วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

ระวัง! สิ้นสุดทางเลื่อน #เลื่อนแม่มึงสิ

On January 10, 2019

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 11-18 มกราคม 2562)

การแถลงของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา ที่มีแนวโน้มจะเลื่อนกำหนดวันเลือกตั้งจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 เนื่องจากอาจกระทบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562 ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย ไม่เฉพาะฝ่ายการเมืองเท่านั้น แต่ยังเกิดปรากฏการณ์แฮชแท็ก “#เลื่อนแม่มึงสิ” ในโลกทวิตเตอร์จนพุ่งขึ้นเป็นอันดับ 1 ในประเทศไทย มีการทวีตมากกว่า 367,000 ครั้ง (เวลา 22.04 น.) เพราะจะทำให้มีการเลื่อนการสอบวัดความถนัดทั่วไป (GAT) และความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ (PAT) ที่เลื่อนมาแล้ว 1 ครั้ง จากวันที่ 23-26 กุมภาพันธ์ มาเป็นวันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ เพื่อหลีกกำหนดวันเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ ซึ่งกระทบกับการเตรียมตัวสอบของนักเรียนประมาณ 300,000 คน

ผู้ใช้ทวิตเตอร์แฮชแท็กจึงแสดงความเห็นไม่พอใจ โดยเฉพาะนักเรียนชั้น ม.6 ทวีตโดยใช้แฮชแท็ก “#เลื่อนแม่มึงสิ” และ “#dek62” แสดงความเห็นว่าพวกเขาต้องเลื่อนกำหนดสอบ GAT/PAT มาแล้ว 1 ครั้ง จากวันที่ 23-26 กุมภาพันธ์ มาเป็นวันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ เพื่อหลีกกำหนดวันเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ โรงเรียนมัธยมฯหลายแห่งต้องเร่งจัดการเรียนการสอนและสอบปลายภาคเพื่อให้ทันกำหนดสอบ ทำให้เด็กยากลำบากในการอ่านหนังสือเตรียมสอบ มีเวลาเตรียมตัวสั้นลง ซึ่งการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยต้องสอบหลายสนาม ทั้ง GAT/PAT, O-NET, 9 วิชาสามัญ บางคนต้องสอบวิชาเฉพาะอีก โดยการสอบจะกำหนดไว้ช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ของเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมต่อเนื่อง 4 สัปดาห์

ดังนั้น หากเลื่อนวันเลือกตั้งก็จะต้องเลื่อนการสอบต่างๆออกไปอีก จึงมีการเสนอให้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เลื่อนวันสอบ GAT/PAT กลับมาตามกำหนดปฏิทินเดิม เพื่อให้มีเวลาเตรียมสอบ

ทวิตเตอร์ #ทวงคืนวันสอบเลื่อนเลือกตั้ง ยังไงก็แพ้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทวีตชี้แจงถึงกระแสการเลื่อนเลือกตั้งจนกระทบวันสอบ GAT/PAT (4 มกราคม) ว่า “ตอนนี้ผมเห็นว่ามีกระแสว่าหลานๆนักเรียนอยากจะ #ทวงคืนวันสอบ ผมเข้าใจหลานๆนะครับ แต่อย่างไรก็ตาม อยากให้หลานๆอดทนรออีกเล็กน้อยให้ กกต. ได้กำหนดวันเลือกตั้งให้ชัดเจน เพื่อที่ ทปอ. จะได้สามารถวางแผนพิจารณาการเลื่อนวันสอบ GAT/PAT ต่อไปครับ”

