วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567

กกต.เตือนผู้สมัครกดไลค์-แชร์-โพสต์ใส่ร้ายเสี่ยงถูกใบแดง

On January 16, 2019

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. แถลงข่าวชี้แจงกรณีราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ระเบียบและประกาศที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ส.ส. จำนวน 9 ฉบับว่า ระเบียบดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เมื่อ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งมีผลใช้บังคับ การออกระเบียบดังกล่าว กกต. คำนึงถึงเรื่องที่กฎหมายกำหนดให้การหาเสียงของผู้สมัครและพรรคการเมืองต้องเป็นไปอย่างเท่าเทียมกัน อีกทั้งกฎหมายยังกำหนดให้รัฐสนับสนุนการหาเสียงให้พรรคการเมือง จึงทำให้ กกต. กำหนดค่าใช้จ่ายแบบแบ่งเขตไม่เกิน 1.5 ล้านบาท และแบบบัญชีรายชื่อไม่เกิน 35 ล้านบาท โดยรายละเอียดของวิธีหาเสียงที่น่าสนใจ ในเรื่องโซเชียลมีเดีย กำหนดให้ผู้สมัครหาเสียงได้ทั้งในเฟซบุ๊ค ไลน์ และแอพพลิเคชั่นต่างๆ โดยคิดเป็นค่าใช้จ่าย ซึ่งผู้สมัครต้องแจ้งต่อ กกต. ก่อนการหาเสียง เพื่อป้องกันการแอบอ้าง อวตาร หรือการสวมรอยสวมชื่อเฟซบุ๊คแล้วนำไปใช้หาเสียงโจมตีผู้อื่น ซึ่งหาก กกต. ตรวจสอบพบจะได้แจ้งไปยังผู้สมัครให้ลบทิ้ง ถ้าไม่ยอมลบ กกต. จะดำเนินการเอง กรณีหาตัวไม่ได้ก็ลบออกจากโซเชียลมีเดียเช่นกัน เพราะกรณีเช่นนี้ยิ่งอยู่นานก็ยิ่งทำให้เสียหาย

“ประเด็นโซเชียลมีเดีย ประธานให้ความสำคัญ จะลงมาดูแลเอง สำนักงาน กกต. จะตั้งวอร์รูมตรวจสอบ และทำความตกลงกับเจ้าของเว็บไซต์ เว็บเพจ เช่น เฟซบุ๊ค ยูทูบ เมื่อพบว่ามีการโพสต์ข้อความไม่ถูกต้อง ใส่ร้ายป้ายสี จะประสานให้ผู้โพสต์ลบทิ้ง หากไม่ลบจะประสานให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมดำเนินการ กรณีเป็นการโพสต์มาจากต่างประเทศจะประสานตัวแทนในประเทศไทยให้ลบ หากเป็นเว็บใต้ดิน หาที่มาไม่ได้ ก็จะลบเลย แต่จะเตือนไปยังผู้สมัครให้ระวังการกดแชร์ กดไลค์ กองเชียร์ กองแช่งมีเยอะ ถ้าเป็นการกดแชร์หรือกดไลค์ข้อความใส่ร้าย นอกจากจะผิดอาญาข้อหาหมิ่นประมาทแล้ว ยังจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และผิดกฎหมายเลือกตั้ง มีโทษใบแดง” พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าว

เมื่อถามถึงนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จัดรายการ “กู๊ดมันเดย์” ซึ่งอาจมีเนื้อหาช่วยหาเสียงให้กับบางพรรคสามารถทำได้หรือไม่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์หลีกเลี่ยงที่จะตอบ โดยอ้างว่าถ้าเป็นเรื่องของการกระทำว่าอย่างนี้ผิดหรือไม่ขึ้นอยู่กับการตีความ จะให้ตอบในขณะนี้คงไม่ได้ ยกเว้นเป็นคดีขึ้นมาเราก็จะไปตรวจสอบ

พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าวต่อว่า ส่วนการติดป้ายประกาศหาเสียงเลือกตั้ง ผู้สมัครสามารถจัดทำป้ายขนาดเอ 3 จำนวนไม่เกิน 10 เท่าของหน่วยเลือกตั้ง หรือประมาณ 270 แผ่นต่อเขตเลือกตั้ง ส่วนป้ายขนาด 130X245 ซม. ติดได้ไม่เกิน 2 เท่าของหน่วยเลือกตั้ง หรือ 540 แผ่นต่อเขตเลือกตั้ง ซึ่งป้ายทั้ง 2 แบบดังกล่าวจะติดได้ในสถานที่ที่ ผอ.กกต.เขต กำหนดเท่านั้น ส่วนแผ่นป้ายหาเสียงขนาด 400X750 ซม. ติดได้ที่หน้าที่ทำการพรรคหรือสาขาพรรคเขตเลือกตั้งละ 1 ป้าย และขอให้พึงระวังอย่าพิมพ์หรือติดป้ายเกิน ซึ่งอาจถูกคู่แข่งไปแจ้งความ เนื่องจากมีโทษทางอาญา จำคุกไม่เกิน 6 เดือน และปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนป้ายติดรถหาเสียงและเวทีหาเสียงจะถูกควบคุมด้วยค่าใช้จ่าย สำหรับเนื้อหาและรูปภาพในป้ายหาเสียง เช่น คำขวัญ นโยบาย รูปของผู้สมัคร กรรมการบริหารพรรค และผู้ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกฯ หัวหน้า และสมาชิกพรรคเท่านั้น ส่วนใบปลิวและวิดีทัศน์ห้ามโปรย ห้ามวาง ต้องแจกกับมือผู้มีสิทธิเลือกตั้งเท่านั้น สำหรับผู้ช่วยหาเสียงหรือคนเดินแจกใบปลิว ตามระเบียบให้ผู้สมัครแบบแบ่งเขตมีผู้ช่วยหาเสียงได้ไม่เกิน 20 คน พรรคการเมืองละไม่เกิน 10 เท่าของเขตเลือกตั้งที่ส่งผู้สมัคร อนุญาตให้เปลี่ยนได้ไม่เกิน 3 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1 ใน 3 เพราะผู้ช่วยหาเสียงต้องรับค่าแรง กฎหมายจึงต้องป้องกันการเอาเงินค่าซื้อเสียงไปแบ่งให้ผู้ช่วยหาเสียง และป้องกันคนที่มีทุนเยอะมีเงินจ้างผู้ช่วยหาเสียงได้มาก

เลขาธิการ กกต. กล่าวด้วยว่า การหาเสียงทางวิทยุและโทรทัศน์ ผู้สมัครจะดำเนินการเองไม่ได้ กกต. จะจัดสรรเวลาออกอากาศให้พรรคละไม่เกิน 10 นาที นอกจากนี้กฎหมายยังเพิ่มเติมการดีเบตนโยบายหรือประชันนโยบายของพรรคการเมือง โดยจัดเป็นกลุ่มพรรคการเมือง 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นพรรคที่ส่งผู้สมัครตั้งแต่ 300-350 เขต กลุ่มที่ 2 ส่งผู้สมัครตั้งแต่ 200-299 เขต และกลุ่มที่ 3 ส่งผู้สมัครตั้งแต่ 199 เขตลงมา ในส่วนของสถาบันการศึกษาหรือองค์กรวิชาชีพต่างๆก็สามารถจัดดีเบตได้ แต่ต้องยึดหลักความเท่าเทียมกันดังกล่าว

เมื่อถามถึงกรณีบางพรรคการเมืองมีเครือข่ายเป็นเจ้าของสื่อโทรทัศน์จะให้น้ำหนักในการนำเสนอข่าวให้กับบางพรรค พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าวว่า หากมีการร้องเข้ามา กกต. ต้องไปตรวจสอบ สำหรับเจ้าของสื่อกฎหมายเขียนห้ามไว้แล้ว การนำเสนอข่าวต้องเท่าเทียมกันทุกพรรคการเมือง ทำข่าวได้ หาเสียงไม่ได้

พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าวอีกว่า ส่วนลักษณะต้องห้ามในการหาเสียง ห้ามผู้สมัคร พรรคการเมือง ใช้ผู้ประกอบอาชีพเจ้าของกิจการวิทยุโทรทัศน์ สื่อมวลชน สื่อโฆษณา เอื้อประโยชน์ในการหาเสียงให้กับตน เว้นแต่ถ้าบุคคลนั้นเป็นผู้สมัครสามารถใช้ความรู้ความสามารถทางศิลปะของตนเองในการหาเสียงได้ แต่ต้องไม่ใช้อุปกรณ์ในการแสดง กรณีการช่วยซองงานบุญ งานบวช หรืองานศพ แม้จะเป็นงานตามประเพณีนิยมหรือเป็นจารีตประเพณีปรกติก็ไม่สามารถทำได้ แม้แต่การวางพวงหรีดก็ทำไม่ได้ เพราะเป็นทรัพย์สินที่ตีเป็นมูลค่าได้ อาจเข้าลักษณะหาเสียง และเป็นพฤติการณ์ที่สุ่มเสี่ยง

พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าวถึงเรื่องการขอใช้สถานที่ราชการในการหาเสียงของพรรคการเมืองว่า สามารถทำได้ แต่เจ้าของสถานที่ต้องคำนึงถึงเรื่องความเท่าเทียมกัน หรือให้ทุกพรรคสามารถใช้สถานที่ได้อย่างเท่าเทียม และเจ้าของสถานที่ยังต้องวางตัวเป็นกลาง และมีจิตสำนึกว่าตัวเองเป็นข้าราชการ  ไม่ใช่ไปช่วยแจกใบปลิวหรือขึ้นเวทีหาเสียง

เมื่อถามถึงกรณีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) จะเชิญกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำท้องถิ่น มาเตรียมความพร้อมในเรื่องการจัดการเลือกตั้ง เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า ไม่แน่ใจว่า กอ.รมน. ได้ประสานมายัง กกต. หรือไม่ แต่ กกต. ไม่มีอำนาจจะเข้าไปดูตรงนี้ และโดยปรกติ กกต. เองก็มีหน้าที่จัดอบรมให้ความรู้กับหน่วยงานต่างๆอยู่แล้ว ส่วนจะเป็นการใช้อำนาจหน้าที่จูงใจให้เลือกพรรคใดพรรคหนึ่งหรือไม่ก็ต้องติดตามดูกันต่อไป

พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าวถึงความคืบหน้าในการพิจารณากำหนดวันเลือกตั้งว่า ขณะนี้ กกต. ยังรอการประกาศ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ซึ่งไม่รู้ว่าจะมีเมื่อไร รัฐบาลยังไม่ได้ประสานมา มีเพียงการประสานถึงงานพระราชพิธีว่าจะมีในวันใดบ้าง ในส่วนของ กกต. ได้พูดคุยกันว่าจะจัดการเลือกตั้งและประกาศผลภายใน 150 วันนับแต่ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ใช้บังคับ ภายในวันที่ ‪9 พ‬ฤษภาคม ส่วนถ้ามีการเลือกตั้ง‪ในวันที่ 24 มี‬นาคม ระยะเวลาการประกาศผลก่อนวันที่ ‪9 พ‬ฤษภาคม รวมแล้ว 45 วัน ก็น่าเชื่อว่า กกต. สามารถทำได้ แม้ว่าระยะเวลาดังกล่าวค่อนข้างจะบีบ และกฎหมายยังกำหนดให้ กกต. ต้องรับฟังความเห็นของผู้ตรวจการเลือกตั้งว่าการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตหรือไม่ด้วย

พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าวถึงการยกร่างคำร้อง 4 รัฐมนตรีถือครองหุ้นสัมปทานรัฐขัดรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งยกร่างคำร้อง อย่างช้าไม่น่าเกินสัปดาห์หน้าจะเสนอให้ประธาน กกต. พิจารณาได้ ส่วนกรณีการตรวจสอบโต๊ะจีนระดมทุนของพรรคพลังประชารัฐนั้น ขณะนี้ยังไม่ครบกำหนดระยะเวลา 30 วันที่ต้องแจ้งต่อนายทะเบียน พรรคจึงยังไม่ได้ส่งรายงาน


You must be logged in to post a comment Login