วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2567

‘บาปที่ย้อนทิ่มแทงตัวเอง’ / สัมภาษณ์- เรืองไกร ลีกิจวัฒนะโดย ประชาธิปไตย เจริญสุข

On December 11, 2017

คอลัมน์ : ฟังจากปาก

สัมภาษณ์โดย  : ประชาธิปไตย เจริญสุข

เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ชี้บ้านเมืองขณะนี้ไม่ใช่เผด็จการรัฐสภา แต่เป็นรัฐสภาเผด็จการ แม้แต่พวกเดียวกันก็ไม่ฟังเสียงทักท้วง ยุทธศาสตร์ที่ทำเป็นบาปย้อนกลับมาทิ่มแทงตัวเอง บอกเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง แต่ปกปิดข้อมูลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดคือหนี้ของแบงก์ชาติที่เพิ่มขึ้น

++++++++++

การใช้ทหารควบคุมอย่างเข้มงวดทำให้ความไม่วุ่นวายดีขึ้น แต่เศรษฐกิจและประชาธิปไตยที่ผ่านมาแย่กว่าเดิม รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็รู้ ความสงบทำให้ประชาธิปไตยถอยหลัง แม้จะมีรัฐธรรมนูญแล้วก็ตาม แต่ คสช. คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) แม่น้ำ 4 สายคล้ายว่าไม่ยึดหลักกฎหมายเท่าที่ควร เช่นเคยกล่าวหานักการเมืองเป็นสภาผัวเมียหรือญาติพี่น้อง แต่ คสช. และพวกพ้องกลับทำอย่างที่กล่าวหานักการเมือง

ขณะที่ ครม. ก็ไม่ลงรอยการใช้คำสั่ง คสช. เพราะข้ามหัวรัฐมนตรีบางกระทรวงจนทำให้ต้องปรับ ครม. เขียนกฎหมายแล้วไม่ยึดหลักตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ไม่อยู่ในร่องในรอย เห็นได้ชัดจากกรณีองค์กรอิสระ บางองค์กรเซตซีโร่ บางองค์กรไม่เซตซีโร่ บางองค์กรเพิ่มอำนาจให้อีก ทั้งที่มันขัดรัฐธรรมนูญแต่ยังตะแบงใช้เสียงข้างมาก

ที่สำคัญเคยกล่าวหาฝ่ายเลือกตั้งว่าเป็นเผด็จการรัฐสภา แต่ขณะนี้ยิ่งกว่าเผด็จการรัฐสภา แม้แต่พวกเดียวกันก็ไม่ฟังเสียงทักท้วง ยุทธศาสตร์ที่ทำจึงเป็นบาปที่ย้อนกลับมาทิ่มแทงตัวเอง ถ้ารัฐบาลทหารสืบทอดอำนาจก็จะเป็นกับดักตัวเองและเป็นกับดักพรรคการเมืองที่อยากมีอำนาจด้วย วันนี้พรรคการเมืองหลายพรรค ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยหรือพรรคประชาธิปัตย์ก็อยากให้มีการเลือกตั้ง เพราะช่วงเวลา 3 ปีของ คสช. นักการเมืองไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ ผมพูดตรงๆว่านักการเมืองก็พยายามดิ้นรนให้มีความชัดเจนว่าจะเลือกตั้งเมื่อไร จะยืดเยื้อยังไงก็ต้องประกาศให้เรียบร้อย ไม่ควรเกินมิถุนายนหรือกรกฎาคม 2561 เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดเงื่อนเวลาไว้ มือกฎหมายของแม่น้ำทั้ง 4 สายรู้ดีว่าเวลาของตัวเองสั้นลงทุกวัน ถ้าไม่มีการเลือกตั้ง แม่น้ำ 4 สายก็จะเป็นแม่น้ำที่แห้ง โดยเฉพาะแม่น้ำสายใหญ่จะเหลือน้ำแค่ก้นบ่อ ซึ่งจะทำอะไรไม่ได้มากนัก

ผมเข้าใจเรื่องเวลา วันนี้เขาอยากอยู่ยาว ถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญปี 2560 รัฐบาล คสช. อาจจะยืดการเลือกตั้งไปปี 2562-2563 ก็ได้ แต่เมื่อมีรัฐธรรมนูญแล้วก็ไม่ควรเกินมิถุนายน 2561 เพราะมีข้อกฎหมายล็อกไว้ พล.อ.ประยุทธ์ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.) ก็รู้แล้ว แต่ไม่กล้าพูดออกมา ขณะที่หลายคนก็มองว่านักการเมืองจับมือต่อต้านนายกฯคนนอก อยากเลือกตั้งมากเกินไปนั้น ความจริงเป็นความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน เงินในกระเป๋าไม่มี ไม่ใช่เรื่องอยากเลือกตั้งแล้วจับมือกันเป็นรัฐบาล ซึ่งนักการเมืองก็ต้องระวังตัวด้วย ไม่ใช่ให้รัฐบาลทหารออกไปแล้วตัวเองเข้ามาสืบทอดอำนาจในรูปแบบประชาธิปไตยเท่านั้น อย่าเอาประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้งจนเบียดบังความเดือดร้อนของประชาชน

