วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

‘จะก้าวข้ามวิกฤตการเมืองอย่างไร?’ สัมภาษณ์- นิธิ เอียวศรีวงศ์โดย ประชาธิปไตย เจริญสุข

On November 27, 2017

นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ชี้ขณะนี้กลุ่มทุนและกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาล คสช. ลดลง คนชั้นกลางในเมืองก็ลดลง ทำให้ความมั่นคงของรัฐบาลน้อยลง โอกาสที่รัฐบาลจะกลับมาเข้มแข็งอีกยากมาก การตั้งคำถาม 6 ข้อต้องการสืบทอดอำนาจชัดเจน แต่มีมารยาททางการเมืองบางอย่างที่เขาไม่ทำ

++++++++

หากมองภาพรวมๆ สถานการณ์ประเทศไทยวันนี้แย่ลงไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจหรือการเมือง แม้แต่ความมั่นคงของรัฐบาล คสช. ภายใต้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็อ่อนลงอย่างชัดเจน พูดง่ายๆว่ารัฐบาลนี้นอกจากมีกำลังทหารในมือเพื่อป้องปรามฝ่ายที่คิดจะต่อต้านรัฐบาลด้วยอาวุธหรือจะใช้มวลชนจำนวนมากๆก็ไม่สามารถทำได้ รัฐบาล คสช. จะอยู่ได้ มีกำลังทหารอย่างเดียวไม่พอ คุณต้องมีการสนับสนุนจากประชาชนด้วย โดยเฉพาะชนชั้นกลางในเมืองกับกลุ่มทุนใหญ่ๆ 2-3 กลุ่ม ตรงนี้เป็นหัวใจสำคัญ

ผมคิดว่าสถานการณ์ขณะนี้กลุ่มทุนและกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาล คสช. หดตัวลง คนชั้นกลางในเมืองก็ลดลง ทำให้ความมั่นคงของรัฐบาล คสช. น้อยลง แต่ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล คสช. อยู่นานหรือไม่ยอมคลายอำนาจให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว

ผมยกตัวอย่างรัฐบาลคุณทักษิณ ชินวัตร เคยอยู่ตั้ง 4 ปี ประชาชนก็ยังชอบ ประชาชนเลือกให้คุณยิ่งลักษณ์ได้เป็นนายกฯไม่ใช่เพราะอยู่นาน แต่รัฐบาล คสช. ที่อยู่นานต้องถามว่าคุณทำตามความคาดหวังของผู้ที่สนับสนุนคุณหรือไม่ จริงๆแล้วไม่ว่ารัฐบาลไหน คนส่วนใหญ่จะเป็นกลาง ไม่สนับสนุนหรือไม่คัดค้านอย่างหน้ามืดตามัว ถ้ารัฐบาล คสช. สามารถทำให้คนที่สนับสนุนคุณยังสนับสนุนคุณต่อ และทำให้คนที่อยู่กลางๆพร้อมจะด่าจะชมมองว่ารัฐบาล คสช. ก็ดีเหมือนกัน เพราะชั่วน้อยกว่าหรือยังทำอะไรที่มีประโยชน์ คุณก็จะอยู่ได้สบายๆ แต่ถ้าคุณคิดว่าคุณมาจากการรัฐประหาร ไม่จำเป็นต้องมีเสียงสนับสนุนจากประชาชน ก็แสดงว่าคุณโง่แล้ว เพราะไม่มีรัฐบาลไหนในโลกนี้ที่ไม่ต้องการเสียงสนับสนุนจากประชาชน

