วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

นักศึกษายังไม่มีเอกภาพ! / โดย ประชาธิปไตย เจริญสุข

On January 16, 2017

คอลัมน์ : ฟังจากปาก
ผู้เขียน : ประชาธิปไตย เจริญสุข

นายเนติวิทย์ให้ความเห็นถึงบ้านเมืองภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า ไม่มีสิทธิเสรีภาพ และมีการใช้อำนาจบาตรใหญ่มากกว่าที่เคยเจอมาในหลายยุคที่ผมเติบโตมา ยืนยันว่ายุคนี้เป็นยุคที่แย่ที่สุดยุคหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ยกตัวอย่างเรื่องเศรษฐกิจของประเทศไทยตอนนี้ ถือว่าแย่กว่าในหลายๆปีตั้งแต่ผมจำความได้ ซึ่งครูที่โรงเรียนเล่าให้ฟังว่า มีนักเรียนที่อยู่โรงเรียนผมลาออกจากโรงเรียน เพราะพ่อแม่ผู้ปกครองต้องย้ายกลับภูมิลำเนาไปหางานทำ

ส่วนเรื่องการเมืองก็เห็นอยู่ว่าไม่มีความเป็นประชาธิปไตย เขาอยากจะทำอะไรก็ได้โดยไม่ฟังเสียงของประชาชน เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่มีคนคัดค้านมากมาย ถ้าในยุคประชาธิปไตย ส.ส. ที่ประชาชนเลือกมาต้องมีความรับผิดชอบ แต่วันนี้เราไม่สามารถหาความชอบธรรมให้ประชาชนได้ด้วยซ้ำไป เรื่องสังคม วัฒนธรรม ก็ย้อนยุคกลับไปเรื่อยๆ ให้เด็กไปฝึกทหาร ทั้งที่เราต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาโดยตลอดและพยายามที่จะให้ทหารหรือกองทัพหมดอิทธิพลในทางการเมือง แต่กลับกลายเป็นว่าตอนนี้เขาพยายามจะเอาวัฒนธรรมทหารกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

เรื่องสิทธิเสรีภาพเขาก็ค่อนข้างฉลาด พยายามลดทอนลงไปทีละเล็กทีละน้อยโดยที่พวกเราไม่ค่อยรู้ตัวกัน เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เห็นได้ชัดเจน สิ่งที่น่ากลัวขณะนี้คือ มันอยู่ภายใต้บริบทที่เราไม่มีประชาธิปไตยและมีการใส่ร้ายกันทางการเมืองกับคนที่คิดต่าง เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถไว้วางใจอะไรได้ อย่างกรณี “ไผ่ ดาวดิน”

การเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษา

ผมพูดตรงๆว่าน่าเสียดายถ้าเรายังไม่มีการสังเคราะห์วิธีเท่าไร ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาไม่มีการคุยกันในเชิงเป้าหมายร่วมกัน ทำงานร่วมกัน อันนี้ผมอาจเป็นคนนอกวงก็ได้ แต่สิ่งที่ผมรู้สึกว่ายังไม่ค่อยเห็นในขบวนการต่อสู้ เช่น ไม่มีคำวิพากษ์วิจารณ์เลยว่าการเคลื่อนไหวของนักศึกษาล้มเหลวอย่างไรบ้าง ไม่พูดกันแบบเปิดเผย อาจพูดกันลับๆ ซึ่ง 3 ปีหนังสือเกี่ยวกับการต่อต้านไม่เห็นมีเลย คู่มือล้มรัฐบาลอย่างโน้นอย่างนี้ไม่ปรากฏ จริงๆมันควรจะมีหนังสือแนวนี้ออกมา

