วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

นิวบลัด-เกรียน

On March 6, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

การทำพรรคการเมืองให้ประสบความสำเร็จมีที่นั่งส.ส.ในสภา แม้กติกาใหม่จะเอื้อเรื่องวิธีคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อแต่การจะมีส.ส.ในสภาสักคนก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะระบบเลือกตั้งโดยใช้บัตรใบเดียวหากอยากได้คะแนนเสียงก็ต้องส่งผู้สมัครส.ส.เขตให้ได้มากที่สุด แน่นอนว่ายิ่งส่งผู้สมัครส.ส.เขตมากก็ยิ่งต้องใช้เงินมาก ถ้าไม่มีหัวคะแนนคอยช่วยก็ปิดประตูที่จะได้ส.ส.บัญชีนายชื่อไปได้เลย ไม่เว้นแม้แต่พรรคใหม่กระแสแรงอย่าง “นิวบลัด” ของ “ปิยะบุตร-ธนาธร”

ที่ต้องการสร้างทางเลือกใหม่ สร้างการเมืองแบบใหม่ แม้จะมีเสียงตอบรับในแวดวงคนรุ่นใหม่ แต่พอถึงเวลาอาจเข้าข่ายเสียงดีไม่มีคะแนน นี่ยังไม่นับรวมการจ้องรับน้องจากกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่ทะยอยปล่อยข้อมูลด้านลบมาทำลายความชอบธรรมอย่างต่อเนื่อง อนาคตพรรคทุนหนาอย่าง“นิวบลัด” ยังลูกผีลูกคนไม่รู้ว่าจะแจ้งเกิดได้หรือไม่ คงไม่ต้องพูดถึงพรรค “เกรียน” ของ “บก.ลายจุด” ดีไม่ดีได้แค่ทำเกรียนสร้างกระแส ไม่แม้แต่จะสามารถปฏิสนธิให้เป็นพรรคการเมืองที่สมบูรณ์ถูกต้องตามกฎหมายได้ด้วยซ้ำ

การแห่จดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองอย่างคึกคัก มีพรรคการเมืองเปิดใหม่หลายสิบพรรค เมื่อรวมกับพรรคเก่าที่มีตามทฤษฎีจะทำให้ประชาชนมีตัวเลือกในสนามเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 100 พรรค

แต่ในทางปฏิบัติการเลือกตั้งประชาชนจะยังมีพรรคการเมืองให้เลือกไม่กี่พรรค ส่วนอีกเกือบ 100 พรรคที่เหลือเป็นได้แค่ไม้ประดับที่จะทยอยเหี่ยวเฉารอวันตาย หรือไม่ก็รอเศรษฐีใจดีมาเซ้งกิจการพรรคเอาไปรดน้ำใส่ปุ๋ยต่อชีวิต

ที่เป็นอย่างนี้เพราะการจะทำให้พรรคได้ที่นั่งเก้าอี้ส.ส.ในสภาไม่ใช่เรื่องง่าย

นายสมชัย  ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประเมินว่าหากพรรคไหนต้องการได้ที่นั่งในสภาต้องใช้งบประมาณในการเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท

ดูแล้วศักยภาพของผู้ที่แห่มาจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองที่มีความพร้อมในการจ่ายเงินทุนเบื้องต้นเพื่อให้ได้ส.ส.ในจำนวน 50 ล้านบาทน่าจะมีไม่มาก

ที่สำคัญแม้จะมีเงินสู้ในเบื้องต้น 50 ล้านบาทแล้วก็ไม่มีหลักประกันอะไรว่าจะได้ที่นั่งในสภา แม้กฎหมายเลือกตั้งใหม่จะเอื้อกับพรรคการเมืองเล็กให้ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อง่ายกว่าพรรคการเมืองใหญ่ แต่ถ้าประชาชนไม่กาบัตรให้ก็เสีย 50 ล้านไปฟรีๆ

