วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

“The Transformer เมื่อรัฐบาลทหารแปลงรูป!” โดย ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

On November 1, 2019

“การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยจากการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยหลายครั้งล้มเหลวที่จะเดินไปต่อ และไม่นำไปสู่ผลลัพธ์ของประชาธิปไตยอย่างที่คาดหวัง การเปลี่ยนผ่านเช่นนี้มักจะหน่วงเหนี่ยวประชาธิปไตยเอาไว้ และไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าระบอบกึ่งประชาธิปไตย หรือบางกรณีก็ถอยหลังสู่ระบอบเผด็จการในอีกรูปแบบหนึ่งที่มักจะชอบอ้างเสมอว่า (ตนเอง) เป็นประชาธิปไตย”

Paul Brooker

Non-Democratic Regimes (2009)

ระบอบพันทาง :ไม่เผด็จการ ไม่ประชาธิปไตย

ความเศร้าใจสำหรับนักเปลี่ยนผ่านวิทยาที่เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยความหวังว่า การเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นนั้นจะเดินไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย แต่ในความเป็นจริง ผลที่เกิดขึ้นเรากลับเห็นการกำเนิดของระบอบการปกครองอีกแบบหนึ่งที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และในขณะเดียวกันก็ไม่เป็นเผด็จการ หรือในอีกมุมหนึ่งเกิดระบอบที่เป็นการผสมผสานคุณลักษณะบางประการที่เป็นประชาธิปไตย และบางส่วนเป็นอำนาจนิยมมาอยู่ร่วมกันในระบอบการปกครองเดียวกัน จนทำให้เราต้องเรียกระบอบการปกครองเช่นนี้ว่า “ระบอบพันทาง” หรืออาจจะเรียกว่า “ระบอบไฮบริด” (hybrid regimes) ซึ่งนักปรัชญาการเมืองในอดีตอาจจะเรียกการปกครองในรูปแบบดังกล่าวว่าเป็น “ระบอบผสม” และระบอบเช่นนี้กำลังกลายเป็นรูปแบบใหม่ของระบอบอำนาจนิยมร่วมสมัยในยุคปัจจุบัน เพราะระบอบหลังการเปลี่ยนผ่านที่ไม่สำเร็จนั้นอาจเป็นได้ทั้ง “กึ่งประชาธิปไตย” (semi-democracy) หรือ “กึ่งเผด็จการ” (semi-authoritarianism) และไม่ได้มีหลักประกันว่าต้องเป็นประชาธิปไตยเสมอไป แต่ขณะเดียวกันพวกเขาก็ไม่สามารถถอยการปกครองกลับสู่ระบอบเผด็จการเต็มรูปอย่างที่อยากได้

หากพิจารณาจากการเปลี่ยนผ่านที่เกิดในการเมืองไทยในปี 2562 แล้ว ดูเหมือนว่าการเมืองไทยกำลังอยู่ในสภาวะเช่นที่กล่าวในข้างต้น กล่าวคือ การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทหารในเดือนมีนาคม 2562 นั้น ไม่มีทางที่การเมืองไทยจะเป็นประชาธิปไตยเต็มตัว แต่ก็ไม่เปิดโอกาสให้รัฐบาลทหารถอยประเทศกลับสู่ความเป็นเผด็จการเต็มรูปเช่นในช่วงหลังรัฐประหาร 2557

การกลับไปสู่ระบอบทหารแบบเดิมภายใต้รัฐบาลรัฐประหารจะต้องเผชิญหน้ากับแรงกดทั้งภายนอกและภายในอย่างหนัก การยอมเปิดการเลือกตั้งจะเป็นการลดแรงกดดันดังกล่าว และที่สำคัญจะทำให้รัฐบาลมีข้ออ้างว่า “มาจากการเลือกตั้ง” การปรับเปลี่ยนรูปแบบของระบอบทหารจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการคงอำนาจของระบอบเดิมไว้ ซึ่งก็คือการสร้าง “ระบอบพันทาง 2562” เพื่อรองรับการอยู่ในอำนาจของผู้นำทหารไว้ในอนาคต และไม่ต้องเผชิญกับการถูกกล่าวหาว่าเป็นรัฐบาลเผด็จการในแบบหลังปี 2557

