วันพุธที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

นายกฯมอบนโยบายจัดทำงบปี 64 เชื่อ ศก.ไตรมาส 3 ดีขึ้น

On December 23, 2019

วันนี้ (23 ธ.ค.) ที่ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิดและมอบนโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ เข้าร่วม

นายกฯกล่าวมอบนโยบายตอนหนึ่งว่า การจัดทำงบปี 64 ต้องควบคู่กับการพิจารณา พ.ร.บ.งบปี 63 ที่ยังไม่เรียบร้อย แต่ได้ใช้งบปี 63 ส่วนหนึ่งไปพลางก่อนตามกฎหมายที่ใช้ได้ โดยส่วนใหญ่ยังต้องรอหลังวันที่ 8 มกราคมไปแล้ว คาดว่าต้นเดือนกุมภาพันธ์การพิจารณาจะแล้วเสร็จหรือเร็วกว่านั้น การจัดทำงบปี 64 ต้องมีการเสนอคำขอรับการจัดสรรงบปี 64 และส่งมายังสำนักงบประมาณภายในวันที่ 24 มกราคม 2563 ซึ่งใกล้แล้วเสร็จ ทั้งนี้ คำขอทำงบที่ไม่สอดคล้องกับแผนจะไม่ได้รับการพิจารณาสนับสนุน ถือว่ามีความสำคัญระดับต่ำ โดยสิ่งที่ต้องทบทวนกันวันนี้จากที่เราทำงานร่วมกันมาหลายปีคือ เรากำลังเผชิญสิ่งท้าทายของโลก ทั้งสภาพเศรษฐกิจ สงครามการค้า ความตึงเครียดทางการเมืองทั้งในและต่างประเทศ สภาพเศรษฐกิจฝืดเคือง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ต้องกำหนดนโยบายรองรับความท้าทายและป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการใช้จ่ายงบและการลงทุน

นายกฯกล่าวว่า การลงทุนของภาครัฐเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ระยะสั้นรัฐบาลดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มในเรื่องความต้องการและการลงทุนในประเทศ เชื่อว่าไตรมาส 3 จะดีขึ้น ส่งต่อไปไตรมาส 4 และจะส่งต่อไปไตรมาส 1 ปีหน้าด้วย เรื่องสถานการณ์การคลังต้องแยกให้ออกและสร้างความเข้าใจให้ได้ว่าอะไรคือสถานการณ์ของประเทศ ของรัฐบาล ไม่ใช่ไปพูดว่าสถานการณ์การคลังดี แต่ผู้มีรายได้น้อยแย่ ถ้าพูดแบบนี้อธิบายเขาไม่ได้ ต้องอธิบายเกี่ยวพันกันอย่างไร ปัจจัยสำคัญมีภาคการคลังที่แข็งแกร่ง ดำเนินนโยบายการเงินการคลังที่เหมาะสม มียุทธศาสตร์ระยะยาว ประกอบกับวันนี้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งน่าจะตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ ตลอดจนทำให้มีเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งส่งผลดีต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจ การบริหารประเทศ

นายกฯกล่าวว่า เมื่อประเทศเจริญ ท้องถิ่น กลุ่มจังหวัดเจริญ ประชาชนจะได้ตรงนี้ไปด้วย ทั้งนี้ ตนยังเป็นกังวลต่อการลงทุนในประเทศ อยากให้มีการลงทุนโดยคนไทยด้วยกันมากขึ้น ในส่วนของต่างประเทศเป็นเรื่องการเข้ามาตามสิทธิประโยชน์การลงทุน ถ้าเราไปบอกไม่ให้ใครเข้ามาและไม่มีการลงทุนในประเทศจะเกิดอะไรขึ้น เหรียญมี 2 ด้านเสมอ ต้องทำทั้ง 2 ทาง แต่ต้องโปร่งใสและรัดกุม เมื่อเช้าตนได้รับเรื่องร้องมาขอให้รัฐบาลระวังเรื่องคนต่างประเทศเข้ามาทำงานในเมืองไทยด้วยการลงทุนมาเป็นเจ้าของต่างๆ เอาคนเข้ามาทำงานจากต่างประเทศ ซึ่งนโยบายรัฐบาลไม่ให้ทำอยู่แล้วในเรื่องเหล่านี้ ไม่ว่าจะรถไฟความเร็วสูงก็ต้องใช้แรงงานไทย ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ต้องติดตาม บางคนพูดออกมาโดยไม่รู้ ฟังมาต่อโดยไม่เข้าใจ ถ้าใครที่คิดว่าไม่เข้าใจในเรื่องเหล่านี้กรุณาอย่าโพสต์ อย่าให้ข่าวต่อ เพราะจะเป็นปัญหาความขัดแย้งตามมา และการทำงานก็ทำไม่ได้

