วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

“โกง-ไม่โกง”ตอแหล 4.0 / โดย ทีมข่าวการเมือง

On October 10, 2016

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

เรื่องครอบครัว พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม น้องชาย “ท่านผู้นำ” ยังฟุ้งกระจายและคาใจประชาชนเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนต่างๆ ก็มาถึงคิว “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กรณีการใช้งบประมาณกว่า 20 ล้านบาท เช่าเครื่องบินเหมาลำยกคณะ 38 คน ไปประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับสหรัฐที่ฮาวาย

ความจริงเรื่องนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน เมื่อสื่อออกมาเปิดเผย สังคมก็อยากรู้เป็นธรรมดา ไม่ใช่ต้องการรายละเอียดว่าไปประชุมอะไรบ้าง แค่ต้องการรู้เรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ และคณะที่ไปทำไมต้องไปถึง 38 คน มีใครบ้างและมีหน้าที่เกี่ยวข้องอะไรกับการประชุม แต่การออกมาห้ามเปิดเผยชื่อคนเดินทางโดยการอ้างเหตุผลความมั่นคงกลับทำให้สังคมเกิดความสงสัยมากขึ้น

ทำไมต้องเช่าเหมาลำเครื่องบินการบินไทยรุ่นโบอิ้ง 747-400 ที่รับผู้โดยสารได้ถึง 416 คน ทั้งที่ไปเพียง 38 คน ทำไมไม่ใช้เครื่องบินขนาดเล็กลงแล้วแวะเติมน้ำมันที่ญี่ปุ่นซึ่งเสียเวลาเดินทางไม่นาน ทำไมค่าอาหารและเครื่องดื่มบนเครื่องจึงสูงถึง 600,000 บาท มีอะไรบ้าง และบางคนยังกระแหนะกระแหนว่าได้กินแค่อาหารไทยพื้นบ้านธรรมดา

แค่การตอบปัญหาง่ายๆยังอึกอักแล้วจะไม่ให้สังคมสงสัยได้อย่างไร หรือกลัวอะไร ถึงขนาดที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ไม่พอใจและย้อนถามผู้สื่อข่าวว่า มีเครื่องบินบินตรงหรือไม่ และเขาไปทำประโยชน์หรือไปเที่ยว ต้องดูว่ามีกี่การประชุม ไปคนเดียวพออย่างนั้นหรือ การไปประชุมที่ต่างประเทศต้องมีหลายคณะก่อนที่ระดับผู้ใหญ่จะประชุม จะมีระดับล่างเขาประชุมก่อน “อย่ามาจับผิดจับถูกในเรื่องเหล่านี้ ใครอยากฟ้องร้องก็ไปฟ้องร้องเอา”

ยิ่งดิ้นยิ่งเจ็บ

ประเด็น “บิ๊กป้อม” แทนที่จะจบง่ายๆแต่กลับไม่จบ แล้วยังเป็นดราม่าทางการเมืองอีกเมื่อฝ่ายการเมืองที่เคยเป่านกหวีดต้านโกงออกมาใช้เรื่องการเดินทางไปต่างประเทศมาโจมตีอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ครั้งที่เป็นนายกรัฐมนตรีก็เคยทัวร์ 3 ประเทศในยุโรปคือ สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี และมอนเตเนโกร เมื่อเดือนกันยายน 2556 โดยเช่าเหมาลำการบินไทยเช่นกัน มีคณะของรัฐบาลและนักธุรกิจ 81 คน ใช้งบทั้งสิ้น 21.8 ล้านบาท ซึ่งครั้งนั้นมีการโจมตีอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์อย่างมากว่าเดินทางเยือนต่างประเทศมากที่สุดในช่วงเกือบ 2 ปีที่รับตำแหน่ง เฉลี่ยเดินทางไปต่างประเทศเดือนละ 2 ครั้ง สิ้นเปลืองงบประมาณหลายร้อยล้านบาทโดยไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน

เมื่อนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกับกรณีของ พล.อ.ประวิตรและคณะที่ไปแค่ 3 วัน และไปที่ฮาวายแห่งเดียว กลับมีค่าใช้จ่ายถึงคนละประมาณ 550,000 บาท เมื่อเทียบกับคณะของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ประมาณคนละ 270,000 บาทเท่านั้น

