วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

แย่งน้ำในอินเดียลุกลาม / โดย กองบรรณาธิการ

On September 14, 2016

คอลัมน์ : รายงาน
ผู้เขียน : กองบรรณาธิการ

ทรัพยากรน้ำเป็นสิ่งที่สำคัญมากเพราะทุกคนต้องดื่มต้องใช้ ซึ่งล่าสุดเกิดเหตุความรุนแรงระหว่างการประท้วงปัญหาศึกแย่งน้ำทางใต้ของอินเดีย เมื่อผู้ประท้วงรัฐทมิฬนาฑูไม่พอใจ อาละวาดและทำลายโรงแรมซึ่งมีเจ้าของเป็นชาวรัฐกรณาฏกะ ส่งผลลุกลามเกิดประท้วงในทั้ง 2 รัฐ

โดยเรื่องของเรื่อง ศาลสูงอินเดียออกคำสั่งตัดสินให้รัฐกรณาฏกะสามารถลดการปล่อยน้ำเหลือแค่ 12,000 คิวต่อวัน ให้รัฐทมิฬนาฑูไปจนถึงวันที่ 20 ก.ย. จากแต่เดิมก่อนหน้านี้ต้องจ่ายน้ำให้ถึง 15,000 คิวต่อวัน
แต่ทางรัฐกรณาฏกะไม่ยอมปล่อยน้ำ ทำให้ชาวรัฐทมิฬนาฑูไม่พอใจ โดยเฉพาะเกษตรกร ขณะที่เกษตรกรรัฐกรณาฏกะประท้วงไม่พอใจคำตัดสิน โดยประกาศว่าพวกเขาไม่มีน้ำสำหรับทำการเกษตรเช่นกัน

เกษตรกรจากทั้งสองรัฐทางใต้ของอินเดียจำเป็นต้องพึ่งพาแม่น้ำโคธาวารีสายหลักในการทำชลประทาน เพื่อผันน้ำเข้าแปลงไร่นาของตัวเองสำหรับทำการเกษตรที่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างหนัก

แม่น้ำโคธาวารีมีต้นกำเนิดในรัฐกรณาฏกะ และไหลลงมาผ่านเข้ามายังรัฐทมิฬนาฑูเป็นต้นเหตุทำให้เกิดปัญหาศึกแย่งน้ำระหว่างรัฐทั้งสองนาน โดยในการขึ้นให้การกับศาล เจ้าหน้าที่รัฐกรณาฏกะ กล่าวว่า ทางรัฐกรณาฏกะของพวกเขาไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับจ่ายออกไปนอกพื้นที่

มีรายงานเพิ่มเติมว่า ตำรวจบังกาลอร์ศูนย์กลางไอทีอินเดีย เมืองเอกรัฐกรณาฏกะออกคำสั่งห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ในที่สาธารณะ หลังเกิดความรุนแรงในการชุมนุม มีการทำลายหน้าต่างรถประจำทางจากรัฐทมิฬนาฑูและทำร้ายคนขับ

นอกจากนี้ ยังพบว่า โรงเรียนจำนวนมากในเมืองบังกาลอร์ต้องหยุดการเรียนการสอนชั่วคราว รวมไปถึงสำนักงานและร้านค้าที่ต้องปิดเพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มผู้ประท้วงที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชายวัยรุ่นตรงเข้าทำลายทรัพย์สินของชาวทมิฬนาฑูในเมืองบังกาลอร์

ส่วนในเมืองมันดยา (Mandya) ที่อยู่ห่างจากเมืองบังกาลอร์ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 100 กม. กลุ่มผู้ประท้วงที่โกรธแค้นได้จุดไฟเผารถบรรทุกและรถบัสที่ติดแผ่นป้ายทะเบียนรัฐทมิฬนาฑู และในเมืองไมซอร์ (Mysore) ที่อยู่ใกล้เคียง มีรถจำนวนหนึ่งถูกจุดไฟเผาทำลายด้วยเช่นกัน ในขณะที่ร้านค้าของชาวทมิฬนาฑูถูกทำลายด้วยฝีมือของกลุ่มผู้ประท้วงวัยรุ่นที่มีท่อนเหล็กในมือเป็นอาวุธฟาดไปที่กระจกของร้านจนได้รับความเสียหายจำนวนมาก

ยังคงจะต้องดูกันต่อไปว่าจะจัดการความขัดแย้งครั้งนี้กันอย่างไร โดยต่างฝ่ายต่างก็ต้องการน้ำ ซึ่งยังหากปล่อยไว้อาจเกิดความรุนแรงเพิ่มเติมได้เสมอ


You must be logged in to post a comment Login