่าง ถ้าเรายึดหลักการไว้มั่นเท่าไหร่ การตัดสินใจว่าจะเดินหน้าหรือไม่ในเรื่องต่างๆ ก็จะชัดเจน เราจะเผชิญกับสิ่งต่างๆ และแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้น นั่นคือสิ่งที่ผมเชื่อ

 

หมายความว่าพรรคการเมืองเดิมไม่ได้มีจุดยืนที่เข้มแข็งหรือ

ผมว่าพรรคการเมืองเดิมก็มีจุดยืนที่เข้มแข็ง แต่อาจจะคนละทางกับเรา

 

มีจุดยืนใหม่อะไรในพรรคใหม่ที่จะพาเราออกจากวังวนเดิมได้

จุดยืนเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน นอกจากนั้นเราต้องการสร้างอนาคตใหม่ที่คนทุกคนมีส่วนร่วม คนทุกคนสามารถฝันถึงอนาคตที่ดีกว่าในระดับปัจเจกบุคคลได้ เราอยากเห็นอย่างนั้น

 

ระบบเลือกตั้งใหม่ ผู้ใช้สิทธิ์จะไม่สามารถเลือก ส.ส.ระบบปาร์ตี้ลิสต์ได้โดยตรง แต่คำนวณจากคะแนนเสียงของระบบเขต หมายความว่าเราต้องส่งผู้สมัครทุกเขตเลือกตั้งถ้าหวังจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์จำนวนหนึ่ง คุณวางยุทธศาสตร์การเลือกตั้งไว้อย่างไร

เรายังคิดออกแบบกันอยู่ เรื่องลงสมัครกี่พื้นที่ยังไกลตัวเกินไป เรายังไม่ได้คิดถึงขนาดนั้น ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายบางประการทำให้เรายังทำกิจกรรมไม่ได้ พรรคการเมืองยังไม่เกิด แต่ผมเห็นด้วยกับแนวทางของอาจารย์ปิยบุตร ที่ว่าหากมีพรรคการเมืองใหม่ไม่ว่าพรรคไหน พรรคนั้นควรเป็นพรรคการเมืองที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน เป็นพรรคการเมืองสมัยใหม่ในความหมายที่ว่าการเปลี่ยนหัวหน้าพรรคเป็นไปได้ เรานึกภาพพรรคความหวังใหม่ที่ไม่มีคุณชวลิตไม่ออก นึกภาพพรรคชาติไทยที่ไม่มีคุณบรรหารไม่ออก ผมคิดว่าพรรคการเมืองสมัยใหม่ต้องไม่ใช่พรรคการเมืองแบบนั้น และถ้าผมจะทำพรรคการเมือง ผมจะไม่ทำพรรคการเมืองแบบนั้นด้วย

ถ้าเราจะออกแบบสังคมให้เป็นแบบใดแบบหนึ่ง รูปแบบสังคมที่เราอยากสร้างต้องแสดงให้เห็นตั้งแต่พื้นฐานของการทำพรรคการเมืองเลย จุดยืนที่เราจะยืนอยู่ในสังคม คือจุดยืนเดียวกับที่เราทำในพรรคการเมืองของเรา พรรคการเมืองของเราต้องมีโมเดลเดียวกันกับโมเดลของสังคมที่เราใฝ่ฝัน

 

อะไรคือสิ่งที่ขาดหายไปในการเมืองแบบเก่า

ไม่มีนิติรัฐ ในความหมายที่ว่า คนมีอำนาจหรือความมั่งคั่งไม่ได้รับการปฏิบัติแบบเดียวกับคนทั่วไปหรือคนที่ไม่มีเสียง ทั้งที่อยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน อนาคตที่เราใฝ่ฝันถึงคืออนาคตที่ต่างจากการเมืองแบบนั้น สิ่งที่ผมจะเปลี่ยนแปลงคือเรื่องนี้ การยืนหยัดว่าคนทุกคนเมื่ออยู่ต่อหน้ากฎหมายต้องเสมอกัน ไม่ว่าคุณจะนามสกุลอะไร มั่งคั่งเท่าไหร่ มีอาชีพหรือสถานะทางสังคมยังไง ผมคิดว่าเราต้องเริ่มจากจุดนี้ก่อน กลับไปหาความเป็นนิติรัฐ ระบบอุปถัมภ์สามารถทำลายได้ด้วยระบบนิติรัฐที่เข้มแข็ง

สถาบันทางการเมืองและสถาบันทางสังคม ณ วันนี้ขาดความน่าเชื่อถือไปหมด 10 ปีที่ผ่านมา สถาบันเหล่านี้ถูกใช้เพื่อเล่นงานฝ่ายตรงข้ามทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ศาล ราชทัณฑ์ ทหาร อัยการ ฯลฯ ต่างไม่ได้รับความเชื่อถือ ไม่มีใครเชื่อถือใครอีกแล้วในสังคม

สังคมไม่ว่าจะใหญ่เล็กขนาดไหน จะเดินไปข้างหน้าได้ก็ต่อเมื่อมีความนับถือซึ่งกันและกัน มีความเชื่อถือ (trust) ถ้าคุณไม่มีความเชื่อถือซึ่งกันและกันหลงเหลืออยู่ในสังคมแล้ว สังคมจะพังพินาศหมด เริ่มจากสถาบันไหนก็ได้เช่น ครอบครัว โรงเรียน สถาบันการศึกษา องค์กรธุรกิจ ทุกองค์กรในสังคมสมัยใหม่อยู่กันได้ด้วยความเชื่อถือหรือสัญญาประชาคมบางอย่างร่วมกัน แต่ตอนนี้ทุกอย่างพังทลายไปหมด เราไม่สามารถเชื่อใจการตัดสินของ ปปช. ได้ เราไม่สามารถเชื่อใจการตัดสินของอัยการได้ เราเชื่อใจใครไม่ได้เลย ณ วันนี้ไม่มีใครที่สังคมเชื่อใจได้ ไม่มีใครที่ดำรงความเป็นกลางอยู่ในสังคมแบบนี้ได้

กลับมาเถอะครับ กลับมาสู่นิติรัฐ ถ้าผมจะทำพรรคการเมือง สิ่งที่ผมอยากทำคือเราต้องทำตั้งแต่กระบวนการยุติธรรม ทำใหม่ทั้งหมด เราต้องเรียกร้องให้ศาลมีความแน่วแน่ในการเชิดชูความยุติธรรมในสังคม ซึ่งผมคิดว่าเป็นไปได้ ถ้ามาทำร่วมกัน ไม่มีทางที่ใครคนเดียวจะทำได้หรอก

 

คุณพูดถึงคนเสื้อแดงกับทักษิณ อยากให้ช่วยขยายตรงนี้หน่อย

ผมคิดว่าถ้าจะต้องช่วยคุณทักษิณเป็นรายเฉพาะเจาะจง เป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าคืนความชอบธรรมให้คุณทักษิณส่วนหนึ่ง คือคดีอะไรที่ถูกจัดการด้วยการมีเป้าหมายทางการเมือง (politically motivated) คดีเหล่านั้นควรถูกนำมาพิจารณาใหม่ ด้วยศาลที่ยุติธรรม แล้วผลของศาลยุติธรรมจะเป็นอย่างไร ผมได้แต่ยักไหล่ ผมทำอะไรไม่ได้

