วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

มีธรรมาภิบาล 44 จะกลัวอะไร? / โดย ทีมข่าวการเมือง

On July 3, 2017

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

วันที่ 25 มิถุนายน เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงครามได้เข้าจับกุมนายรังสิมันต์ โรม นักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ที่หอสมุดกรุงเทพฯ โดยแสดงหมายจับกรณีไม่ไปรายงานตัวศาลทหารในคดีแจกใบปลิวรณรงค์โหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่นิคมอุตสาหกรรมบางพลีเมื่อปี 2559 ซึ่งเป็นการกระทำผิดฐานขัดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมเกินกว่า 5 คน

นายรังสิมันต์กล่าวกับเพื่อนที่ติดตามไปที่สถานีตำรวจว่า ไม่เข้าใจว่าเพราะอะไรเจ้าหน้าที่จึงมาจับในวันนี้ เพราะก่อนหน้านี้ก็พบเจอเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นปรกติ จึงตั้งข้อสังเกตว่าการจับกุมครั้งนี้อาจเกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะเดินทางไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อขอให้รัฐบาลแสดงรายละเอียดข้อมูลโครงการรถไฟความเร็วสูง (ปานกลาง) ไทย-จีน

หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวนายรังสิมันต์ไป สภ.บางเสาธง เจ้าของคดี และถูกขัง 1 คืน เพื่อนำตัวส่งฟ้องเช้าวันที่ 26 มิถุนายน ศาลทหารได้ให้ประกันตัวใน 2 คดีคือ คดีหอศิลป์ กทม. 10,000 บาท และคดีรณรงค์ประชามติ 50,000 บาท พร้อมเงื่อนไขห้ามกระทำการใดๆอันมีลักษณะเป็นการยั่วยุ ปลุกปั่น ชักชวน ปลุกระดม ไม่ว่าด้วยวิธีใดๆเพื่อให้มีการชุมนุม อันจะก่อให้เกิดภัยอันตรายใดๆที่กระทบต่อความเสียหาย หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทำการใดๆเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน รวมทั้งห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาต

คสช. กลัวอะไร?

กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (Democracy Restoration Group-DRG) ได้โพสต์ข้อความหลังการจับกุมนายรังสิมันต์ว่า เพราะนายรังสิมันต์จะไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการเพื่อให้เปิดเผยรายละเอียดข้อตกลงรถไฟไทย-จีนทั้งหมดในวันที่ 26 มิถุนายน จึงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมเพิ่งมาควบคุมตัว ทั้งที่คดีนี้ศาลสั่งปล่อยตัวตั้งแต่ปีที่แล้ว และตลอดเวลา 1 ปีก็ไม่เห็นทำอะไร ซึ่ง DRG ยืนยันว่า การรณรงค์ประชามติเป็นเสรีภาพอันชอบธรรมที่ประชาชนพึงกระทำได้ และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ที่ใช้ตั้งข้อหานั้นไม่ใช่กฎหมายอันชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย จึงถามว่า “คสช. กลัวอะไร? จึงต้องขวางคนไปขอข้อมูลรถไฟไทย-จีน” โดยข้อความตอนท้ายได้ถาม คสช. ว่า…

“คสช. กลัวอะไรจึงต้องขัดขวางการไปยื่นหนังสือของประชาชนคนหนึ่ง เพื่อขอเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโครงการรถไฟไทย-จีน? มีอะไรเกี่ยวกับโครงการนี้ที่ คสช. ไม่อยากให้ประชาชนรับรู้?

กลัวประชาชนจะรู้ว่า ค่าใช้จ่ายที่แท้จริงอาจจะแพงกว่าโครงการของรัฐบาลที่แล้ว?

กลัวประชาชนจะรู้ว่า การเจรจาที่ผ่านมาไทยเสียเปรียบจีนมาโดยตลอด ถูกวางเงื่อนไขให้ต้องพึ่งพาจีนฝ่ายเดียวมาโดยตลอด?

