วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

แค่สลบแต่ไม่ตาย / โดย ศิลป์ อิศเรศ

On February 19, 2018

คอลัมน์ : ร้ายสาระ

ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ

กระแสลมรุนแรงพัดพาเครื่องบินเข้าไปในดงปืนต่อสู้อากาศยาน ทำให้ถูกกระหน่ำยิงจนไฟลุกท่วมลามไปถึงกล่องเก็บร่มชูชีพ พลปืนตัดสินใจกระโดดหนีออกจากเครื่องบินที่ความสูง 18,000 ฟุต ทั้งๆที่ไม่มีร่มชูชีพ

นิโคลาส อัลเคเมด เป็นชาวสวนเมืองลัฟบะระ ประเทศอังกฤษ ก่อนจะถูกเกณฑ์เป็นทหารเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาได้รับการฝึกหน้าที่พลปืนเครื่องบินรบ ถูกส่งไปประจำการที่หน่วยฝูงบิน 115 ในตำแหน่งพลปืนหลัง

วันที่ 24 มีนาคม 1944 ฝูงบินรบได้รับคำสั่งให้บุกโจมตีกรุงเบอร์ลิน นิโคลาสในวัย 21 ปี เข้าประจำที่บนเครื่องบินแลงคาสเตอร์ทูลำที่ชื่อแวร์วูล์ฟ ทะยานขึ้นจากสนามบินวิตช์ฟอร์ดในเวลา 18.48 น.

แวร์วูล์ฟมีลูกเรือ 7 คน สามารถปฏิบัติภารกิจได้ตามเป้าหมาย แต่ขากลับเผชิญกับกระแสลมแปรปรวนพัดพาเครื่องบินออกนอกทิศทางจนไปเข้าเขตเมืองรูร์ ซึ่งเยอรมันติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยานไว้เป็นจำนวนมาก

ก่อนเที่ยงคืนเล็กน้อยกองทัพอากาศเยอรมันส่งนาวาอากาศเอกไฮนซ์ ร็อคคี นำเครื่องบินขับไล่ขึ้นติดตาม โหมกระหน่ำยิงเครื่องบินแวร์วูล์ฟจนเกิดไฟลุกท่วม นักบินเจมส์ นิวแมน สั่งสละเครื่องบิน ลูกเรือทุกคนคว้าร่มชูชีพแล้วรีบกระโดดหนีออกจากเครื่องบินที่กำลังดิ่งลงพื้นดิน ยกเว้นนิโคลาส

มีแต่ตายกับตาย

ห้องปืนหลังบนเครื่องบินแวร์วูล์ฟมีขนาดคับแคบ ทำให้พลปืนไม่สามารถนำร่มชูชีพติดตัวไว้ได้ มันถูกวางไว้ด้านนอกข้างประตูห้องปืน นิโคลาสเพียงแค่เปิดประตูคว้าร่มชูชีพนำมาคล้องกับสายรัดที่หน้าอกก็สามารถกระโดดออกจากเครื่องบินได้อย่างปลอดภัย

นิโคลาสเปิดประตูห้องปืนเพื่อคว้าร่มชูชีพ แต่พบว่ากระแสลมโหมเปลวเพลิงมายังท้ายเครื่องและลามถูกร่มชูชีพจนใช้งานไม่ได้ อีกทั้งเพลิงยังลวกใบหน้าและข้อมือนิโคลาสจนหน้ากากออกซิเจนที่เขาสวมใส่อยู่หลอมละลาย ทำให้นิโคลาสต้องรีบปิดประตู

ระหว่างที่นิโคลาสใช้ความคิดว่าจะทำอย่างไร เหตุการณ์ก็เลวร้ายลงไปอีกเมื่อประตูถูกความร้อนจากเปลวเพลิงหลอมละลายและลามเข้ามาติดน้ำมันไฮดรอลิกของปืน ลุกลามมาติดเสื้อผ้าที่สวมใส่ เขามีทางเลือก 2 ทาง ทางที่หนึ่งคือนั่งรอความตายอยู่ในห้องปืน หรือทางที่สองกระโดดหนีออกจากเครื่องบินที่ระดับความสูง 18,000 ฟุต ทั้งๆที่ไม่มีร่มชูชีพ