ทวิตเตอร์ของ “ลุงฉุน” ถูกปักหมุดกลายเป็นกระทู้ล่อเป้าที่มีการรีทวีตกลับมากมายจากนักเรียน นักศึกษา และผู้ปกครอง ที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นคัดค้านการเลื่อนเลือกตั้งและวันสอบเปลี่ยนไปมาว่า สะท้อนถึงรัฐบาลที่ไม่ให้ความสำคัญกับการศึกษา ทำไมเด็กรุ่นใหม่ต้องอยู่ภายใต้ผู้ใหญ่ที่ไร้ความรับผิดชอบ ซึ่งผลกระทบที่ตามมาไม่ใช่เพียงเตรียมการอ่านหนังสือ แต่รวมถึงกำหนดการเดินทางที่ต้องจองตั๋วเครื่องบิน เพราะวันสอบไม่ชัดเจน บางคนมองว่าเพราะผลโพลที่ออกมาทำให้ฝ่ายสนับสนุน “ระบอบ คสช.” กลัวแพ้การเลือกตั้ง ซึ่งผู้ทวีตข้อความเชื่อว่าเลื่อนไปก็ไม่มีใครเลือกอยู่ดี

อย่างทวีต #ทวงคืนวันสอบให้เด็ก dek62 ตอบกลับว่า “พูดแบบขอไปที แบบนี้แหละพวกไม่เคยสัมผัสความยากลำบากของชีวิตเด็ก ม.6 อย่างว่า ไม่เคยสอบเอ็นทรานซ์สินะ คิดว่า dek62 เป็นของเล่นเหรอ เลื่อนยันชาติหน้าก็แพ้ เข้ามาแบบไม่ถูกต้อง ไม่มีความชอบธรรมอะไรเลยจริงๆ”

ศธ. อ้างเด็กเตรียมตัวมากขึ้น

นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ชี้แจงเรื่องการสอบ GAT/PAT ว่า จะพิจารณากลับไปสอบวันเดิมที่เคยกำหนดไว้ คือวันที่ 23-26 กุมภาพันธ์ แต่ทั้งนี้ ขอให้เป็นตามคำพูดของนายกรัฐมนตรีที่เคยระบุไว้ว่ารอให้มีการประกาศวันเลือกตั้งให้ชัดเจนก่อน แล้วตนจะประกาศอย่างเป็นทางการ ซึ่งขณะนี้ได้หารือกับประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ไว้แล้ว เพราะเป็นหน่วยงานหลักจัดการสอบ เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ทางกระทรวงจะดำเนินการต่อเอง โดยการกำหนดวันสอบจะไม่ส่งผลกระทบ แต่คิดว่าจะส่งผลดีต่อเด็ก เพราะมีเวลาในการเตรียมสอบเพิ่มมากขึ้น เท่าที่สำรวจจากการอ่านความเห็นเด็กๆก็มองว่าเป็นประโยชน์ ยืนยันว่าจะไม่กระทบกับการเข้าศึกษาต่อและปฏิทินการศึกษาอื่นๆ

ดังนั้น ขอให้ทุกฝ่ายใจเย็นและรอประกาศอย่างใกล้ชิด ส่วนนักเรียนบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนการสอบออกไปก็ต้องดูในเรื่องประโยชน์ส่วนใหญ่มากที่สุด

#เลื่อนแม่มึงสิ หยาบแต่ไม่หยาบ

ปรากฏการณ์แฮชแท็ก “#เลื่อนแม่มึงสิ” ในโซเชียลมีเดียหลังมีแนวโน้มว่าอาจต้องเลื่อนวันเลือกตั้ง ซึ่งมีคำถามว่าเป็นการใช้ “คำหยาบ” เกินไปหรือไม่นั้น ผศ.ดร.เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาและวรรณคดีตะวันตก คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ให้สัมภาษณ์แฟนเพจยูดีดีนิวส์ – UDD news (5 มกราคม) ว่า เป็นการสะท้อนให้เห็นความคับข้องใจของคนจำนวนมากที่ไม่ให้ความสำคัญต่อความสุภาพอีกต่อไป ต่อให้มีผู้วิจารณ์ว่าหยาบคายก็เชื่อว่าคนจำนวนมากจะใช้ต่อไปอยู่ดีและอาจมากขึ้นด้วย เพื่อระบายความอึดอัดต่อแรงกดดัน ซึ่งสะท้อนอย่างน้อย 2 ประการคือ 1.การที่พวกเขาไม่ได้มองว่ารัฐบาลมีฐานะทางสังคมสูงส่งห่างจากประชาชน จึงใช้ภาษาโดยไม่ต้องคำนึงถึงความสุภาพ และ 2.การที่ประชาชนรู้สึกคับข้องใจจนถึงจุดที่ไม่ต้องรักษามารยาททางภาษา แสดงให้เห็นความอัดอั้นตันใจในวงกว้างจากที่รัฐบาลกล่าวถึงการเลือกตั้งในโอกาสต่างๆทั้งในและต่างประเทศ แต่สุดท้ายก็พยายามเลื่อนออกไปอีก เหมือนฟังคำโกหกซ้ำซากเป็นเวลาหลายปี

