วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

ปราบโกงเป็นเพียงการผายลม! / โดย กิตติพิชญ์ ยิ่งวรการสุข

On October 24, 2016

คอลัมน์ : ฟังจากปาก
ผู้เขียน : กิตติพิชญ์ ยิ่งวรการสุข

สถานการณ์คอร์รัปชันยุค คสช.

หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน ผมคิดว่าเป็นที่น่าพอใจ โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันอย่างจริงจัง แต่พอผ่านไป 2 ปี ความรู้สึกภูมิใจกลับผิดหวัง เพราะรูปธรรมที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายกรณีสะท้อนให้เห็นว่า คสช. ไม่ได้มีมาตรฐานการแก้ปัญหาคอร์รัปชันอย่างจริงจัง ทำให้สาธารณชนหรือสังคมผิดหวังไปตามๆกัน โดยเฉพาะกรณีที่เกิดล่าสุด 2-3 กรณี สะท้อนให้เห็นว่าการแก้ปัญหาคอร์รัปชันไม่ได้แตกต่างจากรัฐบาลที่ผ่านมาเลย

ผมยังคิดว่าการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันของรัฐบาล คสช. ไม่ถึงกับล้มเหลว แต่จะยกย่องเชิดชูว่าเป็นผลงานชิ้นโบแดงก็ไม่ได้ เพราะรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยต่างยึดถือนโยบายปราบปรามคอร์รัปชัน รัฐบาลชุดนี้ถือว่ามีอำนาจเต็มมาก มีมาตรา 44 เป็นเครื่องมือ และมีผลงานหลายเรื่อง โดยเฉพาะข้าราชการในระดับต่างๆ ระดับท้องถิ่นก็ถูกคำสั่ง คสช. ไปหลายคน แต่เมื่อมีกรณีคนใกล้ชิดท่านนายกฯ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี) มาตรการในการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับลดต่ำลงกว่ามาตรฐาน ซึ่งประชาชนสามารถเปรียบเทียบได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเช่าเหมาลำเครื่องบินขนาดใหญ่ไปประชุมของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กรณีสร้างฝายแม่ผ่องพรรณพัฒนา หรือการปล่อยปละละเลยให้ลูกชายของ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ตั้งบริษัทในค่ายทหาร การแต่งตั้งลูกชายเป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตร

สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่ารัฐบาลเน้นเพียงให้ประชาชน สังคมไทยคำนึงหรือต่อต้านในเรื่องคอร์รัปชัน แต่กลับเพิกเฉยหรือไม่ได้ใส่ใจอย่างจริงจังกับเครือญาติหรือบุคคลใกล้ชิด องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องต่างก็พยายามไม่ให้กระทบถึงผู้มีอำนาจในปัจจุบัน ส่งผลให้มาตรฐานของการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันแตกต่างกัน หรือเข้าข่ายเลือกปฏิบัติชัดเจน

ดังนั้น น้ำหนักที่รัฐบาลพยายามโฆษณา รณรงค์ให้ภาคประชาชนให้ความสำคัญเรื่องการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชัน แม้จะจัดอีเวนท์หลายรอบก็ไม่ได้สร้างความเชื่อถือให้เลย เพราะประชาชนไม่ได้กินแกลบกินหญ้าที่จะประเมินไม่ได้ว่ารัฐบาลมีความจริงจังจริงใจต่อการแก้ไขปัญหานี้เพียงใด

ผลกระทบต่อรัฐบาลอย่างไร

ผมคิดว่ามีผลกระทบต่อภาพลักษณ์รัฐบาลมาก รวมถึงบทบาทหน้าที่ขององค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องด้วย เพราะภาคประชาชนให้ความหวังค่อนข้างสูง แต่ผลงานที่เห็นหลายกรณีเคลือบแคลงน่าสงสัย ไม่ว่ากรณีจีที 200 กรณีเรือเหาะ โครงการอุทยานราชภักดิ์ และ 2-3 กรณีที่ผมได้อธิบายข้างต้น

องค์กรอิสระที่ผมรู้สึกผิดหวังมากที่สุดคือ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพราะ สตง. รีบปฏิเสธว่ากรณีทริปฮาวายไม่มีการทุจริต ทั้งที่การตรวจสอบกรณีดังกล่าวไม่จำเป็นต้องทำอย่างรวดเร็ว เปิดปุ๊บติดปั๊บ หรือมีคำตอบทันที เรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลหลักฐานมาถ่วงดุลกัน ไม่ใช่เชื่อเฉพาะเอกสารหรือข้อมูลของฝ่ายรัฐ ซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหาหรือมีส่วนได้เสียโดยตรง