เมื่อนำค่าใช้จ่ายการเดินทางไปประชุมต่างประเทศสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์มาเปรียบเทียบกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ปรากฏว่าครั้งที่อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์เดินทางไปเยือนมิตรประเทศและร่วมประชุมในเวทีต่างๆทั่วโลกมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเพียง 5.7 ล้านบาทต่อครั้ง เทียบกับการไปเยือนรัสเซียของ พล.อ.ประยุทธ์ใช้ไป 16 ล้านบาท และการเดินทางไปฮาวายของ พล.อ.ประวิตรใช้ไปกว่า 20 ล้านบาท

แม้กรณีของ พล.อ.ประวิตรจะดูเหมือนว่าไม่มีอะไรที่ซับซ้อน ไม่เหมือนกรณีครอบครัว พล.อ.ปรีชาที่คนส่วนใหญ่ตั้งคำถามเรื่องจริยธรรมและผลประโยชน์ทับซ้อน แต่บรรดาสลิ่มและเหล่าคนดีก็ยังคงเงียบกริบ จนมีคำถามว่าเพราะคนดีทำอะไรก็ไม่ผิดใช่หรือไม่ ขณะที่คนใกล้ตัว พล.อ.ประวิตรอย่างนายไพศาล พืชมงคล กลับโยนความผิดว่าเรื่องทั้งหมดมาจาก “สื่อเลือกข้าง” ที่ต้องการทำลาย พล.อ.ประวิตร

เว็บดังเปิด 43 รายชื่อร่วมคณะฮาวาย

เมื่อค่ำวันที่ 4 ตุลาคม เพจ “หยุดดัดจริตประเทศไทย” ได้โพสต์รายชื่อผู้โดยสารเที่ยวบิน TG 8885 กรุงเทพฯ-โฮโนลูลูจำนวน 43 รายชื่อ โดย 3 รายชื่อสุดท้ายระบุว่าเดินทางเฉพาะเที่ยวกลับ ซึ่งก่อนหน้านี้กระทรวงกลาโหมออกมาชี้แจงว่ามีผู้ร่วมคณะจำนวน 40 คน แต่มีการยกเลิกการเดินทาง 2 คน จึงเหลือผู้ร่วมเดินทางไปจริง 38 คน ซึ่งมีชื่อ พ.ต.หญิง ชลรัศมี งาทวีสุข ผู้ประกาศข่าวสาวช่อง 5 หมายเลข 20 ด้วย ขณะที่โฆษกกระทรวงกลาโหมได้แถลงว่า พร้อมจะเปิดเผยชื่อคณะที่ไปฮาวายกับองค์กรตรวจสอบ แต่ก็สายไปเสียแล้วเมื่อถูกเพจดังชิงปูดออกมาเสียก่อน นอกจากรายชื่อที่มีนายทหารเกษียณอายุราชการและอีกหลายคนซึ่งไม่แน่ใจว่าเกี่ยวกับภารกิจความมั่นคงหรือไม่แล้ว ยังมีรายชื่อหมายเลข 8 และ 38 ที่ถูกระบุว่าเป็นผู้บริหารระดับสูงกลุ่มทุนใหญ่ในประเทศไทยร่วมเดินทางไปด้วยนั้น เหมาะสมหรือไม่ อย่างไร

สำหรับ 2 คนที่ยกเลิกการเดินทางนั้น มีรายงานข่าวว่าคือเจ้าหน้าที่บริหารเอกชนและ พ.ต.หญิง ชลรัศมี ซึ่ง พ.ต.หญิง ชลรัศมีได้ยืนยันกับ “มติชนออนไลน์” (5 ตุลาคม) ว่าไม่ได้ร่วมเดินทางไปฮาวายกับคณะดังกล่าวและไม่ได้ซีเรียสอะไร โดยก่อนหน้านี้ พ.ต.หญิง ชลรัศมีได้โพสต์เฟซบุ๊คข้อความและภาพว่า “อย่างฮาาาาา?? เมื่อวันศุกร์อยู่กรุงเทพฯ อ่านข่าวตัวเป็นๆอยู่หน้าจอช่อง 5 แต่มีคนมโน! ว่าทิพย์ไปต่างประเทศ แสดงว่ารายการข่าวที่ทำสดจันทร์-ศุกร์ยังไม่ดังพอ?? ฝากติดตามชมรายการด้วยนะคะ #เช้านี้ประเทศไทย 07.00-8.00 น. ช่อง 5 ค่ะ??????????”