หรือกลัวประชาชนจะรู้ว่า มีผลประโยชน์ได้เสียอื่นๆแฝงอยู่ในโครงการนี้มากกว่าที่ควรจะเป็นด้วย?”

ทำไมเป็น “รางการเมือง”?

เวทีจุฬาฯเสวนา ครั้งที่ 7 เรื่อง “รถไฟไทย-จีน : ใครได้ใครเสีย” เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ซึ่งมีนักวิชาการจุฬาฯและผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆเกี่ยวกับโครงการรถไฟความเร็วสูง ต่างก็ตั้งข้อสงสัยและถามว่าทำไมต้องใช้มาตรา 44 ซึ่งไม่ใช่แค่การอนุญาตให้สถาปนิกและวิศวกรจีนเข้ามาดำเนินการออกแบบและก่อสร้างได้โดยไม่ต้องสอบใบอนุญาตประกอบอาชีพวิศวกรรมหรือสถาปัตยกรรมของไทยเท่านั้น

รศ.ดร.สมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันการขนส่ง จุฬาฯ เปิดประเด็นว่า โครงการรถไฟไทย-จีนกลายเป็น “รางการเมือง” เป็นเรื่องที่ปรองดองที่สุดกับจีน เพราะรัฐบาลชุดไหนก็เสนอโครงการนี้ เป็นโครงการมหากาพย์ถึง 3 รัฐบาล ตั้งแต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐบาล คสช. ซึ่งรัฐบาล คสช. มีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญมาโดยตลอด ตั้งแต่

ความเร็ว-จากที่เคยยืนยันมั่นเหมาะในปี 2557 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ว่าเป็นรถไฟความเร็วปานกลาง เพราะ “รถไฟความเร็วสูงไม่จำเป็นสำหรับไทย” แต่สุดท้ายกลายเป็นไฮสปีดเทรน

เส้นทาง-เริ่มต้นจากแผนสร้างรถไฟสายกรุงเทพฯ-หนองคาย และแก่งคอย-มาบตาพุด วงเงิน 530,000 ล้านบาท ในปี 2557 ก่อนพลิกเป็นกรุงเทพฯ-นครราชสีมา (ทางคู่) นครราชสีมา-หนองคาย (ทางเดี่ยว) และชะลอแก่งคอย-มาบตาพุด วงเงิน 340,000 ล้านบาท แต่สุดท้ายก็จบแค่กรุงเทพฯ-นครราชสีมา วงเงิน 179,000 ล้านบาท

งบลงทุนไทยและจีน-มีสารพัดสูตรให้ชวนสับสน ตั้งแต่ 80:20 / 30:70 / 40:60 / 50:50 แต่มาจบที่ไทยลงทุนเอง 100%

ความสับสนระดับนโยบาย-นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม บอกจะเริ่มโครงการรถไฟไทย-จีนก่อน แต่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พูดไปอีกทาง บอกว่าต้องเริ่มโครงการรถไฟไทย-ญี่ปุ่นก่อน กระทั่งเดือนมีนาคม 2560 ญี่ปุ่นประกาศ “ขอแยกราง” กับจีน ทำให้ชวนนึกถึงสภาพอาณานิคมในยุคก่อน

ยุทธศาสตร์การใช้ประโยชน์-ระบบขนส่งสายอีสานไม่ได้มีแค่รถไฟความเร็วสูงไทย-จีนที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่ยังมีแผนสร้างรถไฟรางคู่กรุงเทพฯ-หนองคาย และทางด่วนพิเศษ (มอเตอร์เวย์) กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ทำให้พื้นที่นี้เกิดการทับซ้อนกันถึง 3 ระบบ และเกิดภาวะ “สำลักโครงการ”

