วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

ไปป์บอมบ์ป่วนเมือง / โดย ศิลป์ อิศเรศ

On August 21, 2017

คอลัมน์ : ร้ายสาระ

ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ

คนร้ายวางระเบิดหลายสิบครั้งเพื่อเรียกร้องความสนใจ แต่ตำรวจเกรงว่าประชาชนจะตื่นตระหนกจึงเฉไฉไปว่าเป็นฝีมือของพวกชอบเล่นพิเรนทร์ ทำให้คนร้ายลงมืออย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายสิบปีจนกระทั่งมีคนออกมารับฟังข้อเรียกร้อง

หลังเวลา 17.00 น. เล็กน้อยของวันที่ 29 มีนาคม 1951 เกิดเหตุระเบิดที่ชุมทางรถไฟใต้ดินแกรนด์เซ็นทรัล ใจกลางกรุงนิวยอร์ก ในช่วงเวลานั้นมีข่าวใหญ่อื่นๆมากมายที่น่าสนใจกว่าข่าวระเบิดไปป์บอมบ์เล็กๆที่มีเพียงถังเขี่ยเถ้าบุหรี่ได้รับความเสียหาย ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บแม้แต่คนเดียว ตำรวจสรุปว่าเป็นฝีมือของพวกชอบเล่นพิเรนทร์ หนังสือพิมพ์ The New York Times ให้พื้นที่เขียนข่าวในหน้าท้ายๆเพียงแค่ 3 ย่อหน้า

4 สัปดาห์ต่อมา เกิดเหตุระเบิดอีกครั้งในตู้โทรศัพท์ที่อยู่ชั้นใต้ดินของหอสมุดกรุงนิวยอร์ก แม้ว่าตอนเกิดเหตุจะมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหอสมุดยืนพิงตู้โทรศัพท์อยู่ แต่ก็ไม่ได้รับบาดเจ็บ เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานพบว่าชิ้นส่วนระเบิดที่พบคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ที่ชุมทางรถไฟใต้ดินเมื่อเดือนก่อน

หลังจากนั้นเหตุการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปรกติเป็นเวลานานหลายเดือน ดูเหมือนข้อสันนิษฐานว่าเป็นฝีมือของพวกชอบเล่นพิเรนทร์จะถูกต้อง แต่แล้วก็เกิดเหตุระเบิดที่ชุมทางรถไฟใต้ดินแกรนด์เซ็นทรัลอีกครั้งในเดือนสิงหาคม แม้จะไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บเหมือน 2 ครั้งแรก แต่เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานระบุว่าระเบิดคราวนี้มีอำนาจทำลายล้างมากกว่า

ส่วนผสมประหลาด

ตำรวจพบกล่องยาอมแก้ไอใกล้กับจุดเกิดเหตุ ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรถ้าไม่บังเอิญเป็นยี่ห้อเดียวกับเศษยาอมแก้ไอที่พบติดอยู่กับชิ้นส่วนระเบิด ไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าทำไมคนร้ายต้องใส่ยาอมแก้ไอไว้ในระเบิด

3 สัปดาห์ต่อมา เกิดเหตุระเบิดอีกครั้งในตู้โทรศัพท์ภายในบริษัทผลิตกระแสไฟฟ้า Consolidated Edison หรือที่นิยมเรียกชื่อย่อว่า ConEd โชคดีที่ระเบิดเกิดขึ้นในยามวิกาลทำให้ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ แน่นอนว่าการประกอบระเบิดคล้ายคลึงกับระเบิดในเหตุการณ์ 3 ครั้งก่อนหน้านี้

13 วันต่อมา ConEd แจ้งตำรวจว่าได้รับพัสดุต้องสงสัย ภายในบรรจุท่อปิดปลายทั้ง 2 ข้าง จ่าหน้าถึงเอดวิน เจนนิงส์ ผู้อำนวยการ ConEd เจ้าหน้าที่เก็บกู้วัตถุระเบิดนำวัตถุต้องสงสัยใส่ตะกร้าสานแล้วสอดท่อยาวหามไปเก็บในรถหุ้มเกราะ

หน่วยเก็บกู้ระเบิดทำการแกะชิ้นส่วนระเบิดอย่างระมัดระวัง พบว่าการประกอบคล้ายคลึงกับระเบิดที่พบก่อนหน้านี้ แต่ระเบิดลูกนี้แทนที่จะบรรจุดินปืน กลับมีเพียงน้ำตาล บ่งบอกว่าเป็นการข่มขู่เท่านั้น ลายมือคนร้ายบนหน้าซองพัสดุเขียนด้วยตัวอักษรพิมพ์ใหญ่ทุกตัว ที่น่าสังเกตคือเขาเขียนตัวอักษร G ใหญ่กว่าตัวอักษรตัวอื่น