นอกจากนี้ นางเหมือนฝัน คงศรี ที่ร่วมไปกับคณะ พล.อ.ประวิตร ได้โพสต์รูปภาพและข้อความระบุว่า สงสัยกันทั่วเมืองว่าทีมข่าว ททบ.5 ที่เดินทางร่วมคณะไปทำข่าวภารกิจประชุม รมว.กห.อาเซียน-สหรัฐที่ฮาวายคือใคร ไปกันกี่คน ลงรูป บอกชื่อให้ดูกันชัดๆ นางเหมือนฝัน คงศรี – บ.ก.ข่าวทหาร และนายจักรพงษ์ แพงคำแสง – ช่างภาพ ทีมข่าวมีแค่ 2 คน “อย่ามโนกันเลยเถิดค่ะ พูดไม่จริง กล่าวหาผู้อื่นสนุกปาก?? หมิ่นประมาท มีความผิดทางอาญานะคะ โดยเฉพาะ “คนอาชีพเดียวกัน” มีข้อสงสัย?? โทร.มาสอบถามกันได้ค่ะ”

การเดินทางไปหรือไม่ของ พ.ต.หญิง ชลรัศมีอาจจบลงด้วยข้อเท็จจริงว่าไม่ได้ไป แต่การถูกสปอตไลท์ส่องพร้อมทั้งข่าวที่ถูกขุดถูกเจาะอย่างไม่เกรงใจทั้งเรื่องชีวิตส่วนตัวและการทำธุรกิจที่อ่อนไหวต่อข้อครหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนกับกองทัพและเหล่าบรรดานายพลหรือไม่นั้นกลับยังไม่จบ

ล่าสุดสำนักข่าวอิศราได้รายงานว่า เมื่อเวลา 12.55 น. วันที่ 5 ตุลาคม กองบรรณาธิการได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ดูแลเว็บไซต์สำนักข่าวอิศราว่า admin ผู้ดูแล server คือ CS Loxinfo ได้ขอความร่วมมือให้ปิดรายงานเรื่อง “ปีทองของ “ชลรัศมี” ผู้ประกาศข่าวสาว ททบ.5 โกยรายได้ลิ่ว 34 ล้าน” ที่นำเสนอไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2557 โดยระบุเหตุผลว่า ได้รับแจ้งจากเว็บไซต์กลางของหน่วยงานราชการขอความร่วมมือในการระงับการเผยแพร่ข้อมูลรายงานเรื่องนี้บนสื่ออินเทอร์เน็ต

Rule by Law หรือ Rule of Law?

แม้สุดท้ายประเด็นของ พล.อ.ประวิตรจะไม่มีผลกระทบระยะยาวกับรัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์เหมือนกรณีครอบครัว พล.อ.ปรีชา แต่เมื่อจับอาการทางการเมืองในช่วงนี้ก็ต้องยอมรับว่ามีข่าวในเชิงลบที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของรัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์อย่างต่อเนื่อง จนดูเหมือนว่า พล.อ.ประยุทธ์จะขยับอะไรก็มีปัญหาไปหมด โดยเฉพาะการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่คนจำนวนไม่น้อยสนับสนุน โดยเฉพาะกรณี พล.อ.ปรีชา ก็ทำให้มีหลายคนตั้งคำถามเรื่องจริยธรรมและความถูกต้องชอบธรรม

อย่างเช่น น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ออกมาถามนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ผ่านเฟซบุ๊คกรณีที่ให้สัมภาษณ์ว่า ลูกชาย พล.อ.ปรีชาใช้บ้านพักในค่ายทหารจดทะเบียนตั้งบริษัทรับเหมาก่อสร้างไม่ผิดกฎหมายว่า “ผลประโยชน์ทับซ้อนคือต้นทางของการคอร์รัปชัน” และชี้ความแตกต่างระหว่าง Rule by Law กับ Rule of Law ว่า Rule by Law คือการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือของเผด็จการเอาไว้บังคับคนอื่นแต่ไม่บังคับกับพวกตัวเอง ส่วน Rule of Law คือหลักนิติธรรมที่ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน

อดีตผู้ว่าฯส่งโคลงศรีปราชญ์

เป็นที่รู้กันว่าช่วงที่ผ่านมามีข้าราชการถูกประหารด้วยมาตรา 44 จำนวนมาก แต่ที่แชร์กันสนั่นจน “ลุงตู่” ก็สะดุ้งคือ กรณีนายสมศักดิ์ ปะริสุทโธ เหมทานนท์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ที่ถูกคำสั่งมาตรา 44 ให้ออกจากราชการก่อนกำหนด ได้แชร์ข้อความทางไลน์ในวันสุดท้ายของชีวิตราชการ 29 กันยายน พร้อมใบประกาศเกียรติคุณในตำแหน่งผู้ตรวจราชการพิเศษสำนักนายกรัฐมนตรีว่า “ผมไม่ได้สร้างความชั่วอะไรให้มีมลทินมัวหมองแก่ชีวิตราชการแต่อย่างใด” ซึ่งตนเองรับได้ แต่ “ครอบครัววงศ์ตระกูลของผมขมขื่นมากมาเป็นเวลา 6 เดือนแล้วครับ”