นั่นคือปัญหา จะมีงบเท่าไรก็ทำไม่ได้เพราะไม่เข้าใจ นั่นคือสิ่งที่ราชการต้องช่วยกันอธิบายด้วย และเมื่องบปี 63 ขอให้เร่งดำเนินการโครงการต่างๆ โดยมีการตรวจสอบและต้องมีหลักฐาน ดังนั้น ต้องใช้งบให้ถูกต้องตามกฎหมาย คำนึงถึงผลประโยชน์ประเทศชาติเป็นสำคัญ งบที่ขาดดุลนี้เป็นธรรมดาของประเทศที่ยังมีรายได้ไม่มากนัก ซึ่งเราอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาประเทศ ทุกประเทศต้องใช้การขาดดุล เพราะมีงบที่ต้องลงทุนอีกจำนวนมากเพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชน ต้องทำให้ประชาชนเข้าใจ แม้กระทั่งฝ่ายการเมืองก็ไม่เข้าใจ หรือเข้าใจแต่ทำเป็นไม่เข้าใจก็ไม่รู้ นี่เป็นสิ่งที่ไม่ใช่เรื่องมาทะเลาะกัน มาตีกันในเรื่องเหล่านี้

เพราะฉะนั้นการที่จ่ายงบขาดดุลเราต้องมีศักยภาพหาเงินมาชดเชย ซึ่งเรามีศักยภาพและแผนงานอยู่ การจะทำให้รายได้ของประเทศสูงขึ้นต้องดูว่าจะแก้ปัญหาด้วยอะไร ถ้าบอกว่าเป็นเพราะรัฐบาลอย่างเดียวคงไม่ถูก แต่เป็นเพราะหลายๆส่วนด้วยกันทั้งภายในและภายนอก ซึ่งไม่ต้องกลัว รัฐบาลรับผิดชอบอยู่แล้ว แก้ได้มากได้น้อยอยู่ที่ประชาชน ข้าราชการ จะช่วยกันอย่างไร โครงการถ้าไม่ซอยลงมาทำไม่ได้ทั้งสิ้น ถึงต้องมีหลักเกณฑ์การใช้เงินกู้อะไรต่างๆ ถ้าไม่ทำแบบนี้จัดสรรอะไรไม่ได้ ต้องเห็นใจคนจัดทำงบด้วย

นายกฯกล่าวต่อว่า ทุกอย่างถ้าไม่ช่วยกันแก้ไข ถ้าไม่ปรับตัวเองก็ต้องเจอปัญหาเดิมๆ อย่างเรื่องที่ดิน ที่อยู่อาศัย ต้องปรับตัวใหม่ทั้งหมด จะเป็นเมืองเป็นจังหวัดอยู่ที่เดิมไม่พอ ปัจจุบันแออัด ต้องขยายไปรอบนอก ไม่ได้หมายถึงย้าย กทม. แต่เป็นการขยายพื้นที่เมืองธุรกิจออกไป ต้องอยู่รอบนอก อย่าไปมองว่าย้ายเมืองหลวงอย่างเดียว มันทำยาก และไม่ใช่เวลานี้

“การทำงานอย่าแบ่งงานหลักว่าหน่วยงานใครของใคร งานยุทธศาสตร์คืองานที่ต้องเสริมงานส่วนอื่นไปด้วย หลายกระทรวงที่เกี่ยวข้องจะต้องมีหน่วยงานรับผิดชอบหลักและหน่วยเสริมประชุมร่วมกันให้ได้ข้อสรุป จะทำในพื้นที่ใด สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่หรือไม่ เป้าหมายเท่าไร ต้องมีการประเมินไว้ล่วงหน้า เรียกว่าเอาเป้าหมายมาจับ ถัาไม่มีเป้าหมายก็เดินแบบสะเปะสะปะ จะทำงบโครงการอย่างเดียวเพื่อให้ใช้จ่ายเงินให้หมดลงไป แล้วผลสัมฤทธิ์ก็ไม่ได้ แล้วผมถามเราจะอยู่ไปทำไม แม้กระทั่งผมเองก็ไม่รู้จะอยู่ไปทำไมเหมือนกัน ถ้าอยู่แล้วทำอะไรไม่ได้ แก้ไขอะไรไม่ได้ ข้าราชการก็เช่นกันต้องสำนึกร่วมกันคิด ทุกวันทำงานต้องมีเป้าหมาย เพราะฉะนั้นการจัดทำแผนงบต้องสะท้อนความต้องการของประชาชนในพื้นที่และสอดคล้องการพัฒนาตามนโยบายของรัฐบาล” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว


You must be logged in to post a comment Login