ดังนั้น บทความนี้จะทดลองสำรวจการกำเนิดและสถานะของระบอบพันทางไทยยุคปัจจุบัน

การเปลี่ยนผ่านแบบจำกัดและ การสร้างระบอบทหารแบบเลือกตั้ง

เราคงต้องยอมรับความเป็นจริงที่สำคัญในทางการเมืองว่า กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในหลายๆประเทศที่ใช้เป็นกรณีศึกษาในวิชาเปลี่ยนผ่านวิทยานั้น ให้ข้อสังเกตที่สำคัญประการหนึ่งว่า เมื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยเกิดขึ้นนั้น มิได้มีความหมายโดยตรงว่าระบอบอำนาจนิยมหรือรัฐบาลเผด็จการได้สิ้นสุดอำนาจลงอย่างสมบูรณ์ และการเปลี่ยนผ่านที่เกิดจะนำไปสู่การสร้างระบอบประชาธิปไตยเต็มรูปและเดินหน้าสู่การสร้างความเข้มแข็งของระบอบนี้ (หรือที่ในทางทฤษฎีเรียกว่าเกิด “consolidated democracy”) เพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยมีสถานะเป็นกติกาเดียวในการต่อสู้ทางการเมือง

แต่ในประเทศที่ระบอบการปกครองตกอยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการมาอย่างยาวนาน หรือในบางกรณีเป็นระบอบอำนาจนิยมที่มีอิทธิพลอย่างมาก โดยไม่นับเรื่องเวลาต้องยาวมาก แต่สามารถสร้างผลกระทบต่อการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองได้มาก การเปลี่ยนแปลงที่จะล้างอิทธิพลของระบอบอำนาจนิยมให้หมดสิ้นไปภายใต้เงื่อนไขเช่นนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอำนาจของระบอบเก่ายังตกค้างและยังคงเป็นปัจจัยสำคัญ กล่าวคือ โอกาสที่การเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นจะล้มล้างอิทธิพลของระบอบอำนาจนิยมนี้อาจจะไม่เกิดขึ้นได้ทันทีหรือในระยะเวลาอันสั้น และสภาพเช่นนี้อาจจะต้องการการเปลี่ยนผ่านอีกครั้งในการทำลายอิทธิพลของระบอบเผด็จการที่ดำรงอยู่หลังการเปลี่ยนผ่านครั้งแรก เพราะการเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นครั้งแรกทำได้เพียงให้เกิดการสร้างระบอบผสม และที่สำคัญก็คือ การเมืองยังอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลเผด็จการเดิมอยู่พอสมควร

การเปลี่ยนผ่านในเงื่อนไขเช่นนี้อาจจะมีปัจจัยร่วมของระบอบประชาธิปไตยในระดับต่ำสุดคือ มีการเลือกตั้ง แต่ก็เป็นการแข่งขันทางการเมืองที่เกิดภายใต้ข้อจำกัดจากระบอบอำนาจนิยมเดิม จนอาจจะต้องเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็น “การเลือกตั้งที่ปราศจากประชาธิปไตย” (election without democracy) [สำนวนการเมืองที่ใช้ในโลกอาหรับ] คือเป็นการแข่งขันที่เกิดขึ้นโดยมีรัฐบาลเผด็จการเดิมเป็นผู้จัดการและกำหนดกติกาการเลือกตั้ง เป็นต้น การเลือกตั้งเช่นนี้จึงไม่มีทางที่จะเป็นไปตามมาตรฐานสากลคือ การเลือกตั้งที่ “เสรีและเป็นธรรม” (free and fair election) หากแต่เป็นการเลือกตั้งที่ถูกควบคุมโดยรัฐบาลทหารเดิม (คล้ายคลึงกับการเลือกตั้งภายใต้รัฐบาลทหารของเมียนมา เพียงแต่ในกรณีของเมียนมานั้น พรรคของรัฐบาลทหารแพ้พรรคฝ่ายค้านของนางอองซาน ซูจี)