ข้ออ้างความเจริญทางเศรษฐกิจ-รถไฟทางคู่ก็พัฒนาเมืองได้ ไม่ต่างจากการอ้างเหตุผลเรื่องการส่งเสริมการค้า การท่องเที่ยว และการค้าขาย โดยคำนวณจากประชากรจีน ทั้งที่ไทยยังไม่มีแผนรองรับทั้ง 2 ส่วนนี้ จึงอยากตั้งข้อสังเกตว่า “ไม่เฉพาะสินค้าไทยที่ส่งไปขายจีน แต่สินค้าจีนก็โดยสารรถไฟมาถึงไทยเหมือนกัน”

“ที่มีการพูดกันว่าการมีรถไฟความเร็วสูงเป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้า มันเป็นแค่มายาคติ เพราะปัจจุบันลาวมีรถไฟความเร็วสูง ขณะที่สหรัฐไม่มี ถามว่าลาวก้าวหน้ากว่าสหรัฐหรือไม่” รศ.ดร.สมพงษ์กล่าวและเสนอว่า การทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางต้องพัฒนา “โครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรม” ไม่ใช่ “โครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่ง” ซึ่งไทยมีความต้องการพัฒนาระบบขนส่งทางรางสูง มีอุตสาหกรรมและตลาดรองรับ แต่กลับไม่ปรากฏเรื่องนี้ในแผนพัฒนาอุตสาหกรรมรถรางในนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0”

ทำไมส่อเจ๊งกับเจ๊ง?

รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ กล่าวว่า ในทางเศรษฐศาสตร์จะมีการประเมินโครงการ 2 ประเด็นคือ ความคุ้มค่าทางการเงิน ซึ่งมีตัวอย่าง “การเจ๊งทางการเงิน” โครงการแอร์พอร์ตลิ้งค์และรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่รัฐบาลลงทุนเอง 100% และเกิดปัญหาไม่เชื่อมต่อกับระบบอื่นจนเป็นรถไฟฟ้า “สายเหงา” และอีกประเด็นคือความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและสังคม ต้องถามว่าใครได้ใครเสียประโยชน์ หากมีการเวนคืนที่เกิดขึ้นก็จะมีชุมชนแตกฉานซ่านเซ็น ขณะเดียวกันจะมีคนอีกกลุ่มได้ประโยชน์จากราคาที่ดินเส้นรางรถไฟที่สูงขึ้น

“ขณะนี้ไม่ทราบว่ารัฐบาลประเมินความคุ้มทุนทั้งระบบหรือประเมินเฉพาะเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา หากประเมินแค่ระยะสั้นแล้วลงทุน 170,000 ล้านก็เจ๊ง เพราะนครราชสีมาเป็นแค่ปากทาง ถ้าจะไปถึงที่หมายต้องต่ออีก แล้วจะให้ผู้โดยสารต่อกับอะไร” รศ.ดร.นวลน้อยกล่าว

ทำไมกลัวจีนเบี้ยวสัญญา?

ผศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ชี้ว่า กรณีนี้ถือเป็นความสำเร็จอีกก้าวของจีนที่พยายามเชื่อมต่อกับประเทศต่างๆผ่านระบบขนส่งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ การก่อสร้างรถไฟถือเป็นความฝันของจีน จึงกล่าวได้ว่า “เรียบร้อยโรงเรียนจีน” สิ่งที่กังวลคือการทำสัญญา โดยเฉพาะเรื่องการแลกเปลี่ยนนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพราะนักธุรกิจไทยมีประสบการณ์กับจีนมาเยอะ เซ็นสัญญาดิบดี พอเปลี่ยนผู้นำท้องถิ่นปุ๊บ ทุกอย่างก็หมดความหมาย ดังนั้น หากมีการเบี้ยว อ้างนั่นอ้างนี่ ก็ขอให้รัฐบาลเปิดเผยกับประชาคมโลกด้วย