ไม่ว่าจะเลือกทางไหนก็ตายเหมือนกัน แต่ตายเพราะถูกเปลวเพลิงเผาผลาญคงจะทรมานน่าดู แค่แผลไฟลวกที่ได้รับอยู่ตอนนี้ก็ปวดแสบปวดร้อนไปหมดแล้ว นิโคลาสตัดสินใจกระโดดออกจากเครื่องบิน หวังว่าการตายเพราะร่างกระแทกพื้นจะตายอย่างรวดเร็วและทรมานน้อยกว่าตายในกองเพลิง

มัจจุราชเมิน

นิโคลาสหมุนปากกระบอกปืนเข้าหาลำตัวเครื่องแล้วเบียดตัวออกทางช่องปืน ร่างของนิโคลาสถูกแรงโน้มถ่วงดึงดูดเข้าสู่พื้นโลกในท่าเท้าชี้ฟ้าหัวปักดินเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 120 ไมล์ต่อชั่วโมง ตามองเห็นดวงดาวระยิบระยับ ได้ยินเสียงเครื่องยนต์ดังอยู่ห่างๆ เขาประหลาดใจที่ไม่รู้สึกกลัวหรือกังวลแม้จะรู้ตัวว่าต้องตายในอีกไม่กี่วินาทีข้างหน้า

ไม่กี่นาทีต่อมานิโคลาสก็หมดสติกลางอากาศ อาจเพราะเป็นการตอบสนองของระบบประสาทหลังจากได้รับบาดเจ็บจากการถูกไฟไหม้ตามร่างกาย ช่วงเวลาเดียวกันนั้นเองเครื่องบินแวร์วูล์ฟก็ระเบิดเป็นจุณ

3 ชั่วโมงต่อมานิโคลาสมีสติอีกครั้ง เขานอนอยู่บนพื้นหิมะในป่าสน ลืมตาขึ้นมองเห็นกิ่งสนที่หักจนเป็นช่องโหว่ มองเห็นดวงดาวระยิบระยับเหมือนตอนที่กระโดดออกจากเครื่องบิน ร่างเขาคงตกลงบนยอดสน และกิ่งอ่อนๆเหล่านี้ดูดซับแรงกระแทกก่อนที่ร่างของเขาจะตกถึงพื้น อีกทั้งหิมะที่หนา 18 นิ้ว รองรับร่างของเขาไม่ให้ได้รับบาดเจ็บรุนแรงนอกเหนือจากอาการหัวเข่าพลิก

นิโคลาสปลดสายรัดที่หน้าอก ล้วงมือหยิบบุหรี่จากเสื้อออกมาสูบ มองไปรอบๆตัว ห่างออกไปแค่ 20 เมตร เป็นพื้นโล่งไร้หิมะเพราะถูกแสงแดดแผดเผา ส่วนจุดที่เขาตกลงมายังคงมีหิมะปกคลุมหนาแน่น เพราะร่มเงาของป่าสนบดบังแสงแดดเอาไว้

ขวัญใจเชลยศึก

นิโคลาสตัดสินใจเป่านกหวีดขอความช่วยเหลือ เพราะขาได้รับบาดเจ็บจนเดินไม่ได้ ไม่นานนักชาวบ้านแถวนั้นก็ตามเสียงนกหวีดมาจนพบ นำนิโคลาสส่งโรงพยาบาล วันรุ่งขึ้นตำรวจเกสตาโปเดินทางมาอายัดตัวและสอบปากคำ

นิโคลาสให้การตามความเป็นจริงว่าเขากระโดดออกจากเครื่องบินโดยไม่มีร่มชูชีพ ตำรวจเกสตาโปหัวเราะอย่างขบขันและกล่าวหาว่านิโคลาสเป็นจารชนแต่งเรื่องกระโดดจากเครื่องบินขึ้นมาเอง ต่อมาภายหลังพบว่าจุดที่พบร่างนิโคลาสมีเพียงสายรัดหน้าอกแต่ไม่มีร่มชูชีพ อีกทั้งจากการสำรวจเครื่องบินแวร์วูล์ฟที่ตกห่างออกไป 20 ไมล์ พบห่วงโลหะสำหรับกระตุกร่มชูชีพและลวดโครงร่มอยู่ในซากเครื่องบิน

