วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

อาการเมาหัวราน้ำ ยุคสมัยความจริงที่เข้าใจยาก / โดย เรืองยศ จันทรคีรี

On February 27, 2017

คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร
ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี

หลายตอนที่ผ่านมาได้เขียนถึงเรื่องราวเกี่ยวกับความจริงของอารยธรรมในปัจจุบัน ซึ่งได้ให้น้ำหนักไปที่สื่อ เพราะโดยความจริงแล้วตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษโลกก็ก้าวสู่ยุคใหม่ของเทคโนโลยีซึ่งสร้างสื่อต่างๆขึ้นมา โดยสื่อเหล่านั้นดำรงอยู่ได้ด้วยวงจรไฟฟ้าและการย้อนกลับของพลังงาน

สื่อที่ทำให้โลกแคบไม่ใช่เริ่มต้นในยุค เวิลด์ไวด์เว็บที่อาศัยอินเทอร์เน็ต นับตั้งแต่มีการใช้โทรทัศน์ ตรงนั้นทำให้โลกแคบเข้ามาแล้ว หรือการที่มนุษย์ยกหูโทรศัพท์ขึ้นพูดก็เท่ากับว่าได้เชื่อมโยงตัวเองกับอีกภูมิศาสตร์ที่อยู่คนละฟากโลกด้วยสัญญาณเสียง

เราจึงสรุปได้ว่า เทคโนโลยีที่ดำรงอยู่ด้วยวงจรไฟฟ้าได้ผลิตสื่อขึ้นมา สื่อก็ผลิตข่าวสารที่มีอิทธิพลต่างๆในสังคม สื่อเข้ามาแทนที่พระเจ้า เหมือนกับเกิดภาวะหูทิพย์และตาทิพย์ขึ้นมา แม้กระทั่งแผ่นเสียงเมื่อ 100 ปีก่อน เราเปิดฟังก็เท่ากับว่าได้ย้อนกลับไปสมัยเมื่อ 100 ปีที่แล้ว เมื่อเวลาผ่านมา 10,000 ปีก่อน มนุษย์ก็สะสมอาหารเป็นเสบียงเอาไว้ในคลัง มนุษย์ในปัจจุบันก็ได้เลียนแบบชีวิตเมื่อโบราณเช่นกัน แต่เปลี่ยนจากการสะสมอาหารมาเป็นการสะสมข้อมูลข่าวสาร

มีคำพูดหนึ่งที่น่าสนใจคือ ข้อสังเกตที่ว่ามนุษย์เราจะเป็นไปอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับว่าเราอยู่ใกล้ชิดกับอะไร? โดยตอนเริ่มต้นมนุษย์จะเหลาเครื่องมือให้แหลมคม เมื่อถึงจุดหนึ่งเครื่องมือนี้ก็ทำให้มนุษย์มีความคิดแหลมคมมากขึ้น อันนี้เป็นการพูดเปรียบเทียบถึงเทคโนโลยีที่เป็นสื่อ ทำให้ความคิดของมนุษย์แหลมคมมากขึ้น ตัวอย่างโทรทัศน์เพียงเครื่องเดียวสามารถนำสนามรบที่อยู่ห่างไกลมาถึงห้องนอนอันแสนสุขสบายของเราได้ สื่อจึงมีบทบาทมากมาย ไม่ใช่เพียงโทรทัศน์อย่างเดียว อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ กล้องถ่ายรูป ก็สามารถส่งผ่านคนละซีกโลกได้ ซึ่งไม่ใช่จะเป็นเศรษฐีเท่านั้นที่ทำได้ แม้กระทั่งอินเดียนแดงในป่าอเมซอนหรือผู้ก่อการร้ายที่ซีเรียก็สามารถกระทำได้เช่นกัน

นี่คืออิทธิพลของสื่อที่ต้องยอมรับว่ามีมากมายในโลกทุกวันนี้ คนตัวเล็กๆในโลกจึงรู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจมากขึ้น สื่อดิจิตอลด้านหนึ่งทำให้เกิดความเป็นปัจเจก แต่อีกด้านก็ทำให้มนุษย์เคว้งคว้างมากขึ้น ด้วยเหตุผลของสื่อเป็นตัวการหลักทำให้มนุษย์เหมือนถูกปลดปล่อย ทุกปริมณฑลล้วนเต็มไปด้วยการปลดปล่อยทั้งสิ้น มีการปลดปล่อยเรื่องเพศ ปัจจุบันไม่ได้มีแต่เพศหญิงเพศชาย แม้กระทั่ง “วู้ดดี้” ซึ่งเป็นคนไทยแท้ๆก็แต่งงานกับผู้ชายด้วยกันและไปไกลมากกว่าการเป็นเพศที่ 3 เสียแล้ว เพราะเขายอมรับว่าตัวเองกับเพื่อนชายที่แต่งงานด้วยต่างก็ผ่านการเป็นเพศที่ 3 ผู้หญิงเรียกร้องการปลดปล่อยสิทธิสตรี ชนกลุ่มน้อยก็เรียกร้องการปลดปล่อยทางวัฒนธรรม แม้กระทั่งเมืองไทยขณะนี้ชาวบ้านก็เรียกร้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนา ดังตัวอย่างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เทพาและกระบี่ที่ทำให้ “ลุงตู่” ปวดหัวอยู่ในขณะนี้