รศ.ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ยอมรับว่ากังวลเรื่อง “อำนาจพิเศษ” ตามมาตรา 44 ซึ่งถูกรับรองโดยรัฐธรรมนูญปี 2560 แม้ในคำสั่งจะอ้างว่าการดำเนินการต้องเป็นไปตาม “ข้อตกลงคุณธรรม” หากผู้เกี่ยวข้องไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงนี้ให้ดำเนินการตามกฎหมาย แต่คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับเดียวกันกลับยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายรวม 7 ฉบับ ที่เป็นกฎหมายมุ่งขจัดการทุจริตทั้งสิ้น คือเจ้าหน้าที่รัฐไทยทำผิดยังโดนลงโทษตามกฎหมาย แต่ถ้าคนเสนอราคาทำผิดหลุดหมด ถือเป็นการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ควรยกเว้น นอกจากนี้ยังมีความไม่ชัดเจน หากรัฐวิสาหกิจจีนต้องการให้บริษัทใดบริษัทหนึ่งของไทยมารับงานต่อจะสามารถเข้ามาได้โดยอัตโนมัติหรือไม่

คำสั่งตามมาตรา 44 ไม่เพียงตรวจสอบไม่ได้ เพราะถูกรับรองโดยรัฐธรรมนูญและแนวบรรทัดฐานการพิจารณาคดีของศาลในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 44 ยังให้ความคุ้มครองการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในการสั่งการ การปฏิบัติ ถือเป็นการ “ปิดประตูหลายชั้นในการตรวจสอบ” แม้การออกคำสั่งนี้เริ่มต้นด้วยเจตนาดี แต่วิธีการไม่ถูกก็จะยังทำหรือ

ทำไมเป็นโศกนาฏกรรม?

นายอุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ แสดงความกังวลว่า โครงการรถไฟไทย-จีนไม่ใช่แค่มหากาพย์ แต่อาจเป็นโครงการที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมไทย อย่างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ตั้งคำถามการใช้มาตรา 44 เป็นการ “ลัดขั้นตอน” หรือไม่ ส่วนวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) เห็นว่าการ “ยกเว้นแนวทางสร้างธรรมาภิบาล” อาจทำให้เกิดความสับสนและไม่เชื่อมั่นต่อตัวโครงการ ไม่ต่างจากนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกที่แนะให้เปิดกว้างให้ผู้สนใจมาประมูลแข่งกันเพื่อความโปร่งใส ยังไม่รวมภาคประชาชนที่ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ตรวจสอบว่าทำให้ประเทศไทยเสียประโยชน์หรือไม่

รศ.ดร.จิตติชัย รุจนกนกนาฏ รองผู้อำนวยการสถาบันการขนส่งและอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงรายละเอียดข้อตกลงไทย-จีนว่า นอกจากวงในแล้วยังไม่มีใครรู้รายละเอียดทั้งหมด จึงไม่สามารถฟันธงได้ว่ารถไฟสายนี้มีความจำเป็นมากแค่ไหน ทำแล้วขาดทุนหรือคุ้มค่า ทำไมต้องใช้มาตรา 44 รวมถึงควรหรือไม่ที่ต้องใช้วิธีคิดและวิธีทำแบบจีน

ทำไมเป็นปาหี่ระดับชาติ?

ส่วนเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีของจีนให้กับฝ่ายไทยเพื่อยกเว้นการสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพให้วิศวกรและสถาปนิกจีนเข้ามาทำงาน และกระทรวงคมนาคมอ้างว่าที่ผ่านมามีการส่งบุคลากรไทย 250 คน ไปศึกษาดูงานรถไฟความเร็วสูงในจีน และตอนนี้ได้ส่งนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยชั้นนำอีก 25 คนไปศึกษาเพิ่มเติมนั้น ปรากฏว่า ผศ.ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การสัมมนาที่อ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งในแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากจีนนั้นไม่เป็นความจริง เพราะบางครั้งเป็นการบรรยายแบบฆ่าเวลาและพาไปท่องเที่ยว