นิโคลาสนอนโรงพยาบาลนาน 3 สัปดาห์ ก่อนจะถูกส่งตัวไปยังค่ายกักกันเชลยดูแลคลัฟต์ หลังจากนั้นถูกส่งไปยังค่ายกักกันสตาแลกลัฟต์ในโปแลนด์ รวมกับเชลยศึกคนอื่นหลายพันชีวิตที่มีลูกเรือแวร์วูล์ฟอีก 2 คนถูกคุมขังไว้ที่นี่เช่นกัน

เรื่องราวของนิโคลาสถูกเจ้าหน้าที่เยอรมันสืบสวนอย่างเป็นทางการอีกครั้งและยอมรับว่าคำให้การทั้งหมดเป็นความจริง หนังสือพิมพ์เยอรมันติดต่อขอสัมภาษณ์โดยแลกเปลี่ยนกับสิทธิพิเศษได้รับโควตาบุหรี่มากขึ้นกว่าปรกติ ทำให้นิโคลาสกลายเป็นขวัญใจเชลยศึกในค่ายกักกัน

โกงความตาย

ลูกเรือแวร์วูล์ฟรอดชีวิตมาเพียง 3 คนคือ นิโคลาส อัลเคเมด ตำแหน่งพลปืนหลัง สิบเอกจอห์น เคลียรี่ ตำแหน่งเนวิเกเตอร์ และสิบเอกจอฟเฟรย์ เบอร์เวลล์ ตำแหน่งพลวิทยุ ทั้ง 3 คนถูกควบคุมตัวที่ค่ายกักกันสตาแลกลัฟต์ ส่วนอีก 4 คนที่เหลือเสียชีวิตทั้งหมด

สิบเอกจอห์นกระเด็นออกจากเครื่องบินขณะเกิดการระเบิดทำให้ร่มชูชีพได้รับความเสียหาย ร่างของเขาตกลงในป่าสนที่เดียวกับนิโคลาส เขาสลบไปเพราะแรงกระแทกกับต้นไม้ ร่างนอนจมในหิมะเป็นเวลานานจนถูกหิมะกัดเกือบต้องตัดขา เขานอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 6 เดือน ก่อนจะถูกส่งตัวมายังค่ายกักกัน ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 1945 ได้รับการปล่อยตัวในโครงการแลกเปลี่ยนเชลยชาวเยอรมันที่เจ็บป่วยและบาดเจ็บ

หลังสงครามโลกสิ้นสุดลงเชลยศึกได้รับการปลดปล่อยตัว นิโคลาสปลดประจำการหันเหมาทำอาชีพคนงานโรงงานผลิตสารเคมี หลังจากเริ่มงานใหม่ไม่นานเขาก็โกงความตายอีกครั้งขณะที่กำลังถอดถังแก๊สคลอรีน เขาถูกไฟช็อตทำให้หน้ากากป้องกันหลุดออก นิโคลาสทรมานจากการสูดดมแก๊สพิษนานถึง 15 นาทีก่อนจะมีคนมาช่วย

หลังจากนั้นเพียงไม่นานนิโคลาสก็ประสบอุบัติเหตุขณะทำงานอีกครั้ง คราวนี้เขาโดนท่อส่งกรดซัลฟิวริกระเบิดใส่หน้า เขารีบเอาหัวปักลงในถังบรรจุน้ำปูนขาวเพื่อทำให้เป็นกลาง รอดจากการถูกกรดกัดไปอย่างเฉียดฉิว เขากลับมาทำหน้าที่แต่ไม่วายถูกประตูเหล็กสูง 9 ฟุตหลุดออกจากรางล้มทับ โชคดีที่ได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย

นิโคลาสไม่แน่ใจว่าจะโชคดีแบบนี้ตลอดไปหรือไม่ เขาตัดสินใจลาออกไปทำอาชีพที่ปลอดภัยต่อชีวิตโดยเป็นคนขายเฟอร์นิเจอร์ ก่อนจะเสียชีวิตด้วยวัย 64 ปีเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 1987


You must be logged in to post a comment Login