ในฐานะที่ศึกษาภาษากับสังคมมองว่าคำดังกล่าวเป็นการระบายอารมณ์ต่อสภาวะและความเป็นไปทางการเมืองที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้สนับสนุนประชาธิปไตย เป็นปรากฏการณ์ทั่วไปที่พบเห็นได้ในการเมืองหลายประเทศ แฮชแท็ก “#เลื่อนแม่มึงสิ” และ “#ประเทศกูมี” มีความคล้ายกัน คือมีคำว่า “มึง” กับ “กู” ซึ่งไม่สุภาพในสายตาของบางคน เป็นการใช้ภาษาแบบไม่ปรุงแต่งให้ไพเราะ แต่เน้นความจริงใจในสารที่อยากสื่อ

การใช้ภาษาที่หยาบหรือไม่หยาบ มีความเหมาะสมในสถานการณ์นั้นๆหรือไม่ ความเหมาะสมที่ว่าขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่ที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งคือมุมมองทั้งผู้ส่งและรับ ยิ่งระยะห่างมาก ความคาดหวังให้ภาษามีความสุภาพก็มากตาม ยิ่งระยะห่างน้อย ความคาดหวังให้มีความสุภาพก็ลดน้อยลงจนถึงระดับหยาบคาย เช่น การใช้คำสรรพนาม “กู มึง” ในกลุ่มเพื่อนสนิทที่แสดงความเป็นกันเอง ผู้ฟังมองว่าหยาบคาย แต่ผู้ใช้ก็ยังเจตนาที่จะใช้ คำว่า “สะตอ” ในภาษาปากที่มาจากคำว่า “สตรอว์เบอร์รี่” ซึ่งวัยรุ่นปัจจุบันมักใช้บรรยายพฤติกรรมของคนที่ “ตอแหล”

หยุดชักแม่น้ำทั้งห้า

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ค Piyabutr Saengkanokkul (3 มกราคม) กรณีเลื่อนการเลือกตั้งว่า การที่นายวิษณุ เครืองาม ยกแม่น้ำทั้งห้าขึ้นมาเพื่อเลื่อนวันเลือกตั้งนั้น ฟังดูแล้วเหมือนเป็นการทำให้การเลือกตั้งดูเป็นเรื่องสกปรกหรือเป็นเรื่องความวุ่นวาย มิควรให้ตรงกับวันที่เกี่ยวข้องกับพระราชพิธี แต่ในสังคมโลกทุกวันนี้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นเรื่องปรกติ เป็นเรื่องสง่างาม แต่รัฐประหารกับรัฐบาลจากรัฐประหารต่างหากที่เป็นเรื่องผิดปรกติ เป็นสิ่งสกปรก เป็นเรื่องน่ารังเกียจ

ดังนั้น การเลือกตั้งและกระบวนการหลังจากนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกแยกที่ต้องถูกเลื่อนออกไป ด้วยเหตุผลนี้จึงร่วมติดแฮชแท็กตามกระแสของผู้คนมากมายที่ไม่พอใจกับการเลื่อนการคืนอำนาจกลับไปสู่ประชาชนนี้ด้วยว่า #เลื่อนแม่มึงสิ