ขณะนี้ปัจจัยที่สนับสนุนรัฐบาล คสช. หลายๆส่วนหดตัวลงไป ไม่พูดถึงพวกผู้ดีเก่าที่เคยสนับสนุน เช่นอดีตนายกรัฐมนตรีบางท่านที่สนับสนุนอย่างเปิดเผย ตอนหลังก็เงียบไปแล้ว หรืออย่างกรณีคุณสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ผมได้ฟังที่พูดในรายการวิทยุ ก็แปลกใจว่าทำไมคุณสนธิญาณไม่อยู่ฝ่ายเดียวกับคณะรัฐประหาร ไม่เฉพาะเรื่องที่พูดอะไรหมิ่นเหม่มาตรา 112 ผมฟังคุณสนธิญาณพูดก็ดูจะไม่เป็นมิตรกับรัฐบาล คสช. เท่าไร ท่าทีคุณสนธิญาณที่เปลี่ยนไปสะท้อนว่ามีอะไรอยู่เบื้องหลังหรือไม่ หลายฝ่ายที่เคยสนับสนุนการรัฐประหารขณะนี้ไม่สนับสนุนใช่หรือไม่ ผมคิดว่าความมั่นคงหรือเสถียรภาพของรัฐบาล คสช. ลดลง รัฐบาล คสช. เองรู้ดีกว่าเราด้วยซ้ำ

แนวโน้มสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น

ในระยะสั้นผมยังมองอะไรไม่ชัดนัก แต่มีข้อคิดบางอย่างว่า ก่อนที่รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร จะถูกประชาชนลุกฮือมากดดันให้ออกไป แรงสนับสนุนรัฐบาลก็หดลงหลังจากทำรัฐประหารตัวเอง โดยปี 2514-2516 เป็นเวลา 2 ปีก่อนรัฐบาลจะล้มลง ไม่ใช่แค่คนไม่สนับสนุน แล้วยังล้มทับด้วย ดังนั้น รัฐบาลที่กองทัพสนับสนุนไม่ใช่ล้มไม่ได้ ความแตกร้าวในกองทัพที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหารปี 2514 ไม่ใช่เกิดทันที แต่มันค่อยๆเกิด

สมมุติทหารจำนวนหนึ่งไม่พอใจจอมพลถนอม จอมพลประภาส ก็ต้องรอจนกว่าจะมีผู้นำ มีการจัดกำลังภายในของตัวเองให้เพียงพอที่จะกล้าแข็งข้อกับรัฐบาล เมื่อ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการทหารบก จึงนำมาสู่การจัดองค์กรใหม่ในกองทัพ  ทำให้กองทัพส่วนใหญ่ไม่ขยับในวันที่ 14 ตุลาคม 2516

เมื่อแรงสนับสนุนหลักลดลงก็แปลว่าโอกาสที่รัฐบาล คสช. จะกลับมาเข้มแข็งอีกยากมาก ยกเว้นเกิดสงคราม เช่นเวียดนามบุกไทย คือสงครามทำให้คนมองข้ามความอ่อนแอความบกพร่องของรัฐบาลแล้วหันมาร่วมมือกันเพื่อจะป้องกันตัวเอง อันนี้เป็นเรื่องปรกติ แต่ก็ไม่ใช่จะเกิดขึ้นง่ายๆ ผมจึงเชื่อว่ารัฐบาล คสช. พังแน่ เพราะไม่มีอะไรที่มั่นคงตลอดชั่วกัลปาวสาน ทุกอย่างในโลกล้วนไม่มีอะไรแน่นอน

