วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

ดีลแสนล้าน”TMB-TBANK”

On February 27, 2019

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ธนาคารทหารไทย (TMB) และธนาคารธนชาต (TBANK) แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯว่า ธนาคารได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงแบบไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย (Non-binding Memorandum of Understanding) (บันทึกข้อตกลง) กับธนาคารธนชาต (TBANK), ING Groep N.V. (ING), บมจ.ทุนธนชาต (TCAP) และ The Bank of Nova Scotia (BNS) เพื่อกำหนดกรอบความเข้าใจและหลักการสำหรับการเจรจาร่วมกันต่อไปเกี่ยวกับการเข้าทำธุรกรรมต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการรวมกิจการระหว่างธนาคารทหารไทยและธนาคารธนชาตเพื่อร่วมดำเนินธุรกิจธนาคารด้วยขนาดที่ใหญ่ขึ้น

ทั้งนี้ ก่อนการรวมกิจการ TBANK จะดำเนินการปรับโครงสร้างทางธุรกิจเพื่อเสริมบทบาทการดำเนินธุรกิจ Financial Holding Company ของทุนธนชาตให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และเพื่อให้การดำเนินธุรกิจภายหลังการรวมกิจการสอดคล้องกับทิศทางการดำเนินธุรกิจปัจจุบันของธนาคาร

สำหรับสาระสำคัญของบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ภายหลังการรวมกิจการจะมีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท ฐานลูกค้ากว่า 10 ล้านคน และมีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่ 6 ในอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ไทย

ธนาคารทั้งสองแห่งมีจุดแข็งซึ่งส่งเสริมกัน กล่าวคือ ธนาคารทหารไทยมีจุดเด่นในการระดมเงินฝากด้วยกลยุทธ์ด้านเงินฝากด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากที่แตกต่างจากการธนาคารแบบดั้งเดิม ขณะที่ธนาคารธนชาตเป็นผู้นำด้านสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อรถยนต์ การรวมกิจการจึงช่วยเพิ่มศักยภาพในการระดมเงินฝากจากฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้น และสร้างสมดุลให้กับโครงสร้างสินเชื่อได้เป็นอย่างดี

การรวมกิจการจะส่งเสริมความสามารถในการทำกำไรและศักยภาพในการเติบโต สำหรับลูกค้าธนาคารภายหลังการรวมกิจการจะสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่หลากหลายและครอบคลุมยิ่งขึ้น สำหรับพนักงานมีโอกาสมากขึ้นจากขอบเขตหรือลักษณะงานใหม่ๆ นอกจากนี้การรวมกิจการนี้ยังสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจสถาบันการเงินของประเทศ

รูปแบบและโครงสร้างของธุรกรรมก่อนการรวมกิจการ ธนาคารธนชาตจะมีการปรับโครงสร้างทางธุรกิจ โดยจะมีการโอนบริษัทในเครือและบริษัทที่เกี่ยวข้องบางส่วนทั้งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้แก่ผู้ถือหุ้นปัจจุบัน ซึ่งได้แก่ ทุนธนชาต และ/หรือ BNS และ/หรือผู้ถือหุ้นรายย่อย ตามที่มีการลงนามเข้าทำสัญญา ในกรณีการปรับโครงสร้างทางธุรกิจนั้น เป็นที่คาดว่าผู้ถือหุ้นหลักของธนาคารธนชาตจะยังคงให้การสนับสนุนบริษัทย่อยและบริษัทในเครือดังกล่าว เพื่อให้จุดประสงค์ของการรวมกิจการบรรลุผล

เมื่อการปรับโครงสร้างดังกล่าวแล้วเสร็จ ธนาคารคาดว่าจะรวมกิจการกับธนาคารธนชาตด้วยวิธีการโอนกิจการทั้งหมด (Entire Business Transfer) เพื่อให้เป็นไปตามหลักนิติบุคคลเดียวตามกฎสถาบันการเงิน 1 รูปแบบ (Single Presence Rule) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่านการทำธุรกรรมต่างๆตามที่จะได้ตกลงกันต่อไป ทั้งนี้ โครงสร้างและขั้นตอนที่แน่นอนในการรวมกิจการนี้จะขึ้นอยู่กับผลการวิเคราะห์ด้านกฎหมาย กฎเกณฑ์ และภาษี

