วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

การเมืองในทะเลทราย / โดย บรรจง บินกาซัน

On February 12, 2018

คอลัมน์ : สันติธรรม

ผู้เขียน : บรรจง บินกาซัน

การเมืองเป็นเรื่องของการเข้าสู่อำนาจที่จะนำมาซึ่งผลประโยชน์มากมายในภายหลัง การเมืองจึงเป็นเรื่องที่มีอยู่ในทุกยุคและทุกบริบทของสังคม

“ยัษริบ” เป็นเมืองในคาบสมุทรอาหรับที่มีคนอาหรับหลายเผ่าอาศัยอยู่ นอกจากนี้ยังมีชาวยิวอีก 3 เผ่าอาศัยอยู่ด้วย เผ่าอาหรับที่ใหญ่ที่สุดในยัษริบมี 2 เผ่าคือ เผ่าเอาซ์ และคอซรอจญ์ 2 เผ่านี้ต่อสู้แย่งชิงความเป็นผู้นำในเมืองยัษริบมาเป็นเวลานาน และต่างเผ่าต่างไม่ยอมให้อีกเผ่าหนึ่งเป็นผู้นำ หลังจากมีการเจรจาไกล่เกลี่ยกัน ในที่สุด 2 ฝ่ายต่างมีแนวโน้มที่จะให้อับดุลลอฮฺ บินอุบัยย์ หัวหน้าเผ่าคอซรอจญ์ ขึ้นมาเป็นผู้นำ แต่ยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ

ก่อนที่จะมีการแต่งตั้งอับดุลลอฮ์ บินอุบัยย์ เป็นผู้นำ ชาวยัษริบกลุ่มหนึ่งจาก 2 เผ่าได้เดินทางไปทำพิธีฮัจญ์ที่มักก๊ะฮฺและได้พบกับนบีมุฮัมมัด หลังจากได้พูดคุยกันชาวยัษริบเกิดความประทับใจในคำสอนและบุคลิกของนบีมุฮัมมัดจึงอยากได้ท่านซึ่งเป็นคนนอกเผ่าไปเป็นผู้นำ และสมาชิกจาก 2 เผ่ารับปากว่าจะให้เสรีภาพในเรื่องศาสนาและให้ความช่วยเหลือท่าน

นบีมุฮัมมัดสนใจข้อเสนอของชาวยัษริบเป็นอย่างมาก เพราะในเวลานั้นท่านกำลังถูกต่อต้านอย่างหนัก แต่ท่านเพิ่งรู้จักชาวยัษริบเป็นครั้งแรก ท่านจึงไม่ได้ตามชาวยัษริบกลุ่มนั้นไปทันทีหลังจากพิธีฮัจญ์เสร็จสิ้น แต่ท่านต้องการดูว่าคนเหล่านี้มีความจริงใจต่อท่านเพียงใด

ในฤดูกาลทำฮัจญ์ปีต่อมา ปรากฏว่าชาวยัษริบกลุ่มนั้นได้มาทำพิธีฮัจญ์อีกครั้งหนึ่ง แต่คราวนี้ได้พาชาวยัษริบที่หันมารับอิสลามอีกหลายคนมาด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้นบีมุฮัมมัดจึงเห็นความจริงใจของคนกลุ่มนี้และวางแผนที่จะอพยพไปยังเมืองยัษริบ ท่านได้ให้บรรดาสาวกของท่านทยอยกันไปเป็นกลุ่มเล็กๆก่อนเพื่อไม่ให้เป็นที่สงสัย เมื่อสาวกของท่านอพยพออกไปหมดแล้วท่านจึงอพยพตามไป

เมื่อไปถึงเมืองยัษริบ นบีมุฮัมมัดได้รับการต้อนรับด้วยความยินดีจากสาวกของท่านที่อพยพล่วงหน้าไปก่อนและจากชาวเมืองยัษริบ แต่ความยินดีของชาวเมืองไม่เป็นที่ยินดีด้วยสำหรับอับดุลลอฮฺ บินอุบัยย์ เพราะสำหรับเขาแล้วนบีมุฮัมมัดคือผู้ที่ทำให้เขาต้องสูญเสียโอกาสที่จะเป็นผู้นำ