ประเทศไทยวันนี้

ผมยอมรับว่าเป็นห่วงฐานะของประเทศเหมือนกัน ผมติดตามรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติอย่างใกล้ชิด ซึ่งโดยหลักการจะเสนอรายงานภาวะเศรษฐกิจให้ ครม. ประมาณต้นเดือนตุลาคม แต่จนขณะนี้ก็ยังไม่เห็นเลย ที่น่าตกใจคือหนี้ของแบงก์ชาติจากวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2560 หนี้เพิ่มขึ้นเป็น 1.3 ล้านล้านบาท ตรงนี้นายสมคิด (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี) หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ติดตามดูหรือยังไงว่าหนี้ตัวนี้คืออะไร เป็นหนี้ที่มากกว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงรวมกับโครงการรับจำนำข้าวเสียอีก หนี้แบงก์ชาติที่เพิ่มขึ้นมากขนาดนี้มีปัญหาแน่ แบงก์ชาติกำลังทำอะไรอยู่ แบงก์ชาติมีความเป็นอิสระผมเห็นด้วย แต่การไม่เปิดเผยข้อมูลหนี้ก็ไม่ถูก คุณทำนโยบายการเงินอย่างไรก็แล้วแต่ แต่สิ่งที่คุณทำแล้วเกิดภาระอยู่ขณะนี้ รัฐบาลต้องเข้าไปกำกับดูแลหรือไม่ กระทรวงการคลังปล่อยไว้ทำไม หรือไม่ต้องการให้ประชาชนรู้

นักการเมืองไม่เห็นกันเลยหรือ มัวแต่ไปทะเลาะกับนายสมคิดเรื่องเศรษฐกิจอย่างนั้นอย่างนี้ เรื่องหนี้เป็นเรื่องวินัยการเงินการคลังใช่หรือไม่ ผมเคยท้วงว่ากฎหมายงบประมาณปี 2561 ไม่ได้ทำตามยุทธศาสตร์ชาติและวินัยการเงินการคลัง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก็เถียงว่าแล้วไม่ใช้งบประมาณลงทุนหรือ ผมไม่ได้บอกว่าไม่ให้ใช้ แต่บอกว่าคุณเขียนกติกามาอย่างนี้ ไม่ใช่ผมเขียนหรือรัฐบาลชุดก่อนเขียน ไม่ใช่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เขียน เป็นกติกาที่พวกคุณเขียนเอง

อย่างการปลดล็อกนักการเมือง เมื่อคุณประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้วก็ต้องทำตามรัฐธรรมนูญ นายวิษณุบอกว่าถ้าไม่มีงบประมาณลงทุนก็ไม่ต้องพัฒนาประเทศ ผมก็บอกว่าทำไมคุณไม่ออกกฎหมายให้เร็ว การใช้เงินงบประมาณในโครงการหลายโครงการไม่โปร่งใสหรือไม่ คุณใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วสามารถตรวจสอบได้หรือไม่ จับมือใครดมก็ลำบาก อย่างเงิน 30,000 กว่าล้านบาทในโครงการ 9101 มันละลายหายไปไหน ตรวจสอบได้หรือไม่ คุณอนุญาตให้จีนเข้ามาลงทุนโดยยกเว้นระเบียบจัดซื้อจัดจ้างของสำนักนายกรัฐมนตรีแล้วตรวจสอบได้มั้ย คุณทำตามวินัยการเงินการคลังหรือไม่ ตรงนี้นักเศรษฐศาสตร์เถียงกันไปเถียงกันมา สื่อก็เอาไปลงเป็นข่าว เพราะมันเป็นนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม ผมเห็นใจคนที่ทำงานมา 3 ปี บางเรื่องก็ทำสำเร็จ แต่อีกหลายเรื่องไม่สำเร็จ อย่างหลักนิติรัฐนิติธรรมก็พวกมากลากไป จะเอาอย่างนั้นอย่างนี้ จนมีปัญหามาตรฐานทางกฎหมาย