โยนให้ กกต. ทำในสิ่งที่ยังทำไม่ได้

นายปิยบุตรยังได้โพสต์ความเห็นในแง่กฎหมายและรัฐธรรมนูญ (5 มกราคม) ว่า แต่ไหนแต่ไรมารัฐบาลมีอำนาจเสนอพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ใหม่เป็นการทั่วไปให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ โดยใน พ.ร.ฎ. จะกำหนดวันเลือกตั้งเอาไว้ด้วย ต่อมาเมื่อประเทศไทยกำหนดให้มี กกต. เป็นองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรมขึ้น รัฐบาลก็จะหารือกับ กกต. ในฐานะองค์กรจัดการเลือกตั้งเสมอว่าสมควรกำหนดให้วันเลือกตั้งเป็นวันใด

รัฐธรรมนูญ 2560 ได้กลับกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการตรา พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. และการกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส. เสียใหม่ โดยแบ่งแยกเด็ดขาดว่า รัฐบาลมีอำนาจเสนอ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ใหม่เป็นการทั่วไปให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ ส่วนการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต. แต่เพียงผู้เดียว

หากเราอยู่ในการปกครองแบบปรกติ มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง เรื่องเหล่านี้ก็คงไม่ซับซ้อน เมื่อไรก็ตามที่นายกรัฐมนตรีตัดสินใจยุบสภา หรือสภาผู้แทนราษฎรครบวาระ 4 ปี รัฐบาลก็จะถูกบังคับให้เสนอ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ทันทีภายใน 45 วัน จากนั้น 5 วัน กกต. ต้องกำหนดวันเลือกตั้ง โดยวันเลือกตั้งนั้นต้องอยู่ภายใน 45-60 วันนับตั้งแต่มี พ.ร.ฎ. แต่เวลานี้เราอยู่ในระบอบรัฐประหาร มีรัฐบาลเผด็จการทหารจากการยึดอำนาจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติจากการแต่งตั้งของ คสช. ไม่มีวาระ ไม่อาจถูกยุบได้ เมื่อสภาไม่มีวันหมดอายุ การจะมี พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไปหรือไม่จึงอยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรีที่มาจากการยึดอำนาจแต่เพียงผู้เดียวว่าจะทำให้ พ.ร.ฎ. นี้เกิดขึ้นเมื่อไร

หากตราบใดที่ยังไม่มี พ.ร.ฎ. กกต. ก็ไม่มีทางที่จะกำหนดวันเลือกตั้งได้ การที่คนในระบอบ คสช. ทั้งหลายออกมา “โบ้ย” ว่าอำนาจในการกำหนดวันเลือกตั้งอยู่ที่ กกต. จึงเป็นการ “โยนภาระ” ให้ กกต. “ต้องทำในสิ่งที่ยังทำไม่ได้” ในการเลือกตั้งทุกๆครั้งที่ผ่านมารัฐบาลและ กกต. จะมีการหารือเรื่องวันเลือกตั้งเป็นที่แน่ชัด และประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเองก็มักจะรู้ว่าเป็นวันไหนตั้งแต่ก่อนจะมีการร่าง พ.ร.ฎ.เลือกตั้งด้วยซ้ำ แต่การเลือกตั้งครั้งนี้มีความคลุมเครือ เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ถึงวันนี้ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งยังไม่รู้ “วันเลือกตั้ง” ที่ชัดเจนเลย

เลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ไม่กระทบพระราชพิธี

นายปิยบุตรยังชี้ว่า รัฐธรรมนูญกำหนดให้ กกต. ต้องประกาศผลการเลือกตั้งภายใน 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง แต่ไม่ได้หมายความว่า กกต. ต้องใช้เวลาครบ 60 วัน กกต. อาจใช้เวลาพิจารณาและประกาศผลเพียง 30 วัน หรือ 45 วันก็ได้ หากมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งหลังจากนั้นกฎหมายก็กำหนดให้มีกระบวนการพิจารณาโดยศาลฎีกาต่อไป ดังนั้น กระบวนการได้มาซึ่งสภาผู้แทนราษฎรใหม่และรัฐบาลใหม่จึงไม่กระทบกับช่วงเตรียมการพระราชพิธีตามที่คนของรัฐบาล คสช. กล่าวอ้าง สามารถมีการเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ มีสภาผู้แทนราษฎรและมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในช่วงพระราชพิธีได้

“ไม่มีรัฐธรรมนูญ ไม่มีกฎหมายข้อไหน ฉบับใด บังคับว่าต้องเป็นรัฐบาลจากรัฐประหารเท่านั้นที่ต้องทำหน้าที่จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตรงกันข้ามหากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกดำเนินการโดยรัฐบาลจากการเลือกตั้งของประชาชนย่อมสง่างามกว่า การเลือกตั้งคือสิ่งปรกติ สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน รัฐบาลจากการเลือกตั้ง คือความสง่างาม รัฐประหารคือสิ่งผิดปรกติ รัฐบาลจากการรัฐประหารคือสิ่งแปลกปลอม น่ารังเกียจ”

ต้องไม่ลืมว่าการเลือกตั้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในต้นปีนี้ก็เป็น “ผลงาน” ของ คสช. เองที่เลื่อนแล้วเลื่อนอีกจนมาตรงกับช่วงพระราชพิธี หาก คสช. ยอมให้มีการเลือกตั้งตั้งแต่กลางปีหรือปลายปีที่แล้ว โดยไม่เล่นแร่แปรธาตุเอากับกระบวนการทางกฎหมาย เขียนแล้วแก้ เขียนแล้วแก้ หดเข้ายืดออก กรณีนี้ก็จะไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด หยุดชักแม่น้ำทั้งห้าเพื่อเลื่อนการเลือกตั้ง

เลื่อนเลือกตั้งทำลายความเชื่อมั่น

วันที่ 8 มกราคม สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกแถลงการณ์ร่วมแสดงจุดยืนการเลื่อนเลือกตั้งว่า นับแต่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2561 กกต. ได้ประกาศให้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ เป็นวันเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งต่อมารัฐบาลได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนภายหลังการประชุมร่วมกับ กกต. วันที่ 3 มกราคมว่ามีเหตุจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงวันเลือกตั้ง ส.ส. นั้น แสดงความกังวลโดยมองว่าเป็นการขัดขวางการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งยังทำลายความเชื่อมั่นของประชาชน ตลอดจนนานาประเทศ

จึงเรียกร้องให้ กกต. และรัฐบาลดำรงคงไว้ซึ่งเกียรติยศและศักดิ์ศรี พร้อมทั้งยึดมั่นถือมั่นในระบอบประชาธิปไตย โดยการคืนอำนาจสู่ประชาชนผ่านการจัดการเลือกตั้งตามแผนเดิมที่ได้ประกาศไว้คือวันที่ 24 กุมภาพันธ์ และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด

ขู่ประท้วงใหญ่

“กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” จัดกิจกรรม “หยุดเลื่อนเลือกตั้ง” เมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา ที่บริเวณสกายวอล์ก สถานีรถไฟฟ้าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยร่วมกันตะโกน “ไม่เลื่อนเลือกตั้ง” และ “รณรงค์เลือกตั้ง” เพื่อแสดงเจตจำนงให้มีการจัดเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์

วันที่ 8 มกราคม “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” ได้ชุมนุมที่แยกราชประสงค์ โดยมีนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมราว 200 คน นายอานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรม กล่าวว่า จุดประสงค์การชุมนุมต้องการให้ คสช. ยืนยันจัดการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์เท่านั้น และมีการขยายการชุมนุมไปต่างจังหวัดเพื่อเตรียมชุมนุมใหญ่หากมีการเลื่อนการเลือกตั้ง เพราะเห็นว่างานพระราชพิธีสามารถทำพร้อมกันได้