ถ้าให้ช่วยเหลือเฉพาะเจาะจงแค่คุณทักษิณผมทำอะไรไม่ได้ แต่ถ้าพูดถึงภาพรวมของคนที่ไม่ได้รับความยุติธรรมจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองในรอบ 10 ปีที่ผ่านมามีเยอะแยะเลย คนที่ติดคุกฟรี คนที่ยังอยู่ในคุก คนเล็กคนน้อยที่ไม่ใช่ระดับแกนนำ มีอีกเยอะมากทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่และไม่อยู่ คนเหล่านี้ควรต้องได้รับความยุติธรรรม

ในรอบสิบปีที่ผ่านมา เราเห็นว่าทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรฯ กปปส. นปช. ทุกกลุ่มมีคนถูกกระทำทางการเมืองทั้งหมด ถ้าจะเดินหน้าต่อไป เราต้องคืนความยุติธรรมให้คนเหล่านี้ แต่ถ้าบอกว่าเฉพาะเจาะจงไปที่คุณทักษิณ เป็นไปไม่ได้

 

2-3 วันมานี้ เริ่มมีคนวิจารณ์แล้วว่า พรรคทางเลือกใหม่ก็ไม่ได้ต่างอะไรจากพรรคทักษิณเดิม จะอธิบายอย่างไร

คงต้องให้เวลาพิสูจน์ มีคนสบประมาทจริงๆ ว่าจะไปต่างอะไรกับคุณทักษิณ ผมคิดว่ามันไม่มีอะไรที่จะพิสูจน์ได้หรอกว่าเราจะเป็นอย่างไรในอนาคต นอกจากเปิดโอกาสให้เราลงมือทำ

เวลาเจอคำถามนี้ผมคิดถึงบทกวีที่แปลโดยจิตร ภูมิศักดิ์  ‘แม้คนพันบัญชาชี้หน้าเย้ย’ ซึ่งจบด้วย ‘จงน้อมกายก้มหัวเป็นงัวงาน’  ผมคิดแบบนี้จริงๆ ‘จะน้อมกายก้มหัวเป็นงัวงาน’ ไม่จำเป็นต้องเป็นผมก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นปิยบุตรก็ได้ แต่ผมเชื่อว่าสังคมจำเป็นต้องมีทางออกและมีพรรคที่เป็นทางเลือกแบบนี้ และในเมื่อเราฝากความหวังที่คนอื่นไม่ได้ นั่นเป็นเหตุผลที่เราต้องตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง

 

คนไทยยังติดภาพว่านักการเมืองต้องโกงกิน ต้องคอร์รัปชัน ใครได้ลงเลือกตั้งแล้วต้องมุ่งถอนทุน ไม่มีใครหรอกที่จะทำเพื่อประเทศชาติ คุณจะพิสูจน์เรื่องนี้อย่างไร

เรื่องนี้ต้องใช้เวลา เหมือนการต่อสู้เรื่องประชาธิปไตย ผมเข้าใจว่ามีคนที่สนับสนุนคุณทักษิณ หรือคนที่เป็นเสื้อแดงเก่าต้องการเห็นประชาธิปไตยเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ ซึ่งผมบอกเลยว่าเป็นไปไม่ได้ ต่อให้เราทำพรรค ต่อให้พรรคทางเลือกขึ้นมาเป็นรัฐบาล ก็ทำไม่ได้ในเร็ววัน

การสร้างประชาธิปไตยเป็นทั้งเป้าหมายและกระบวนการตัวมันเอง เป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาและเรียนรู้ไปกับสังคมพร้อมๆ กัน หลายคนที่ผ่านการเมืองในรอบสิบปีนี้ ก็ได้เรียนรู้บางอย่างเกี่ยวกับความขัดแย้ง นี่เป็นพื้นฐานของการสร้างประชาธิปไตยที่แข็งแกร่งในอนาคต

การทำลายวาทกรรม ‘นักการเมืองเป็นอาชีพชั่วร้าย’ เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เหมือนกับการสร้างประชาธิปไตย ไม่สามารถทำได้วันนี้พรุ่งนี้  วันนี้ผมอาจพูดได้ แต่ในอนาคตถ้าวันหนึ่งผมเปลี่ยนไป คุณก็กระตุกขากางเกงผมก็แล้วกัน ผมอยากพิสูจน์ว่าวาทกรรมนี้ผิด มีนักการเมืองที่ทำวาระของประชาชนจริงจังได้ ผมอยากพิสูจน์อย่างนั้น

 

ใครเป็นนักการเมืองหรือพรรคการเมืองในอุดมคติของคุณ

ผมไม่คิดว่าจะมีพรรคการเมืองแบบไหนที่เหมาะกับทุกช่วงเวลา พรรคที่เคยมีจุดยืนอย่างพรรคแรงงานของลูลาในบราซิล ช่วงเวลาหนึ่งสามารถออกนโยบายด้านแรงงานให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นได้จริงๆ แต่พอเผชิญแรงกดดันทางการเมืองก็ค่อยๆ เขยิบเข้ามาเป็นพรรคการเมืองแบบกลางๆ มากขึ้น เราต้องดูการเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคสมัย และความเหมาะสมของนโยบายที่จะนำเสนอก็ต้องต่างกันไป

ผมคิดว่าสำหรับสังคมไทยวันนี้ต้องเป็นโมเดลพรรคทางเลือก เพราะถ้าไม่มีทางเลือก อนาคตจะพังหมดทั้งประเทศ จะเดินต่อไปไม่ได้ ถ้าเราไม่อยากให้สังคมเดินไปสู่จุดนั้น มาร่วมกันทำ มาสร้างอนาคตที่เป็นไปได้ เปิดประตูบานใหม่ด้วยกัน ข้างหลังประตูไม่รู้จะเป็นอะไรนะ แต่เปิดไปด้วยกัน แล้วเดินไปด้วยกัน

 

ตอนนี้พรรคถูกชูให้เป็นพรรคของคนรุ่นใหม่ ความสนใจอยู่ในกลุ่มชนชั้นกลางที่สนใจการเมืองอยู่แล้ว คุณมีแนวทางสื่อสารหรือดึงคะแนนเสียงจากกลุ่มคนต่างจังหวัดหรือคนที่ไม่ได้สนใจการเมืองอย่างไร

ขอนิยาม ‘คนรุ่นใหม่’ ก่อน ถ้ามีคนที่ตื่นมาแล้วบอกว่า เฮ้ย! การเมืองเป็นอย่างนี้ก็ปล่อยๆ มันไปเถอะ ไปทำงานต่อ ตอนเย็นกลับมานอน นี่ไม่ใช่คนรุ่นใหม่ ไม่ว่าคุณจะมีอายุขนาดไหน ถ้าคุณรู้สึกว่านี่คือสุดทางของความเป็นไปได้แล้ว นี่ไม่ใช่คนรุ่นใหม่