นี่ถือเป็นตัวชี้วัดให้เห็นว่าเรายังไม่จริงจังเพียงพอในเชิงความรู้ ในเชิงการต่อต้านเผด็จการเลย นี่คือความล้มเหลวอย่างหนึ่ง ในอนาคตผมคิดว่าเราควรจะเรียนรู้ได้แล้ว ถ้าต้องการจะสู้เราต้องจัดตั้ง ต้องมีกองทุน ผมขอฟันธงว่าขบวนการนักศึกษาที่ต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในขณะนี้ยังไม่มีความเป็นเอกภาพเพียงพอ ต่างคนต่างเคลื่อนไหวมากกว่า ข้อมูลต่างๆที่เป็นประโยชน์ในการต่อสู้ยังไม่มีมากเพียงพอด้วย ผมคิดว่าเราอาจทำงานกันช้าไป หรือไม่ดีพอ หรือบางทีเราไม่ได้มองเป้าหมายในระยะยาวเท่าไร เราไม่ได้มองว่าจะป้องกันการกลับมาของเผด็จการในอนาคตอย่างไรด้วย

แนวทางให้นักศึกษามีเอกภาพ

ผมคิดว่าเราต้องกล้าวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองอย่างเปิดเผย คือต้องให้สาธารณะเข้าถึง ซึ่งจะช่วยกดดันให้เกิดไอเดียแนวคิดใหม่ๆขึ้น ควรจะมีประชาธิปไตยภายในขบวนการในการทำอะไรก็ได้เพื่อให้เกิดข้อเสนอแนะต่างๆให้มากที่สุด ตรงนี้สำคัญมาก ต้องมีหลายๆเสียงให้เกิดไอเดียในการต่อต้าน และการต่อต้านควรมีเป้าหมายที่เป็นรูปธรรม เวลาเราเสนออะไรก็ตามผมว่าบางทีต้องมีรูปธรรม เขาทำยังไงและเราจะทำอะไร เป้าหมายเราคืออะไร ต้องมีรูปแบบและขั้นตอนที่ชัดเจน เราจะทำอย่างไรให้มรดกเผด็จการหายไป เป้าหมาย 5-10 ปีเป็นยังไง จะทำอะไรขณะนี้ คือการฟื้นฟูขบวนการนักศึกษา รวมถึงมีเครือข่ายไปพูดคุยกับขบวนการนักศึกษาในอดีต อาจจัดเสวนาเป็นร้อยๆครั้ง คสช. ยังทำได้เลย เราก็รับฟังบ้างเป็นร้อยๆครั้ง ต้องสู้กันในเรื่องนี้ แต่ผมก็ยังไม่แน่ใจว่าใครจะเป็นผู้นำในการฟื้นฟูขบวนการนักศึกษาให้กลับมาเป็นเอกภาพ

ถามว่าขบวนการนักศึกษาในอดีตควรเป็นแกนกลางหรือไม่ ผมคิดว่าอาจจะเป็นเครือข่ายเดียวกันก็ได้ แต่ผมยังไม่แน่ใจและยังไม่สามารถระบุอะไรได้ อย่างผมเป็นคนนอกวง ผมไม่มีขบวนการอะไรนัก ผมก็ช่วยเขาได้บ้างเท่านั้นเอง

การขับเคลื่อนของนักศึกษา

ผมมองในแง่ดีว่าอย่างน้อยตอนนี้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ก็ทำให้คนตื่นตัว หมายถึงคนรุ่นใหม่ในมหาวิทยาลัย อย่างในมหาวิทยาลัยผมนักศึกษาหลายคนอาจไม่สนใจสังคมการเมืองเลยก็มีความสนใจในช่วงนี้ค่อนข้างมาก มีการเคลื่อนไหวถือป้ายประท้วงอะไรแบบนี้ เท่าที่ประเมินแนวโน้มในอนาคตน่าจะดีกว่าปี 2559 คือปี 2559 มีเหตุการณ์สำคัญหลายเหตุการณ์ และคนไทยยังอยู่ในช่วงเวลาโศกเศร้าจนขบวนการนักศึกษาไม่สามารถเคลื่อนไหวอะไรได้ เพราะจะดูไม่เหมาะสม ทำให้ไม่มีการเคลื่อนไหวใหญ่เกิดขึ้น ผมคิดว่าปี 2560 อาจมีการเคลื่อนไหวใหญ่กว่าหลายปี แต่ก็อยู่ที่ความพยายามของขบวนการนักศึกษาทั้งหมดว่าจะมีเอกภาพอย่างไร