เรียกร้องความยุติธรรม

วันที่ 22 ตุลาคม 1951 หนังสือพิมพ์ The New York Herald Tribune ได้รับจดหมายจากผู้ที่อ้างว่าเป็นมือระเบิด มีข้อความโดยสรุปว่า เขาวางระเบิดเพื่อเรียกร้องขอความยุติธรรมจากบริษัท ConEd และจะไม่หยุดวางระเบิดจนกว่าจะได้รับความยุติธรรม

จากการสืบสวนตำรวจต้องประหลาดใจที่พบว่าคนร้ายไม่ได้เริ่มลงมือวางระเบิดในปีนี้ แต่เขาเคยลงมือมาก่อนหน้านี้ย้อนไปถึงเมื่อปี 1940 ในคราวนั้นมีผู้พบไปป์บอมบ์ถูกวางบนขอบหน้าต่างบริษัท ConEd มีกระดาษเขียนข้อความข่มขู่ ลงชื่อ F.P. ระเบิดไม่ถูกจุดระเบิด คาดว่าเป็นการข่มขู่เท่านั้น

ปีถัดมามีผู้พบไปป์บอมบ์ลูกหนึ่งที่ริมถนนห่างจากบริษัท ConEd 5 ช่วงตึก หลังจากนั้นอเมริกาตกอยู่ในภาวะสงครามเมื่อญี่ปุ่นบุกเข้าโจมตีอ่าวเพิร์ลฮาเบอร์ ConEd ได้รับจดหมายที่มีข้อความใช้ตัวอักษรจากนิตยสารตัดแปะ มีใจความพอสังเขปว่าจะหยุดวางระเบิดในช่วงเวลาที่ประเทศกำลังทำสงคราม แต่เขาจะกลับมาทวงคืนความยุติธรรมอีกครั้ง ลงชื่อ F.P.

ตามล่ามือระเบิด

ค่อนข้างแน่ชัดว่าคนร้ายมีความเคียดแค้นบริษัท ConEd จึงมีการสืบค้นประวัติพนักงาน พบผู้ต้องสงสัยชื่อ เฟรเดริก อีเบอร์ฮาร์ดต์ อดีตเจ้าหน้าที่เข้าหัวสายเคเบิล ซึ่งถูกไล่ออกเมื่อปี 1948 เนื่องจากยักยอกทรัพย์สินบริษัท เฟรเดริกถูกตำรวจจับกุมตัว แต่ศาลพิพากษาว่าไม่ผิด ต่อมาเฟรเดริกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัท ConEd เป็นเงิน 75,000 ดอลลาร์ คดียังอยู่ระหว่างการเจรจายอมความ

ตำรวจตามรวบตัวเฟรเดริก คราวนี้เขาถูกพิพากษาให้ส่งตัวไปประเมินสภาพจิต วันที่ 28 พฤศจิกายน 1951 เกิดระเบิดอีกครั้งในตู้รับฝากสัมภาระสถานีรถไฟใต้ดินยูเนี่ยนสแควร์ ขณะเดียวกันหนังสือพิมพ์ Herald Tribune ได้รับจดหมายมีใจความโดยสังเขปว่า เขากลับมาทวงคืนความยุติธรรมจาก ConEd ลงชื่อ F.P.

แม้ว่าคนร้ายจะลงมือขณะที่เฟรเดริกถูกควบคุมตัวในโรงพยาบาล แต่ตำรวจก็ยังไม่ยอมปล่อยตัวเขา ต่อมาวันที่ 19 มีนาคม 1952 เกิดเหตุระเบิดอีกครั้งที่สถานีขนส่ง เฟรเดริกจึงได้รับการปล่อยตัวในที่สุด

วันที่ 8 ธันวาคม 1952 เกิดเหตุระเบิดในโรงภาพยนตร์โลว์ มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิดที่ขาหนึ่งคน หลังจากนั้นอีก 6 เดือนก็เกิดเหตุระเบิดที่โรงภาพยนตร์แห่งนี้อีกครั้ง แต่คราวนี้โชคดีไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ

หยุดไม่อยู่

คนร้ายวางระเบิดอีกหลายครั้ง แต่ตำรวจก็ยังคงแถลงว่าเป็นฝีมือของพวกเล่นพิเรนทร์ ในปี 1955 คนร้ายวางระเบิดอย่างน้อย 6 ครั้ง ทำให้นักข่าวเริ่มหันมาให้ความสนใจ จนกระทั่งในปี 1956 เกิดเหตุไม่คาดคิดเมื่อหญิงชราคนหนึ่งไปเข้าห้องน้ำชายที่สถานีรถไฟใต้ดินเพนน์สเตชั่น เกิดระเบิดอย่างรุนแรงทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส และมีคนได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยอีก 6 คน