ดังนั้น หากพิจารณาจากสถานะเชิงอำนาจแล้ว การเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นเช่นที่กล่าวในข้างต้นบ่งบอกอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลอำนาจนิยมที่แม้ยังคงมีอำนาจเข้มแข็ง แต่ก็อยู่ภายใต้แรงกดดันทางการเมืองจากฝ่ายต่างๆ พวกเขาจึงยอมรับเงื่อนไขที่จะเปิดการเมืองเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านขึ้น ในสภาวะเช่นนี้ผู้นำเผด็จการยังคงเป็นฝ่ายที่มีอำนาจในการควบคุมการแข่งขันทางการเมือง อันทำให้การแข่งขันเกิดขึ้นภายใต้ “การเปลี่ยนผ่านแบบควบคุม” (dictated transition) และแน่นอนว่าการแข่งขันนี้จะส่งผลให้รัฐบาลเดิมสามารถอยู่ในอำนาจต่อไปได้ไม่ยากนัก เพราะการเลือกตั้งในความควบคุมทางการเมืองของระบอบเดิมนั้น เป็นหลักประกันโดยตรงว่ารัฐบาลเผด็จการจะเป็นรัฐบาลใหม่ต่อไปหลังการเลือกตั้ง และที่สำคัญระบอบเดิมยังมีการสร้างกฎและออกแบบกติกาที่เอื้อให้รัฐบาลเดิมเป็นฝ่ายที่ได้เปรียบในทางการเมือง ดังเช่นคำพูดของนักการเมืองจากพรรคของระบอบทหารว่า “รัฐธรรมนูญนี้ออกแบบเพื่อพวกเรา” ซึ่งบ่งบอกให้เห็นอย่างชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญออกแบบให้เป็นคุณแก่รัฐบาลทหาร เพื่อวัตถุประสงค์หลักประการเดียวคือ “การสืบทอดอำนาจ” ของระบอบรัฐประหาร

กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า การเลือกตั้งถูกทำให้เป็นเครื่องมือแก่ระบอบเผด็จการเดิมที่จะดำรงสถานะการเป็นรัฐบาลต่อไปได้ด้วยความชอบธรรม หรืออาจกล่าวได้ว่า การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการ “ฟอกตัว” ความเป็นรัฐบาลเผด็จการ ผลการเลือกตั้งที่ถูกควบคุมโดยรัฐบาลเช่นนี้ทำให้เกิดการ “แปลงร่าง” ของระบอบอำนาจนิยม หรืออาจจะเปรียบเทียบกับการแปลงร่างในภาพยนตร์เรื่อง “Transformers” คือจากรัฐบาลเผด็จการเต็มรูป แปลงกายมาเป็น “เผด็จการแบบแข่งขัน” (competitive authoritarianism) เพื่อให้ภาพของรัฐบาลอำนาจนิยมเป็นที่ยอมรับมากขึ้นจากเวทีระหว่างประเทศ

สภาวะดังกล่าวจึงทำให้เกิดระบอบพันทาง 2562 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และอาจจะเรียกในบริบทไทยว่า การกำเนิดของ “รัฐบาลทหารแบบเลือกตั้ง” (electoral military regime) (อาจจะเทียบเคียงความใกล้เคียงได้อย่างมากกับระบอบพันทางยุคจอมพลถนอม กิตติขจร ในปี 2512 และอาจจะแตกต่างกับระบอบพันทางยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ หลังปี 2522 แล้ว)