“หากกระทรวงคมนาคมอาศัยจังหวะนี้ “มั่วนิ่ม” ก็จะขอลุกขึ้นยืนใช้สิทธิความเป็นประชาชนคนไทยและเป็นอาจารย์ในรั้วมหาวิทยาลัยที่ต้องรับผิดชอบถ่ายทอดความรู้ให้กับอนุชนรุ่นใหม่ๆว่า ไม่ไว้วางใจกระทรวงคมนาคม”

ผศ.ดร.ประมวลเล่าว่า ทั้งหมดได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ผ่านกระบวนการคัดเลือกซึ่งประสานงานไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้ร่วมกิจกรรมสัมมนา “2017 Seminar on Railways for Thai Lecturers” เพื่อมีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีระบบรางของจีน โดยผู้ร่วมกิจกรรมทั้งหมดมาจากหลากหลายสาขา บ้างก็มีพื้นฐานทางวิศวกรรม บ้างก็ไม่มี โดยกิจกรรมเริ่มตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา มีกำหนดการสัมมนา 21 วัน แต่ละวันมีการฟังบรรยาย ซึ่งรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง เนื่องจากมีรายละเอียดไม่เฉพาะเพียงเชิงยุทธศาสตร์ บางหัวข้อก็มีเนื้อหาที่กระบวนการทำงานในภาคสนาม วิทยากรบางคนพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ บางคนก็บรรยายให้หมดเวลาไปโดยไม่มีทักษะการสอนในระดับนานาชาติ แต่บางคนก็ถ่ายทอดมุมมองทางวิชาการได้น่าสนใจ บางวันมีกิจกรรมเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ แต่ดูเหมือนเอาเด็กเฝ้าแล็บที่พูดภาษาอังกฤษไม่คล่องมาพาไปชมกิจกรรมแบบผ่านๆมากกว่า บางวันฝนตกทำอะไรไม่ได้ก็พาไปนั่งรถชมเมืองปักกิ่ง

สิ่งที่กลุ่มที่ไปสัมมนาพูดคุยกันบ่อยระหว่างที่กระแสความต้องการให้มีการดำเนินโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตรถไฟความเร็วสูงจากจีนคือ หากรัฐบาลนับกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีก็คงจะเป็นอีกหนึ่งปาหี่ระดับชาติที่หลอกลวงประชาชน และสะท้อนให้เห็นว่าผู้บริหารประเทศขณะนี้ไม่มีความเข้าใจในเรื่องกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยี ไม่มียุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศ ทั้งไม่น่าจะได้รับความไว้วางใจให้รับผิดชอบโครงการขนาดใหญ่ระดับแสนล้านบาทแบบนี้

ผศ.ดร.ประมวลยังกล่าวว่า ยิ่งได้อ่านข้อความการแถลงข่าวของกระทรวงคมนาคมที่ว่าได้จัดส่งบุคลากรเข้ารับการฝึกอบรมเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงที่จีนแล้วจำนวน 250 คน และเดือนมิถุนายน 2560 ได้จัดส่งอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆจำนวน 25 คนเข้ารับการฝึกอบรมที่จีน เป็นข้อความส่วนที่เรียกเสียงฮาจากอาจารย์ทั้ง 25 คนสนั่นหวั่นไหว จนชาวจีนในห้องอาหารพร้อมใจกันหันมามองว่าโต๊ะกลุ่มคนไทยกำลังสนุกอะไรกัน