คราวนี้ตำรวจออกมายอมรับว่าไม่ใช่เป็นการเล่นพิเรนทร์ เชิญนักจิตวิทยามาวิเคราะห์พฤติกรรมคนร้ายเพื่อเสาะหาลักษณะของผู้ก่อเหตุ ขณะเดียวกันหนังสือพิมพ์ New York Journal ตีพิมพ์บทความส่งถึงคนร้ายให้เข้ามอบตัว โดยยื่นข้อเสนอแลกเปลี่ยนกับการที่หนังสือพิมพ์จะเรียกร้องความยุติธรรมให้กับเขาเอง เพื่อที่คนบริสุทธิ์จะได้ไม่ต้องมารับเคราะห์แทน

2 วันต่อมา บรรณาธิการได้รับจดหมายตอบรับมีใจความโดยสังเขปว่า เวลาของเขาเหลือน้อยเต็มที ทุกวันนี้ต้องนอนป่วยอยู่บนเตียง ลงชื่อ F.P. หลังจากนั้นก็มีการติดต่อกันเป็นระยะๆ โดยหนังสือพิมพ์ตีพิมพ์ข้อความถึงคนร้าย ขณะที่คนร้ายเขียนจดหมายส่งถึงหนังสือพิมพ์

วันที่ 19 มกราคม 1957 คนร้ายส่งจดหมายฉบับสุดท้ายหลังจากที่วางระเบิดไปอย่างน้อย 33 ครั้ง เกิดระเบิด 22 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บรวม 15 คน เขารับปากว่าจะยอมวางมือ ตอนหนึ่งของจดหมายคนร้ายยังบอกด้วยว่า เมื่อวันที่ 5 กันยายน 1931 เขาประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บระหว่างทำงาน

เฉลยปริศนา

ตำรวจตรวจสอบแฟ้มประวัติพนักงาน ConEd พบว่าจอร์จ เมเทสกี้ ได้รับบาดเจ็บระหว่างทำงานในโรงไฟฟ้าถ่านหินเมื่อวันที่ 5 กันยายน 1931 สาเหตุจากสูดดมสารพิษที่เล็ดลอดออกมาจากรอยแตกของเตาเผาส่งผลให้เป็นวัณโรคในปอด

วันที่ 21 มกราคม จอร์จถูกจับกุมตัว เขาให้การรับสารภาพว่าที่ทำลงไปเพราะ ConEd ไม่จ่ายเงินชดเชยให้ หนังสือพิมพ์ New York Journal ทำตามข้อตกลงโดยจัดหาทนายความและสืบสวนเรื่องราวทั้งหมด พบว่าจอร์จยื่นเอกสารเรียกร้องเงินชดเชยเลยกำหนดเวลาจึงทำให้ ConEd ไม่ได้จ่ายเงินชดเชยให้

จอร์จถูกส่งตัวไปประเมินสภาพจิตและรักษาวัณโรค ระหว่างนั้นทนายยื่นคำร้องขอเลื่อนการพิจารณาคดีโดยอ้างถึงสุขภาพที่อ่อนแอของจำเลย จอร์จถูกส่งตัวไปมาระหว่างสถานบำบัดสุขภาพจิตและโรงพยาบาล จนกระทั่งในปี 1971 มีนักเคลื่อนไหวด้านกฎหมายออกมาเรียกร้องว่าการกักตัวผู้ต้องหาในสถานบำบัดจิตโดยที่ศาลยังไม่สั่งว่าเป็นบุคคลอันตรายนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้ศาลสั่งปล่อยตัวจอร์จเมื่อปี 1973

จอร์จใช้ชีวิตบั้นปลายดูแลน้องสาวจนกระทั่งเขาเสียชีวิตด้วยวัย 90 ปีเมื่อปี 1994 ส่วนปริศนาลูกอมแก้ไอที่ใช้ประกอบระเบิดนั้น จอร์จบอกว่าเขาเอาไปชุบน้ำแล้วนำมาติดบนสปริงดีดชนวน ลูกอมจะละลายช้าๆทำหน้าที่แทนนาฬิกานับถอยหลัง เมื่อลูกอมแก้ไอละลาย สปริงแทงชนวนจะดีดทำให้เกิดการจุดระเบิด

จอร์จยังบอกด้วยว่าเขาเกือบถูกตำรวจจับตัวได้เมื่อปี 1941 ขณะที่กำลังจะนำระเบิดไปวางที่ ConEd มีตำรวจนายหนึ่งเดินตรงเข้ามาหา ทำให้เขารีบทิ้งระเบิดลงบนพื้น ตำรวจคนนั้นเดินมาบอกว่าจอร์จจอดรถในที่ห้ามจอด เขาจึงรีบขับรถออกไป ส่วนตัวอักษรย่อ F.P. ท้ายจดหมายย่อมาจาก Fair Play หรือ “ปฏิบัติอย่างยุติธรรม”


You must be logged in to post a comment Login