แต่ถ้าคุณตื่นขึ้นมาแล้วบอกว่า เฮ้ย! สังคมมันแย่ ผมต้องการลงมือทำอะไร ผมไม่ยอมจำนนกับสิ่งที่มันเป็นอยู่ นี่ไม่ใช่อนาคตแบบสุดท้าย อนาคตของวันพรุ่งนี้เป็นแบบอื่นได้ นี่คือนิยามของคนรุ่นใหม่ ผมคิดว่ามีคนอย่างนี้อีกมหาศาลในสังคมไทย และผมต้องการร่วมงานด้วย

ผมมีเพื่อนสนิทคนหนึ่ง เป็นคนนครศรีธรรมราช เติบโตมาในชีวิตที่ไม่ได้สุขสบาย ไม่ได้มีทรัพย์สินเงินทองมากมาย สมัยเรียนเราเป็นเพื่อนกัน เขาก็ยืมเงินเพื่อนบ้าง เพราะไม่มีตังค์เรียน เขามีความใฝ่ฝันที่อยากเป็นอาจารย์ แล้วกู้เงินคนนั้นคนนี้มาเรียน แล้วก็เป็นอาจารย์ได้สำเร็จ

เราต้องการอนาคตที่เปิดโอกาสให้คนแบบนี้เดินตามความฝันของตัวเองได้ ทำไมเราไม่มีแหล่งทุนที่เปิดโอกาสให้คนทุกคนมีโอกาส เพื่อนผมต้องดิ้นรนในแบบฉบับของเขาด้วยทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด เรามีคนแบบนี้เต็มไปหมดเลย เรามีคนที่ฝันถึงความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ถ้าผมจะสื่อสารกับคนเหล่านี้ได้ ผมอยากบอกว่าทุกคนต้องมีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรที่จะเดินตามความฝันของตัวเองได้ นี่เป็นกรอบกว้างๆ

ผมขอยกตัวอย่าง ถ้าคุณมีความคิดทางธุรกิจที่ดีก็สามารถทำธุรกิจได้โดยไม่ต้องจ่ายสินบนให้ข้าราชการ ไม่ต้องจ่ายค่าคุ้มครองให้เจ้าพ่อ ไม่ต้องจ่ายใต้โต๊ะ ถ้าถามว่าสังคมแบบไหนที่ผมอยากเห็น นี่ล่ะรูปธรรมเลย ทำอย่างไรให้คนเริ่มธุรกิจใหม่ คนที่มีพลังความคิดสร้างสรรค์ที่ดี ไม่ต้องจ่ายใต้โต๊ะให้มาเฟีย ให้นักการเมืองที่ไหน แต่ได้รับการอำนวยความสะดวกจากภาครัฐอย่างถึงที่สุด มีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนที่มีต้นทุนต่ำได้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ผมเชื่อว่าทำได้ถ้าเราต้องการลงมือทำ และเราสร้างอนาคตแบบนี้ให้กับคนรุ่นใหม่ได้ มันเป็นไปได้ รัฐควรทำให้คนทุกคนมีโอกาสไล่ตามความฝันของตัวเองได้

ผมเชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพ การทำงานที่บริษัทของผมในหลายปีที่ผ่านมา ผมมีโอกาสสัมผัสพนักงานหลายคนที่จบ ป.3 ป.6 ผมพูดคุยกับพนักงานด้วยตัวเอง ผมฟังพวกเขาจริง สิ่งที่ผมเห็นได้ชัดและการันตีได้คือ คนเหล่านี้มีความคิดสร้างสรรค์มหาศาล คุณต้องไปฟัง ไปเห็นสิ่งที่ผมเห็น ว่าคนต่างจังหวัดจบ ป.3 ป.6  สร้างสรรค์อะไรที่ผมคิดไม่ได้ มีพลังความคิด ถ้าเราเปิดโอกาส ดึงความคิดสร้างสรรค์เหล่านี้ให้ได้ใช้ ผมคิดว่าไปได้อีกไกลมาก

ผมไม่เชื่อว่าคนต่างจังหวัดเป็นฐานเสียงที่ไม่มีคุณภาพ ไม่จริง เพราะประสบการณ์มือหนึ่ง ประสบการณ์ทางตรงที่ผ่านมา ผมฟังคนเหล่านี้มาเยอะและเชื่อว่าทุกคนคิดเป็น มีศักยภาพ ผมเป็นมนุษยนิยม เราควรสร้างโอกาสให้เขาได้พัฒนาศักยภาพด้วยตัวเอง

 

คุณมีทิศทางในการหาแนวร่วมแบบไหน ทั้งกลุ่มเอ็นจีโอ นักศึกษาต่างจังหวัด นักเคลื่อนไหว นักกิจกรรม กระทั่งฐานเสียงของพรรคการเมืองใหญ่

ผมคิดว่าความตรงไปตรงมา ความเป็นตัวของตัวเอง เป็นผมในแบบที่ผมเป็น พูดอย่างที่ผมพูด ผมพูดที่ไหนก็พูดอย่างนี้ พูดกี่ครั้งก็พูดอย่างนี้  ในแต่ละกลุ่มผมเข้าใจว่ามีความต้องการที่หลากหลาย มีความต้องการเฉพาะกลุ่มซึ่งในการทำนโยบายจริงๆ คงต้องออกแบบนโยบายที่ตอบสนองเฉพาะกลุ่มส่วนหนึ่ง และนโยบายที่ตอบสนองคนทุกกลุ่มอีกส่วนหนึ่ง นั่นคือ การสร้างโอกาสให้คนทุกคนทำในสิ่งที่ฝันได้

ตรงนี้กลับมาที่ฐานคิดของหลักมนุษยนิยม คือ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทำอย่างไรให้คุณยืนอยู่ในสังคมได้โดยไม่ทิ้งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญและเป็นหน้าที่ของรัฐ

คุณจะมีความฝันอะไร นิยามความสุขของคุณเป็นอย่างไร ผมจัดการให้ไม่ได้หรอก แต่สิ่งที่จัดการให้ได้คือทำให้คุณเติบโต ดำรงชีวิตอยู่ในสังคม โดยที่คุณไม่ถูกเหยียดหยามรังเกียจรังแกจากคนมีอำนาจ ทำให้คุณไม่โดนทหารตบแล้วคุณเอาเรื่องทหารไม่ได้ เราเห็นเจ้าพ่อเห็นมาเฟียขู่เข็ญคนธรรมดา เราเห็นคนธรรมดาที่ต้องทิ้งเกียรติและศักด์ศรีความเป็นมนุษย์เพื่อมีกินในวันพรุ่งนี้เยอะแยะเต็มไปหมด

ผมคิดว่าเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะทำให้ทุกคนยืนอยู่ในสังคมและเติบโตได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ส่วนใครจะคิดฝันยังไงเป็นเรื่องของแต่ละคน เราจัดการให้ไม่ได้

 

เงินที่ใช้บริหารจัดการพรรคมาจากไหน ถ้าเป็นเงินของคุณและครอบครัว อำนาจการตัดสินใจจะอยู่ที่คุณและครอบครัวหรือเปล่า หรือมีแนวคิดระดมทุนวิธีอื่นอย่างไร อยากเห็นพรรคการเมืองที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริงไม่ใช่พรรคนายทุน

