วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567

4 ปี รัฐบาล คสช. กับการแก้ปัญหาสลาก ยิ่งแก้ยิ่งขายเกินราคา

On February 7, 2019

เว็บไซต์ thaipublica รายงานการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา เอาเปรียบผู้บริโภค เป็นปัญหาที่ทุกรัฐบาลเข้ามาแก้ไข พลิกปัญหาหลายตลบ แก้ด้วยมาตรการต่างๆ แต่ทำไมไม่เคยทำได้ แม้กระทั่งรัฐบาล คสช.แก้จนสลากบานปลายจาก 37 ล้านฉบับต่องวด กลายเป็น 90 ฉบับต่องวด ก็ยังไม่มีคำตอบว่าจะหยุดการขายเกินราคาได้อย่างไร ทั้งที่มีตัวอย่างและเทคโนโลยีที่สามารถนำมาจัดการได้ แต่ก็ยังไร้วี่แววการจัดการที่ถูกต้องและโปร่งใส!!

ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ ต้องย้อนกลับไปดูที่วัตถุประสงค์ของการออกสลากกินแบ่งรัฐบาล แรกเริ่มเดิมทีนั้นใช้เป็นเครื่องมือระดมทุน มาใช้ในกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ แต่มาในระยะหลังๆ ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือให้การหารายได้เข้ารัฐ

ดังนั้น วิธีการที่ดีที่สุดที่จะทำให้รัฐมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ แน่นอน สม่ำเสมอ และง่ายต่อการบริหารจัดการ จึงมีอยู่ 2 วิธี คือ การจัดสรรสลากฯ ให้กับตัวแทนจำหน่ายในระบบโควตา กับการเพิ่มปริมาณการพิมพ์สลากฯ ออกขาย ซึ่งจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นตามมา
x3
วิธีแรก การจัดสรรสลากฯ ผ่านระบบโควตานั้น สำนักงานสลากฯ ใช้รูปแบบของการขายขาด หรือซื้อเหมายกเล่ม ขายไม่หมด เหลือ สำนักงานสลากฯ ไม่รับซื้อคืน ผลักเป็นภาระของตัวแทนจำหน่ายที่ต้องไปหากลยุทธ์ส่งเสริมการขายกันเอาเอง ทั้งรวมชุด สร้างกระแสเลขดัง เลขเด็ด ปั่นราคา เพื่อให้ครอบคลุมต้นทุนสลากฯ ส่วนที่ขายไม่หมด และนี่ก็คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ต้องขายสลากเกินราคา
THAIPUBLICA_job[GP-29012562_2]
วิธีที่ 2 คือ เพิ่มปริมาณการพิมพ์สลากฯ เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการ ภายใต้แนวคิดที่ว่าเมื่อมีการเพิ่มปริมาณสลากฯ เข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมากแล้วราคาจะปรับลดลงโดยอัตโนมัติ ปรากฏว่าวิธีนี้ใช้ไม่ได้ผล พ่อค้าคนกลางใช้วิธีดูดซับปริมาณสลากฯ ส่วนเกินออกจากตลาด โดยนำสลากฯ เลขสวยๆ มารวมชุดขาย มีให้เลือกตั้งแต่ชุดละ 2 ใบ ไปจนถึงชุดละ 30 ใบ วางขายบนแผงทางด้านขวามือ ใบละ 90-150 บาท ถามว่าทำไมขายแพง ก็อ้างว่ารับมาแพง ส่วนเลขไม่สวย เช่น 00, 01, 02 … 09 ติดอยู่บนแผงด้านซ้ายมือ ขายใบละ 80 บาท แต่ถ้าใครอยากได้เลขสวยๆ ก็ต้องไปซื้อหวยชุด
x4
หลังจาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้ ม.44 ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 11/2558 รวมทั้ง แต่งตั้ง พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ขับเคลื่อนมาตรการแก้ปัญหาขายสลากฯ เกินราคา 3 ระยะ ตามที่นายกรัฐมนตรีเคยให้สัมภาษณ์ในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ว่า “ถ้าแก้ไม่ได้ ก็ให้ยกเลิกลอตเตอรี่ไปเลยดีไหม”

ปฏิบัติการขี่ช้างจับตั๊กแตน
เฟสแรก จัดระเบียบและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เริ่มจากการลดรายได้ส่วนที่ต้องนำส่งคลัง 8% (เดิมสำนักงานสลากฯ นำส่งคลัง 28% ของรายได้จากยอดขาย ลดเหลือ 20%) ในจำนวนนี้นำไปเพิ่มเป็นส่วนลด หรือกำไรให้ผู้ค้าสลากฯ 5% ที่เหลืออีก 3% ส่งเข้ากองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคม

จากนั้นก็เริ่มปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้ที่ขายสลากฯ เกินราคา ตามที่ปรากฏในคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับนี้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จากเดิมมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท โดยการจัดชุดปฏิบัติการพิเศษ สนธิกำลังตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง ออกจับกุมผู้ที่ขายสลากฯ เกินราคาทั่วประเทศ และถ้าพบว่าตัวแทนจำหน่ายสลากฯ รายใดยังฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตาม จะส่งให้สรรพากรตรวจสอบภาษีย้อน ปรากฏว่ามาตรการชุดนี้ใช้ได้ผล เกือบทุกแผงขายสลากฯ ใบละ 80 บาท แต่คนขายหวยตัวจริงที่ไม่ได้รับการจัดสรรโควตาจากสำนักงานสลากฯ เดือดร้อน ขาดรายได้ ไปรับสลากฯ ราคาแพงจากยี่ปั๊วมาขายเกินราคาก็ถูกจับ

ดีเดย์ตรึงราคาหวยคู่ละ 80 บาทวันแรก ผู้ค้ารายย่อยจี้สำนักงานสลากเปิดรายชื่อโควตา 48 ล้านฉบับ โวย “คนมีโควตาไม่ใช่คนขาย คนขายหวยตัวจริงไม่มีโควตา”

ผลประโยชน์ที่ต้องคงไว้
สำนักงานสลากฯ จึงเริ่มมาตรการเฟส 2 ปรับแผนและกำหนดทิศทางการจำหน่ายสลากฯ ใหม่ โดยบอร์ดสลากฯ มีมติให้ยกเลิกหรือตัดโควตาตัวแทนจำหน่ายสลากฯ เฉพาะรายที่ไม่เกี่ยวข้องกับคนพิการออกไป ส่วนตัวแทนจำหน่ายสลากฯ ประเภทมูลนิธิ สมาคม องค์กรการกุศล และผู้ค้าสลากรายย่อยที่เป็นคนพิการ ยังคงได้รับการจัดสรรสลากฯ ตามโควตาเหมือนเดิม สาเหตุสำนักงานสลากฯ ยกเลิกระบบการจัดสรรโควตาสลากฯ ทั้งหมดไม่ได้เพราะมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง สำหรับตัวแทนจำหน่ายสลากฯ ประเภทมูลนิธิ สมาคม องค์กรการกุศุลจะได้รับการจัดสลากฯ ในราคาพิเศษที่ใบละ 68.80 บาท เพื่อนำไปขายต่อให้สมาชิกใบละ 70.40 บาท ได้กำไรส่วนต่างใบละ 1.60 บาท โดยที่ไม่ต้องออกไปเดินเร่ขาย ส่วนผู้ค้าสลากฯ รายย่อยที่เป็นคนพิการได้รับการจัดสรรโควตาสลากใบละ 70.40 บาท หากไปยกเลิกระบบโควตาทั้งหมด ก็จะทำให้ตัวแทนจำหน่ายสลากกลุ่มนี้ขาดรายได้

นอกจากบอร์ดสลากฯ จะมีมติให้ตัดโควตาตัวแทนจำหน่ายสลากฯ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับคนพิการแล้ว ยังสั่งให้สำนักงานสลากฯ พิมพ์สลากออกขายเพิ่มอีก 13 ล้านใบ โดยให้นำไปรวมกับโควตาสลากฯ ที่ถูกยกเลิก เปิดขายให้กับผู้ค้าสลากฯ รายย่อยโดยตรงที่เข้าร่วมโครงการซื้อ-จองล่วงหน้าสลากฯ กับธนาคารกรุงไทย และทยอยเพิ่มปริมาณสลากฯ เข้าสู่ตลาดมาอย่างต่อเนื่อง จากปี 2557 สำนักงานสลากฯ พิมพ์สลากฯ ออกขายงวดละ 37 ล้านใบ ปี 2558 เพิ่มเป็น 50 ล้านใบ ปี 2559 เพิ่มเป็น 65 ล้านใบ ปี 2560 เพิ่มเป็น 71 ล้านใบ และปี 2561 จนถึงปัจจุบัน พิมพ์สลากออกขายงวดละ 90 ล้านใบ ส่งผลทำให้สำนักงานสลากฯ กลายเป็นรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้เข้าคลังมากที่สุดเป็นอันดับ 1

แก้กฏหมายเพิ่มอำนาจบอร์ด ลดรายได้ส่งคลัง
จากนั้นสำนักงานสลากฯ ก็เริ่มดำเนินมาตรการแก้ปัญหาสลากเกินราคา เฟส 3 แก้ปัญหาอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม โดยการเสนอร่าง พ.ร.บ.สำนักงานสลากฯ ฉบับใหม่ให้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านความเห็นชอบ เพื่อเพิ่มอำนาจบอร์ดสลากฯ ให้สามารถออกสลากฯ รูปแบบใหม่ได้ โดยความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม. รวมทั้งให้อำนาจในการกำหนดสัดส่วนเงินนำส่งคลัง และค่าใช้จ่ายของสำนักงานสลากฯ ได้ด้วย