ท่าที พล.อ.ประยุทธ์สะท้อนอะไรบ้าง

ทุกคนก็รู้ว่าไม่ใช่เรื่องประหลาดใจอะไร คือคณะรัฐประหารชุดนี้อยากจะอยู่ในอำนาจต่อไปภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ตัวเองร่างขึ้นเอง โดยไม่ต้องอาศัยพรรคการเมืองหนุนหลังสักเท่าไร อยากอยู่ในอำนาจต่อไปโดยการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาสนับสนุนตัวเอง สมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามก็ตั้งพรรคมนังคศิลา รสช. ตั้งพรรคสามัคคีธรรม ที่เปลี่ยนแปลงบ้างคือสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ปี 2521-2522 พล.อ.เปรมไม่ได้ตั้งพรรคการเมืองใดๆทั้งสิ้น แต่มีการสร้างเงื่อนไขให้พรรคการเมืองจำเป็นต้องสนับสนุน ทำให้ พล.อ.เปรมเป็นนายกฯต่อเนื่องถึง 8 ปี แต่เมื่อการสร้างเงื่อนไขนั้นหมดไป พรรคการเมืองไม่เอาด้วยก็ไม่สนับสนุน พล.อ.เปรม พล.อ.เปรมอยากจะเป็นนายกฯอีกก็ทำไม่ได้เพราะไม่มีเงื่อนไขแล้ว รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้สร้างเงื่อนไขบังคับอย่างรัฐธรรมนูญที่รัฐบาล คสช. สร้างขึ้นมาเพื่อจะได้กลับมามีอำนาจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้พรรคการเมืองจะไม่สนับสนุนก็ไม่เป็นไร เพราะตัวเองมีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่แต่งตั้งเอง 250 เสียง มีพรรคการเมืองเล็กๆเป็นฐานเสียง ซึ่งไม่จำเป็นต้องถึง 1 ใน 4 ด้วยซ้ำไป พล.อ.ประยุทธ์ก็สามารถขึ้นเป็นนายกฯคนนอก หรือมีอำนาจในฝ่ายบริหารได้

อย่าลืมว่ายังมีองค์กรที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญหลายองค์กร ไม่ว่าจะเป็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและองค์กรอิสระอื่นๆ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญที่จะคอยกำกับควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจนกระทั่งไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลหรือบริหารอะไรได้มากนัก เพราะจะถูกตีความว่าทำตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีหรือไม่ นี่คือเงื่อนไขที่ คสช. วางไว้เพื่อสืบทอดอำนาจต่อได้

ที่ พล.อ.ประยุทธ์ตั้งคำถาม 6 ข้อกับประชาชน หลังจากเคยตั้งคำถามไปแล้ว 4 ข้อ แสดงให้เห็นว่าเงื่อนไขที่คุณวางไว้ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คุณคิด แม้คุณมีอำนาจที่จะควบคุมอะไรต่างๆร้อยแปด แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีความมั่นคงอย่างที่คุณคิดอย่างที่ผ่านมา เมื่อเป็นเช่นนี้คุณคิดจะสืบทอดอำนาจอย่างไรก็หลีกหนีอำนาจที่ต้องมาจากการเลือกตั้งไม่ได้ การตั้งคำถามต้องการจะสืบทอดอำนาจชัดเจน ไม่รู้จะพูดกันไปทำไม อย่างที่คุณไพบูลย์ นิติตะวัน ประกาศว่าจะตั้งพรรคเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ตอนนั้นอาจพูดเร็วไปจึงทำให้ถูกมองว่าเชย เพราะยังไม่ถึงเวลา ยังไม่จำเป็น แต่ขณะนี้ไม่ใช่แล้ว การตั้งพรรคการเมืองกลายเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อใช้ต่อรองพรรคการเมืองที่มีอยู่ เช่น ถามว่า คสช. จะสนับสนุนพรรคการเมืองบางพรรคได้หรือไม่ คือการที่ฝ่ายบริหารประกาศสนับสนุนพรรคใดพรรคหนึ่งจะทำให้พรรคนั้นได้เปรียบแน่นอน เพราะฉะนั้นพรรคประชาธิปัตย์ที่ใครๆก็มองว่าหากมีการเลือกตั้งต้องแพ้พรรคเพื่อไทย ถ้าคุณเชื่ออย่างนั้นคุณก็ไปอยู่ฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์เลยก็แล้วกัน อย่างน้อยพรรคประชาธิปัตย์อาจได้คะแนนเสียงมากขึ้น แม้จะไม่ชนะพรรคเพื่อไทยก็ตาม แต่ก็จะไม่แพ้หลุดลุ่ยเกินไป