การเปลี่ยนผ่านในตัวแบบเช่นนี้เป็นรากฐานที่สำคัญของการสร้างระบอบกึ่งเผด็จการ เพราะการแข่งขันไม่ได้เกิดขึ้นในเงื่อนไขของ “การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม” (free and fair election) คือเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ได้มาตรฐานของธรรมาภิบาลประชาธิปไตย (ดูดัชนีวัดได้จากเว็บไซต์ของ Freedom House, Freedom in the World) หรือเป็นการเลือกตั้งที่ “เสรีบางส่วน” (partly free) โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อลดแรงกดดัน และเปิดโอกาสให้รัฐบาลเผด็จการดำรงอยู่ในอีกรูปแบบหนึ่ง ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องเผชิญกับการต่อต้านจนไม่อาจแบกรับได้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้เกิดคำเรียกในทางทฤษฎีอีกแบบว่า “ลัทธิอำนาจนิยมแบบเลือกตั้ง” (electoral authoritarianism) ซึ่งว่าที่จริงก็อาจไม่แตกต่างกับระบอบ “เผด็จการแบบแข่งขัน” หรือโดยรวมคือ “ระบอบกึ่งเผด็จการ” หรือในสำนวนไทยคือ “ระบอบเผด็จการครึ่งใบ” (ล้อกับคำว่าประชาธิปไตยครึ่งใบ)

ระบอบกึ่งเผด็จการไทย :  มุมมองเปรียบเทียบ

หากนำเอากรอบทางทฤษฎีของวิชาเปลี่ยนผ่านวิทยามาพิจารณาการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 และผลที่จะตามมาด้วยการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ในการเมืองไทยแล้ว ทำให้เราต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นไม่สามารถนำไปสู่กระบวนการสร้างประชาธิปไตยเต็มรูปได้ แม้เราจะเห็นการแข่งขันทางการเมืองในวันดังกล่าว แต่ก็เห็นชัดว่าการเลือกตั้งของไทยมีความเป็นเสรีบางส่วน และไม่ได้มาตรฐานสากลของระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งการเลือกตั้งนี้อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาลทหาร คสช. ส่งผลให้พรรคของฝ่ายรัฐบาลทหารเดิม (ในความหมายของ regime party) ได้เป็นรัฐบาลต่อ

ฉะนั้นหากเริ่มต้นพิจารณาจากการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในไทยแล้ว คงต้องถือว่าสิ่งนี้มีลักษณะเป็น “การเลือกตั้งแบบกึ่งแข่งขัน” (semi-competitive election) เพราะการใช้กระบวนการนี้เป็นสิ่งที่ดีกว่าสำหรับรัฐบาลทหารที่จะดำรงอยู่ในอำนาจต่อไปแทนการปฏิเสธการเลือกตั้ง ซึ่งการมีการเลือกตั้งแบบกึ่งแข่งขันเช่นนี้จะช่วยสร้างภาพให้เห็นว่าพรรครัฐบาลนั้นไม่ได้ใช้การรวบอำนาจเช่นในช่วงของการเป็นรัฐบาลทหาร ที่กระบวนการเมืองในช่วงดังกล่าวอาศัยรัฐสภาที่มาจากการแต่งตั้งของรัฐบาลทหาร พร้อมกับการมีอำนาจพิเศษจากรัฐธรรมนูญ หากแต่ภาพของพรรครัฐบาลในสภาวะแบบกึ่งแข่งขันเช่นนี้ถูกสร้างว่าได้เสียงมาจากการต่อสู้กับพรรคการเมืองอื่นๆ

