วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

คนพิการกับสิทธิมนุษยชน

On December 2, 2019

ในปี 2525 องค์การสหประชาชาติ ได้สถาปนาให้วันที่ 3 ธันวาคม ของทุกปี เป็น “วันคนพิการสากล”โดยวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2568 (ASEAN Vision 2025)ได้มีการระบุถึงคนพิการโดยตรงเพียงในส่วนของ “Inclusive Community” (ประชาคมที่ทุกคนอยู่ร่วมกันได้) และ “Equitable access to Opportunities” (ความเสมอภาคในการเข้าถึงโอกาส) ซึ่งสอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิคนพิการ (CRPD) ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีในอนุสัญญาฉบับนี้พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดำเนินการตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญา

ดร.เอกพันธุ์  ปิณฑวณิช ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความเห็นว่า “สำหรับผู้ที่สนใจติดตามความก้าวหน้าของ “สิทธิคนพิการ” ในประชาคมอาเซียนขอแนะนำให้ทดลองพิจารณาแผนแม่บทอาเซียน 2025 ซึ่งเป็นการแต่งตั้งคณะทำงานพิเศษที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านคนพิการ มาร่วมกันร่างแผนแม่บทดังกล่าวซึ่งจะมีรายละเอียดเชิงปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรม หากเพียงแต่รัฐบาลไทยมิได้มีการกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อดำเนินตามแผนแม่บทดังกล่าวเฉกเช่น อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (CRPD)”

สิ่งที่คนพิการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนเรื่องใดบ้าง เปรียบเสมือนคำถามที่ว่า “ประชาชนถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนเรื่องใดบ้าง” ซึ่งมีหลากหลายมิติทั้ง สิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจสังคม และวัฒนธรรมแม้หากพิจารณาเฉพาะคนพิการ พบว่ามีประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเภทความพิการ

ดังนั้นจึงจะขอยกตัวอย่างเฉพาะคนพิการทางการเคลื่อนไหว แม้ได้รับเข้าทำงานในสถานประกอบการตามมาตรา 33 แต่เมื่อเข็นWheelchairออกจากบ้านเพื่อเดินทางไปที่ทำงานกลับไม่สามารถเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนอันเป็นบริการสาธารณะได้ทำให้ต้องแบกรับต้นทุนในการเดินทางสูงกว่าเพื่อร่วมงานคนอื่นที่ไม่มีความพิการและแม้เขาเหล่านั้นจะเรียนจบปริญญาตรีแต่เมื่อทำงานครบสิ้นเดือนก็พบว่าได้ค่าจ้างเพียง 9,000 บาทซึ่งน้อยกว่าคนที่ทำงานตำแหน่งเดียวกันที่ไม่มีความพิการ และไม่ได้รับพิจารณาความก้าวหน้าในอาชีพจากนายจ้าง

บางกรณีพบว่าคนพิการถูกสวมสิทธิโดยคนในครอบครัวโดยรับเงินเพียง 2,000 – 4,000 บาทแลกกับให้สถานประกอบการนำชื่อคนพิการไปจดแจ้งว่ามีการจ้างงานเพื่อนำไปลดหย่อนภาษี แต่คนพิการไม่ต้องไปทำงาน ซ้ำร้ายเงินดังกล่าวซึ่งเป็นทรัพย์สินของคนพิการ กลับถูกบริหารจัดการโดยสมาชิกในครอบครัวและคนพิการไม่มีอำนาจตัดสินใจในทรัพย์สินของตนซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินของคนพิการโดยตรง

ในแง่ของการศึกษาคนพิการทางการเคลื่อนไหวที่มิได้มีอุปสรรคในการเรียนรู้หรือการเข้าถึงสื่อการเรียนการสอนมีเพียงอุปสรรคทางกายภาพของสถานศึกษาและอุปสรรคด้านทัศนคติของผู้บริหารสถานศึกษาเท่านั้นที่ยังคงเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมของคนพิการทางการเคลื่อนไหว แม้ว่ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการจะมีงบประมาณเพียงพอที่จะสนับสนุนให้หน่วยงานรัฐทุกหน่วยงานสามารถของบประมาณไปปรับปรุงอาคารให้เอื้อต่อการเข้าถึงการบริการของประชาชนทุกกลุ่มได้ ดังนั้นอุปสรรคที่สำคัญที่สุดคือทัศนคติของผู้บริหาร

ในขณะเดียวกัน พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร และกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกฯ แม้จะมีรายละเอียดที่กำหนดให้อาคารจะต้องมีทางลาดอย่างไร ราวจับขนาดเท่าไหร่ ฯลฯ แต่ไม่มีใครทำหน้าที่รับผิดชอบหากรัฐอนุมัติแบบก่อสร้างไปแล้ว ไม่มีใครต้องเสียค่าปรับหรือถูกดำเนินคดีจากการเซ็นอนุมัติแบบก่อสร้างที่ไม่เอื้อกับการดำรงชีวิตของคนพิการ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่คอนโดในกลางกรุงเทพจำนวนมากที่แม้ก่อสร้างภายหลังจากมีกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว ยังคงไม่มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อกับการเข้าถึงได้อย่างเสมอภาค