ผศ.ดร.ประมวลกล่าวอีกว่า มีโอกาสแสดงความเห็นเรื่อง “กระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยี” มาหลายปี ทั้งการบรรยาย การจัดสัมมนา การเชิญผู้แทนประเทศต่างๆมาบรรยาย รวมทั้งเคยมีโอกาสเขียนบทความหลายเรื่องว่าด้วยแนวทางการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีที่นานาประเทศกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ ไม่ใช่ “ของแถม” โดยมีการวางระบบไว้อย่างรัดกุมเพื่อเป้าหมายคล้ายกันคือ ยกระดับขีดความสามารถในการผลิตของประเทศโดยอาศัยการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐ ซึ่งแน่นอนว่าใช้เงินภาษีของราษฎรทั้งประเทศ อาทิ ประเทศจีนที่รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีทั้งจากเยอรมนี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น จนสามารถพัฒนารถไฟความเร็วสูงเป็นของตัวเองได้ภายในระยะเวลาเพียง 1 ทศวรรษ และมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงในปัจจุบันเกือบ 20,000 กิโลเมตร ประเทศเกาหลีใต้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากฝรั่งเศสจนกลายเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีอันดับ 4 ของโลก และประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างมาเลเซียที่อาศัยการกำหนดเงื่อนไขการจัดซื้อผ่านโปรแกรม “ICP-Industrial Collaboration Program” โดยความดูแลของหน่วยงานเฉพาะกิจ “TDA-Technology Depository Agency” ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงการคลัง จนทำให้เกิดอุตสาหกรรมประกอบและผลิตชิ้นส่วนรถไฟหลายบริษัท แน่นอนว่าเมื่อประเทศไทยกำลังจะลงทุนในระดับแสนล้านบาทกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน หรือแม้แต่ไทย-ญี่ปุ่น การพัฒนาโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างมียุทธศาสตร์จะเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะก้าวกระโดดไปสู่ยุคสมัยของการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตที่ต้องการเทคโนโลยีและทักษะการผลิตในขั้นสูง

ทำไม “บิ๊กตู่” ตัดสินใจลงทุน 100%?

การบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือไม่พูดความจริงทั้งหมด รวมถึงเรื่องที่ฝ่ายไทยลงทุน 100% ซึ่งนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านขนส่ง ได้โพสต์ว่า “จีนไม่ยอมร่วมลงทุนจริงหรือ?” โดยอ้างการให้สัมภาษณ์ของนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรายการตอบโจทย์ทางไทยพีบีเอส วันที่ 22 มิถุนายนว่า จีนไม่ยอมร่วมลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูง ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางไหนก็ตาม รัฐบาลไทยจึงต้องตัดสินใจลงทุนเองทั้งหมดนั้น ไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีนมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจเดือนธันวาคม 2557 และเริ่มประชุมครั้งที่ 1 วันที่ 21-22 มกราคม 2558 จนถึงการประชุมครั้งที่ 9 วันที่ 3 ธันวาคม 2559 ที่กรุงเทพฯ รวมถึงก่อนมีพิธีวางศิลาฤกษ์ศูนย์ควบคุมและบริหารการเดินรถไฟที่สถานีเชียงรากน้อยวันที่ 19 ธันวาคม 2558 มีการหารือเรื่องสัดส่วนการลงทุนที่ได้ข้อสรุปว่าจะจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างไทย-จีนเพื่อลงทุนใน 1.ระบบรถไฟ รวมถึงการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษา 2.การจ่ายกระแสไฟฟ้า ระบบตั๋ว อาณัติสัญญาณ และโทรคมนาคม โดยจีนจะลงทุน 40% และไทย 60% ซึ่งฝ่ายไทยจะรับผิดชอบลงทุนงานโยธาเองทั้งหมด

