วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

ขาดประชาธิปไตย บ้านเมืองจึงเสื่อมทรุด / โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย

On October 6, 2016

คอลัมน์ : โลกอสังหาฯ
ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

ทำไมจึงมีภาพล้อคนอาบน้ำบนถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อ ทำไมจึงมีคนขี่มอเตอร์ไซค์บนทางเท้า ก็เพราะบ้านเมืองเราขาดประชาธิปไตยนั่นเอง เกี่ยวกันอย่างไรผมขออนุญาตมาไขให้ฟัง

ตามที่มีภาพประชดของสาวนุ่งกระโจมอกอาบน้ำกลางถนน ภาพนี้เกิดขึ้นเพราะขาดประชาธิปไตย โดยท้องถิ่นไม่มีเงินเพียงพอ ถูกรัฐบาลส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่ใหญ่โตดูดกินไปหมด จะแก้ไขได้ก็ด้วยการเพิ่มขนาดและงบประมาณส่วนท้องถิ่น มีระบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นสากล

กรณีนี้ “บิ๊กตู่” เองก็ยังบอกว่าการปรับปรุงถนนเป็นหน้าที่ของท้องถิ่น ท้องถิ่นต้องเอาเงินมาจากการเก็บภาษี ถ้าไม่พอส่วนกลางก็ส่งไปให้ (http://bit.ly/2cLbba3) ที่ผ่านมายังไม่มีระบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นสากล ทั้งยังมีข้อเสนอให้เก็บภาษีเฉพาะบ้านที่มีราคาตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งมีจำนวนไม่มาก เท่ากับได้รับการยกเว้นแทบหมด ท้องถิ่นจึงไม่มีเงินมาซ่อมแซมถนน ในทางสากลท้องถิ่นต้องจัดเก็บภาษีให้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ภาษีที่ส่งไปยังส่วนกลางมีน้อยและไม่พึ่งส่วนกลาง เพราะช้าและถูกส่วนกลางครอบงำ

แต่ในกรณีประเทศไทย เราเน้นเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ท้องถิ่นมีรายได้น้อยเพียง 10-15% ของงบประมาณ ทำให้ส่วนกลางต้องส่งรายได้ไปให้ส่วนท้องถิ่น ท้องถิ่นจึงขาดความเป็นอิสระ ขาดประชาธิปไตย ถูกครอบงำโดยส่วนกลางมากเกินไป ยิ่งรัฐบาลส่วนกลางเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มมากเท่าไรก็ดูดเงินจากท้องถิ่นสู่ส่วนกลางมากขึ้น ท้องถิ่นต้องรอพึ่งพิงส่วนกลางเป็นหลัก

ดังนั้น ประเทศไทยจึงควรมีระบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโดยเก็บจากบ้านทุกหลัง ไม่จำเป็นต้องมีส่วนลดใดๆ อย่างกรณีภาษีล้อเลื่อน (รถจักรยานยนต์) ที่มีราคาเพียง 15,000 บาท ก็ยังเสียภาษีประมาณ 1% ของมูลค่า ในกรณีที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ หากเก็บภาษีได้เพียง 1% ก็จะทำให้มีรายได้เพียงพอกับการซ่อมแซมถนนและพัฒนาท้องถิ่นแล้ว รัฐบาลก็ไม่ต้องส่งเงินมาสนับสนุน และไม่ต้องมา “รีดเลือดกับปู” ด้วยการพยายามขึ้นภาษี VAT

การที่ไม่มีระบบภาษีนี้ หรือถ้าจะมีก็เป็นแบบพิกลพิการนั้น เพราะบ้านเมืองขาดประชาธิปไตย ดูอย่างจำนวนข้าราชการส่วนท้องถิ่นมีเพียง 22% (http://bit.ly/2b53LRC) ราชการส่วนใหญ่อยู่ส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่ถูกส่งไป “กินเมือง” ไปควบคุมประชาชน ประชาชนไม่มีเงิน ไม่มีอำนาจในการจัดการทรัพยากรของตนเอง

