วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

อนาคตทางจักรยาน / โดย ณ สันมหาพล

On January 9, 2017

คอลัมน์ : โลกไม่หยุดนิ่ง
ผู้เขียน : ณ สันมหาพล

กลับมาเรื่องเส้นทางจักรยานในสหรัฐอีก 5 แห่งที่มีชื่อคือ รัฐมินนิโซตา ติดอันดับจากความสามารถในการเปลี่ยนตัวเองจากศูนย์อุตสาหกรรมซอมซ่อมาเป็นศูนย์จักรยานที่ทันสมัย ซึ่งทำมาตั้งแต่ 20 กว่าปีที่แล้ว โดยดัดแปลงเส้นทางรถไฟที่ถูกทิ้งร้างจากการปิดตัวของโรงงานให้เป็นเส้นทางจักรยานที่เชื่อมต่อกับบริเวณรอบนอกไปยังใจกลางมหานคร

วัฒนธรรมการขี่จักรยานจนถึงขณะนี้มีเกือบร้อยละ 5 ของการเดินทางภายในมหานคร ถือว่าการเดินทางด้วยจักรยานสูงเป็นอันดับต้นๆของประเทศ ยิ่งกว่านั้นปีที่ผ่านมายังได้ริเริ่มจัดเทศกาลจักรยาน มีผู้เข้าร่วมกว่า 65,000 คน

การผลักดันการขี่จักรยานไม่หยุดเพียงเท่านี้ ยังมีโครงการส่งเสริมนักเรียนขี่จักรยานไปโรงเรียน และเดินหน้าให้เดินทางด้วยเส้นทางจักรยาน โดยทั้งสองฝั่งมีต้นไม้ประดับเพื่อให้คนในชุมชนมีพื้นที่พักผ่อนและนั่งพูดคุยกับเพื่อนบ้าน

ที่สำคัญรัฐมินนิโซตากำลังสร้างทางจักรยานแบบป้องกันอันตรายครบวงจร มีระยะทาง 30 ไมล์ใน 3 พื้นที่หลักย่านธุรกิจ โดยผู้ขี่จักรยานไม่ต้องกลัวจะถูกรถชนหรือคนเดินเท้าวิ่งตัดหน้า

อันดับต่อมา Austin เป็นมหานครในรัฐเทกซัสที่เพิ่งโด่งดังจากการเปิดเส้นทางจักรยานริมแม่น้ำที่ตัดผ่านจนกลายเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว และยังมีชื่อเสียงที่รองรับการเดินทางด้วยจักรยานเพื่อเชื่อมต่อกับชุมชนผู้มีรายได้น้อย ชุมชนเกษตรกรกับย่านธุรกิจ มีความยาว 7 ไมล์ ทั้งยังเตรียมเปิดทางจักรยานเหนือพื้นที่สีเขียวเนื้อที่กว่า 800 เอเคอร์ เป็นเส้นทางเชื่อมเส้นทางอื่นๆ และจะเป็นสถานที่พักผ่อนที่จะเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวสำคัญ เฉลี่ยแล้วร้อยละ 10 ของผู้ที่มีบ้านเรือนไม่ห่างย่านธุรกิจจะใช้จักรยานในการเดินทาง ทำให้มหานครแห่งนี้เดินหน้าเป็นเส้นทางที่ปลอดอุบัติเหตุจากจักรยาน 100%

Cambridge ในรัฐแมสซาชูเซตส์ มีชื่อเสียงในฐานะที่ตั้งสถาบันอุดมศึกษาระดับโลก ทั้งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและสถาบันเทคโนโลยีเอ็มไอที จึงไม่แปลกที่ชาวนครแห่งนี้จะนิยมใช้จักรยานและให้ความสำคัญกับนโยบายโลกสีเขียว การดำเนินมาตรการเพื่อผลักดันให้เป็นนครจักรยานจึงเกิดขึ้นพร้อมกับมาตรการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งทำมาแล้วร่วม 20 ปี