และจากการที่สำนักงานสลากฯ พิมพ์สลากฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่ไม่ได้ไปเข้มงวดกวดขัน จับกุมผู้ที่ขายสลากฯ เกินราคา ทำให้ปัญหาขายสลากเกินราคากลับมาทวีความรุนแรงอีกครั้ง ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2561 มีผู้ค้าสลากฯ ที่ไม่ได้ขายจริง ทั้งระบบโควตา และระบบซื้อ-จองผ่านธนาคารกรุงไทย นำสลากฯ มาขายต่อให้กับพ่อค้าคนกลางกันอย่างแพร่หลาย เพื่อให้พ่อค้าคนกลางนำเลขสวยมารวมเป็นชุดขายเกินราคา ส่วนเลขไม่สวยก็แยกขายใบเดียว จนทำให้เกิดปัญหาสลากฯ ใบเดียวขาดตลาด รวมทั้งยังมีผู้ค้าสลากฯ บางรายฉวยโอกาสปั่นราคาสลากฯ ในช่วงจังหวะเวลาที่มีกระแสเลขเด็ด เลขดัง เลขมงคล เช่น เลขทะเบียนรถยนต์บุคคลสำคัญ หรืออายุหลวงพ่อคูณ เป็นต้น ขณะที่ผู้ซื้อเองก็ยอมจ่ายเงินซื้อสลากฯ ราคาแพง เพราะเชื่อว่าเมื่อซื้อแล้วจะถูกรางวัลใหญ่ แต่ถ้าไม่ถูก ไม่มีผลผูกพันใดๆ

และล่าสุดวันที่ 24 มกราคม 2562 สำนักงานสลากฯ ประกาศมาตรการแก้ปัญหาสลากเกินราคา โดยการออกสลากรวมชุด 2 ใบ สลับเลข 4 ตัวหน้า จำนวน 57 ล้านใบ ทดลองขายกับผู้ค้ารายย่อยที่ซื้อ-จองสลากฯ ผ่านธนาคารกรุงไทย เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่งวดวันที่ 1 มีนาคม 2562 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 ส่วนตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับการจัดสรรสลากฯ ในระบบโควตาจำนวน 33 ล้านใบ ยังคงได้รับการจัดสรรสลากฯ ในรูปแบบเดิม (ไม่ได้สลับเลข 4 ตัวหน้า) จึงมีนักวิชาการออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักว่ามาตรการดังกล่าวนี้อาจแก้ปัญหาสลากรวมชุดขายเกินราคาไม่ได้ เพราะกลุ่มตัวแทนจำหน่ายสลากในระบบโควตายังมีโควตาสลากอยู่ในมือถึง 33 ล้านใบ มีโอกาสที่จะนำมารวมชุดขายได้

วันที่ 26 มกราคม 2562 พ.ต.อ. บุญส่ง จันทรีศรี ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ชี้แจงต่อสื่อมวลชนถึงสาเหตุต้องนำระบบการจัดสรรสลากฯ ชุด 2 ใบ แบบคละเลข มาทดลองใช้กับกลุ่มผู้ค้าสลากฯ รายย่อยที่ซื้อ-จองสลากฯ ผ่านธนาคารกรุงไทยก่อน เนื่องจากสำนักงานสลากฯ ได้จัดพิมพ์สลากฯ ที่จะขายให้กับตัวแทนจำหน่ายในระบบโควตาไว้ล่วงหน้าแล้ว ส่วนกลุ่มผู้ค้าสลากฯ รายย่อยที่ซื้อสลากฯ ผ่านธนาคารกรุงไทย สำนักงานสลากฯ จะพิมพ์ตามคำสั่งซื้อและคำสั่งจอง ไม่สามารถพิมพ์ล่วงหน้าได้ จึงเริ่มที่กลุ่มผู้ค้าสลากฯ ที่ซื้อ-จองผ่านธนาคารกรุงไทยก่อน หากแก้ปัญหาสลากรวมชุดขายเกินราคาได้ผล ก็จะนำมาใช้กับตัวแทนจำหน่ายในระบบโควตาต่อไป

มาตรการออกหวยชุด 2 ใบ คละเลขหมาย 4 ตัวหน้า ตามสูตร 2-2-1 จึงเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชี้ให้เห็นว่า 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาล คสช.แทนที่จะหยุดการขายสลากฯเกินราคาได้ แต่ผลที่ได้คือรัฐบาลปั้มสลากฯเพิ่มขึ้น และปั้มทั้งรายได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ปี 2561 สำนักงานสลากฯ ส่งรายได้เข้าคลัง 40,850 ล้านบาท สูงที่สุดในบรรดารัฐวิสาหกิจทั้งหมด


You must be logged in to post a comment Login