สิ่งที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดคือเรื่องหนี้ของแบงก์ชาติที่เพิ่มขึ้น คุณบอกว่าไม่รวมเป็นหนี้สาธารณะ คุณจะเขียนกฎอย่างนี้ แต่มันคืออะไร กระทรวงการคลังต้องรับภาระรับผิดชอบหนี้ที่เพิ่มขึ้น ประชาชนต้องแบกหนี้เหมือนกรณี ปรส. (องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน) หรือไม่ อย่าลืมว่าคดี ปรส. ทำให้ประเทศชาติเสียหายกว่า 600,000 ล้านบาท แต่นี่มันมากกว่า ปรส. แล้วนะ

การตรวจสอบคอร์รัปชันยุคนี้

การตรวจสอบแย่กว่าอดีตมาก การไม่เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และสมาชิกในสภา อันนี้แย่มาก เป็นการตรากฎหมายถอยหลังเข้าคลองเยอะมาก แล้วไปมอบอำนาจให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สรุปเป็นยอดรวม ผมเห็นตั้งแต่เป็นร่างเลย แต่หลายฝ่ายเพิ่งมาสะดุดกันตรงนี้ตอนที่เขียนกฎหมาย ป.ป.ช. เพราะฉะนั้นควรจะประท้วงตั้งแต่ร่างรัฐธรรมนูญ ร่างประชามติ บอกว่าเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง แต่กลับปกปิดข้อมูลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ผมในฐานะนักตรวจสอบ ผมรับไม่ได้ แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะมันออกมาแล้ว รัฐธรรมนูญปราบโกงแต่ปล่อยให้โกง ถ้าเราไม่เห็นบัญชีทรัพย์สินของนักการเมือง ไม่แสดงยอดรวม ไม่บอกชื่อบัญชี ไม่บอกทะเบียน ไม่บอกเลขที่บ้าน บัตรประชาชน อย่างนี้แล้วคุณจะไปว่าเขาซุกหุ้น ซุกทรัพย์สิน ซุกนั่นซุกนี่ คุณจะเขียนไปทำไม แล้ว ป.ป.ช. มีปัญญาตรวจสอบหมดหรือไม่ ทำไมคุณไม่ใช้ประชาชนเป็นตาวิเศษให้คุณล่ะ ประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกง เขาใช้ประชาชนคอยร้องต่อเจ้าหน้าที่รัฐ องค์กรอิสระ เขาจึงป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันได้

อย่างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) รุ่นใหม่ไม่รู้จะกล้าตรวจสอบทหารหรือไม่ แล้วยังให้ ป.ป.ช. ไม่เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของคนที่ยื่นอีก อันนี้แย่มากๆ เป็นกฎหมายที่ปิดหูปิดตาประชาชน สื่อหยิบประเด็นนี้มาพูดถึงอย่างต่อเนื่อง อย่างที่บอกผมมองมานานแล้ว แต่ดูว่าใครจะเห็นอย่างที่เราเข้าใจบ้าง การตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันในยุครัฐบาลทหารเห็นชัดว่าพยายามปกป้องนายทุนปัจจุบันแล้วไปไล่ล่าระบอบเดิม ระบอบทักษิณ เช่น ตรากฎหมายย้อนหลัง อัยการก็ไปรื้อคดีเก่าขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร นายกฯสมัคร สุนทรเวช นายกฯสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งต่างประเทศเขาก็มองออกว่าเป็นเรื่องทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องการปราบทุจริตคอร์รัปชัน สิ่งที่ควรจะทำในปัจจุบันกลับไม่ทำ ไปปกปิดซ่อนเร้น ออกกฎหมายให้คุณไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน หรือยื่นให้แต่ ป.ป.ช. องค์กรอิสระมันก็ไม่อิสระ แล้วประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร สังคมจะคาดหวังอะไรได้