ทั้งก่อนวันวางศิลาฤกษ์ประมาณวันที่ 17-18 ธันวาคม 2558 ได้มีการหารือนอกรอบระหว่างไทย-จีน โดยฝ่ายไทยขอให้ฝ่ายจีนร่วมลงทุนในงานทั้งหมด รวมทั้งงานโยธาด้วย ซึ่งนายอาคมให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางไปจีนวันที่ 28 มกราคม 2559 ว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้เจรจาให้จีนเพิ่มสัดส่วนการลงทุนมากขึ้นและครอบคลุมถึงการก่อสร้าง (งานโยธา) จากเดิมจีนจะลงทุนเฉพาะงานเดินรถในสัดส่วน 40% ก็ให้จีนร่วมรับภาระความเสี่ยงโครงการมากขึ้น เช่น อาจให้จีนร่วมลงทุน 70% และไทย 30% เป็นต้น แต่การหารือนอกรอบก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปหารือทวิภาคีกับนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน วันที่ 23 มีนาคม 2559 ที่มณฑลไห่หนาน ปรากฏผลสรุปการหารือทวิภาคีกรณีรถไฟดังนี้

1.นายกฯประยุทธ์ตัดสินใจให้รัฐบาลไทยลงทุนเองทั้งหมด 100% โดยฝ่ายจีนไม่ต้องร่วมลงทุนเลย ทั้งงานโยธา ระบบรถไฟ ตั๋ว อาณัติสัญญาณ และโทรคมนาคม

2.เปลี่ยนจากรถไฟความเร็วปานกลางซึ่งวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นรถไฟความเร็วสูงซึ่งวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

3.ตัดเส้นทางระยะแรกให้สั้นลง จากเดิมกรุงเทพฯ-หนองคาย เหลือเป็นกรุงเทพฯ-นครราชสีมา

นายสามารถจึงตั้งคำถามว่า “อะไรทำให้ท่านนายกฯประยุทธ์ตัดสินใจไปเช่นนั้นยังคงเป็นปริศนาดำมืด ท่านได้รับข้อมูลก่อนการหารือครบถ้วนและถูกต้องหรือไม่ ผมทราบมาว่าการหารือทวิภาคีในครั้งนั้นไม่มีประเด็นความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีนบรรจุอยู่ในวาระด้วย ทำให้ฝ่ายจีนไม่ได้เตรียมผู้รับผิดชอบด้านรถไฟมาร่วมหารือด้วย จึงเป็นเหตุให้การหารือไม่ราบรื่นเท่าที่ควร จนนำไปสู่การตัดสินใจลงทุนเองทั้งหมดของฝ่ายไทย”

มีธรรมาภิบาล.. จะกลัวอะไร?

การใช้คำสั่งมาตรา 44 เร่งรัดโครงการรถไฟความเร็วสูง (ปานกลาง) ไทย-จีน ยิ่งทำให้มีคำถามเรื่องการอวดนักอวดหนาว่ารัฐบาลนี้มี “ธรรมาภิบาล” จริงอย่างที่อวดตนจริงหรือไม่?

จริงอยู่ที่มาตรา 44 นั้นมีสถานะเป็น “กฎหมาย” แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นกฎหมายที่มีความชอบธรรมตามหลักนิติรัฐที่นานาชาติยอมรับ ซึ่งนายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ค Piyabutr Saengkanokkul ถึงการจับนายรังสิมันต์ก่อนที่จะไปยื่นหนังสือขอเปิดเผยข้อมูลโครงการรถไฟว่า “บังเอิญจริงๆ” แล้วยังโพสต์ถึงการใช้ “อำนาจพิเศษ” ว่า

“ระบอบเผด็จการใช้ “กฎหมาย” เป็นเครื่องมือในหลายรูปแบบ ตั้งแต่เอา “กฎหมาย” มาห่อหุ้ม “ปืน” อยากได้อะไรก็เอาอำนาจเผด็จการไปประกาศให้เป็น “กฎหมาย” เอากลไกรัฐที่ใช้กฎหมายมารับใช้เผด็จการ ตัดสินคดีตาม “กฎหมายห่อปืน” ใช้กฎหมายแบบเลือกปฏิบัติไม่เสมอหน้า

การทำให้ “กฎหมาย” มีความไม่แน่นอนชัดเจน บุคคลไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าการใช้เสรีภาพของตนจะขัดกฎหมายหรือไม่ บ่อยครั้งเข้าก็เลือกที่จะเซ็นเซอร์ตนเองไปเลย