นายสมชัย ได้ยกตัวอย่างให้เห็นภาพอย่างชัดเจนว่าประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งมีอยู่ประมาณ 50 ล้านคน หากออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งร้อยละ 70 ก็เท่ากับมีคะแนนเสียงให้พรรคการเมืองแย่งชิงกันประมาณ 35 ล้านเสียง

เมื่อกฎหมายกำหนดให้ทั้งสภามีส.ส.ได้ 500 คน เมื่อเอาจำนวนคนออกมาใช้สิทธิหารกับจำนวนส.ส. การที่พรรคการเมืองจะได้ส.ส. 1 คน ต้องมีคนกาบัตรให้ไม่น้อยกว่า 70,000 เสียง

ในส่วนของพรรคการเมืองใหญ่ หากได้ ส.ส.เขต 200 คน แต่เมื่อรวมคะแนนทั้งประเทศแล้วได้แค่ 14 ล้านเสียง ก็จะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มแม้แต่คนเดียว

การจะได้ส.ส.บัญชีรายชื่อคะแนนที่เกิน 14 ล้าน ทุก 70,000 คน จึงจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้น 1 คน  ถ้ารวมทั้งประเทศ ได้ 16.1 ล้านเสียง ที่เกินมา 2.1 ล้าน คือ ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก 30 คน

พรรคการเมืองขนาดเล็กหรือพรรคใหม่ที่ไม่หวังชนะเลือกตั้งในระบบเขต หวังแต่ส.ส.บัญชีรายชื่อก็ต้องส่งผู้เลือกตั้งในระบบเขตให้มากที่สุด เพราะกติกาใหม่ให้ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ถ้าไม่ส่งผู้สมัครก็ไม่มีคะแนนในเขตเลือกตั้งนั้น

ถ้าอยากได้ส่วนแบ่งส.ส.บัญชีรายชื่อก็ต้องส่งผู้สมัครส.ส.เขตให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากอยากได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 25 คน เพื่อสามารถเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากบัญชีของตัวเองเข้าแข่งขันได้ ก็ต้องได้คะแนนรวมจากผู้สมัครทั้งประเทศไม่น้อยกว่า 1.75 ล้านคะแนน ซึ่งไม่ง่าย

การจะได้ 1.75 ล้านเสียงเท่ากับว่าทุกเขตต้องได้ไม่น้อยกว่า 5,000 คะแนน น่าจะเป็นเรื่องยากสำหรับพรรคเกิดใหม่ที่ไม่มีนักการเมือง ไม่มีระบบหัวคะแนนหนุนหลัง

ไม่เว้นแม้แต่พรรคใหม่กระแสแรงอย่าง “นิวบลัด” ของนายปิยะบุตร แสงกนกกุล นักกฎหมายคณะนิติราษฎร์ กับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นักธุรกิจหนุ่มไฟแรง ที่ต้องการสร้างทางเลือกใหม่ สร้างการเมืองแบบใหม่

แม้เจ้าของพรรคจะมีทุนหนา แต่กฎหมายใหม่ก็ไม่เปิดช่องให้เจ้าของพรรคทุ่มทุนสร้างพรรคเหมือนในอดีต

แม้จะมีเสียงต้อนรับในแวดวงคนรุ่นใหม่ แต่พอถึงเวลาอาจเข้าข่ายเสียงดีไม่มีคะแนน นี่ยังไม่นับรวมการจ้องรับน้องจากกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่ตั้งการ์ดสูงทะยอยปล่อยข้อมูลด้านลบมาทำลายความชอบธรรมอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ประกาศว่าจะตั้งพรรค

อนาคตของ “นิวบลัด” ยังลูกผีลูกคนไม่รู้ว่าจะแจ้งเกิดได้หรือไม่ คงไม่ต้องพูดถึงพรรค “เกรียน” ของ บก.ลายจุด นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ทีดีไม่ดีได้แค่ทำเกรียนสร้างกระแส ไม่แม้แต่จะสามารถปฏิสนธิให้เป็นพรรคการเมืองที่สมบูรณ์ถูกต้องตามกฎหมายได้ด้วยซ้ำ


You must be logged in to post a comment Login