ผมคิดว่าบางทีฝ่ายเผด็จการก็ฉลาด ในแง่ที่ว่าเขาพยายามทำตัวให้ดูโง่แล้วเราด่าเขาเยอะๆ พอเราด่าเยอะๆ วิพากษ์เสียดสีแล้วก็ถือว่าทำสำเร็จแล้ว แต่เราไม่ได้มองไปลึกกว่านั้น เพราะฉะนั้นที่เขาพยายามทำตัวเหลวไหลนั้น เราไม่รู้ว่าเป็นแผนการอย่างหนึ่งหรือไม่ในการเบี่ยงเบนประเด็นของเรา เหมือนเขาไม่สนใจเราด้วย นี่คือปัญหาว่าขบวนการนักศึกษาจะทำยังไงให้ฝ่ายต่างๆเลื่อมใสศรัทธา

ผมคิดว่าบางทีขบวนการนักศึกษาเราไม่คิดอย่างนี้ ยิ่งสื่อตอนนี้ไม่ค่อยมีงานทำนัก เพราะถูกปิด และการจะเสนอข่าวอะไรก็ทำไม่ได้เต็มที่ เราต้องดูให้ได้ ต้องทายให้ออกว่าจะทำอย่างไร สร้างความน่าเชื่อถือให้ได้ ไม่ใช่เราทำอะไรไป 5 คน 10 คน แล้วคิดว่าแค่นี้ก็เขย่ารัฐบาลได้แล้ว ซึ่งไม่ใช่

ประเด็นหลักในการเคลื่อนไหว

อย่างเรื่อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่มีคนเคลื่อนไหว นิสิตจุฬาฯออกไปถือป้ายอะไรกัน เขาคงเคลื่อนไหวต่อไป ขณะที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ผมยังไม่เห็นนักศึกษาเคลื่อนไหวเลย อันนี้น่าแปลกใจมาก เช่น กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) ไม่รู้ตอนนี้อยู่ที่ไหน หรือกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ก็ยังเคลื่อนไหว เชื่อว่าปีนี้น่าจะเคลื่อนไหว

นอกจากเรื่อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์แล้ว ผมคิดว่าน่าจะมีประเด็นอื่นที่สำคัญอย่างการเคลื่อนไหวเชิงวัฒนธรรมว่าเราจะต่อต้านวัฒนธรรมทหารไม่ให้กลับมาได้อย่างไร นักศึกษาหลายกลุ่มอาจมีวิธีการเคลื่อนไหวที่มีศิลปะมากขึ้น

เชื่อว่าปี 2560 มีเลือกตั้งหรือไม่

ผมไม่ค่อยเชื่อที่รัฐบาล คสช. ประกาศโรดแม็พไว้ คือเขาพูดอย่างนี้มาหลายรอบแล้ว และขณะนี้เราอยู่ในยุคของความไม่แน่นอน ผมคิดว่าเราไม่ควรจะฝากความหวังไว้กับเผด็จการ การที่เราเป็นคนไม่มีกำลัง เป็นคนอ่อนแอ เราเลยฝากความหวังไว้กับคนพวกนี้ตลอดเวลา ผมไม่รู้ว่ามันอาจเป็นนิสัยลักษณะของคนไทยหรือเปล่าที่พูดว่า พอถูกเขาหลอกเราก็ลืมอะไรไปแล้ว ซึ่งจะเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้งเราไม่รู้ แต่เราควรรู้ว่าเราควรจะจัดการกับเผด็จการอย่างไรดีกว่า เราต้องมองถึงขนาดนั้นเลย ถ้ารอเลือกตั้งแล้วสุดท้ายก็ผิดหวัง อย่างนี้ไม่ต้องรอ