ธนาคารคาดว่าธุรกรรมนี้จะมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 130,000-140,000 ล้านบาท ทั้งนี้ อาจมีการปรับมูลค่าในขั้นตอนสุดท้าย เนื่องมาจากการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะ (Due Diligence) และมูลค่าหุ้นทางบัญชีของธนาคารธนชาตและบริษัทในเครือล่าสุด โดยคู่สัญญาตกลงจะชำระค่าตอบแทนให้แก่กันในรูปแบบของเงินสด และเงินสดส่วนหนึ่งจะนำกลับมาลงทุนในธนาคาร

ภายหลังจากการเข้าทำธุรกรรมแล้วเสร็จและมีการเพิ่มทุนตามที่จำเป็น ING กระทรวงการคลัง และทุนธนชาต คาดว่าจะเป็นผู้ถือหุ้นหลักของธนาคารภายหลังการรวมกิจการ โดย ING และทุนธนชาตจะถือหุ้นในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ส่วน BNS คาดว่าจะถือหุ้นในสัดส่วนที่น้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ

ส่วนการจัดหาเงินทุน ธนาคารประสงค์จะจัดหาเงินทุนสำหรับการเข้าทำธุรกรรมครั้งนี้ผ่านการระดมทุน ทั้งการออกตราสารหนี้และการออกหุ้นเพิ่มทุน โดยเงินทุนจากการออกหุ้นเพิ่มทุนคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 70 ของมูลค่าธุรกรรม

สำหรับในส่วนการออกหุ้นเพิ่มทุนประมาณ 50,000-55,000 ล้านบาท จะเป็นการออกหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ทุนธนชาตและ BNS โดยการออกหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ทุนธนชาตและ BNS คาดว่าจะคิดมูลค่าหุ้นเพิ่มทุนของธนาคารเท่ากับ 1.1 เท่าของมูลค่าทางบัญชีล่าสุดของธนาคารภายหลังปรับปรุงมูลค่าจากการจัดหาเงินทุน ทั้งนี้ มูลค่าดังกล่าวจะต้องไม่ต่ำกว่ามูลค่าขั้นต่ำที่จะได้กำหนดไว้ในสัญญาต่อไป

สำหรับเงินทุนจำนวนที่เหลืออีกประมาณ 40,000-45,000 ล้านบาท ธนาคารคาดว่าจะออกหุ้นเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของธนาคาร โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นหลักปัจจุบันของธนาคาร รวมทั้งอาจจะมีการออกหุ้นเพื่อเสนอขายให้กับประชาชนต่อไป และ/หรือบุคคลในวงจำกัด กับนักลงทุนรายใหม่หรือนักลงทุนรายเดิม ทั้งนี้ ธนาคารประสงค์ที่จะดำรงไว้ซึ่งฐานะเงินกองทุนที่ยั่งยืนภายหลังธุรกรรมเสร็จสิ้น

ส่วนชื่อทางการค้า (Branding) คาดว่าธนาคารภายหลังการควบรวมการดำเนินงาน (Integration) จะมีการใช้ชื่อทางการค้าใหม่ (Rebranding) โดยพิจารณาจากจุดแข็งในเชิงพาณิชย์ของชื่อทางการค้าเดิมของธนาคารและธนาคารธนชาต โดยชื่อทางการค้าใหม่ที่แน่นอนจะขึ้นอยู่กับการอนุมัติของคณะกรรมการธนาคารของธนาคารภายหลังการรวมกิจการ

สำหรับเรื่องของพนักงาน การดำเนินการจัดการด้านบุคลากรและพนักงานให้เป็นไปอย่างเหมาะสม ในกรณีที่ต้องมีการประเมินผลงานพนักงานจะมีการพิจารณาอย่างเป็นธรรมตามทักษะ ความเชี่ยวชาญ ความสามารถ และคุณสมบัติของบุคคลนั้นๆ

ภายหลังจากการลงนามในบันทึกข้อตกลงแล้ว คู่สัญญาทุกฝ่ายประสงค์ที่จะตรวจสอบวิเคราะห์สถานะ จัดเตรียม พิจารณา ต่อรอง และตกลงเข้าทำสัญญาตามที่คู่สัญญาจะได้ตกลงกันโดยทันที

ทั้งนี้ ธนาคารคาดว่าธุรกรรมน่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2562 ขึ้นอยู่กับการอนุมัติและการยินยอม โดยภายหลังจากที่ธุรกรรมเสร็จสิ้น ธนาคารและธนาคารธนชาตจะเริ่มดำเนินการรวมธุรกิจของทั้ง 2 ธนาคารไว้ภายใต้ธนาคารเดียว


You must be logged in to post a comment Login