คุณต้องช่วยควักด้วยนะ อยากทำด้วยกันก็ต้องควักด้วยกัน (หัวเราะ) ในแง่หนึ่ง ผมเชื่อว่าความคิดที่ว่าการเมืองต้องใช้เงินเยอะ มันเก่าไปแล้ว การเมืองที่ต้องขนเงินเยอะๆ ไปหาเสียง ประสิทธิผลไม่ได้เยอะขนาดนั้น

โซเชียลมีเดียหรือสื่อใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นทำให้การถ่ายทอดนโยบายหรือถ่ายทอดความคิดแทบไม่มีต้นทุน แต่ผมไม่ได้โลกสวยขนาดบอกว่าการทำงานการเมืองไม่ต้องใช้ทุน แต่มันใช้ต้นทุนน้อยลงมาก ในช่วงหลายวันมานี้ มีคนอาสามาช่วยผมทำงานการเมืองแบบฟรีๆ เยอะมาก

ผมคิดว่าการทำพรรครูปแบบใหม่ๆ เป็นไปได้ ด้วยเครือข่ายสังคมออนไลน์ การระดมทุนจากทุกคนด้วยเทคโนโลยีสมัยนี้ง่ายมาก ผมเชื่อว่าไม่จำเป็นต้องใช้เงินมหาศาลเหมือนแต่ก่อน การพัฒนาทางการเมืองก็ดี เทคโนโลยีก็ดี ทำให้สังคมไทยก้าวไปไกลอีกขั้น

ต่อให้ถึงต้องใช้เงินของผมและครอบครัว มันจะโปร่งใส ถ้ามีพรรคนี้เกิดขึ้น ตราบใดที่พรรคยังยืนอยู่ในอุดมการณ์ที่เราสร้างมันขึ้นมา ต่อให้ผมจะมีหรือไม่มีบทบาทก็ตาม ผมจะยังสนับสนุนพรรคนี้อยู่

อะไรเป็นปัญหาของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน อยากแก้ไขอะไร

ตัวคนรุ่นใหม่เองไม่ได้เป็นปัญหา ปัญหาคือเราปิดกั้นการเจริญเติบโตอย่างสวยงามของเขา สังคมพยายามปิดโอกาสให้ดอกไม้บาน เราไม่ได้ให้โอกาสเขาเติบโตอย่างเพียงพอ เราบังคับให้เขาท่องจำค่านิยม 12 ประการ แล้วคุณจะบอกให้เขามีจินตนาการหรือความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างไร เราจะบอกให้เขารับผิดชอบตัวเองได้อย่างไร ถ้าไม่เปิดโอกาสให้เขาก้าวไปและตัดสินใจด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการเกณฑ์ทหารก็ดี พิธีการที่ล้าหลังที่ทำให้เด็กๆ ต้องเผชิญตลอดเวลาก็ดี เราต้องเปิดมากกว่านี้ ต้องเชื่อมั่นว่าคนทุกคนมีความรับผิดชอบได้ เชื่อมั่นว่าคนทุกคนเคารพกฎหมายได้ ผมเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ ถ้าเราเปิดโอกาสในสังคมให้เขาเติบโต

 

แนวคิดเหล่านี้คุณได้มาจากการไปเรียนเมืองนอกหรือเปล่า

ไม่ใช่ ผมเพิ่งมีความชัดเจนเรื่องแบบนี้ตอนผมทำธุรกิจ ได้สัมผัสกับพนักงานที่อยู่ในไลน์การผลิต สิ่งที่ผมเห็นคือคนเหล่านี้แจ๋ว ถ้าคุณไปเจอเขาตามที่ต่างๆ คุณจะมองว่าเขาเป็นคนต่างจังหวัด เด๋อๆ ด๋าๆ แต่ประสบการณ์ของผมมันไม่ใช่ ประสบการณ์ของผมคือคนเหล่านี้แจ๋วว่ะ

ขอยกตัวอย่างรูปธรรม มีพนักงานบริษัทคนหนึ่ง เป็นพนักงานขับรถยกของธรรมดา ในฐานะผู้บริหารเราไม่รู้หรอกว่ารถยกของมีหลายขนาดสำหรับยกของที่น้ำหนักต่างกัน ตั้งแต่รุ่นที่ขนของได้ 5-10-20 ตัน บริษัทเราไม่ได้ซื้อรถยกของเพราะไม่ใช่ทรัพย์สินหลัก ส่วนใหญ่เราเช่า เพราะต้องการให้งบดุลเบา พอเช่าซื้อก็มีค่าใช้จายรายเดือน วันหนึ่งพนักงานขับรถเดินมาบอกผู้บริหารว่าของที่ยกทุกวันความจริงแค่ 5 ตัน แต่รถที่เช่ามาใช้ยกของ 10 ตัน เราสามารถเปลี่ยนรถเพื่อลดต้นทุนต่อเดือนลงได้ เราลองดูแล้วพบว่าจริง วิศวกรเราสั่งของดีเกินกว่าความจำเป็นหน้างาน แล้วบริษัทในเครือของเราทั้งหมดก็เอาไอเดียเล็กๆ นี้มาปรับใช้ สุดท้ายลดต้นทุนได้เป็นล้าน นี่คือความคิดที่เกิดจากคนคนเดียว เป็นพนักงานธรรมดาคนหนึ่งในองค์กร ไม่ได้จบการศึกษาสูงก็สามารถสร้างสรรค์ได้

อย่างเครื่องจักรเรามีอุปกรณ์เยอะ บางส่วนเสียบ้าง พอเราต้องไปซื้ออะไหล่จากบริษัทเจ้าของเครื่องจักรจะแพงมาก และใช้เวลารอของนานมาก เพราะไม่ได้ผลิตในประเทศไทย วิศวกรของเรา ไม่ได้จบดอกเตอร์ ผลิตเครื่องปรินต์สามมิติใช้ทุนหมื่นกว่าบาทออกมาใช้ จากนั้นอะไหล่อะไรที่พัง เราปรินท์ออกมาแล้วติดกลับไป ผมภูมิใจในทีมงานของผมมาก เป็นพลังของคนธรรมดา

ผมสนุกกับการฟังพนักงานมาก สนุกกว่าการประชุมกับผู้บริหารด้วยกันอีก ปีหนึ่งผมใช้เวลาปีละ 120-130 ชม. กับการฟังพนักงาน ผมคิดว่าผู้นำที่ดีคือคนที่ดึงศักยภาพคนอื่นออกมาได้ ทำให้เขาเติบโตได้ นี่คือที่มาของความเชื่อของผมว่าคนทุกคนมีศักยภาพ นี่คือหลักคิด (doctrine) ของผม วิธีเดียวที่ผมใช้คือเปิดโอกาส ฟัง ไม่มีอะไรซับซ้อนมากกว่านั้น ผมสัมผัสคนเหล่านี้และผมเชื่อมั่น

 