นอกจากนี้นายสมศักดิ์ยังทิ้งท้ายด้วยโคลงศรีปราชญ์ที่ว่า “ธรณีนี่นี้เป็นพยาน เราก็ศิษย์อาจารย์หนึ่งบ้าง เราผิดท่านประหารเราชอบ เราบ่ผิดท่านมล้าง ดาบนี้คืนสนอง”

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ยืนยันว่า เป็นทหารมา 40 ปี ไม่เคยคิดอยากจะฆ่าใครสักคน เรื่องการใช้อำนาจตามมาตรา 44 เป็นหน่วยงานที่ตรวจสอบขึ้นมา ไม่ได้อยู่ที่นายกรัฐมนตรี แต่อยู่ที่หลักฐานและกระบวนการทำงาน ไม่เคยไปล้วงคนนู้นคนนี้ ถ้ามีการเสนอขึ้นมาก็ต้องอนุมัติ เพราะเขาเสนอแบบมีหลักฐาน ถ้าไม่มีหลักฐานก็ต้องเล่นงานคนที่เสนอ

รองอธิบดีอัยการเตือน “ลุงตู่”

ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะแก้ตัวหรือโยนความผิดไปให้คนที่เสนอเรื่อง แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็รู้ดีว่าการใช้มาตรา 44 หลายครั้งหลายกรณีเป็นไปตามเงื่อนไขการเมืองมากกว่ากระบวนการยุติธรรม และหลายครั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์เอาอำนาจของตนมาพูดข่มขู่ฝ่ายที่เห็นต่าง หรือแสดงความไม่พอใจกับบางคนที่พยายามตรวจสอบเรื่องความโปร่งใสของ พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาล อย่างกรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ และนายศรีสุวรรณ จรรยา ที่ร้องให้มีการสอบสวนกรณี พล.อ.ปรีชาและครอบครัว และหลายเรื่องของรัฐบาล ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์แสดงความไม่พอใจโดยขู่ว่า จะตรวจสอบกลับบ้างว่าทำงานอะไร มีรายได้จากที่ไหน อาชีพสุจริตหรือเปล่า

กรณีดังกล่าวทำให้นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา โพสต์ข้อความปกป้องนายเรืองไกรและนายศรีสุวรรณว่า เป็นการทำหน้าที่พลเมืองดีที่ตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลตามที่กฎหมายให้อำนาจ และเป็นการแสดงความเห็นตามหลักกฎหมาย หากมีการกล่าวหาใดๆว่าน่าจะมีการกระทำผิดอย่างหนึ่งขึ้นจะต้องให้มีการตรวจสอบในเบื้องต้นก่อน แม้บุคคลนั้นไม่ใช่ผู้เสียหาย แต่ได้ร้องเรียนเพื่อให้เจ้าพนักงานที่มีอำนาจสอบสวนว่าเรื่องดังกล่าวเป็นความผิดหรือไม่ ซึ่งทำได้ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญาที่ถือว่าการกล่าวหานั้นเป็นคำกล่าวโทษ เหมือนการจับกุมปราบปรามยาเสพติด ดังนั้น ในความเป็นผู้นำก็ต้องระมัดระวังด้วย