เมื่อกระแสความนิยมในตัวของนบีมุฮัมมัดมาแรง อับดุลลอฮฺ บินอุบัยย์ จึงไม่สวนกระแสอย่างออกหน้าออกตา เขาเก็บความไม่พอใจไว้ภายใต้ใบหน้าที่ยิ้มแย้มยินดีและเข้ารับอิสลามกับนบีมุฮัมมัด

อย่างไรก็ตาม ไม่นานหลังจากนั้นธาตุแท้ของเขาก็ปรากฏออกมาเมื่อหัวหน้าชาวอาหรับมักก๊ะฮฺยกกองทัพประมาณ 3,000 คน มุ่งหน้ามายังยัษริบเพื่อทำสงครามล้างแค้นให้แก่ความพ่ายแพ้มุสลิมในสงครามก่อนหน้านี้

เมื่อรู้ข่าวความเคลื่อนไหวของข้าศึก นบีมุฮัมมัดได้เรียกหัวหน้าชาวเมืองยัษริบและคนหนุ่มประชุมหารือเรื่องการรับมือข้าศึก นบีมุฮัมมัดเห็นว่าควรตั้งรับข้าศึกในเมือง ซึ่งอับดุลลอฮฺ บินอุบัยย์ เห็นด้วย แต่คนหนุ่มส่วนใหญ่ต้องการออกไปตั้งรับข้าศึกนอกเมือง นบีมุฮัมมัดเคารพเสียงส่วนใหญ่จึงสั่งให้นักรบชาวยัษริบออกไปตั้งรับนอกเมือง ด้วยเหตุนี้อับดุลลอฮฺ บินอุบัยย์ จึงไม่พอใจท่าน แต่ก็ต้องทำตามเสียงส่วนใหญ่

ระหว่างนบีมุฮัมมัดนำทัพที่มีกำลังประมาณ 1,000 คนออกนอกเมือง อับดุลลอฮฺ บินอุบัยย์ ได้พาคนของเขาจำนวน 300 คนถอนตัวออกจากกองทัพ ผลของการรบครั้งนั้นมุสลิมได้รับความพ่ายแพ้ นบีมุฮัมมัดได้รับบาดเจ็บ อับดุลลอฮฺ บินอุบัยย์ ถูกบรรดาสาวกของท่านเรียกว่า “คนตลบตะแลง” และสาวกของนบีมุฮัมมัดคิดจะกำจัดเขา แต่นบีมุฮัมมัดได้สั่งห้ามและบอกว่าพระเจ้าจะจัดการเขาเอง

เมื่ออับดุลลอฮฺ บินอุบัยย์ ตาย ลูกชายของเขาซึ่งเป็นมุสลิมได้มาขอผ้าห่อศพจากนบีมุฮัมมัดและขอให้ท่านไปละหมาดขอพรให้ศพพ่อของเขา นบีมุฮัมมัดได้ให้เสื้อของท่านไปห่อศพของอับดุลลอฮฺ บินอุบัยย์ หลังจากนั้นเมื่อท่านจะลุกขึ้นเพื่อไปละหมาดขอพรให้ศพ สาวกคนหนึ่งของท่านได้ดึงเสื้อท่านไว้และถามว่า “ท่านจะไปละหมาดขอพรให้แก่ศพของเขาทั้งๆที่เขาเป็นคนตลบตะแลง?”

ในตอนนั้นเองพระเจ้าได้มีบัญชามายังนบีมุฮัมมัดว่า “เจ้า (มุฮัมมัด) จงอย่าละหมาดขอพรให้แก่คนใดในหมู่พวกเขา (คนตลบตะแลง) ที่เสียชีวิต และจงอย่ายืนที่หลุมฝังศพของเขา เพราะพวกเขาเป็นผู้ปฏิเสธอัลลอฮฺและนบีของพระองค์ และพวกเขาตายในขณะที่เป็นผู้ฝ่าฝืน” (กุรอาน 9:84)


You must be logged in to post a comment Login