ผลพลอยได้ด้านหนึ่งคือ เป็นนครจักรยานปลอดภัยกับนครจักรยานก้าวหน้า ซึ่งมีการคิดเชิงก้าวหน้าตลอดเวลา อย่างขณะนี้กำลังรณรงค์ให้ผู้ขี่จักรยานซ้อนท้าย ทำให้จำนวนผู้ใช้จักรยานพุ่งขึ้นทันที ทางมหานครได้จัดให้สถานที่ทำงานจัดที่สำหรับอาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้าให้พอเพียง เนื่องจากมีผู้ใช้จักรยานมากถึงร้อยละ 44 ซึ่งเป็นสตรี และมีสูงสุดในประเทศ

ทั้งนี้ ก่อนจะเริ่มโครงการ ผู้บริหารนครจะส่งชุดสอบถามเพื่อสอบถามความเห็นเชิงลึกผู้ที่ยังไม่ได้ใช้จักรยานหรือยังไม่เห็นความสำคัญของการใช้จักรยาน ผลที่ได้คือ การออกแบบรางจอดจักรยานในจัตุรัสใจกลางนคร ซึ่งได้รับรางวัลการออกแบบสร้างสรรค์หลายรางวัล และผู้รักจักรยานต่างฝันว่าวันหนึ่งจะต้องนำจักรยานไปจอดไว้

Washington, D.C. นครหลวงแห่งนี้ขึ้นชื่อเรื่องจักรยานมานานแล้ว โดยเฉพาะเป็นแห่งแรกๆที่เปิดบริการแบ่งปันจักรยานให้กับประชาชน คาดว่าจะมีมากถึง 99 จุดในอีก 2 ปี ทั้งยังเป็นนครแห่งแรกๆที่ออกแบบขอบถนนเพื่อป้องกันอันตรายให้ผู้ขี่จักรยาน ล่าสุดยังริเริ่มโครงการสร้างคนรุ่นใหม่ให้ขี่จักรยานตั้งแต่เรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 2 โดยให้โรงเรียนหมุนเวียนใช้จักรยานเกือบ 1,000 คันที่ได้รับบริจาค การให้ความสำคัญดังกล่าวทำให้ลดความเหลื่อมล้ำทางฐานะและความเป็นอยู่ได้อย่างดี เพราะทราบกันดีว่า วอชิงตัน ดี.ซี. มีคนสีผิวที่ยากจนอาศัยอยู่จำนวนมาก การสร้างเส้นทางจักรยานเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับคนยากจนได้เชื่อมกับพื้นที่เจริญ หนึ่งในเส้นทางจักรยานมีระยะทางถึง 70 ไมล์ และมีช่วงหนึ่งอยู่เหนือริมแม่น้ำ

Boulder ทำให้เป็นข่าวใหญ่ ซึ่งเป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโคโลราโดคือ การรื้อถอนเส้นทางจักรยานที่สร้างเพื่อเชื่อมระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนและย่านธุรกิจ โดยการรื้อถอนใช้เวลา 11 สัปดาห์หลังจากมีการเปิดใช้ ทำให้มีผู้ใช้รถยนต์ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน โดยอ้างว่าเป็นสาเหตุให้การจราจรเคลื่อนตัวช้า ทำให้ทำลายชื่อเสียงของนครแห่งนี้ไม่น้อยในฐานะที่เป็นเสาหลักนครแห่งความเป็นมิตรกับผู้ใช้จักรยาน

ทั้งนครแห่งนี้ยังประกาศเป็นห้องทดลองการอยู่กับธรรมชาติที่ปลอดภัย ซึ่งเส้นทางจักรยานเป็นผลพลอยได้หนึ่งของโครงการ แต่ก็มีคนไม่เห็นด้วย เพราะมีปัญหาเรื่องการจราจรและที่จอดรถ

เส้นทางจักรยาน 10 แห่งในสหรัฐนี้ ประเทศไทยน่าจะนำมาศึกษาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยว รวมถึงพื้นที่อุทยานแห่งชาติต่างๆ


You must be logged in to post a comment Login