ปชป. ชี้นักการเมืองยึดอำนาจ แย่กว่านักการเมืองเลือกตั้ง

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประวิตรว่า เรื่องการเดินทางที่หลุดออกมาเชื่อว่าคนนอกไม่รู้ข้อมูลเหล่านี้แน่นอน ทั้งเรื่องภรรยาและลูกชายของ พล.อ.ปรีชา น่าจะมีคนภายในชี้เบาะแสให้คนนอกเพื่อหาข้อมูลมาขยายผลเพิ่มเติม ส่วนตัวไม่ได้ตกใจอะไรกับเรื่องนี้ ถือเป็นปรกติของผู้ที่มาจากการยึดอำนาจในช่วงท้ายจะมีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น อย่าแปลกใจเลย ตอนนี้ทุกอย่างกำลังเดินตามรอยประวัติศาสตร์ ยิ่งอยู่นานข้อมูลเหล่านี้ยิ่งเล็ดลอดออกมา การเช่าเครื่องบินเหมาลำเป็นวิธีปรกติ ถ้าไปในนามรัฐบาลก็ทำได้ รัฐบาลจากการเลือกตั้งก็ทำแบบนี้ สะท้อนว่าคนที่มาจากการยึดอำนาจก็ไม่มีอะไรต่างกันกับคนที่มาจากการเลือกตั้ง นอกจากไม่ต่างกันแล้ว คนที่มาจากการเลือกตั้งจะมีภาษีดีกว่า เพราะมาจากประชาชนเลือก

“ถามว่าจะกระทบคะแนนนิยมรัฐบาลหรือไม่ ผมไม่รู้ เราเป็นนักการเมืองมานาน ให้ดูว่าค่าน้ำมัน ค่าอาหาร แจกแจงมาให้ชัดว่าเท่าไร ค่าบริการบางส่วนขอลดราคาได้ ถ้ายังปล่อยอย่างนี้เรื่อยๆ รัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจที่กำลังได้รับคะแนนนิยมจากการกอบกู้ศรัทธาจากที่ประชาชนไม่เอานักการเมืองก็จะถูกตั้งคำถาม ค่าใช้จ่ายควรน้อยกว่าผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง ผมว่านายกฯไม่ต้องจัดการอะไรเลย ถ้าไม่ประหยัดก็ใช้อย่างนี้ ถามว่ามันผิดไหม คงไม่ผิด ระเบียบเปิดโอกาสให้ทำได้ แต่ถ้าชาวบ้านยังลำบากอยู่ ถ้าเราลดค่าดำเนินการ ประหยัดให้มันน้อยกว่าหัวละ 6 แสนบาทจะได้หรือไม่” นายนิพิฏฐ์กล่าว

สะดุดขาตัวเองจนเดินไม่ได้

น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ เขียนในคอลัมน์ “ประสงค์พูด” ในหนังสือพิมพ์แนวหน้า (4 ตุลาคม) ตอนหนึ่งเตือนว่า ใครก็ตามที่กำลังถืออำนาจอยู่ในขณะนี้ต้องไม่ประพฤติปฏิบัติตนในการใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ตนและพรรคพวกอย่างพวกที่ถูกโค่นล้มออกไป ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ไหน ทั้งทางฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ รวมทั้งการกำกับดูแลควบคุมการทำงานของส่วนราชการต่างๆที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนให้มีการทำงานอย่างถูกต้องชอบธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมจริงๆของประเทศชาติบ้านเมือง

“แต่ถ้ายังคิดว่ามีอำนาจในมือจะทำอย่างไรก็ได้ หรือใครติ ใครเตือน ใครแนะอย่างไรไม่ฟัง หรือไม่พึงพอใจที่จะได้ยิน ได้ฟังความคิดเห็นดีๆจากผู้คนภายนอก ใครว่าอะไรเป็นต้องโมโหโทโสทุกครั้ง จะเป็นจุดอ่อนสำคัญที่จะทำให้สะดุดขาตัวเองจนเดินไม่ได้”

น.ต.ประสงค์ยังเตือนเรื่องการเลือกใช้คนในการทำงานว่า พฤติกรรมของบางคนและหลายคนคิดแต่เรื่องที่ตนจะได้อะไรหรือได้เป็นอะไรต่อไปในวันข้างหน้า ดังนั้น หากไม่ปฏิรูปคนให้ดีขึ้น การปฏิรูปอย่างอื่น ไม่ว่ามิติไหน จะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม หรือความมั่นคง ก็ย่อมล้มเหลวและไปไม่ถึงจุดหมายแน่นอน

ยุคไทยแลนด์ตอแหล 4.0

หลากหลายความเห็นที่ประดังและถาโถมใส่รัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ว่าจะเป็นกรณี พล.อ.ประวิตร กรณี พล.อ.ปรีชาและครอบครัว หรือกรณีการใช้อำนาจมาตรา 44 และการแสดงออกของ พล.อ.ประยุทธ์ ล้วนสะท้อนให้เห็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงไม่น้อยกับการอยู่ในอำนาจอีกกว่า 1 ปีจึงจะมีการเลือกตั้ง และไม่รู้ว่าจะได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจริงหรือไม่ เพราะยังไม่ทันจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญก็มีการปั่นกระแสยุบสภาแล้วหากไม่สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งประเด็นสำคัญคงหนีไม่พ้น “นายกฯคนนอก” ที่หลายฝ่ายเชื่อว่าต้องเป็น พล.อ.ประยุทธ์