คือ คสช. ไม่จำเป็นต้องตั้งพรรคการเมือง หรือจะตั้งก็ไม่รู้ แต่คำถามขณะนี้คือ ถ้าเขาจะทำตามที่ประกาศ เขาก็จะมีอำนาจต่อรองกับพรรคการเมืองก่อนจะประกาศปลดล็อกพรรคการเมือง การตั้งคำถามของ พล.อ.ประยุทธ์จึงเกิดคำถามที่สนใจว่า คุณจะตั้งพรรคการเมืองเพื่อสนับสนุนตัวเองก็ไม่เห็นประหลาดอะไรเลย ที่อื่นๆเขาก็ตั้งก่อนพวกคุณเกิดด้วยซ้ำไป แต่ที่น่าสนใจคือที่ถามว่าจะสนับสนุนพรรคการเมืองได้หรือไม่ คือสนับสนุนรัฐบาลที่จะมาจากการเลือกตั้งหรือนายกรัฐมนตรี คำตอบคือต้องได้สิ ถ้าไม่ได้ก็ยุ่งตาย เช่นคุณทักษิณแกหมดวาระใช่มั้ย แกบอกว่าเลือกตั้งครั้งใหม่จะยังเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ ถ้าคุณทักษิณเลิกสนับสนุนพรรคไทยรักไทยแล้วหันไปสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์แทนก็บ้าสิ เพราะคุณทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักไทย เมื่อมีการเลือกตั้งก็ต้องสนับสนุนพรรคไทยรักไทย

ใครๆก็รู้ แต่มันมีมารยาททางการเมืองที่ทำให้คุณทำอะไรบางอย่างไม่ได้ ถ้าคุณทำก็ยิ่งแพ้ สมมุติว่าถนนอะไรก็แล้วแต่ที่ทำโดยรัฐบาลเสร็จพอดี แล้วอยู่ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง นายกรัฐมนตรีไปเปิดถนนตรงนั้นแล้วบอกว่านี่เป็นฝีมือพรรคไทยรักไทย อย่างนี้เขาไม่ทำกัน แต่จะให้ประชาชนเกิดความสำนึกเองว่าพรรคไทยรักไทยทำนะ แต่ตอนเปิดต้องไม่พูดว่าพรรคไทยรักไทยทำ เป็นต้น

มันมีมารยาททางการเมืองบางอย่างที่เขาไม่ทำ คำถามคือมารยาทเหล่านี้มาจากไหน มาจากกฎหมายหรือ ไม่ใช่ หากโลกเราต้องอาศัยกฎหมายหมดทุกอย่างมันอยู่ไม่ได้ ถ้าพูดแบบโบราณมันอยู่ได้เพราะไม่ตั้งใจจะไปละเมิดบุพการีของใคร เพราะพ่อแม่สั่งสอน ถ้าคุณถืออำนาจอยู่ ถึงแม้คุณจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งเอง แต่สนับสนุนนาย ก. นาย ข. ก็ต้องให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม เท่าเทียมกัน เมื่อไรที่ลงสนามแข่งขันต้องไม่สร้างความได้เปรียบอีกฝ่ายหนึ่งจนไม่สามารถแข่งขันได้ คุณเขียนกฎหมายให้ตายก็ไม่มีทางที่จะห้ามได้ถ้าคุณไม่มีสำนึกอันนี้

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ไม่สอน อย่างคุณมีชัย ฤชุพันธุ์ เองบอกว่าทำได้ เพราะไม่ได้ลงสมัครแข่งขัน หรือประธานาธิบดีสหรัฐที่ลงแข่งขัน ก็ต้องไปดูรายละเอียดว่าประธานาธิบดีสหรัฐที่สนับสนุนพรรคการเมืองที่ตัวเองสังกัดอยู่นั้นเขาทำอะไรได้และทำอะไรไม่ได้ ไม่ใช่ว่าพอไม่มีกฎหมายปรากฏแล้วทำทุกอย่างได้หมด โลกมันอยู่ได้ด้วยเหตุผลที่พ่อแม่สั่งสอน ถ้าพ่อแม่ไม่ได้สั่งสอนไว้ แล้วต้องมองหาแต่กฎหมายอย่างเดียว อย่างนี้บ้านเมืองอยู่ไม่ได้หรอก

ถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ตั้งคำถามขึ้นมาเพื่อให้ตัวเองได้เปรียบทางการเมืองใช่หรือไม่ คำตอบคือใช่ จะตั้งพรรคการเมืองเพื่อมาสนับสนุนตัวเองหรือกรุยทางเพื่อนำไปต่อรองกับพรรคการเมืองก็ตาม ผมคิดว่าจนถึงนาทีนี้คำตอบคือทุกอย่างยังเหมือนเดิม ฝ่ายที่สนับสนุนก็สนับสนุน ฝ่ายที่ไม่สนับสนุนก็ไม่สนับสนุน คำถามพวกนี้จะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อคนที่ คสช. คาดไม่ถึงออกมาตอบต่างหาก ถ้าตอบโต้กันไปมาเวลานี้ผมคิดว่ามันไม่มีอะไร เขาจะคิดหรือว่าคนอย่างคุณใบตองแห้งจะบอกว่าทำได้ๆ เขาก็รู้อยู่ว่าคุณใบตองแห้งจะพูดยังไง หรือรู้ว่าคนอย่างคุณวัลลภ ตังคณานุรักษ์ จะพูดยังไง คำถาม ณ เวลานี้จึงเท่ากับศูนย์ คือไม่ได้ไม่เสียว่างั้นเถอะ

พฤศจิกายน 2561 จะมีเลือกตั้งหรือไม่

ผมประเมินไม่ถูก บอกได้แต่เพียงว่ารัฐบาลรัฐประหารชุดนี้มาถึงนาทีนี้ไม่มีความแน่ใจตัวเองว่าจะสามารถอยู่ในอำนาจต่อไปได้ ขนาดร่างรัฐธรรมนูญที่อัปลักษณ์ขนาดนี้ยังไม่แน่ใจ แสดงว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงข้างในที่เรามองไม่เห็นแยะมาก อาจมากจนกระทั่งเขาเองก็ไม่แน่ใจว่าจะสามารถสืบทอดอำนาจต่อไปได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นการเลือกตั้งจะมีหรือไม่ เขาต้องคาดเดาได้ว่าเลือกตั้งแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าคุณทำรัฐประหาร ลองคิดดูว่าคุณจะคืนอำนาจให้ประชาชน คุณจะคืนแบบสุ่มสี่สุ่มห้าหรือไม่ คุณต้องคิดให้ดีๆ ต้องวางแผนดีๆว่าคืนแล้วคุณกลับไปเลี้ยงลูกเลี้ยงหลานอยู่ที่บ้านได้ ไม่ใช่คืนอำนาจแล้วคุณฉิบหายเลย เป็นไปไม่ได้หรอก ด้วยเหตุนี้ทำให้ผมรู้สึกว่าไม่มีตรรกะอะไรที่จะไปคาดการณ์ล่วงหน้าได้ ขนาดผู้ถืออำนาจเองก็ไม่มีความมั่นใจขนาดนี้

พล.อ.ประยุทธ์จะกลับมาเป็นนายกฯ

แกเป็นที่ต้อนรับของประชาชนอยู่แล้ว ตั้งแต่เดือนแรกที่ พล.อ.ประยุทธ์ทำรัฐประหารยึดอำนาจ ถามว่าใครคาดเดาไม่ถูก ไม่ใช่อย่าง พล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่ไปรับปากว่าจะไม่เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อเป็นก็ทำให้ประชาชนรับไม่ได้ คล้ายๆโดนหลอก แต่กรณี พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้หลอก เพราะใครๆก็รู้ว่ามีการเตรียมการเอาไว้ อยากจะอยู่ยาวๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ผมคิดว่าจะไม่เกิดซ้ำรอยเหมือน พล.อ.สุจินดา แต่ในระยะยาวเรื่องของอำนาจไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน ผมไม่รู้ว่าเราจะก้าวข้ามให้พ้นวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้นในอนาคตไปได้อย่างไร ตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องจับตามอง


You must be logged in to post a comment Login