ส่วนอีกเรื่องที่เห็นโฆษณารณรงค์ให้คนมีระเบียบ ซึ่งดูเผินๆก็ดี แต่สุดท้ายก็โทษหรือดูหมิ่นชนชั้นล่างว่าเลว และเสนอทางออกแบบกำปั้นทุบดิน แต่ผมขอบอกว่า ความไร้ขื่อแปเกิดขึ้นเพราะขาดประชาธิปไตย (ต่างหากเล่า) การทำผิดกฎหมาย การแสดงความเห็นแก่ตัว เป็นสิ่งที่ไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง

อันที่จริงการแก้ไขปัญหานี้ทำได้ไม่ยาก อยู่ที่การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเสมอหน้า แต่เดิมคนไทยเคยกินหมากก็ยังเลิกได้ เมื่อก่อนก็เคร่งครัดการสวมหมวกกันน็อกก็ยังทำได้

รากเหง้าสำคัญของปัญหาที่คนไม่พูดถึงก็คือ ผู้บริหารระดับสูงสุดระดับต้นๆของประเทศมักได้รับอภิสิทธิ์ผ่อนปรนต่างๆนานา ระดับ “ลูกขุนพลอยพยัก” ตามลำดับชั้นลงมาก็เลยเกิดลัทธิเอาอย่าง ยิ่งประเทศไทยไม่มีระบอบประชาธิปไตย การเล่นเส้นเล่นสายก็มากมาย ความไร้ขื่อแปก็ยิ่งเกิดขึ้น เมื่อไม่มีประชาธิปไตย ประชาชนระดับล่างยิ่งถูกขูดรีดไปบำเรอคนที่มาปกครองโดยประชาชนไม่ได้เชื้อเชิญ คนระดับล่างก็ยิ่งยากจน ทำให้คนจนหลายคนเกิดอาการ “สิบเบี้ยใกล้มือ” “ด้านได้อายอด” จึงถูกหยิบยกมาประณามหยามหมิ่นคนจน

ทางออกที่เป็นแบบกำปั้นทุบดินอีกอันหนึ่งคือการ “รณรงค์ทางสังคม” เพื่อให้ผู้คนช่วยกันต่อต้านการทำผิดกฎหมายอย่างที่เห็นในคลิป ซึ่งเป็นความคิดที่ดี แต่อาจเป็นแค่ “ไฟไหม้ฟาง” แล้วก็เงียบหายไป ที่สำคัญกลายเป็นการ “พาคนไปตาย” เพราะไปทะเลาะเบาะแว้งกับคนทำผิดกฎหมายในฐานะที่เป็นคนรักสมบัติของชาติแต่ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย คนทำผิดกฎหมายก็มักมองพลเมืองดีว่า “เสือก” เพราะไม่ได้รับผิดชอบโดยตรง

ถ้าบ้านเมืองมีประชาธิปไตย ในแต่ละชุมชน ชมรม อาคาร ย่าน แขวง เขต มีการเลือกตั้ง มีผู้แทนของประชาชน มีอำนาจ มีงบประมาณกระจายมาดูแลถนนและชุมชนต่างๆของตนเอง (ไม่เอางบไปละลายทำซุ้มไฟหรืออื่นใด) มีการดูแลที่ชอบด้วยกฎหมาย ทางเท้าจะถูกมอเตอร์ไซค์ (รับจ้าง) ใช้วิ่งเป็นทางลัดก็จะไม่เกิดขึ้น ประชาชนจะหวงแหนทรัพยากรในท้องถิ่นของพวกเขา มีงบในการจ้างเวรยามมาคอยดูแล แต่โดยที่การปกครองในปัจจุบันข้าราชการประจำเป็นใหญ่ ไม่ว่างก็ไม่ต้องมาทำอะไร ไม่ได้มีการเลือกผู้แทนประชาชนในทุกระดับชั้น เพราะผู้รับใช้ประชาชนถูกป้ายสีว่าเป็น “นักการเมืองเลว” สภาพย่ำแย่นี้จึงดำรงอยู่

รากเหง้าทั้งหมดเกิดเพราะขาดประชาธิปไตย มีการปกครองแบบศักดินากินเมือง บ้านเมืองเลยถดถอย


You must be logged in to post a comment Login