แม้นายวิษณุจะระบุว่าเลื่อนเพียง 1 เดือนเป็นวันที่ 24 มีนาคม แต่จะมีผลต่อเงื่อนไขทางกฎหมาย หากการรับรองผลเกิน 150 วันวันที่ 9 พฤษภาคม ก็อาจมีการร้องศาลรัฐธรรมนูญให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ และ คสช. จะอยู่ต่อไป

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงกระแสต่อต้านเลื่อนการเลือกตั้งที่มากขึ้นโดยถามกลับว่า มีมากขึ้นเท่าไร มีกี่คน ที่บอกว่ารวมกันแน่นขนัดมีกี่คน สื่อเขียนกันเข้าไปเถอะ กลัวจะไม่ยุ่งหรืออย่างไรไม่รู้ ขอร้องสื่อโซเชียลอย่าไปเขียนปลุกระดม อย่าไปให้ค่าความสำคัญมากนัก ก็รู้กันอยู่ว่าควรหรือไม่ควร ถูกหรือผิดกฎหมาย ทุกคนรู้กันหมด เพียงแต่วันนี้ถูกครอบงำจากหลายๆอย่าง

อดข้าวอดน้ำประท้วง

ก่อนหน้านี้ (7 มกราคม) นายเอกราช อุดมอำนวย ประกอบอาชีพทำธุรกิจ ได้เดินทางมาที่ สน.พญาไท เพื่อขออนุญาตประท้วงอดข้าวอดน้ำบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเพื่อเรียกร้อง กกต. อย่าเลื่อนวันเลือกตั้ง แต่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาต เนื่องจากการขออนุญาตไม่ครบ 24 ชั่วโมง

นายเอกราชยืนยันว่าจะอดข้าวอดน้ำประท้วง โดยเริ่มในเวลา 24.00 น. วันที่ 8 มกราคม และขอบคุณตำรวจที่อนุญาตให้ทำได้ ทั้งยืนยันว่าการประท้วงครั้งนี้ไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลังใดๆ ไม่ได้ฝักใฝ่ฝ่ายใด ไม่มีสีใดๆ แต่เห็นการบริหารของรัฐบาล คสช. มานานว่าไม่ไหวแล้ว จึงอยากให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว โดยจะอดข้าวอดน้ำจนกว่าจะได้รับการตอบรับจาก กกต.

รณรงค์ “ไม่ให้เลื่อนเลือกตั้ง”

นางทิชา ณ นคร อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้รณรงค์ผ่านเว็บไซต์ www.change.org ร้องเรียน กกต. ไม่ให้เลื่อนเลือกตั้งออกไปจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ โดยขอเสียงสนับสนุน #ไม่เลื่อน วันเลือกตั้งต้อง 24 ก.พ.! ว่า…อย่า…โยงเรื่องล้มเจ้า อย่า…โยงเรื่องพระราชพิธีที่คนไทยรอคอย อย่า…สร้างความแตกแยกเพราะอยากเชียร์ คสช.

อย่า…เสี้ยม อย่า…สร้างเรื่อง ได้โปรด!!!

ความจริงคือไม่รับผิดชอบคำพูด ความจริงคือทำการใหญ่แต่แผนงานมั่ว ความจริงคือทำให้องค์กรอิสระหมดค่าหมดราคา ความจริงคือไม่ละอายใจต่อความผิดพลาดของตัวเอง ความจริงคือ…?

ชะลอแผนจัดเลือกตั้ง?