ผมคิดว่าเรามีวิธีการจะผลักดันให้เผด็จการออกไปหลายวิธี เราต้องดูว่าเขามาได้ยังไง คนไม่ศรัทธาในระบอบการเมืองแบบรัฐสภาก็จริงอยู่ บังเอิญผมเติบโตช่วงนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กปปส. ที่ไม่เอาเลือกตั้ง แต่สังคมประชาธิปไตยต้องอยู่ร่วมกันได้ เผด็จการทหารหรือฝ่ายอนุรักษ์นิยมมีอำนาจมากกว่าเราอยู่แล้ว เราจะใช้เหตุผลอย่างเดียวไม่ได้ เขาไม่ฟังเราหรอก และเราไม่มีอำนาจด้วย เราควรคิดทบทวนว่าทำอะไรได้บ้าง สำหรับผมคิดว่าเราสามารถทำให้เราเป็นบุคคลที่มีความรับผิดชอบทางการเมืองได้ หมายถึงในฐานะปัจเจกบุคคล เมื่อเราเห็นว่าที่ผ่านมามันล้มเหลว ขนาดสมัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ตอนนั้นผมไปเรียกร้องและเสนอเรื่องการศึกษา เขาไม่สนใจผมด้วยซ้ำไป พอผมไปจุดเทียน เขาคิดว่าพวกเดียวกัน เขาก็จะสนับสนุน เขาคิดอย่างนั้น ผมบอกเลยถ้าการเมืองเป็นแบบนี้ อีกฝ่ายหนึ่งยังไงเขาก็จะชนะเรา

ดังนั้น สิ่งที่ทำได้คือ ตอนนี้ผมยังอยู่ในวัยในมหาวิทยาลัย สภานิสิตจุฬาฯที่ผมทำคือ จะเป็นผู้แทนที่ดีให้ได้ เพราะการเมืองไม่ได้สกปรกเสมอไป นี่คือสิ่งที่เราทำได้ แล้วตอนนี้ถ้าเห็นว่าไม่อยากให้ประเทศกลับไปสู่ยุคเผด็จการ เราก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ปลอดภัยกว่า เสรีกว่า ทำให้คนมีความสุขมากกว่าระบอบเผด็จการ ตรงนี้เราต้องพิสูจน์โดยไม่ต้องรอการเมืองระดับชาติก็ได้

เราสามารถเข้าไปอยู่ในแวดวงการเมืองในระดับท้องถิ่นหรือระดับไหนก็ได้ จากนั้นเราอาจคิดถึงการรวมตัวกันเพื่อเล่นการเมืองในระดับใหญ่กว่านั้น คือต้องพิสูจน์ให้คนเห็นให้ได้ คนที่ผ่านมาเหลวแหลกเยอะ รุ่นพ่อ รุ่นแม่ หรือรุ่นอะไร เราต้องทำให้เห็นว่าคนจริงยังมีอยู่

ถ้าไม่มีเลือกตั้ง

ถ้าไม่มีการเลือกตั้งปลายปี 2560 ก็เป็นไปได้ที่จะเป็นเงื่อนไขให้ภาคประชาชนและขบวนการนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาล คสช. หรือมีเงื่อนไขอื่นประกอบ เช่น สถานการณ์เศรษฐกิจเป็นอย่างไร ถ้ามันแย่มากก็อาจจะเกิด รวมถึงกฎหมายต่างๆ การจับกุมคน แกนนำในแต่ละฝ่ายมีเป้าหมายร่วมกันหรือเปล่า ต้องคุยกันเรื่องนี้ ผมหวังว่าคนที่อยู่ในระดับแกนนำสีต่างๆในอดีตน่าจะยุติเรื่องสีได้แล้วและต่อสู้กับรัฐบาลทหารร่วมกัน ถ้าเขาเห็นอย่างนี้ ผมคิดว่าก็มีโอกาสเกิดการชุมนุมขนาดใหญ่ได้

ถามว่ารัฐบาล คสช. มีมาตรา 44 คอยคุมอยู่ ผมคิดว่าเรื่องนี้อยู่ที่จำนวนคนด้วย เช่น จำนวนคนมากขนาดไหน และอยู่ที่ยุทธวิธีการตอบโต้ของเราด้วยว่าจะทำยังไง ในส่วนขบวนการนักศึกษาบางทีก็เป็นปัญหาที่ไม่ค่อยดึงเอามวลชนเข้ามาร่วม ไม่ค่อยสนใจจำนวนคน แต่ไปสนใจสื่อว่าออกกี่ช่องมากกว่า ทั้งที่ผมมองว่าเรื่องมวลชนเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะการสร้างความศรัทธาเป็นสิ่งสำคัญ

