วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

แดนกะลา?

On November 14, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

การถกเถียงตอบโต้กันด้วยถ้อยคำรุนแรงแบบเอาเป็นเอาตายหลังเห็นป้าย “ไทยแลนด์แดนกะลา” ที่ในขบวนพาเหรดพิธีเปิดการแข่งขันฟุตบอลประเพณี จตุรมิตรสามัคคี ของนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เป็นกระจกสะท้อนชัดว่าความขัดแย้งยังแผ่ซ่านไปทุกอณูของสังคมไทย สะท้อนความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของการสร้างความปรองดองในแบบอุดมคติที่ต้องการให้คนไทยรักกันโดยไม่มีความแตกแยกทางความคิด แต่นี่ไม่ใช่เหตุผลข้ออ้างที่จะไม่ปลดล็อกทางการเมือง เพราะหากใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้าง ยิ่งสะท้อนให้เห็นความหมายของประโยคที่ว่า “ไทยแลนด์แดนกะลา” ที่ไม่อยู่กับความเป็นจริงชัดเจนยิ่งขึ้น

ปรากฏการณ์หัวร้อนของใครหลายคนที่ไม่พอใจป้ายข้อความ “ไทยแลนด์แดนกะลา” ที่น้องๆนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยถือในขบวนพาเหรดพิธีเปิดการแข่งขันฟุตบอลประเพณี จตุรมิตรสามัคคี ครั้งที่ 28 ระหว่างวันที่ 11-18 พ.ย. 2560 ที่สนามศุภชลาศัย ช่วยตอกย้ำอีกครั้งว่าสังคมไทยเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ไม่พร้อมรับฟังความเห็นคนอื่นที่เห็นต่างจากตัวเอง และยังพร้อมห่ำหั่นด้วยคำพูดตอบโต้ที่หยาบคาย ตลอดจนพร้อมใช้ความรุนแรงหากมีโอกาส

ถ้าเข้าไปดูการตอบโต้กันของคนสองกลุ่มที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันในเพจ “นักเกรียน สวนกุหลาบ” (https://www.facebook.com/GreanSUAN/posts/193610261309736) จะเห็นว่าในความหลากหลายทางความเห็นเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าเหตุผล

ปรากฏการณ์หัวร้อนครั้งนี้ จึงเป็นบทพิสูจน์ชัดอีกครั้งว่าการเข้ามาคืนความสุขให้คนในชาติของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่กินเวลามากกว่า 3 ปีนั้น “ล้มเหลว” เพราะการสร้างความสามัคคีปรองดองซึ่งเป็นหัวข้อหนึ่งที่สำคัญของการคืนความสุขนั้นยังห่างไกลจากความเป็นจริงอยู่มาก

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้ คสช.ไม่กล้าปลดล็อคให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมเคลื่อนไหวเพื่อเตรียมการเลือกตั้ง ทั้งที่เงื่อนเวลาตามกฎหมายพรรคการเมืองฉบับใหม่ที่บังคับให้พรรคการเมืองต้องดำเนินการอะไรหลายอย่างหดสั้นลงทุกวัน

อย่างไรก็ตาม แม้ความขัดแย้งทางความคิดยังแผ่กระจายอยู่ทั่วทุกอณูของสังคมไทย แต่ย่อมไม่ใช่ข้ออ้างที่คสช.จะไม่ปลดล็อคการเมือง

ทั้งนี้ เพราะในสังคมทุกแห่งที่มีคนตั้งแต่สองคนขึ้นไป การมีความเห็นที่แตกต่างกันนั้นถือเป็นเรื่องปรกติธรรมดา ในบางครั้งแม้แต่ตัวเราเพียงคนเดียวก็ยังมีความขัดแย้งทางความคิดกับสิ่งที่เกิดขึ้น

การสร้างความสามัคคีปรองดองจึงไม่ใช่การทำหรือบังคับให้ใครจับมือ กอดคอ หรือจูบปากเพื่อแสดงความรักที่มีต่อกัน เหมือนครูฝ่ายปกครองให้นักเรียนจับมือและสัญญาว่าจะไม่ทะเลาะกันอีก หลังการฟาดปากกันที่หลังโรงเรียน

ความรักบังคับกันไม่ได้ฉันใด ความสามัคคีปรองดองก็บังคับให้เกิดขึ้นไม่ได้ฉันนั้น

ไม่อย่างนั้นเรื่องการสร้างความปรองดองโดยการจับพรรคการเมือง กลุ่มการเมืองร่วมลงสัตยาบันที่ คสช.ตั้งใจทำให้เกิดขึ้นเป็นผลงานชิ้นโบแดงก่อนลงจากอำนาจคงไม่เงียบหายไปแบบไร้ร่องรอย หลังจากที่เปิดตัวกันเอิกเกริกใหญ่โต

หลักใหญ่ใจความของความสามัคคีปรองดองคือทำอย่างไรให้คนอยู่ร่วมกันได้ในสังคมที่มีความคิดเห็นหลากหลายแตกต่าง ทำอย่างไรให้คนคิดด้วยเหตุผลมากกว่าใช้อารมณ์ความรู้สึกหรือความเป็นพวกพ้องในการตัดสินคนอื่น

สำคัญที่สุดเลยคนที่ทำหน้าที่คุมกติกาต้องมีความเป็นกลาง เป็นธรรม ตรงไปตรงมา ไม่เลือกปฏิบัติ

ถ้าทำได้รัฐบาลทหารคสช. คงไม่ต้องตั้งคำถาม 4+6 รวมเป็น 10 ข้อให้ประชาชนร่วมกันตอบ เพราะทุกคำถามแสดงความกังวลใจชัดเจนว่ากลัวเกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย หากให้ฝ่ายการเมืองกลับมาทำกิจกรรมได้ตามปรกติ กลัวจนรู้สึกว่ามีความจำเป็นต้อง “อยู่ต่อ” เพื่อใช้อำนาจกดให้ทุกอย่างนิ่งอย่างที่นิ่งมาตลอดในช่วงที่ผ่านมา ทั้งที่รู้ว่าเป็นความ “นิ่งสงบ” อย่างไม่เป็นธรรมชาติ

ถ้าเป็นแบบนี้จริงก็จะถือเป็นอีกหนึ่งความพยายามที่สะท้อนให้เห็นความหมายของประโยคที่ว่า “ไทยแลนด์แดนกะลา” เพราะเป็นการยึดอัตตา คิดแต่ว่ามีเพียงตัวกูพวกกูเท่านั้นที่ทำได้และดีที่สุดโดยไม่มองโลกของแห่งความเป็นจริง


You must be logged in to post a comment Login