วันพุธที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ถึงเวลาต้องเลือก?

On January 21, 2019

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 21 ม.ค. 62)

ความสนใจทางการเมืองของประชาชนนอกจากอยากรู้คำตอบที่แน่นอนเรื่องกำหนดวันเลือกตั้งแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ประชาชนรอคำตอบอยู่คือ อนาคตทางการเมืองของ “ลุงตู่” ว่าจะเลือกเดินทางใดเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย เมื่อกำหนดวันเลือกตั้งดูเหมือนชัดเจนขึ้นว่าจะเป็นวันที่ 24 มีนาคม เท่ากับถึงเวลาที่ “ลุงตู่” ต้องตัดสินใจว่าจะเอาชื่อไปใส่ในบัญชีผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกฯของพรรคการเมือง หรือจะรอเทียบเชิญเป็นนายกฯคนนอก ซึ่งต้องตัดสินใจก่อนวันปิดรับสมัคร ส.ส. ที่คาดว่าจะเป็นช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์

หลังมีแนวโน้มชัดเจนเรื่องกำหนดการเลือกตั้งว่าน่าจะเป็นวันที่ 24 มีนาคม 2562 ซึ่งเป็นการขยับออกจากโรดแม็พเดิม 1 เดือน ทำให้ข้อสงสัยต่างๆที่ประชาชนรอคำตอบอยู่ใกล้ถูกเปิดเผย

หนึ่งในความชัดเจนที่ประชาชนสนใจที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้นเรื่องอนาคตทางการเมืองของ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าจะตัดสินใจเลือกเส้นทางเดินบนถนนการเมืองอย่างไรต่อไป

ทุกคนเชื่อไปในทิศทางเดียวกันคือ “ลุงตู่” ไปต่อบนถนนการเมืองค่อนข้างแน่ แต่สิ่งที่ทุกคนอยากรู้คือจะเลือกทางเดินอย่างไร ระหว่างเอาชื่อไปใส่ในบัญชีผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง กับไม่เอาชื่อไปใส่ในบัญชีพรรคการเมือง แต่จะนั่งรอเทียบเชิญให้ไปเป็นนายกฯคนนอกหลังการเลือกตั้ง ซึ่งทั้ง 2 ทางมีข้อดีข้อด้อย ความยากง่ายที่จะไปถึงเป้าหมายที่ต้องการแตกต่างกัน

หากดูจากไทม์ไลน์ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำไว้ และหากกำหนดการเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 มีนาคมอย่างที่คนในรัฐบาลส่งสัญญาณ เท่ากับว่า “ลุงตู่” มีเวลาอีกประมาณ 2 สัปดาห์ในการตัดสินใจเลือกทางเดินที่มีความสำคัญต่ออนาคตตัวเอง

หากมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม กกต. จะเปิดรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ระหว่างวันที่ 4-8 กุมภาพันธ์ ซึ่งกฎหมายเขียนไว้ว่า พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัคร ส.ส. จะต้องแจ้งรายชื่อบุคคลที่จะเสนอชิงตำแหน่งนายกฯไปพร้อมกันด้วย จำนวนไม่เกินพรรคละ 3 คน ซึ่งการแจ้งรายชื่อผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกฯจะต้องยื่นต่อ กกต. ก่อนวันปิดรับสมัครเลือกตั้ง ซึ่งตามตุ๊กตาที่ กกต. ตั้งไว้ในที่นี้คือวันที่ 8 กุมภาพันธ์

ที่สำคัญบัญชีรายชื่อผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกฯที่พรรคการเมืองเสนอ กฎหมายเขียนไว้ชัดว่า กกต. ต้องประกาศให้ประชาชนรับทราบ

กติกาการเสนอชื่อผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกฯที่กฎหมายเขียนไว้คือ พรรคการเมืองจะเสนอชื่อได้ไม่เกินพรรคละ 3 คน แต่ไม่จำเป็นต้องเสนอครบ 3 คน จะเสนอเพียง 1 หรือ 2 คนก็ได้

พรรคใดที่ไม่เสนอชื่อผู้ท้าชิงนายกฯภายในกำหนดเวลาจะไม่มีสิทธิเสนอชื่อผู้ท้าชิงนายกฯอีกเมื่อถึงเวลาเลือก พรรคการเมืองจะเสนอชื่อใครต้องมีหนังสือยินยอมให้เสนอชื่อจากบุคคลนั้น บุคคลใดที่ถูกพรรคการเมืองเสนอชื่อซ้ำกันให้ถือว่าบุคคลนั้นไม่ได้รับการเสนอชื่อ

การเลือกนายกฯในสภาจะต้องเลือกจากบัญชีชื่อที่เสนอต่อ กกต. เท่านั้น จะเลือกคนจากนอกบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอไม่ได้ ยกเว้นกรณีที่ประชุมสภาไม่สามารถโหวตเลือกนายกฯจากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอได้ และมีมติเห็นชอบร่วมกันให้เสนอชื่อจากคนนอกบัญชีพรรคการเมือง

เมื่อดูตามไทม์ไลน์ของ กกต. และดูตามเงื่อนไข “ลุงตู่” มีเวลาตัดสินใจถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ถ้าจะเลือกวิธีเอาชื่อไปใส่ในบัญชีพรรคการเมือง

แต่หากไม่เลือกแนวทางนี้ก็รอไปจนถึงช่วงครึ่งหลังของเดือนพฤษภาคม

ทั้งนี้ หากดูตามกระแสข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้จะเทน้ำหนักไปทางเอาชื่อไปใส่ในบัญชีพรรคการเมือง ซึ่งก็คือพรรคพลังประชารัฐที่คนในรัฐบาลคุมบังเหียนอยู่ เพื่อไปโหวตชิงเก้าอี้กันในสภา ไม่ต้องรอขยักที่สองซึ่งถือว่ามีความเสี่ยง เพราะหากสภาโหวตเลือกนายกฯในบัญชีพรรคการเมืองได้ก็ต้องรอเก้อ ไม่สามารถเชิญมาเป็นนายกฯคนนอกได้

อย่างไรก็ตาม หลังเปิดตัวพรรคพลังประชารัฐแล้วกระแสตอบรับไม่ดีอย่างที่คาด แถมยังมีปัญหาเงินระดมทุนที่ยังเคลียร์ไม่ลงตัว ช่วง 1-2 สัปดาห์มานี้จึงมีกระแสข่าวว่าจะไม่เอาชื่อใส่ในบัญชีพรรคการเมืองแล้ว เพราะจะทำให้เกิดข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวทางการเมือง การไม่มีชื่อในบัญชีผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกฯทำให้เคลื่อนไหวช่วยเรียกคะแนนทางอ้อมให้พรรคลูกหาบได้ง่ายกว่า เพราะเวลาทำอะไรที่สุ่มเสี่ยงยังอ้างได้ว่าไม่ได้หาเสียง เพราะไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง

ความลังเลว่าจะเลือกทางใดแสดงว่าไม่มั่นใจว่าทางไหนจะพาไปสู่เป้าหมายอย่างที่ต้องการได้

แต่ไม่ว่าจะลังเลอย่างไรก็ถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่งที่เห็นว่าดีที่สุด แล้วประกาศให้ประชาชนรับรู้พร้อมกันก่อนวันปิดรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส. ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้แน่นอน


You must be logged in to post a comment Login