วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2567

สงครามหมู / โดย ศิลป์ อิศเรศ

On September 25, 2017

คอลัมน์ : ร้ายสาระ

ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ

อังกฤษและอเมริกาเกือบจะทำสงครามกันจากสาเหตุที่หมูของเกษตรกรตัวหนึ่งถูกยิงตาย รัฐบาลทั้งสองฝ่ายต่างส่งกำลังทหารหลายพันนายมาประจันหน้าตรึงกำลังในที่เกิดเหตุนาน 12 ปี

ปัจจุบันอังกฤษและอเมริกามีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้นชนิดที่เรียกว่าประเทศมหามิตรของกันและกัน แต่หากย้อนไปเมื่อกว่า 200 ปีก่อน ทั้ง 2 ประเทศเป็นไม้เบื่อไม้เมากันนับตั้งแต่สมัยสงครามปฎิวัติอเมริกาเมื่อปี 1765 จนมาถึงสงครามปี 1812 ที่อังกฤษยกกองทัพมาเผากรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และเกือบจะเกิดสงครามอีกครั้งในปี 1859 เมื่อคนอเมริกันไปยิงหมูของคนอังกฤษตาย 1 ตัว

หลังจากอเมริกาแยกตัวเป็นอิสระก็ได้มีการกำหนดเขตแดน ทางตอนเหนือสุดแบ่งแยกกับเขตบริติชโคลัมเบีย ซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษที่เส้นขนานที่ 49 ไปสิ้นสุดที่กึ่งกลางทะเลระหว่างเกาะแวนคูเวอร์ของบริติชโคลัมเบียกับแผ่นดินใหญ่ของอเมริกา แต่ทะเลช่วงนี้ไม่ใช่พื้นน้ำว่างเปล่า เพราะมีหมู่เกาะกลางทะเลเกิดเป็นช่องแคบ 2 ช่องคือ ช่องแคบฮาโร ซึ่งอยู่ใกล้กับเกาะแวนคูเวอร์ และช่องแคบโรซาริโอ ซึ่งอยู่ใกล้กับแผ่นดินอเมริกา ทำให้ด้านหนึ่งของหมู่เกาะอยู่ใกล้กับบริติชโคลัมเบีย ขณะที่อีกด้านหนึ่งอยู่ใกล้อเมริกา ดังนั้น ต่างฝ่ายต่างก็อ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะกลางทะเล

ชาติมหาอำนาจในสมัยนั้น เช่น สเปนและรัสเซีย ออกความเห็นให้อังกฤษและอเมริกาใช้ประโยชน์พื้นที่หมู่เกาะที่มีปัญหาร่วมกันไปพลางๆก่อนจนกว่าจะหาข้อยุติได้ว่าหมู่เกาะดังกล่าวเป็นของชาติใด

ศึกชิงกรรมสิทธิ์

ผู้ว่าการบริติชโคลัมเบียพยายามโน้มน้าวให้คนอังกฤษไปตั้งรกรากบนเกาะซานฮวนเพื่อใช้เป็นข้ออ้างกรรมสิทธิ์ครอบครอง แต่ไม่มีใครยอมไปอยู่บนเกาะร้างว่างเปล่าผู้คน แม้ว่าจะอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติมากมาย

นอกจากจะมีทรัพยากรธรรมชาติมากมายแล้ว มันยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ การครอบครองหมู่เกาะเท่ากับสามารถควบคุมการเดินเรือผ่านช่องแคบได้ แต่เมื่อไม่มีคนอังกฤษยอมไปอาศัยอยู่บนเกาะซานฮวน เจมส์ ดักลาส ผู้ว่าการบริติชโคลัมเบียจึงติดต่อกับบริษัทค้าผ้าขนสัตว์ฮัดสันเบย์ให้มาทำฟาร์มบนเกาะซานฮวน

ฮัดสันเบย์ส่งชาร์ล กริฟฟิน พร้อมกับแกะ 1,300 ตัว ไปสร้างฟาร์มแกะบนเกาะซานฮวน โดยมีคนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่บนเกาะเป็นคนงาน แต่การกระทำนี้ไม่เล็ดลอดสายตารัฐบาลอเมริกัน ไอแซค อีเบย์ เจ้าหน้าที่ศุลกากร ล่องเรือมายังเกาะซานฮวนพร้อมกับเจ้าหน้าที่เก็บภาษี เฮนรี่ เว็บเบอร์ และใบแจ้งค้างชำระภาษี เมื่อมาถึงเฮนรี่ตั้งแคมป์พักแรมหลังบ้านชาร์ล พร้อมกับชักธงชาติอเมริกาแสดงกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่บนเกาะซานฮวน

ชาร์ลตอบโต้โดยให้คนงานคนหนึ่งไปลากตัวเฮนรี่มาสั่งสอน แต่เขากลับโดนเฮนรี่ชักปืนจ่อที่หน้าอกจนต้องวิ่งหนีเตลิดกลับแทบไม่ทัน เคราะห์ดีที่เหตุการณ์จบลงเพียงแค่นั้น ไอแซคสั่งให้เฮนรี่อยู่บนเกาะคอยเก็บข้อมูลของฟาร์มแกะเพื่อจะได้นำมาคำนวณตัวเลขภาษีที่ต้องชำระ ขณะที่ชาร์ลก็ไม่กล้ามาตอแยกับเฮนรี่ ทั้ง 2 ฝ่ายต่างเล่นสงครามประสาทกันอยู่นานหลายเดือน