ในเวทีการแข่งขันเช่นนี้ในบางประเทศมีการทำ “พรรคหุ่นเชิด” (puppet parties) ขึ้นมาเพื่อสร้างภาพให้เห็นถึงการแข่งขันทางการเมือง เช่นในรัสเซียมีพรรคในลักษณะดังกล่าว หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น “พรรคทางเลือกปลอม” (phoney-alternative parties) เข้ามาแข่งขัน คือเข้ามาเป็นคู่แข่งในสนามเลือกตั้ง และพร้อมที่จะแข่งขันกับพรรครัฐบาลเองก็ตาม แต่พรรคเหล่านี้มีความชัดเจนว่าในการแข่งขันทางการเมืองที่เกิดขึ้นนั้น พรรคยังยืนยันที่จะสนับสนุนประธานาธิบดีปูตินเป็นผู้นำ ในด้านหนึ่งคือการสร้างภาพว่าผู้นำเช่นนี้คือคนที่ “อยู่เหนือพรรคการเมือง” (above parties) และพรรคเหล่านี้ในอีกด้านจะช่วยป้องกันผู้นำจากระบอบเดิมไม่ให้ต้องเข้ามาแข่งขันกับพรรคฝ่ายค้านโดยตรง

การใช้ช่องทางเช่นนี้ทำให้ระบอบอำนาจนิยมเดิมสามารถหลีกเลี่ยงการใช้กำลังบังคับ แต่พรรคทางเลือกปลอมเช่นนี้จะเป็นหลักประกันให้ผลการเลือกผู้นำเป็นไปตามความต้องการ เพราะเมื่อถึงเวลาออกเสียงเลือกผู้นำในสภาแล้วก็ชัดเจนว่าพรรคเหล่านี้เลือก “คนเดิม” และในบางประเทศก็มีการใช้อำนาจของหน่วยงานความมั่นคงเข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างหลักประกันเช่นนี้ เช่น การเลือกตั้งภายใต้รัฐบาลทหารอียิปต์ของประธานาธิบดีมูบารัคในปี 2538 นั้น เห็นได้ชัดถึงการที่เจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงเข้าคุกคามผู้ลงเสียงที่มีความชัดเจนที่จะไม่โหวตให้กับผู้แทนพรรครัฐบาล คุกคามผู้สมัครพรรคฝ่ายค้าน ขัดขวางการตรวจสอบการนับคะแนนของพรรคฝ่ายตรงข้าม และปฏิเสธที่จะให้มีผู้สังเกตการณ์อิสระ หรือในบางกรณีผู้สมัครอิสระได้แจ้งความแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐได้มาแจ้งให้ทราบว่าเขาจะโกงผลคะแนนการเลือกตั้งของตนในช่วงการนับคะแนน

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผลการเลือกตั้งภายใต้อำนาจของรัฐบาลเผด็จการย่อมเป็นชัยชนะของพรรครัฐบาลเดิม (หรือโดยนัยคือ การสร้างและออกแบบเพื่อให้เกิดชัยชนะของระบอบเดิม) ข้อสรุปที่เห็นได้ชัดจากแทบทุกกรณีที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลเผด็จการแล้ว ผลที่ชัดเจนก็คือ เมื่อการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นไม่ใช่กลไกของการแข่งขันทางการเมืองที่เสรีและเป็นธรรมแล้ว การเลือกตั้งนั้นจะนำไปสู่การมีรัฐบาลพันทางอย่างแน่นอน (เว้นแต่พรรคของระบอบเดิมจะแพ้การเลือกตั้งเช่นในเมียนมา)

การเลือกตั้งแบบกึ่งแข่งขันกับ ระบอบอำนาจนิยมแบบเลือกตั้ง

รัฐบาลแบบพันทางในแทบทุกประเทศมีชัยชนะจากการเลือกตั้งแบบ “กึ่งแข่งขัน” คู่ขนานกับการใช้อำนาจของรัฐบาลเผด็จการดังเช่นที่กล่าวข้างต้นเป็นเครื่องมือสำคัญ การกระทำเช่นนี้ก็เพื่อป้องกันผู้นำเดิมจากการแข่งขันกับพรรคฝ่ายค้าน และในอีกด้านหนึ่งก็เพื่อทำให้การจัดตั้งรัฐบาลในอนาคตไม่จำเป็นต้องผูกพันอยู่กับผลการเลือกตั้งเช่นที่เกิดในระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือ รัฐบาลพันทางไม่จำเป็นต้องมีความรับผิดชอบในการกระทำของตนต่อสาธารณชน (accountability)