อย่างกรณีที่ผมร้องเรียน สตง. ล่าสุดเรื่องทริปฮาวาย 20.9 ล้านบาท ความจริงต้องไปตรวจสอบว่าข้อกฎหมายเป็นอย่างไร เพราะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องเยอะแยะเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพระราชบัญญัติการพัสดุ พระราชกฤษฎีกาการเดินทางไปต่างประเทศของข้าราชการ นักการเมือง รวมทั้งกฎหมายของ สตง. ซึ่งเขียนไว้ชัดเจนเรื่องการใช้จ่ายเงินที่ไม่เหมาะสม ไม่ประหยัด ผมถามว่าการเดินทาง 38 คน ใช้เครื่องบินที่ใหญ่โตโอฬารบรรจุได้ 416 คน แถมมีอาหารไข่ปลาคาเวียร์มาเสิร์ฟเหมาะสมหรือไม่ กฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่าต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมด้วย สตง. ตรวจสอบอย่างไรว่าไม่พบการทุจริต แต่มีความเหมาะสมหรือไม่ทำไมไม่แถลง

ข้าราชการระดับสูงต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับสังคม นักการเมือง ที่ พล.อ.ประยุทธ์ย้ำแล้วย้ำอีกในเรื่องค่านิยม 12 ประการ ตอกย้ำเรื่องการประหยัดมัธยัสถ์และพอเพียงตามแนวพระราชดำริ ยึดถือผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง ทั้งมีตัวอย่างเทียบเคียงกับนานาอารยประเทศในอาเซียนซึ่งได้เดินทางไปประชุมเหมือนกับไทย อย่างสิงคโปร์ก็ไปไม่กี่คน แล้วการประชุมครั้งนี้ก็เป็นการประชุมแบบไม่เป็นทางการด้วย จึงไม่จำเป็นต้องเอาคณะฟูลทีมไป ทั้งกองทัพอากาศก็เพิ่งซื้อเครื่องบินขนาด 120 ที่นั่ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีเพิ่งไปเปิดเจิมป้ายเมื่อเร็วๆนี้ ทำไมรัฐบาลไม่เอาเครื่องบินดังกล่าวมาใช้

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง แต่สิ่งที่ สตง. ออกมาแถลงตอกย้ำให้เห็นถึงความลุกลี้ลุกลนในการพิจารณาไต่สวนตามคำร้องโดยชอบหรือไม่ ตรงนี้เป็นข้อท้วงติง ข้อพิรุธ หรือข้อสงสัยที่ภาคประชาชนจำนวนมากออกมาท้วงติง

ถามว่าผมรู้ได้อย่างไร เพราะภาคประชาชนจำนวนมากโทรศัพท์มายังผม แสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊คผมเต็มไปหมด สะท้อนให้เห็นการเอาจริงเอาจังการแก้ปัญหาคอร์รัปชันของรัฐบาลเน้นเฉพาะข้าราชการตัวเล็กตัวน้อย หรือนักการเมืองท้องถิ่นตัวเล็กตัวน้อย พอเป็นคนของรัฐบาลระดับบิ๊กๆ ระดับประเทศ หรือคนใกล้ชิดผู้นำประเทศ องค์กรอิสระเหล่านี้กลับไม่มีความเข้มแข็ง กลายเป็นง่อยเปลี้ยเสียขาไปเลย ผมคิดว่าไม่เป็นผลดีต่อการแก้ปัญหาคอร์รัปชันในระยะยาว ยิ่งยุคนี้เป็นยุคที่อ้างว่าเป็นยุคการปฏิรูป

การดำเนินการใดๆของข้าราชการหรือนักการเมืองต้องไม่ซ้ำรอยหรือซ้ำแบบเดิมๆที่เราเคยตำหนินักการเมืองในอดีตว่ามีพฤติกรรมหรือการกระทำที่สุ่มเสี่ยงเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน เล่นพวกพ้อง เอาเครือญาติมาแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้นในยุคปฏิรูป แต่ข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นอย่างที่สังคมไทยคาดหวัง การบริหารราชการแผ่นดินและการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระไม่มีอะไรที่แตกต่างหรือเด่นชัดไปกว่าสมัยนักการเมืองในอดีตปฏิบัติ