แต่สถานการณ์อีกกว่า 1 ปี อะไรก็เกิดขึ้นได้ แม้รัฐบาลจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอย่างไรก็ตาม แต่หากถูกตั้งคำถามเรื่องจริยธรรมและธรรมาภิบาลแทบจะทุกเรื่องอย่างขณะนี้ รัฐบาลและ คสช. ก็ยากจะอยู่ได้ แม้แต่กองทัพที่วันนี้ประกาศสนับสนุนรัฐบาลและ คสช. ก็ตาม

โดยเฉพาะคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ประกาศมาตลอดว่า จะปฏิรูปประเทศให้ไม่มีการทุจริตคอร์รัปชัน “กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย” นั้น วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ก็กำลังถูกท้าทายและย้อนกลับมาตรวจสอบรัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์เอง โดยเฉพาะการที่ชอบอวดอ้างเรื่องจริยธรรม คุณธรรม และธรรมาภิบาลเหนือกว่ารัฐบาลอื่น

เช่นเดียวกับคำถามที่ถามถึงบรรดาสลิ่มและเหล่าคนดีที่นกหวีดติดคอทั้งหลายว่า ทำไมจึงยังมีความสุขภายใต้สังคมที่ไม่สามารถตรวจสอบผู้มีอำนาจได้ ทำไมพอใจที่จะอยู่ภายใต้สังคมที่เห็นชัดว่าโกหกตอแหลไปแทบทุกเรื่อง ไม่ว่าเรื่องเศรษฐกิจที่ว่ามีแต่ดีขึ้นๆ ขณะที่คนทั้งแผ่นดินร้องโอดครวญเป็นหนี้เป็นสิน ธุรกิจมากมายล้มละลาย หรือย้ายไปลงทุนที่ประเทศเพื่อนบ้าน

ยิ่งเรื่องการเมือง เรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ยิ่งไม่ต้องพูดถึง โดยเฉพาะระบอบประชาธิปไตยที่มาจากประชาชนและเป็นของประชาชน เพราะดูเหมือนสังคมไทยจะต้องอยู่ภายใต้ “ระบอบพิสดาร” ไปอย่างน้อย 5 ปี และอีก 20 ปีตามยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งรัฐบาลทหารก็ทำให้คนไทยจำนวนมากเชื่อว่าจะทำให้ประเทศไทยเป็นมหาอำนาจ มีเศรษฐกิจมั่งคั่งและประชาธิปไตยมั่นคง ทั้งที่เป็นแค่วาทกรรมโฆษณาชวนเชื่อและไม่มีอะไรที่เป็นหลักประกันเลยนอกจากความเชื่อ ทั้งที่ไม่มีประเทศไหนในโลกที่จะกำหนดยุทธศาสตร์ตายตัว 20 ปี โดยไม่สนใจความเปลี่ยนแปลงไปของโลกยุคดิจิทัล

เรื่องความโปร่งใสและการเลี่ยงถูกตรวจสอบของรัฐบาลทหารที่มาจากการยึดอำนาจที่อวดอ้างว่ามีเหนือกว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้งของประชาชน ท่ามกลางความเสื่อมที่แทบจะเรียกได้ว่าเสื่อมไปทุกเรื่อง สังคมก็เสื่อม สถาบันสำคัญๆของชาติก็เสื่อม ศาสนาก็เสื่อม สื่อกระแสหลักก็เสื่อม เช่นนี้สังคมไทยจะเดินหน้าปฏิรูปประเทศไปแบบไหน เราจะพาสังคมก้าวสู่ยุคแห่งอนาคตได้อย่างไรถ้าคนไทยไม่ “ฉุกคิด” กันเสียที

จากยุค “กะล่อนอนาล็อกศรีธนญชัย” ในอดีต มาสู่ยุคดิจิทัล “ไทยแลนด์ตอแหล 4.0” สิ่งที่สังคมไทยอนุรักษ์ไว้ได้อย่างเหนียวแน่นมั่นคงก็คือ “การตอแหล” ที่กลายเป็นวัฒนธรรมแบบไทยๆที่สังคมไทยยอมรับชื่นชมอย่างคุ้นชิน!!?


You must be logged in to post a comment Login