นอกจากนี้การเลือกตั้งในแบบไฮบริดมีวัตถุประสงค์สำคัญ 2 ประการคือ

1)   ทำอย่างไรก็ได้ให้พรรครัฐบาลเป็นรัฐบาลต่อไป และในทำนองเดียวกันให้พรรคฝ่ายค้านเป็นฝ่ายค้านต่อไป

2)   ทำให้รัฐบาลที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเช่นนี้ดูน่าเชื่อถือ และสามารถอ้างได้ว่าเป็นรัฐบาลที่มีความชอบธรรมมาจากการเลือกตั้ง

กระบวนการก่อกำเนิดความเป็นพันทางในแบบไทย หรือการสร้าง “ระบอบทหารแบบเลือกตั้ง” ในปัจจุบันยังเห็นได้จากปัจจัยอื่นๆอีก 14 ประการ ได้แก่

1) การออกแบบรัฐธรรมนูญที่มีลักษณะเป็นรัฐธรรมนูญแบบกึ่งเผด็จการ

2) การมีกฎหมายลูกที่เอื้อให้แก่ความต่อเนื่องระบอบเดิม

3) การกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศ 20 ปี ที่ทำให้รัฐบาลพลเรือนไม่มีอำนาจในการกำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายของประเทศ

4) การขยายบทบาทของกองทัพและหน่วยงานความมั่นคง (กอ.รมน.)

5) การใช้องค์กรอิสระและสถาบันตุลาการเพื่อช่วยในการอยู่ในอำนาจ

6) การออกแบบกฎกติกาที่ทำให้ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ (และนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลผสมในตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้)

7) การทำให้เกิดเงื่อนไขที่ต้องยอมรับให้ผู้นำทหารเดิมที่มาจากการรัฐประหารกลับมาเป็นผู้นำรัฐบาลใหม่ เช่น การกำหนดให้วุฒิสภามีบทบาทโดยตรงในการเลือกนายกรัฐมนตรี

8) การสร้างหลักประกันในการเป็นรัฐบาลอย่างมั่นคงด้วยการกำหนดให้วุฒิสภามีอำนาจในการถ่วงดุลกับเสียงของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสะท้อนความเป็นกลไกของระบอบรัฐสภาที่เป็นพันทางอย่างชัดเจน

9) การออกนโยบายทางการเมืองและเศรษฐกิจเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางการเมือง โดยการใช้นโยบาย “เสนาประชานิยม” ที่อยู่ในรูปของการแจกเงินและสร้างโครงการทางเศรษฐกิจแบบต่างๆ

10) การใช้เครื่องมือในการควบคุมข่าวสารและการโฆษณาทางการเมืองเพื่อสนับสนุนระบอบเดิม

11) รัฐบาลเดิมยังเป็นผู้มีอำนาจโดยตรงในการควบคุมกองทัพและหน่วยงานความมั่นคง

12) ผู้นำทหารที่มีอำนาจในกองทัพแสดงบทบาทอย่างชัดเจนในการสนับสนุนรัฐบาล และต่อต้านฝ่ายค้านและผู้เห็นต่างในทางการเมือง

13) การสร้างพันธมิตรที่สำคัญระหว่างกองทัพกับกลุ่มทุนใหญ่ อันมีนัยสำคัญในทาง “เศรษฐศาสตร์การเมือง” (political economy) ว่าอำนาจพันธมิตรระหว่าง “ปืน+เงิน” จะเป็นประเด็นที่มีความสำคัญกับการสร้างประชาธิปไตยไทยในอนาคต

