วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567

การผ่าตัดทางนรีเวช

On July 30, 2021

คอลัมน์ : เปิดโลกสุขภาพ

ผู้เขียน : พล.ร.ต.นพ.โซ่สกุล  บุณยะวิโรจ

ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งนรีเวช โรงพยาบาลพญาไท 1

 (โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 30 ก.ค. – 6 ส.ค. 64)

การผ่าตัดทางนรีเวชมีวิวัฒนาการมาโดยลำดับ จากอดีตที่การผ่าตัดเป็นเรื่องค่อนข้างยาก ปัจจุบันก็ง่ายและสะดวกขึ้นด้วยนวัตกรรมและความเชี่ยวชาญของแพทย์ จากแผลใหญ่หลายซม.ก็เล็กลงเหลือเพียง 0.5-1 ซม. จากภาวะแทรกซ้อนที่เคยพบมากจากการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องก็ลดลงด้วยการผ่าตัดผ่านกล้อง และการผ่าตัดก็สามารถรักษาหรือแก้ปัญหาโรคต่างๆ ได้มากขึ้น มีความเจ็บปวดน้อยลงและมีการฟื้นตัวที่เร็วขึ้น

การผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช คืออะไร

การผ่าตัดผ่านกล้อง หมายถึง การผ่าตัดที่ใช้กล้อง ซึ่งมีลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอกเล็กๆ แทนตาของแพทย์ เข้าไปดูอวัยวะต่างๆ ที่ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาโดยตรง โดยสอดผ่านช่องเล็ก ๆ ของร่างกายที่มีอยู่เดิมหรือเจาะเป็นช่องเล็กๆ ให้สอดเข้าไปดูอวัยวะที่ต้องการได้ และมีเครื่องมือผ่าตัดลักษณะเล็กๆ ยาวๆ สอดเข้าไปแทนเครื่องมือผ่าตัดธรรมดา เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคนรีเวชในอุ้งเชิงกราน ทั้งของมดลูก ปีกมดลูก และรังไข่ เป็นต้น

พล.ร.ต.นพ.โซ่สกุล  บุณยะวิโรจ

โรคทางนรีเวชที่สามารถใช้วิธีผ่าตัดผ่านกล้อง

  • ถุงน้ำในรังไข่ หรือเนื้องอกบางชนิดในรังไข่
  • เนื้องอกมดลูก
  • เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
  • ปวดท้องน้อยเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ภาวะมีบุตรยาก
  • มีพังผืดในอุ้งเชิงกราน
  • โรคมะเร็งทางนรีเวช เช่น มะเร็งรังไข่, มะเร็งโพรงมดลูก, มะเร็งปากมดลูก

ประโยชน์ของการผ่าตัดผ่านกล้อง

โดยปกติแล้วการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวชสามารถทำได้ทั้งเพื่อการวินิจฉัยและเพื่อการรักษา

  • ในด้านการวินิจฉัย มีหลายโรคที่การผ่าตัดผ่านกล้องช่วยการวินิจฉัยได้ดีและแม่นยำก่อนทำการผ่าตัด เพื่อป้องกันการผิดพลาด เช่น โรคที่ทำให้ปวดท้อง โรคที่ทำให้เลือดออกผิดปกติจากมดลูก โรคที่ทำให้มีบุตรยาก เช่น มีก้อนเนื้องอกในโพรงมดลูก การมีพังผืดในอุ้งเชิงกราน มีการอักเสบหรือเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ในอุ้งเชิงกราน หรือตั้งครรภ์นอกมดลูก ที่ทำให้มีอาการปวดท้องน้อย นอกจากนี้ยังช่วยประเมินก่อนการรักษาจริงว่าควรจะใช้วิธีการรักษาวิธีใดจะเหมาะสมที่สุด

  • ในด้านการผ่าตัดรักษา เราสามารถใช้เครื่องมือและเทคนิคมาประกอบการผ่าตัดหลายๆ อย่างที่ทันสมัย (แต่เดิมต้องใช้วิธีผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง) เช่น การเลาะพังผืด การตัดถุง Cyst หรือเนื้องอกรังไข่ เนื้องอกมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ การแก้ไขประจำเดือนมามาก รวมถึงการผ่าตัดมดลูกโดยไม่ต้องเปิดหน้าท้อง และการแก้หมันเพื่อให้มีบุตรได้อีก

การผ่าตัดผ่านกล้องดีกว่าการผ่าตัดธรรมดาอย่างไร

  1. สามารถวินิจฉัยโรคทางนรีเวชวิทยาหลายโรคที่วิธีต่างๆ เช่น การตรวจร่างกายและตรวจภายใน การทำ CT scan หรือ MRI ที่ไม่สามารถวินิจฉัยได้
  2. ประเมินสภาพของโรคในขณะที่ตรวจเพื่อตัดสินใจและสรุปแนวทางการรักษา
  3. เป็นการผ่าตัดที่บอบช้ำน้อย แผลมีขนาดเล็กประมาณ 0.5-1 ซม. (1-5 แผล แล้วแต่ชนิดการผ่าตัด) ทำให้เจ็บปวดน้อย ดูแลง่ายแผลหายเร็ว เกิดภาวะแทรกซ้อนน้อย อยู่โรงพยาบาลน้อยวัน และฟื้นตัวได้เร็ว
  4. ผลดีทางด้านเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตในแง่ความเจ็บปวดน้อยและฟื้นตัวมาใช้ชีวิตปกติได้เร็ว
  5. มีความสะดวกปลอดภัยสูงกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง
  6. ทำผ่าตัดในรายละเอียดได้ดีกว่าผ่าตัดธรรมดา เพราะกล้องสามารถขยายภาพใหญ่กว่าจริงได้

และในปัจจุบัน การผ่าตัดผ่านกล้องมีการใช้ระบบแสงอินฟราเรดซึ่งทำงานร่วมกับสารเรืองแสงฟลูออเรสเซนต์ (ICG : Indocyanine Green) เข้ามาช่วยในการผ่าตัด ซึ่งจะมีข้อดีคือ

• เห็นรอยโรคได้ชัดเจนขึ้น

• มีการใช้กล้องตัดแสงเพื่อดูลักษณะภาพเส้นเลือด

• ใช้สารเรืองแสงเพื่อกำหนดตำแหน่งโรคและและต่อมน้ำเหลือง


You must be logged in to post a comment Login