นักการเมืองที่ดีเป็นอย่างไร

อย่างแรกต้องยืนหยัดเรื่องประชาธิปไตย สมมติเราอยู่กัน 2 คน ก็ตัดสินใจได้ง่าย แต่ถ้าอยู่กัน 4-5 คน การตัดสินใจในอุดมคติคือ 4-5 คนนี้ มีฉันทมติตอบตกลงทางเดียวกัน ในความเป็นจริงถ้าเราอยู่กัน 70 ล้านคน การเห็นด้วยในเรื่องเรื่องเดียวกันทั้งหมดเป็นไปไม่ได้ เอาแค่เรื่องเดียวพอ ไม่ต้องพูดถึงร้อยเรื่องพันเรื่อง ดังนั้นจึงต้องมีระบบตัวแทนขึ้นมา ซึ่งใกล้กับอุดมคติที่สุดแล้ว เพราะถ้าคุณมีฉันทมติไม่ได้ ก็ต้องมีเสียงข้างมากเพื่อตัดสินเพื่อคนส่วนใหญ่

นักการเมืองเกิดขึ้นจากแนวคิดแบบนี้ ดังนั้นนักการเมืองจึงต้องยืนหยัดในเรื่องประชาธิปไตย และระลึกเสมอว่าอำนาจที่ตัวเองใช้เป็นอำนาจของประชาชน ไม่ใช่อำนาจของตัวเอง คุณได้รับมอบหมายจากประชาชนให้มาใช้อำนาจ อำนาจในการจัดสรรทรัพยากร อำนาจในการจัดสรรงบประมาณ อำนาจกำหนดกรอบทิศทางประเทศไทย แต่อำนาจนั้นไม่ใช่ของคุณ และต้องพร้อมถูกตรวจสอบจากประชาชน เพราะอำนาจเป็นของประชาชน

 

คุณจะตอบกลับคนที่ชูเรื่องการเลือกตั้งทางยุทธศาสตร์ ว่าการเลือกพรรคใหม่เสียของเปล่าๆ อย่างไร

คุณเลือกพรรคเดิม ผลก็เหมือนเดิม เป็นวังวนไปอย่างนี้ ผมไม่แน่ใจจริงๆ ว่ามีคนตัดสินใจเลือกตั้งทางยุทธศาสตร์กี่คน และการเลือกตั้งทางยุทธศาสตร์มีประสิทธิผลจริงๆ หรือไม่ ผมคิดว่าการวิจัยเรื่องนี้ยากมาก แต่ ณ สภาพของสังคมไทยวันนี้ ผมคิดว่าถ้าจะมีบางอย่างที่ทำให้สังคมไม่แตกหัก ไม่พัง คือพรรคทางเลือกใหม่ อนาคตใหม่ ถ้าคุณเลือกแบบเดิม คุณก็ได้วังวนแบบเดิม

 

คุณจะสลัดภาพหลานของคุณสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ในการลงสนามการเมืองอย่างไร

ผมเคารพคุณอาในแง่ความเป็นผู้ใหญ่ แต่ในแง่ข้อเท็จจริง ผมไม่ได้สนิทกับคุณอาผมเลย ในรอบหลายปีที่ผ่านมา เราเจอกันโดยเฉลี่ยปีละ 1-2  ครั้งตามงานเช็งเม้ง เจอกันเราก็ไม่ได้คุยการเมืองกัน คำตอบนี้ผมตอบได้สบาย มันคือข้อเท็จจริง ตอบกี่ครั้งก็เหมือนเดิม

คุณอาผมหลังๆ เริ่มมีโรคภัยไข้เจ็บและรักษาตัว ไม่ได้เคลื่อนไหวทางการเมือง ส่วนอนาคตผมไม่รู้ เราไม่เคยคุยกันชัดเจนถึงเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง คุณอาคงพอรู้ว่าผมมีอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างไร แต่สุดวิสัยของผมจริงๆ ที่จะทราบถึงจุดยืนทางการเมืองของคุณอา เขาอาวุโสกว่าผมมาก เป็นคนรุ่นพ่อ ไปถามเขาคงจะยากระดับหนึ่ง

ถามว่าจะแยกภาพอย่างนี้ออกได้อย่างไร วันก่อนผมพูดไปแล้ว และจะพูดซ้ำอีกครั้ง ถ้าคุณใจแคบ ก็ดูผมที่นามสกุล ถ้าคุณใจกว้างพอ ฟังสิ่งที่ผมพูด ถ้าคุณใจกว้างขึ้นอีก ดูสิ่งที่ผมทำ ผมไม่รู้จะพิสูจน์อะไรได้มากกว่านี้ ทำได้ดีที่สุดแค่นี้

 

ที่ตัดสินใจเล่นการเมืองไม่ได้ปรึกษาคุณสุริยะเลย

ไม่เลย

 

ในการเข้าสู่เวทีทางการเมือง คุณกังวลเรื่องอะไรมากที่สุด

ผมกังวลเรื่องครอบครัวมากที่สุด เนื่องจากผมเป็นคนตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม ทำให้ผมวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล คสช. หลายครั้งมีแรงกดดันทางตรง เมื่อกดดันที่ผมไม่ได้ก็ไปลงที่ครอบครัว ซึ่งผมคิดว่าไม่ยุติธรรม กลัวว่าจะกระทบถึงแม่ พี่น้องและครอบครัวของผม ถ้ามีอะไรก็กระทำผมโดยตรง อย่ากระทำกับคนรอบข้าง

ถ้าผมจะทำอะไร ผมต้องทำจริงจัง ถ้าไม่จริงจัง ผมไม่ทำ แล้วการทำจริงจัง ผมทำให้ทุกคนมีความสุขไม่ได้ ผมไม่สามารถเอาใจทุกคนได้ ผมไม่สามารถสัญญาหลายอย่างกับคนหลายคนได้ และปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามีคนสูญเสียประโยชน์ไม่ว่าทางอำนาจหรือเศรษฐกิจ และอาจมีคนที่มีอำนาจเหนือกว่าผม ใช้อำนาจกับคนที่ผมรัก ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมกังวลมาก

หลายคนเมื่อมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ชีวิตอาจต้องโดนคดี ขึ้นโรงขึ้นศาล ชีวิตแย่ขึ้น คิดไกลหรือเห็นภาพนั้นในอนาคตไหม

ก็เตรียมใจไว้แล้วส่วนหนึ่ง อีก 20-30 ปีข้างหน้า ผมหวังว่าถ้าผมมีหลาน ผมสามารถอุ้มหลานขึ้นมานั่งตัก มองตาแล้วพูดกับเขาตรงๆ ได้ว่า ผมทำทุกอย่างแล้ว ผมได้ทำในสิ่งที่ผมมีอำนาจเท่าที่จะทำได้เพื่อยึดมั่นคุณค่าประชาธิปไตยในสังคมแล้ว ตอบเขาได้อย่างเต็มปากว่าผมทำอะไรไม่ได้มากกว่านี้อีกแล้วที่จะสร้างสังคมที่ดีให้กับเขา ผมจะบอกเขาให้ได้อย่างนี้ในอีก 30 ปีให้หลัง