ตัวอย่างข้างต้นเป็นเพียงเศษเสี้ยวของการละเมิดสิทธิที่คนพิการไทยกำลังเผชิญอยู่ เรายังคงมีกรณีศึกษาอีกมากมายไม่ว่าจะเป็น การละเมิดทางเพศนักเรียนหูหนวกในโรงเรียน, การปฏิเสธการรับนักเรียนพิการเข้าเรียนในบางสาขาวิชาในระดับอุดมศึกษา, การเปิดเผยรายชื่อเด็กที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้บนบอร์ดของโรงเรียน, การบังคับให้เรียนสายอาชีพโดยนโยบายส่งเสริมการศึกษาของคนพิการที่มีข้อจำกัด เป็นต้นซึ่งรัฐบาลควรเคารพ ปกป้อง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของคนพิการ

ทั้งนี้สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ให้คุณค่ากับการสร้างองค์ความรู้ที่นำไปใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ ดังนั้นการเรียนการสอนจึงมุ่งเน้นให้นักศึกษามีความเข้าใจในปรัชญาแนวคิดทางสิทธิมนุษยชนที่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยใช้วิธีวิจัยที่หลากหลายในการเข้าถึงองค์ความรู้โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้มีประสบการณ์ตรงจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากกลุ่มเป้าหมายจริง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสิทธิคนพิการในประเทศไทยได้รับการขนานนามว่าเป็นประเทศที่มีกฎหมายด้านสิทธิคนพิการที่ดีที่สุดประเทศหนึ่ง อีกทั้งเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในอาเซียนที่ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ(CRPD) แต่กลับไม่สามารถทำให้สิทธิเหล่านั้นเป็นจริงได้  การเรียนการสอนในมิติของสิทธิคนพิการจึงมุ่งเน้นไปที่มาตรฐานและกลไกสิทธิมนุษยชน เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นข้อกฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติที่รัฐเป็นผู้กำหนด “มาตรฐาน” และ “กลไก” การปฏิบัติงานจริงของเจ้าหน้าที่ทั้งในระดับนโยบายและปฏิบัติการ

ดร.เอกพันธุ์  ปิณฑวณิช ได้อธิบายเกี่ยวกับ Inclusive Education ว่ามีฐานแนวคิดมาจาก Inclusive Society ที่ต้องการขจัดอุปสรรค 4 ด้านที่ทำให้สมาชิกในสังคมไม่สามารถอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายได้ นั่นคือ 1.อุปสรรคทางกายภาพ 2.อุปสรรคทางข้อมูลข่าวสาร 3.อุปสรรคทางกฎหมายและการบังคับใช้ 4.อุปสรรคทางความเชื่อและวัฒนธรรม ซึ่งแนวคิด Inclusive Education มีข้อถกเถียงในการใช้คำแปลว่า “เรียนร่วม” หรือ “เรียนรวม”ซึ่งมีนัยยะทางภาษาที่แตกต่างกัน

อย่างไรก็ตามจะขอใช้คำว่า “เรียนรวม” ซึ่งมีนัยยะของการรวมทุกคนไว้ ไม่มีนัยยะของการเอาคนนอกมาร่วม สำหรับแนวคิดดังกล่าวส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในแง่ของความเท่าเทียมในการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพ และโอกาสในการปฏิสัมพันธ์กับสังคมอย่างเต็มที่นี้เองที่จะช่วยเป็นกุญแจสำคัญในจัดการศึกษาเรื่องความพิการให้กับนักเรียนที่ไม่ได้มีความพิการ อันเป็นเงื่อนไขสำคัญในการทลายอุปสรรคทางทัศนคติและวัฒนธรรมที่จะนำไปสู่การเลือกปฏิบัติและลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวสรุปท้ายเรื่องนี้ไว้ว่า สิทธิมนุษยชนเป็นแนวคิดที่ถักทอมาจากความสูญเสียจำนวนมหาศาลของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เป็นความพยายามของมนุษย์จากหลากหลายประเทศที่ร่วมกันหาคำตอบว่าทำอย่างไรเราจึงจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี และเป็นการต่อสู้ของมนุษย์นี่เองที่ทำให้สิทธิต่างๆเหล่านั้นเป็นจริง ดังนั้นเราจึงควรตั้งคำถามว่ากลไกการส่งเสริมสิทธิคนพิการในปัจจุบันได้เอื้อให้การต่อสู้ของภาคประชาสังคมมีความเข้มแข็งหรืออ่อนแอลงมากน้อยเพียงใด และภาคประชาสังคมคนพิการต้องสามารถที่จะตรวจสอบตนเองตลอดเวลาว่าการดำรงอยู่ของตนนั้นได้ถูกควบคุมให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐแล้วหรือไม่

อย่างไรก็ตามสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะให้บริการทางการศึกษาด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องมือในการติดตามมาตรฐานและกลไกสิทธิคนพิการไทย แก่องค์กรคนพิการหรือภาคประชาสังคมที่ต้องการขับเคลื่อนสิทธิคนพิการให้สามารถเป็นจริงได้ในทางปฏิบัติโดยสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษาเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนทั้งในระดับปริญญาโทจำนวน 3 หลักสูตรคือ 1. หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิตสาขาสิทธิมนุษยชน (นานาชาติ)  2. หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิตสาขาสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาประชาธิปไตย (ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก) (นานาชาติ)  3. หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิตสาขาสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา และหลักสูตรระดับปริญญาเอกคือ หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขาสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา (นานาชาติ)

 

จากบทสัมภาษณ์ ดร.เอกพันธุ์  ปิณฑวณิช

ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

เรียบเรียงโดย ชูเวช  เดชดิษฐรักษ์


You must be logged in to post a comment Login