ลงไม้ลงมือ

วิลเลี่ยม คัลเลน ผู้ตรวจการวัตคอมเคาน์ตี รัฐวอชิงตัน เห็นด้วยกับไอแซคเรื่องฟาร์มแกะของชาร์ลต้องจ่ายภาษีให้อเมริกา เขาเดินทางมายังเกาะซานฮวนทวงถามภาษี 80.33 ดอลลาร์ แต่ชาร์ลปฏิเสธที่จะจ่าย วิลเลี่ยมตัดสินใจนำกองกำลังจำนวนหนึ่งมายังเกาะซานฮวน จับแกะจำนวน 34 ตัวไปเป็นค่าภาษีที่ชาร์ลติดค้าง ขนขึ้นเรือเดินทางกลับแผ่นดินอเมริกา ทางด้านอังกฤษส่งกองเรือไล่ตามแต่ไม่ทัน

เหตุการณ์จบลงเพียงเท่านั้น ความสงบกลับมาเยือนบนเกาะซานฮวน หลายปีผ่านไปฟาร์มแกะขยายใหญ่มากขึ้น มีแกะมากราว 4,500 ตัว และมีปศุสัตว์ชนิดอื่นๆรวมถึงหมู แต่แล้วราวปี 1859 ชาวยุโรปหลั่งไหลเข้าสู่อเมริกา เกิดการจับจองที่ดินทำกินจำนวนมากมายจนทะลักจากแผ่นดินใหญ่มาสู่เกาะซานฮวน หนึ่งในเกาะที่ยังมีปัญหายื้อแย่งกรรมสิทธิ์กันอยู่

เกษตรกรไม่สนใจว่าเป็นใครมาจากที่ไหนหรือเรื่องปัญหากรรมสิทธิ์ที่ดินบนเกาะซานฮวน ต่างคนต่างทำมาหากิน จนกระทั่งวันที่ 15 มิถุนายน 1859 หมูตัวหนึ่งของชาร์ลไปกินมันฝรั่งในไร่ของไลแมน คัลตาร์ ทำให้เขาโกรธมาก ใช้ปืนยิงหมูตาย

ชาร์ลเรียกร้องค่าเสียหาย ไลแมนเสนอเงิน 10 ดอลลาร์เพื่อยุติข้อพิพาท แต่ชาร์ลไม่ยอมรับโดยอ้างว่าหมูมีมูลค่า 100 ดอลลาร์ ไลแมนปฏิเสธที่จะจ่ายเช่นเดียวกัน เพราะหมูของชาร์ลมาทำพืชไร่ของเขาเสียหาย ชาร์ลจึงขู่ไลแมนว่ากำลังบุกรุกดินแดนของอังกฤษ เขาจะแจ้งให้กองทหารมาจัดการ

หมูตัวเดียว

ด้วยความกลัว ไลแมนจึงแจ้งเรื่องกับรัฐบาลอเมริกา ปลายเดือนกรกฎาคมกองทหารอเมริกันจำนวนหนึ่งเดินทางมาตรึงกำลังบนเกาะ 2 วันต่อมาเรือรบอังกฤษ 3 ลำ แล่นใบเข้าสู่ชายฝั่งเกาะซานฮวน หลังจากนั้นมาต่างฝ่ายต่างส่งกำลังมาเสริม ทหารอเมริกันหลายร้อยนายตั้งค่ายบนเกาะ ขณะที่ทหารอังกฤษราว 2,000 นายล่องเรืออยู่ที่ชายฝั่ง

ก่อนที่เหตุการณ์จะตึงเครียดไปมากกว่านั้น ผู้บัญชาการทั้ง 2 ฝ่ายเจรจากันจนได้ข้อตกลงว่าจะถอนกำลังทหารออก เหลือไว้แค่เพียงฝ่ายละ 1 กองร้อย โดยทหารอเมริกันตั้งแคมป์ที่ปลายเกาะ ขณะที่ทหารอังกฤษตั้งแคมป์อีกด้านหนึ่งของเกาะ

การตรึงกำลังทหารบนเกาะซานฮวนยาวนานถึง 12 ปี จนกระทั่งในปี 1871 จักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 1 แห่งเยอรมนี ทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการระงับกรณีพิพาท ตัดสินให้เส้นแบ่งเขตแดนลากผ่านช่องแคบฮาโร ซึ่งนั่นหมายความว่าหมู่เกาะกลางทะเลเป็นดินแดนของอเมริกา

ความบาดหมางระหว่างอังกฤษและอเมริกาจึงยุติลงก่อนที่จะเกิดสงครามห้ำหั่นกันอีกครั้ง โดยมีสาเหตุแค่เพียงหมูของชาวอังกฤษตัวหนึ่งถูกชาวไร่ชาวอเมริกันยิงตาย ซึ่งต่อมารู้จักกันในชื่อ Pig War หรือ “สงครามหมู”


You must be logged in to post a comment Login