 

 

 

อยากทราบมุมมองเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

โครงสร้างพื้นฐานของประเทศเป็นสิ่งที่ต้องทำ ผมคิดว่ามีผลงานศึกษาวิจัย ทำแบบจำลอง ทำงบประมาณเกี่ยวกับการทำโครงสร้างพื้นฐานไว้เยอะมาก เช่นสิ่งที่คุณชัชชาติทำก็เป็นเรื่องที่สามารถสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศไทยได้ มีหลายสำนักคิดที่ศึกษาวิเคราะห์เรื่องความคุ้มค่าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ มามากแล้ว ซึ่งหยิบมาใช้แล้วตัดสินใจได้ทันที ไม่ต้องคิดใหม่

สี่ปีที่ผ่านมา ผมไม่เห็นอะไรเลยที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานที่นำศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทยออกมา ต้นทุนความสงบสุขแบบฉาบฉวยเยอะเกินไปแล้ว จำเป็นต้องกลับมามองเรื่องโครงสร้างพื้นฐานอย่างจริงจัง

ขอตัดมาที่ภาพเล็กกว่านิดหนึ่ง เรื่องค่าแรง 300 กว่าบาทซึ่งปรับขึ้นมา คำถามผมคือจะทำอย่างไรที่เราเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำได้โดยไม่สูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน นี่คือประเด็นที่นายทุนพยายามคิด คำตอบคือต้องสร้างงาน ต้องมีสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มมากกว่านี้จึงทำให้เรารับการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำได้โดยไม่สูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน

เราจะสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างไร โครงสร้างพื้นฐานต้องดีขึ้น อินเทอร์เน็ตที่ช่วยในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต้องเร็วขึ้น ถูกลง การเดินทางต้องเร็วขึ้น สิ่งเหล่านี้เปิดโอกาสให้ร่นเวลาได้ เวลาที่ลดลงนำไปสร้างสรรค์อย่างอื่นได้  โครงสร้างพื้นฐานจะเปิดโอกาสให้การสร้างมูลค่าเพิ่มของสังคมเป็นไปได้ จำเป็นต้องทำควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทย

ยกตัวอย่างเรื่อง 5G ในระหว่างที่ 5G  ยังไม่เป็นจริง ผมคิดว่าเราทำพื้นที่ทดลองได้ ในมหาวิทยาลัย รัฐควรลงทุน 5G ได้เลย แล้วให้นักศึกษา อาจารย์ และผู้สนใจใช้ได้ฟรี เพื่อลองดูว่าจะเปิดประตูบานไหนได้อีก สร้างบริการอะไรได้อีก มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ที่คนต้องการมาทำงานร่วมกันเพื่อสร้างสรรค์อะไรบางอย่างอยู่แล้ว ผมคิดว่าอย่างนี้ทำได้เลย ลงทุนได้เลย โดยไม่ต้องกังวลเรื่องความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจมากนัก แต่คิดถึงการนำจินตนาการออกมาใช้ เพื่อเปิดประตูบานใหม่ๆ

สาธารณูปโภคพื้นฐานทำให้เรามีศักยภาพในการคิดและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ทำให้เราสร้างสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้

 

โจทย์ใหญ่ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยคืออะไร 

เวลาเราพูดถึงเศรษฐกิจ ไม่จำเป็นต้องเกลียดกลัวการพัฒนาหรือโลกาภิวัตน์ขนาดนั้น ไทยสามารถยืนอยู่ในประชาคมโลกได้อย่างสง่าผ่าเผย โดยไม่ต้องกลับไปหาไทยนิยม แต่เป็นไทยสากลได้ ความเป็นไทยที่เท่าเทียมกับโลกาภิวัตน์ ไทยสากลเป็นไปได้ ไม่ต้องไทยนิยม

เรื่องความเหลื่อมล้ำต้องแก้ด้วยการกระจายอำนาจ และต้องก้าวหน้ากว่าที่ริเริ่มไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ด้วยซ้ำ ยกตัวอย่าง แทนที่จะเก็บภาษีเข้าส่วนกลาง แล้วให้ ส.ส. มาถกเถียงในสภาว่าจังหวัดไหนควรได้งบประมาณเท่าไหร่ ควรให้แต่ละจังหวัดเก็บภาษีเองแล้วตัดสินใจโดยตรง ด้วยผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ว่าจะใช้งบประมาณไปที่ไหน ถ้าขอนแก่นอยากมีรถราง ทำได้เอง ไม่ต้องเอาเรื่องกลับเข้ามาสภาที่กรุงเทพฯ คุณคิดดูว่ากระบวนการจะเร็วขึ้นเท่าไหร่ การมีส่วนร่วมในการออกแบบเมืองของตัวเองจะมากขึ้นเท่าไหร่ ต้องกระจายอำนาจออกไป ปล่อยให้ดอกไม้บาน

สิ่งสำคัญคือตราบใดคุณยังยึดอำนาจการตัดสินใจจัดสรรงบประมาณให้อยู่ที่ส่วนกลาง คนที่มีคุณภาพแต่ไม่มีอำนาจตัดสินใจจะไม่ได้เกิดหรอก คุณต้องปล่อยอำนาจนี้ออกไปให้ประชาชนลองผิดลองถูก เติบโตและเรียนรู้  คุณจะสร้างโรงไฟฟ้า จะเอางบไปทำถนน รถราง โรงพยาบาล โรงเรียน ตัดสินใจกันที่จังหวัด ตัดสินใจในระดับท้องถิ่น ให้สามารถเก็บและจัดการกับภาษีของตัวเอง ถ้าคุณต้องการใช้มากกว่านั้น ระดมทุนได้ด้วยตัวเอง มีพันธบัตรขอนแก่นได้ พันธบัตรเชียงใหม่ได้ ทำไมต้องมีแต่พันธบัตรจากส่วนกลาง

รัฐต้องโอนทรัพยากรคน เงิน อำนาจ และความรับผิดชอบไปพร้อมกัน ให้คนจากรัฐส่วนกลางที่ทำงานในระดับท้องถิ่น เช่นศึกษาธิการอำเภอ กลับไปสังกัดท้องถิ่น แล้วให้ท้องถิ่นบริหารเอง เรื่องเงิน ให้ท้องถิ่นสามารถจัดเก็บภาษีได้ โอนอำนาจคือการเลือกตั้งผู้บริหารในท้องถิ่นและจังหวัด โอนความรับผิดชอบคือผู้บริหารท้องถิ่นต้องยึดโยงกับประชาชน ถูกตรวจสอบจากประชาชนได้

กระบวนการยุติธรรมก็เช่นกัน ยังกระจายอำนาจลงไปได้อีก ถ้าเราพูดถึงการกระจายอำนาจในรูปแบบที่ก้าวหน้า ตำรวจขอนแก่นอาจขึ้นอยู่กับเทศบาลขอนแก่นก็ได้ คำขวัญของเอ็นจีโอที่บอกว่าประชาชนต้องกำหนดอนาคตตัวเองได้ มันกลับมาเรื่องนี้ทั้งหมดเลย ถ้าตำรวจขึ้นอยู่กับกรุงเทพฯ จะจัดการท้องถิ่นได้อย่างไร ถ้ากระบวนการยุติธรรมอยู่กรุงเทพฯ ทั้งหมด จะจัดการท้องถิ่นได้อย่างไร

สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องยึดโยงกับประชาชน ต้องเชื่อมั่นว่าประชาชนสามารถเรียนรู้ เลือก และรับผิดชอบการตัดสินใจของตัวเองได้ ถ้าเขาเลือกคนผิด ต้องเชื่อว่าเขาสามารถรับผิดชอบการตัดสินใจของตัวเองได้ โดยไม่ไปเลือกคนเดิมซ้ำ ผมเชื่อว่าประชาชนมีกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาของตัวเอง สามารถรับผิดชอบตัวเอง อย่ามองว่าประชาชนเป็นเด็กไม่มีการศึกษา ไม่รู้เรื่อง และต้องรอให้รัฐมาคุ้มครองตลอดเวลา ไม่ใช่

ที่ผ่านมาพรรคของคุณทักษิณได้รับเสียงล้นหลามจากคนในชนบทด้วยนโยบายที่ชัดเจน แต่เท่าที่ฟังคุณมายังไม่มีการนำเสนอนโยบายที่ดึงดูดคนต่างจังหวัดได้

เนื่องจากเหตุผลส่วนหนึ่งคือ คสช. ยังไม่อนุญาตให้เราพูดถึงนโยบายได้ ผมขอเสนอกรอบความคิดเห็นกว้างๆ ก่อน ผมคิดว่าเราต้องสร้างหลักประกันว่าคนสามารถเกิด เติบโต และแก่ชราในสังคมได้โดยไม่ทิ้งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ต้องสร้างระบบตรงนี้ให้ได้ นอกจากนั้น ต้องสร้างระบบที่เปิดโอกาสให้อนาคตเติบโตได้ การกระจายอำนาจเป็นส่วนหนึ่งให้เขาเติบโตได้ในท้องถิ่น ในอนาคตต้องลงรายละเอียด ถ้าเป็นไปได้เราอยากได้ข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมจากประชาชน

 

นโยบายในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันคืออะไร

Open Data  (การเปิดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลของภาครัฐได้) ถ้าคุณเชื่อว่ารัฐคือตัวแทนของประชาชน ข้อมูลที่ถูกผลิตออกจากรัฐทั้งหมดคือข้อมูลของประชาชน วิธีคิดดั้งเดิมของเราคือข้อมูลทุกอย่างของรัฐให้ปิด แล้วประชาชนขอดูเป็นเรื่องๆ ไป ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ว่าข้อมูลทุกอย่างเมื่อสร้างมาแล้วต้องเปิดเป็นค่าพื้นฐาน แล้วเลือกปิดเป็นเรื่องๆ เช่น ความมั่นคง ผมเชื่อว่าประชาชนมีสติปัญญาพอที่จะแยกแยะข้อมูล และเข้าไปวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจของภาครัฐได้ด้วยตัวเองถ้าเราเปิดเผยข้อมูล

ยิ่งทำให้รัฐบาลโปร่งใสมากเท่าไหร่ เป็นประชาธิปไตยเท่าไหร่ ยิ่งทำให้โอกาสคอร์รัปชันน้อยลงเท่านั้น เราแก้ได้ด้วยการเปิดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลของภาครัฐ เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีไปไกลกว่านั้น เราทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วมได้ งบในการทำประชามติทั่วประเทศครั้งหนึ่งน่าจะหลักพันล้านบาท แต่เทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถทำให้ประชามติไม่มีต้นทุนได้ และทำให้เกิดการตัดสินใจในเชิงนโยบายอื่นๆ ได้อย่างมีส่วนร่วมโดยไม่มีต้นทุน

ปัญหาที่กลัวกันในเรื่องการลงประชามติออนไลน์ คือการแอบเอาอัตลักษณ์คนอื่นไปใช้แทนกัน ซึ่งเรื่องพวกนี้ป้องกันได้ด้วย blockchain เทคโนโลยี blockchain เปิดโอกาสให้ธุรกรรมที่ทำมีอัตลักษณ์ของผู้ทำธุรกรรมติดไปกับมันด้วย ดังนั้นถ้าคุณสามารถประยุกต์ใช้ blockchain ในการประชามติเรื่องนโยบาย เอาโครงการของภาครัฐทั้งหมดมาวางแผ่ให้เห็นว่าแต่ละโครงการมีต้นทุนในการก่อสร้างเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นเงินอุดหนุนคนชรา ทำฝาย หรือทำโรงเรียนเพิ่ม แล้วให้ประชาชนโหวตโดยตรง ผมเชื่อว่าเป็นไปได้

มีแนวคิดเรื่องการปฏิรูปการศึกษาอย่างไร

ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้โดยตรง ผมเข้าใจว่ามีปัญหาตั้งแต่เรื่องเงินเดือนครู การเข้าถึงสวัสดิการของครู การเข้าถึงงบประมาณ แต่ถ้าให้ผมตอบเร็วๆ คือดึงการมีส่วนร่วมของนักเรียนนักศึกษาเข้ามาจัดการหลักสูตรและจัดการทรัพยากรให้ดีขึ้น

ถ้าให้คิดเร็วๆ ก็ตัดงบกลาโหม 20-30% แล้วเอางบส่วนนี้ไปลงทุนด้านการศึกษาในส่วนที่ทำได้เลย เช่น ทำสาธารณูปโภคในโรงเรียนให้ดีขึ้น เอาเงินไปซื้อฮาร์ดแวร์ ทำสนามเด็กเล่นให้เด็กๆ มีพื้นที่วิ่งเล่น ซื้ออาหารกลางวันที่มีคุณภาพ ทำให้เด็กมีโอกาสเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ฟรีและเร็ว แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (Digital Divide) ความรู้ทุกอย่างอยู่ในอินเทอร์เน็ต อินเทอร์เน็ตที่แพงและช้าคือการปิดโอกาสการเรียนรู้ของเด็กๆ

ผมคิดว่าเรื่องนี้ทำได้เลย แก้ปัญหาได้ด้วยเงินเลย ส่วนเรื่องการออกแบบหลักสูตรหรือการแก้ปัญหาหนี้สินครูเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก ซึ่งผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ แต่การแก้ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานทำได้ด้วยเงิน ตัดงบกลาโหมไป 20% พรุ่งนี้ทำได้เลย

 