สังคมในโลกทุกวันนี้ต่างเรียกร้องการปลดปล่อยทั้งสิ้น ทุกคนเรียกร้องเสรีภาพ จนกระทั่งบางคนกล่าวว่าเสรีภาพในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องเรียกร้องแล้ว เพราะโลกบ่ายหน้าสู่ทิศทางความมีเสรีภาพไปหมดสิ้น เมื่อตัวเองมีเสรีภาพก็แปลว่าตัวตนหรือ subject กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีแล้ว เมื่อ subject ไม่มีก็เท่ากับว่า the other หรือผู้อื่นก็ไม่มีด้วย สภาวะเช่นนี้เรียกว่า “สภาวะเมาหัวราน้ำ” จนเข้าใจไม่ได้ว่าอะไรเกิดขึ้นในโลก

เสรีภาพที่ได้รับเกิดขึ้นทั่วโลกภายใต้อำนาจของสื่อ ซึ่งเป็นปัจจัยผลักดัน แต่การใช้ประโยชน์เป็นสิ่งที่ใครๆก็สามารถกระทำได้ นี่คือสาเหตุหลักที่ต้องตอบคำถามเรื่องเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะเงื่อนไขหลัก 2 ประการคือ ข้อแรก มันคือฉันทามติในการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่สามารถมีสิทธิและเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ได้ ไม่เว้นแม้แต่ผู้ปกครองสูงสุดก็ต้องดำรงอยู่ภายใต้เงื่อนไขและฉันทามติการยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์แบบเดียวกัน

ประการที่สอง เป็นข้อแม้และเงื่อนไขการปกครองระบอบประชาธิปไตยคือ สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก

ทั้ง 2 ข้อต่างหากคือสิ่งสำคัญภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย อาจบอกได้อีกอย่างคือ 2 ดัชนีชี้ถึงระดับความเป็นประชาธิปไตยมากหรือน้อยในแต่ละประเทศ ซึ่ง 2 เงื่อนไขนี้ก็โยงถึงสิทธิและเสรีภาพของสื่อนั่นเอง

ถ้าเราพิจารณาในภาพกว้าง บทบาทการตรวจสอบในระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่บทบาทที่ต้องผูกขาดอยู่กับนักการเมืองหรือวุฒิสมาชิกที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญให้เป็นหน้าที่เท่านั้น แต่บทบาทของประชาชนที่มีความสัมพันธ์กับสื่อสารมวลชนก็ถือเป็นการทำหน้าที่ในการตรวจสอบรัฐบาลและพรรคการเมืองหรือผู้ปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ไม่อาจปฏิเสธได้ เวลาเป็นสิ่งที่ต้องมีอยู่และดำรงอยู่เช่นกัน ไม่ว่าใครจะชอบหรือไม่ชอบอย่างไรก็ไม่สามารถปฏิเสธบทบาทตรงนี้ได้ นอกจากระบอบการปกครองนั้นๆจะเป็นระบอบอื่นที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม บทบาทการแสดงออกตรงนี้เราต้องโยงชี้ให้เห็นว่าวุฒิภาวะในการแสดงออกของประชาชนก็เป็นอีกดัชนีชี้สำคัญที่เลี่ยงไม่ได้ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งไม่แตกต่างจากการเมืองหรือบรรดาผู้ปกครองเช่นเดียวกัน

มีนักปรัชญาบางคนเขียนหนังสือชื่อ “The end of history and the last man” ซึ่งสรุปได้ว่าโลกนี้จะไม่มีการแสดงละครอีกต่อไปแล้ว แต่จะมีเฉพาะเสรีภาพของละครทางจิตสากลที่เป็นศัพท์วิเคราะห์จิตวิทยา หมายความว่าจะมีการเอาสิ่งที่อยู่ใต้จิตของคนไข้ออกมา โดยให้คนไข้มีส่วนเป็นผู้ปฏิบัติและให้นักจิตวิทยาคอยเป็นผู้สังเกตการณ์

นี่คือสภาวะที่เกิดขึ้นและเกิดขึ้นในเมืองไทยแล้ว ทิศทางข้างหน้าต่อไปของอารยธรรมก็จะเต็มไปด้วยการปลดปล่อย สิ่งที่เป็นเกราะกำบังก็จะถูกพังทลายลงไปทั้งสิ้น ความยากในการปฏิรูปประเทศคงไม่ได้อยู่ที่ใครอยากจะปรองดอง แต่อยู่ที่ทุกคนจะเข้าใจและยอมรับความจริงในโลกนี้หรือไม่?


You must be logged in to post a comment Login