14) การใช้อำนาจพิเศษเพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวทางสังคมยังคงดำรงอยู่ในมือของรัฐบาลทหารที่มาจากการเลือกตั้ง (ดังจะเห็นได้ว่าแม้จะมีการเลือกตั้งแล้ว แต่ผู้นำรัฐบาลทหารยังคงมีอำนาจพิเศษอยู่ต่อไป)

อนาคตที่ซับซ้อนกับ ภารกิจประชาธิปไตย

ฉะนั้นเมื่อการเลือกตั้งแบบกึ่งแข่งขันเพื่อการจัดตั้งรัฐบาลทหารแบบเลือกตั้งผนวกเข้ากับเงื่อนไข 14 ประการในข้างต้นแล้ว จะส่งผลโดยตรงให้ระบอบการเมืองหลังเลือกตั้งของไทยมีความเป็นพันทางอย่างชัดเจน หรืออาจกล่าวได้ว่า การเลือกตั้งทำให้เกิดการ “แปลงร่าง” จากระบอบทหารเต็มใบมาเป็น “ระบอบทหารครึ่งใบ” ที่มีการเลือกตั้งเป็นกลไกรองรับ หรือเป็นการ “เปลี่ยนรูป” ของรัฐบาลรัฐประหารในแบบเดิม มาเป็นรัฐบาลทหารแบบใหม่ที่มาพร้อมกับการเลือกตั้ง ซึ่งในทางทฤษฎีการเมืองเปรียบเทียบคือการกำเนิดของ “ระบอบเผด็จการครึ่งใบ” ในการเมืองไทยยุคปัจจุบันนั่นเอง

การกำเนิดของระบอบทหารแบบเลือกตั้งในบริบทแบบไทยเป็นประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจในวงกว้าง เพราะปรากฏการณ์ชุดนี้ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นรูปแบบที่เป็นเสมือน “The Transformers” ที่เป็นการแปลงร่างของระบอบเผด็จการในคริสต์ศตวรรษที่ 21 ในการเมืองโลกเท่านั้น หากแต่บอกกับเราอีกด้วยว่า การพิจารณาปัญหาการเมืองแบบ 2 ขั้วคือ “เผด็จการ vs ประชาธิปไตย” ไม่เพียงพอแล้ว และอาจต้องคิดถึงการต่อสู้กับระบอบที่อยู่ระหว่างกลางคือ ไม่เป็นเผด็จการเต็มรูปแบบ แต่ก็ไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มรูปแบบเช่นกัน และมีการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือ

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ขบวนประชาธิปไตยไทยที่มีทั้งพรรคการเมือง ประชาสังคม และประชาชนกลุ่มต่างๆ จะกำหนดยุทธศาสตร์และยุทธวิธีในการต่อสู้กับระบอบพันทางในอนาคตอย่างไร… จะคิดต่อสู้กับเผด็จการในแบบเดิมนั้นอาจกลายเป็นเรื่องที่ล้าสมัยไปแล้ว และเผด็จการก็ไม่ใช่เผด็จการในแบบเดิมอีกต่อไปแล้วด้วย!

 

1 พฤศจิกายน 2562

แจกฟรี!! ฉบับพิเศษ

“โลกวันนี้” ขึ้นปีที่ 21

คลิกอ่านที่นี่

 

https://www.lokwannee.com/stg/wp-content/uploads/2019/10/lokwannee20.pdf

 

พบกับคอลัมนิสต์รับเชิญ พระพยอม กัลยาโณ, ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข, ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, ผศ.สุรพศ ทวีศักดิ์, ดร.โสภณ พรโชคชัย, “โบว์” ณัฏฐา มหัทธนา, ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ, ทนายวิญญัติ ชาติมนตรี และ ผศ.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์


You must be logged in to post a comment Login