ถ้าอนาคตได้ทำงานเป็นรัฐบาลจะมีนโยบายเพื่อคนกลุ่ม LGBT อย่างไร

ผมเติบโตมาแบบอนุรักษนิยม ถ้าผมไม่ได้เจอเพื่อนๆ หลายคน คงเป็น กปปส. แน่นอน  ย้อนกลับไปสมัยเรียนมหาวิทยาลัย มีเรื่องหนึ่งที่ผมรู้สึกเจ็บใจจนถึงทุกวันนี้ ผมมีเพื่อนคนหนึ่งเป็นเกย์ สนิทมาก ตอนนั้นผมยังไม่เข้าใจเรื่องสิทธิในร่างกายของตัวเองอย่างเพียงพอ ผมไม่ได้ถูกสอนมาอย่างเพียงพอ ทำให้ผมพยายามอย่างยิ่งที่จะไปเปลี่ยนเขา แต่ก่อนผมใช้คำว่า ‘ซ่อม’ เขา ผมคิดว่าการกระทำของผมทำให้เขาเสียใจและเจ็บใจ พอผมเติบโตและเรียนรู้มากขึ้น ผมก็รู้ว่าสิ่งที่ผมทำ มันผิด ผมไม่มีโอกาสเจอเขาบ่อยและไม่มีโอกาสพูดเรื่องนี้อย่างจริงจัง ถ้าเขาฟังอยู่ และรู้ว่าผมหมายถึงเขา ผมอยากขอโทษเขาไว้ ณ ที่นี้ด้วย เมื่อก่อนผมถูกสอนมาให้เป็นคนดีในแบบอนุรักษนิยม แต่ตอนนี้มุมมองด้านเพศสภาพของผมคือ การเปิดรับทุกเพศสภาพตามแต่รสนิยมของแต่ละคน

 

มีแนวคิดในเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง

จริงๆ ผมไม่ได้รู้คำตอบสำหรับทุกเรื่อง เรื่องสิ่งแวดล้อมถามว่าผมจัดการอย่างไร บอกเลยว่าผมรักสิ่งแวดล้อม แต่ถามว่าต้องจัดการเรื่องไหนอย่างไร ผมไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญขนาดนั้นที่จะสามารถตอบได้ทุกเรื่อง ดังนั้นผมคิดและเชื่อว่าในสังคมมีองค์ความรู้พออยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปผลิตทางแก้ใหม่ แต่เก็บเกี่ยวและทำงานกับคนที่มีคลังทางออกที่เป็นรูปธรรมและมีความจริงใจในการแก้ปัญหา ฟังคนกลุ่มนั้น ถ้าทางออกไหนมีความเป็นไปได้ มีความทุ่มเท จัดสรรทรัพยากรทำให้เกิด และเรียนรู้ผิดถูกกับมัน

 

บางประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอย่างอินเดียก็ไม่เห็นว่าจะดีกว่าระบอบกึ่งเผด็จการแบบสิงคโปร์หรือจีนอย่างไร เราจำเป็นต้องเป็นประชาธิปไตยถึงขนาดนั้นเลยหรือ

การประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจแบบจีนแลกมาด้วยหลายอย่าง แลกด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชน แล้วท้ายที่สุดถ้าเราไปดูผลประโยชน์ของการพัฒนาในจีนจริงๆ ส่วนใหญ่อยู่กับคนที่เป็นสมาชิกของพรรค ในแง่หนึ่งประเทศไทยไม่ได้มีตลาดที่ใหญ่พอ ไม่ได้มีอำนาจต่อรองเชิงตลาดที่ใหญ่พอที่จะทำแบบประเทศจีนได้ ผมคิดว่าเราสามารถใช้โมเดลอื่นๆ เป็นแรงบันดาลใจให้เราได้ ประเทศเยอรมนีที่เป็นประชาธิปไตยมีอะไรน่าหลงใหล ประเทศในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียที่มีดัชนีประชาธิปไตยและความโปร่งใสสูงมากก็มีอะไรน่าหลงใหล อย่าคิดถึงแต่โมเดลการพัฒนาของจีนที่ใช้ต้นทุนมหาศาลในการพัฒนาเศรษฐกิจ และเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่กับคนกลุ่มเดียว

 

แนวทางการทำงานการเมืองเป็นอย่างไร

คุยอย่างจริงใจ ทำงานกับทุกคนอย่างจริงใจ ไม่มีวาระซ่อนเร้นทางการเมืองของตัวเอง

ถ้ามีคนทำสิ่งที่ผมทำวันนี้ ผมจะไปสนับสนุนอย่างเต็มที่ และผมจะไม่มาทำอะไรแบบที่ผมทำเลย ผมมีหนังสืออีกพันเล่มที่อยากอ่าน มีภูเขาอีกร้อยลูกที่อยากปีน ผมไม่ได้มีวาระส่วนตัวที่อยากมาอยู่ตรงนี้เลย ไม่ว่าทางเศรษฐกิจหรืออำนาจทางการเมือง ถ้ามีใครมาอยู่ตรงนี้ได้อย่างเหมาะสม เป็นความหวังของประเทศได้ ผมไปปีนเขาเลย ดังนั้นปัญหาที่ต้องชนกับผู้หลักผู้ใหญ่ที่ความคิดเห็นไม่ตรงกัน ผมคิดว่าทำได้ สามารถทำได้โดยพูดคุยถกเถียงอย่างจริงจัง

ผมไม่มีความรู้ที่จะตอบทุกอย่างแต่ผมอยากสะท้อนให้เห็นว่าสังคมมีปัญหามาก เราจำเป็นต้องหลุดออกจากวังวนเดิมๆ การจะหลุดได้ต้องมีพรรคใหม่ที่พูดถึงอนาคตแบบใหม่มาเสนอเป็นตัวเลือกให้กับประชาชน ประชาธิปไตยเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา ต้องเรียนรู้และพัฒนา ทุกอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไปถึงจะสร้างประชาธิปไตยที่เข้มแข็งได้

ประเด็นสำคัญที่สุดคือเราต้องดึงอำนาจในการกำหนดอนาคตกลับมา คนรุ่นใหม่ที่พร้อมเปลี่ยนแปลงต้องดึงอำนาจนี้กลับมา สร้างสิ่งใหม่ๆ สิ่งที่ดีไปกว่านี้ และสร้างสิ่งที่ดีที่สุดด้วยกัน

จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ผมไม่รู้ รู้แค่ผมทำทุกอย่างที่ผมทำได้แล้ว ผมทำอะไรมากกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว อีก 20-30 ปีให้หลัง ผมก็กล้าบอกกับทุกคนได้ว่าผมทำเต็มที่จริงๆ ในฐานะคนคนหนึ่งที่อยากทำให้สังคมดีขึ้นและทำให้ประชาธิปไตยเบ่งบาน พูดภาษานักเลงไพ่ก็หมดหน้าตักแล้ว

ที่ผมพูดไปทั้งหมดเป็นความคิดเห็นส่วนตัวเพราะในทางปฏิบัติยังไม่มีพรรคใดๆ เกิดขึ้น พรรคใหม่จะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีสมาชิกแล้วทุกคนมากำหนดนโยบายร่วมกัน แต่อย่างน้อยที่สุดผมคิดว่าอาจารย์ปิยบุตรกับผมมีอะไรหลายอย่างที่คล้ายกัน เรามีความเชื่อว่าพรรคการเมืองแบบใหม่เป็นไปได้ มีความเชื่อเรื่องอนาคตที่จะเห็นสังคมมีสิทธิเสรีภาพ คนทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้จริง

อนาคตนี้เป็นไปได้

 


You must be logged in to post a comment Login