บ้านเมืองในอนาคตจะเป็นอย่างไร

ผมว่าริบหรี่ กฎกติการัฐธรรมนูญ ไม่ว่า คสช. หรือรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ต่อ หรือจะเข้ามาใหม่ในฐานะพรรคการเมือง มันก็เดินยาก เพราะเขียนกฎเกณฑ์ที่กระดุกกระดิกไม่ได้ ตราบใดที่ยังมีอำนาจ คสช. อยู่ รัฐบาลยังไม่เปลี่ยน คุณก็จะถูไถไปได้ แต่สังคมเริ่มมองเห็นแล้วว่าชีวิตความเป็นอยู่เป็นอย่างไร ออกมาตรการช็อปช่วยชาติแล้วให้ไปหักภาษีมันกระตุ้นเศรษฐกิจได้หรือไม่ นักการเมืองจึงเอามากระแหนะกระแหน แต่ผมมองข้อเท็จจริง ต้องดูฐานะเงินคงคลังว่าโตขึ้นมั้ย โตจากการกู้หรือแบงก์ชาติมีหนี้เพิ่มขึ้นมา 1.3 ล้านล้านบาท มันคืออะไร 3 ปีที่ผ่านมาคุณต่อสู้กับค่าเงินเป็นอย่างไร ตะกร้าเงินเป็นอย่างไร ปฏิวัติเงินตราเป็นอย่างไร อันนี้คุณต้องตอบออกมาให้ชัดเจน ผมไม่เห็นนักเศรษฐศาสตร์พูดถึงเลยไม่เข้าใจ แต่ขอยืนยันว่าตัวเลขที่โชว์อยู่ทุกสัปดาห์ บางครั้งหนี้ก็ลดลง แต่ปัจจุบันหนี้เพิ่มขึ้น นักบัญชีวิเคราะห์ดูว่าทำไมหนี้เพิ่มขึ้นมาอีก

มองรัฐบาลใหม่ในอนาคตอย่างไร

ผมคิดว่าคงมีนักการเมืองส่วนหนึ่งคิดเอาคืนรัฐบาลเผด็จการว่าทำอะไรไว้บ้าง อีกส่วนหนึ่งก็อยากได้อำนาจต่อจากทหาร จึงมีข่าวว่าบางคนหารือกับทหาร พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยจึงต้องจับมือกัน คือคิดแบบภาษานักการเมือง สิ่งที่พูดออกมาคุณคำนึงถึงความรู้สึกของประชาชนหรือไม่ ประชาชนบางคนก็บอกว่ายังไม่ทันไรมันก็เอาอีกแล้ว ต้องอาศัยอำนาจประชาชนเป็นฐานเพื่อเข้าสู่อำนาจเท่านั้น ต้องมีความจริงใจที่จะทำเพื่อประชาชน ซึ่งประชาชนสัมผัสได้ไม่ว่ายุคไหนสมัยไหน มันจับต้องได้ เช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค โครงการโอท็อป โครงการอื่นๆ เช่น โครงการไทยเข้มแข็ง โครงการประชารัฐ มันจะหายไป คือผลตอบแทนที่หมุนกลับมาไม่รู้ไปอยู่ไหน

ประเทศไม่ใช่ของผมคนเดียว ผมก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ได้แต่อธิบายให้ฟังว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯคนนอกอีกบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร ผมคิดว่าบ้านเมืองบอบช้ำแน่ ผมเคยเห็น พล.อ.สนธิ (พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) นั่งอยู่ตอนเสนอกฎหมายปรองดองอะไรสักอย่าง โดนกลุ่ม 40 ส.ว. รุมล้อมคล้ายว่าไม่ได้ให้เกียรติอะไรเลย เราก็สะท้อนใจ นี่หัวหน้าคณะรัฐประหาร พอมาเล่นการเมืองก็จะเป็นอีกภาพ พล.อ.ประยุทธ์ก็เหมือนกัน

ถ้า พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯคนนอกก็ต้องมีเสียง ส.ว. 250 คน กับเสียง ส.ส. อีก 125 คนมาโหวตให้ พรรคชาติไทยพัฒนาอาจแต่งตัวรอ ไม่งั้นนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ คงไม่ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หากพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน แค่ ส.ส. 4-5 คนฝีปากกล้าๆอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ก็เหนื่อยแล้ว นี่คือภาพในอนาคต จะไม่เหมือนวันนี้ที่ สนช. ไม่มีการตั้งกระทู้ถาม พล.อ.ประยุทธ์เลย คุณอยากทำอะไรก็ทำได้ สนช. มีหน้าที่โหวตให้อย่างเดียว ผมถึงบอกว่ามันไม่ใช่เผด็จการรัฐสภา แต่เป็นรัฐสภาเผด็จการ

พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯคนนอกแล้วรัฐบาลจะเป็นรัฐบาลเป็ดง่อยหรือเปล่า อันนี้ยังไม่รู้ แต่นี่คือปัญหาที่จะตามมา ถ้าเกิดความขัดแย้งคนที่รับเคราะห์มากที่สุดและไม่มีสิทธิมีเสียงเลยคือประชาชน ภาคประชาชนจะออกมาเคลื่อนไหวอะไรก็ยาก เพราะเป็นม็อบจัดตั้ง มันมีทฤษฎีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนโดยรัฐบาล ฝ่ายค้าน หรือให้ทหารเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ปล่อยเกียร์ว่าง ต่อไปปัญหาคือต่างคนต่างทำอะไรไม่ได้ มันจะอยู่ในภาวะพะอืดพะอมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


You must be logged in to post a comment Login