รัฐบาลไล่บี้เฉพาะฝ่ายการเมืองตรงข้าม

การที่องค์กรอิสระไล่บี้ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของรัฐบาล โดยเฉพาะคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีโครงการรับจำนำข้าว ตรงนี้พอเข้าใจได้ แต่ปัญหาคือ ทำไมต้องมาเร่งรีบในขณะนี้ เพราะการร้องเรียนมีมาตั้งแต่ยุคที่คุณยิ่งลักษณ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาร้องเรียนขณะนี้ ในสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่สดๆร้อนๆขณะนั้น มีพยานหลักฐานอยู่ ทำไมไม่รีบดำเนินการช่วงนั้นให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน การมาเร่งรีบในช่วงนี้จึงทำให้สาธารณชนคิดอย่างอื่นไม่ได้นอกจากทำลายคู่ต่อสู้ทางการเมือง

ทำให้น้ำหนักในเชิงการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งภาคประชาชนคาดหวังไว้อาจไม่ยอมรับเต็มที่ อาจมองว่าเป็นเรื่องการกลั่นแกล้งทางการเมืองมากกว่าการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชัน

ขณะเดียวกันอย่างกรณีผมไปร้องเรียนผู้ถืออำนาจรัฐขณะนี้ ป.ป.ช. หรือ สตง. และผู้ตรวจการแผ่นดิน เร่งรีบวินิจฉัยออกมาอย่างรวดเร็ว และผลที่ออกมาส่วนใหญ่ก็ยกคำร้อง

บทบาทของ พล.อ.ประยุทธ์

ความจริงผมยังเชื่อมั่นท่านนายกรัฐมนตรีอยู่ เพราะเห็นความมุ่งมั่น ความจริงจังจริงใจในการแก้ปัญหาของประเทศ แต่ท่านก็ไม่สามารถบริหารประเทศได้โดยลำพังเพียงคนเดียว วันนี้ผมคิดว่าบุคคลรอบข้าง คนใกล้ชิดกลับทำให้เกิดภาพลักษณ์ในทางลบกับท่านนายกรัฐมนตรี ซึ่งเราจะปฏิเสธไม่ได้ที่จะตำหนิท่านนายกรัฐมนตรีด้วย เพราะท่านเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของประเทศ ดังนั้น การไม่ไปกำกับดูแล ตรวจสอบ หรือดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการระงับยับยั้งบุคคลใกล้ชิดหรือผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด อย่างทั่วถึง ก็ถือว่าท่านละเลย ละเว้นในการปฏิบัติหน้าที่เช่นกัน

แต่โดยภาพรวมแล้วผมเห็นว่าความมุ่งมั่นจริงจังของท่านนายกฯยังเป็นที่พอใจระดับหนึ่ง ถ้าท่านสามารถแก้ปัญหาบุคคลใกล้ชิดและเครือญาติได้ ผมคิดว่าประชาชนจะแซ่ซ้องสรรเสริญ ผมเชื่อว่าในสังคมยังมีคนอีกจำนวนมากที่ยอมรับและเชื่อในตัวท่านนายกฯ แต่เปอร์เซ็นต์หรือจำนวนนั้นไม่มากเหมือนในยุคแรกๆที่ คสช. ทำการปฏิวัติรัฐประหาร วันนี้น่าจะถดถอยลงไปมากพอสมควร

ดังนั้น ประเด็นปัญหาเหล่านี้น่าจะเป็นปัญหาที่นายกฯต้องประเมินตัวเองว่า 2 ปีกว่าที่ผ่านมา ทำไมเสียงที่เคยสนับสนุนอย่างจริงจังลดน้อยถอยลงไป ส่วนจะส่งผลกระทบต่อท่านในการจะก้าวขึ้นมาเป็นนายกฯคนนอกในสมัยหน้าหรือไม่ ผมคิดว่าจะเป็นประเด็นที่นักการเมืองต่างๆใช้เป็นข้อมูลในการโจมตีแน่นอนเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของ พล.อ.ประยุทธ์

ผมยังเชื่อมั่นว่าวันที่มีการเลือกตั้งและวันที่มีความพยายามจะเสนอ พล.อ.ประยุทธ์กลับเข้ามาเป็นนายกฯอีกครั้งคงดุเดือดเลือดพล่านกับประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นแน่หาก พล.อ.ประยุทธ์ไม่สามารถชี้แจงและเคลียร์ปัญหาให้สาธารณชนและสังคมยอมรับได้ แม้ท่านจะสามารถเข้ามาได้ด้วยการอุ้มของใครก็แล้วแต่ ไม่ว่าสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการแต่งตั้ง นักการเมืองที่แสวงหาอำนาจหรือผลประโยชน์โดยไม่สนใจหรือคำนึงถึงคุณธรรม จริยธรรม แต่อย่าชะล่าใจว่าเมื่อเข้ามาบริหารประเทศอีกครั้ง ซึ่งไม่มีเครื่องมืออย่างมาตรา 44 การทำงานจะสะดวก จะลื่นไหลเหมือนปัจจุบันในการแก้ไขปัญหาหรือจัดการปัญหาต่างๆได้

เพราะหลังจากมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผมเชื่อมั่นว่าไม่เฉพาะนักการเมืองในสภาที่จะเกาะติดการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม นักวิชาการคงไม่ยอมและไม่ปล่อยให้เกิดประเด็นวิกฤตในการบริหารราชการแผ่นดินเหมือนปัจจุบันที่ทุกคนยังเกรงอกเกรงใจกับมาตรา 44

พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกฯสง่างามหรือ

หากปัญหาคนใกล้ชิดยังไม่เคลียร์ ผมคิดว่าการเมืองในประเทศหรือในพลวัตการเมืองโลกก็ยอมรับหากขึ้นมาตามวิถีทางของสาธารณชน แม้จะไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุด แต่ส่วนใหญ่ก็ยึดมั่นเรื่องการเลือกตั้ง ซึ่งกลไกของรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาเองไม่น่ามีปัญหาที่ พล.อ.ประยุทธ์จะมาเป็นผู้นำประเทศอีกครั้งแน่นอน ส่วนจะสง่างามหรือไม่ ต้องทำให้สาธารณชนหรือสังคมโลกยอมรับได้ด้วย เข้ามาแล้วแก้ไขปัญหาที่คนอื่นไม่กล้าแก้ไขหรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน ถ้าท่านสามารถแก้ปัญหานี้ได้ รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจและอื่นๆ ผมมั่นใจว่าแม้เข้ามาไม่สง่างาม ประชาชนหรือองค์กรระหว่างประเทศก็ยอมรับได้

ปัญหาคอร์รัปชันในอนาคต

ผมรู้สึกผิดหวัง แม้หลายฝ่ายออกมารณรงค์แก้ปัญหาคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่รณรงค์แล้วไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างจริงจังก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ก็เป็นเพียงแค่กิจกรรมเพื่อให้เกิดข่าวในสื่อไปวันๆ ขณะที่รูปธรรมการปราบทุจริตคอร์รัปชันยังไม่มีมรรคผลอะไรที่ชัดเจน หากยังมีความพยายามที่จะช่วยเหลือ ปกปิดหรือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน การแก้ปัญหาคอร์รัปชันจะจัดกิจกรรมกี่ร้อยกี่พันกิจกรรมก็ไม่สามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาได้อย่างจริงจัง ยิ่งในยุคนี้ผมคิดว่าสังคมคาดหวังสูงมากต่อการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน แต่ที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่าเป็นเพียงการผายลมหรือเผยลมจากปากออกมาเท่านั้นเอง

ขณะที่ปัญหาคอร์รัปชันยังคงอยู่ โดยเฉพาะการคอร์รัปชันที่มีลักษณะที่แยบยลสลับซับซ้อนมากขึ้น เรื่องเหล่านี้สาธารณชนหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องต้องติดตามอย่างใกล้ชิดและต้องออกระเบียบที่หยุมหยิมมากยิ่งขึ้น เพราะไม่เช่นนั้นแล้วคนที่พยายามจะใช้อำนาจในการคอร์รัปชันก็จะอาศัยช่องว่างเล็กๆน้อยๆไปดำเนินการ อย่างปัจจุบันที่มีการผลักดันให้มีพระราชบัญญัติ 7 ชั่วโคตร 4 ชั่วโคตร หรือ 3 ชั่วโคตรอะไรเช่นนี้

พระราชบัญญัติเอาผิดเรื่องผลประโยชน์ของรัฐหรือผลประโยชน์ส่วนรวม ผมคิดว่าจะเป็นดัชนีชี้วัดที่สำคัญว่ารัฐบาลนี้มีความจริงใจต่อการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ออกมาโดยเร็วมากน้อยขนาดไหน เพราะกฎหมายฉบับนี้เคยดำเนินการมาแล้วเมื่อปี 2550 แต่ก็ตกไป เพราะ สนช. สมัยนั้นไม่ครบองค์ประชุม และไม่แน่ใจว่าไม่ครบองค์ประชุมเพราะใช้กลไกทางรัฐสภาคือไม่ยอมเข้าร่วมประชุมเพื่อทำให้กฎหมายตกไปหรือไม่
เพราะฉะนั้นยุคนี้ควรจะเร่งผลักดันกฎหมายฉบับนี้มาบังคับใช้โดยเร็ว ไม่ควรถ่วงเวลาหรือทำให้กฎหมายฉบับนี้ตกไปอีก จะสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาล คสช.ไม่มีความจริงใจต่อการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน


You must be logged in to post a comment Login