การนำ “กฎหมาย” มาใช้จับกุมคุมขังบุคคลที่ต่อต้านเผด็จการ ทำให้บุคคลเหล่านั้นถูกจับกุมคุมขังในนาม “กฎหมาย” ไม่ใช่ “ปืน” เผด็จการก็อ้างว่าเป็นไปตามกฎหมาย ไม่ได้ใช้ความรุนแรง การเอากฎหมายที่มีอยู่เดิมมาใช้อย่างบิดผัน เพื่อกลั่นแกล้ง ละเมิดเสรีภาพในการแสดงความเห็นของบุคคล

“ปืน” อย่างเดียวอยู่ไม่ได้ ต้องมี “กฎหมาย” ช่วยเสมอ เผด็จการทหารอยู่ตามลำพังไม่ได้ ต้องมีนักกฎหมายช่วยเสมอ

“ปืน” เสียความชอบธรรม “กฎหมาย” มีความชอบธรรม ต้องทำให้คนเห็นว่า “กฎหมาย” ของเผด็จการคือ “ปืน” จึงไม่ชอบธรรมดุจกัน

ธรรมาภิบาลแบบรัฐบาล คสช. ในโครงการรถไฟความเร็วสูง (ปานกลาง) ไทย-จีน จึงต้องถูกตั้งคำถามต่อไปถึงเรื่องความชอบธรรม ความโปร่งใส และผลประโยชน์ทับซ้อนต่างๆว่ามีหรือไม่? ซึ่ง “ทั่นผู้นำ” และพวกพ้องต้องตอบคำถามเหล่านี้กับสังคม

การใช้มาตรา 44 เป็นกฎหมายพิเศษที่แทบจะมีอำนาจเหนือกว่ารัฐธรรมนูญนั้น ถ้าไม่เป็นคุณอนันต์ก็อาจจะกลับตาลปัตรเป็นโทษมหันต์ก็เป็นไปได้

เชื่อว่าการที่รัฐบาล คสช. สามารถจะทำอะไรก็ไม่ผิด ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ด้วยการใช้มาตรา 44 จะเป็นเรื่องที่ท้าทายต่อมจริยธรรมของผู้คนที่มีจิตใจรักชาติรักแผ่นดินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้อาจจะยกเว้นบ้างสำหรับกลุ่มที่เกลียดทักษิณ (แต่ไม่เกลียดการโกง ถ้าไม่ใช่ทักษิณ) แต่ย่อมเป็นเรื่องที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกสำหรับผู้มีอาการ “นกหวีดติดคอ” อยู่บ้างไม่มากก็น้อย

สำหรับรัฐบาล คสช. ที่ชอบใช้คำพูดเยาะเย้ยถากถางคนอื่นในฐานะของคนถือ “กฎหมายห่อปืน” ที่มักจะถามใครต่อใครว่า “ถ้าไม่ผิดแล้วจะกลัวอะไร?” มาถึงวันนี้อาจตกอยู่ในฐานะที่ต้องตอบสังคมเช่นกันว่า “ถ้าไม่ผิดแล้วจะกลัวอะไร?”

รัฐบาล คสช. อันประกอบไปด้วยผู้มีคุณธรรมความดีสูงส่งเหนือใคร และยังเป็น “นักการเมืองที่มาจากการรัฐประหาร” ซึ่งเป็นคนดีที่ไม่จำเป็นต้องให้ใครมาตรวจสอบเหมือนอย่างพวก “นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง” จึงไม่เห็นว่าจะต้องร้อนรนอะไร?

นั่นสิ! มีทั้งอาวุธ มีทั้ง ม.44 มีทั้ง “ธรรมาภิบาล” มากมายก่ายกองขนาดนี้..แล้วจะต้องไปกลัวอะไร?


You must be logged in to post a comment Login