ผมยอมรับว่า คสช. เป็นคณะรัฐประหารที่น่าจะแข็งแกร่งกว่าคณะรัฐประหารในอดีต คิดดูว่าทำไมเขายังอยู่ได้ขนาดนี้ ถ้าไม่แข็งแกร่งอยู่ไม่ได้แล้ว แสดงว่าต้องแข็งแกร่ง นี่ยุคไหน อยู่มาได้ 3 ปี คนมีการศึกษาทั่วบ้านทั่วเมือง คนทั่วประเทศก็รู้ว่าประชาธิปไตยเราอยู่ในขั้นวิกฤตแค่ไหน แต่เราไม่พยายามเรียกร้องความรับผิดชอบจากรัฐบาลเลย นักวิชาการหลายๆคนยังสนับสนุนเผด็จการ ผมคิดว่าเราโจมตีพวกนี้น้อยไปด้วยซ้ำ ถ้าเป็นต่างประเทศคนพวกนี้ถือเป็นตราบาปเลย ไม่มีให้อภัย เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ทำอะไรอย่างนี้มันเกินไป

แต่คนไทยเราไม่มองถึงอนาคตของลูกหลานมากพอ มองชะตาของตัวเองมากกว่าจะมองประเทศไทยในอนาคตว่าควรเป็นแบบไหน ที่สวนดุสิตโพลระบุว่าคนไทยส่วนใหญ่ชื่นชอบรัฐบาลรัฐประหารมากกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ผมก็ไม่รู้ว่าโพลมันเป็นยังไง แต่ทำให้เราเลิกที่จะไปโจมตีเผด็จการ

ดังนั้น เราต้องกลับมาคิดว่าจะทำยังไงให้เสื้อสีทั้งหลายมันลดน้อยถอยลงไป เพราะทหารทำให้คนเห็นว่าเป็นศัตรูร่วม เราจะทำยังไงให้สามารถสร้างสังคมที่ประชาชนรู้สึกถึงความรับผิดชอบต่อประเทศชาติขึ้นมา

โอกาสเห็นประชาธิปไตยเบ่งบาน

ยังมีทาง แม้เรายังมีวิกฤตก็ตาม อย่างน้อยทำให้เห็นว่าผมต้องมีความรับผิดชอบต่อระบอบการเมืองมากขึ้น ถ้าผมเป็นนักการเมืองได้ ผมต้องเป็นนักการเมืองที่ดี เอาง่ายๆ ผมเปรียบเทียบอย่างยุคช่วงสงครามเลย สงครามโลกที่เห็นความพินาศอะไรต่ออะไร เราเป็นคนในรุ่นสงครามและหลังสงคราม เราต้องฟื้นฟูชาติเรา ฟื้นฟูสังคมของเรา โดยเราจะต้องเป็นตัวอย่างที่ดี ไม่อย่างนั้นเราก็จะเห็นเผด็จการหรือสังคมที่คนไม่ให้เกียรติซึ่งกันและกันกลับมาอีกครั้ง คนรุ่นผมคิดอย่างนี้ว่าเราอยู่ในยุคสร้างชาติ เรากำลังสร้างชาติใหม่อีกครั้ง นั่นแหละเป็นสิ่งที่หนักหน่วง ถ้าเราคิดได้อย่างนี้ ผมว่าเราจะเห็นรุ่นเราต้องแบกรับภาระมากกว่ารุ่นอื่นหน่อยในแง่ที่คนรุ่นอื่นๆล้มเหลว เราต้องทำให้สำเร็จ ถ้าเราคิดแบบนี้ได้ เริ่มคิดได้ว่าเราต้องเสียสละหลายๆอย่าง ผมคิดว่าสังคมที่ดีก็เป็นไปได้


You must be logged in to post a comment Login