วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

โรคเนื้องอกในมดลูก / โดย พญ. จิติมา ติยายน

On February 5, 2018

คอลัมน์ : โลกสุขภาพ

ผู้เขียน :  พญ. จิติมา ติยายน

โรคเนื้องอกในมดลูกเป็นโรคที่ไม่แสดงอาการชัดเจน เกิดขี้นโดยไม่รู้ตัว ส่วนใหญ่มาพบแพทย์ด้วยอาการปวดประจำเดือนหรือปวดท้องน้อยแบบเรื้อรัง แต่พอตรวจอย่างละเอียดส่วนใหญ่เป็นเนื้องอกในมดลูก พบมากในผู้หญิงวัยทำงานอายุ 30-40 ปี โดยมีปัจจัยเสี่ยงคือกรรมพันธุ์ และการรับประทานอาหาร ซึ่งอาหารจำพวกเนื้อหรือเนื้อแดงเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเนื้องอกในมดลูกได้สูงขึ้น

ความรุนแรงของอาการของโรคนั้นไม่ส่งผลถึงขั้นเสียชีวิต แต่จะมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจทำให้เกิดเลือดออกมากผิดปรกติตอนมีประจำเดือน หรือถ้ามีการกดเบียดของก้อนเนื้อก็จะทำให้เกิดอาการปวดท้อง อาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือรบกวนการทำงานได้

ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่ใส่ใจไปตรวจเพราะคิดว่าเป็นแค่การปวดประจำเดือนธรรมดา และถึงแม้ว่าโรคเนื้องอกในมดลูกไม่มีอันตรายถึงชีวิต แต่จากสถิติแล้วผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ 1,000 คน จะมีโอกาสเป็นมะเร็งได้ 1 คน ซึ่งมักพบในผู้หญิงอายุ 50-60 ปีขึ้นไป ดังนั้น สาวๆควรสังเกตอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง ควรตรวจสุขภาพและตรวจภายในอย่างสม่ำเสมอ เมื่อมีความผิดปรกติควรไปพบแพทย์ทันที

การรักษาโรคเนื้องอกในมดลูกจะรักษาตามอาการด้วยการให้ฮอร์โมน แต่ถ้ายังไม่ดีขึ้นก็จะทำการผ่าตัด ปัจจุบันโรงพยาบาลราชวิถีมีการพัฒนาเทคโนโลยีจากการผ่าตัดใหญ่ที่ต้องเปิดแผลหน้าท้อง ซึ่งต้องใช้เวลาพักฟื้นนาน 7-10 วัน มาเป็นการผ่าตัดส่องกล้องผ่านทางช่องคลอด แล้วเอาก้อนเนื้องอกหรือมดลูกออกทางช่องคลอด ใช้เวลาพักฟื้น 2-3 วันก็สามารถกลับไปทำงานได้แล้ว

ทั้งนี้ การดูแลสุขภาพตนเองให้ห่างไกลโรคเนื้องอกในมดลูกสามารถทำได้โดยสร้างภูมิคุ้มกันให้ดี เช่น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียด รับประทานอาหารที่มีประโยชน์จำพวกผัก ผลไม้ เนื้อปลาให้มากขึ้น และลดอาหารจำพวกเนื้อแดง ซึ่งมีสารเคมีที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคได้


You must be logged in to post a comment Login