ขณะที่เมื่อวันที่ 8 มกราคมยิ่งทำให้กระแสเลื่อนการเลือกตั้งถูกจับตามองมากขึ้น เมื่อกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย มีหนังสือแจ้งไปยังนายทะเบียนจังหวัดทุกจังหวัดและนายทะเบียนกรุงเทพมหานครให้ชะลอการปฏิบัติตามแผนเตรียมการเลือกตั้ง ทำให้นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต. ออกมาชี้แจงว่า ก่อนหน้านี้ กกต. ประสานขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานสนับสนุนต่างๆเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง รวมถึงกรมการปกครองด้วย โดยกรมการปกครองมีหนังสือลงวันที่ 21 ธันวาคม 2561 แจ้งไปยังหน่วยงานเครือข่ายคือ สำนักบริหารงานทะเบียนอำเภอ นายทะเบียนท้องถิ่น ให้ทราบถึงปฏิทินการทำงานของ กกต. ที่เดิมคาดว่าจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ แต่เมื่อวันที่ 2 มกราคมที่ผ่านมาที่เดิมตามปฏิทินการทำงาน กกต. คาดว่า พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. จะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งยังไม่มีประกาศออกมา กกต. ก็ไม่สามารถประกาศกำหนดวันเลือกตั้งได้ จึงจำเป็นต้องแจ้งหน่วยงานสนับสนุน โดยเฉพาะหน่วยงานหลักคือสำนักงานทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ขอให้ระงับการปฏิบัติงานออกไปก่อนจนกว่าจะมีประกาศ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ใช่ กกต. มีหนังสือไปถึงกรมการปกครองให้ชะลอการปฏิบัติตามแผนการเลือกตั้งตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2561 กกต. เพิ่งมีหนังสือถึงกรมการปกครองวันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมา คือหลังจากวันที่ 2 มกราคมที่ยังไม่มีการประกาศ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งในราชกิจจานุเบกษา เพราะต้องการให้ทุกอย่างเดินไปตามสิ่งที่ควรจะเป็น คือต้องมี พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งออกมาก่อน แล้ว กกต. จึงประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง หน่วยงานสนับสนุนก็จะสามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง หากไม่แจ้งแล้วหน่วยงานสนับสนุนยึดการปฏิบัติตามแผนงานเดิมก็จะมีปัญหาความสับสน ปัญหาค่าใช้จ่ายต่างๆตามมา

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. กล่าวถึงการกำหนดวันเลือกตั้งว่า การประชุมเมื่อวันที่ 4 มกราคม กกต. ได้รับทราบใน 3 เรื่องคือ กำหนดวันพระราชพิธี ความพร้อมจัดการเลือกตั้ง และเมื่อมี พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง กกต. จะพิจารณากำหนดวันเลือกตั้งให้เร็วที่สุดและจะประกาศวัน แต่ตอนนี้ยังไม่มีวันอะไรเป็นพิเศษ ขึ้นอยู่กับวันที่จะได้รับแจ้งว่า พ.ร.ฎ. จะมีขึ้นเมื่อไร

ศาลรัฐธรรมนูญตีความ 150 วัน

นางสดศรี สัตยธรรม อดีต กกต. กล่าวว่า วันเลือกตั้งอาจเลื่อนไปเดือนมีนาคม ซึ่งปัญหาว่ากรอบการเลือกตั้ง 150 วันสิ้นสุดวันไหน เป็นวันที่จัดการเลือกตั้งหรือประกาศผลการเลือกตั้ง ฝ่ายที่ร่างรัฐธรรมนูญคือคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญระบุว่าเป็นวันที่ กกต. จัดการเลือกตั้ง ไม่ได้รวมถึงวันที่ประกาศผล

ส่วนที่นายวิษณุระบุว่าวันเลือกตั้งต้องไม่เกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดคือวันที่ 9 พฤษภาคม ก็เป็นความเห็นของนายวิษณุ ซึ่งมีหลายฝ่ายแย้งว่าต้องเป็นวันที่ กกต. ประกาศผล ประเด็นนี้มีความสำคัญมาก ถ้าจะให้เกิดความชัดเจนน่าจะเสนอไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความว่า 150 วันนับจนถึงวันที่เท่าไร โดยผู้ที่จะเสนอให้ตีความน่าจะเป็นรัฐบาลหรือ กกต. ที่ยื่นเรื่องไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน แล้วผู้ตรวจการแผ่นดินจะเป็นผู้พิจารณาเสนอไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตีความ

ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า 150 วันมีผลรวมไปถึงวันประกาศผลเลือกตั้ง ก็อาจชนกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่ถือเป็นงานสำคัญของประเทศ หากไม่มีการตีความเรื่องนี้ ฝ่ายที่แพ้เลือกตั้งอาจใช้ช่องว่างตรงนี้ร้องเรียนให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ก็จะมีปัญหาตามมา จึงไม่ควรให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นก่อนการตีความ โดยเฉพาะขณะนี้ยังไม่มี พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง จึงควรให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความชี้ขาดในช่วงเวลาที่เป็นสุญญากาศแบบนี้จะเป็นการแก้ปัญหาได้ง่ายกว่าและปลอดภัยที่สุด ส่วนวันเลือกตั้ง กกต. ไม่สามารถกำหนดได้จนกว่าจะมี พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง การกำหนดวันตอนนี้จึงเป็นเพียงการตั้งตุ๊กตาไว้เท่านั้น

เลื่อนเลือกตั้งเท่ากับ (อาจ) ไม่มีเลือกตั้ง

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊ค (5 มกราคม) หัวข้อ “เลื่อนเลือกตั้ง เท่ากับ (อาจ) ไม่มีเลือกตั้ง” โดยตั้งข้อสังเกต 16 ข้อคือ

1.เมื่อมีข่าวการเลื่อนเลือกตั้งไปเป็นวันที่ 24 มีนาคม 2562 บางคนอาจหงุดหงิดไม่พอใจคนที่ออกมาคัดค้านอย่างกว้างขวางด้วย #เลื่อนแม่มึงสิ พร้อมกับบ่นว่าเลื่อนแค่นี้จะเป็นจะตายหรือไง

2.การเลื่อนไป 1 เดือนจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เหมือนเป็นเวลาสั้นๆ แต่เวลาเพียง 1 เดือนนี้แหละที่อาจทำให้ไม่มีการเลือกตั้งในปีนี้อีกเลย

3.ดูเป็นการมองโลกในแง่ร้าย แต่…ช่วยไม่ได้ ที่ผ่านมา 12 ปีนั้น เกินพอที่ทำให้การมองโลกในแง่ดีเปรียบเสมือนการหลอกตนเอง ไม่อยู่กับความเป็นจริง

4.12 ปีที่ผ่านมา มีรัฐประหาร 2 ครั้ง บอยคอตเลือกตั้ง 2 ครั้ง ยุบพรรคการเมือง 4 พรรค เลื่อนเลือกตั้งที่สัญญาไว้มาแล้ว 3 ครั้ง กำลังจะเลื่อนเป็นครั้งที่ 4

5.การเลื่อนเลือกตั้งไปอีก 1 เดือนนี้ มีนัยแอบแฝงหรือไม่ เพราะเชื่อว่ามีบางกลุ่ม บางพรรค ไม่อยากเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง

6.การเลือกตั้งมีแพ้มีชนะ แต่เดิมพันในการเลือกตั้งครั้งนี้สูงยิ่ง บทเรียนของมาเลเซียหลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุดกำลังหลอกหลอนหลายคน

7.พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 171 บัญญัติไว้ว่า “ในวาระเริ่มแรกให้ตราพระราชกฤษฎีกากําหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภามีผลใช้บังคับ และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งกําหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งต้องไม่ช้ากว่าหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีผลใช้บังคับ”

สรุปได้ง่ายๆว่า พระราชบัญญัติฉบับนี้ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2561 กำหนดให้ตราพระราชกฤษฎีกาฯภายในวันที่ 10 มีนาคม 2562 และกำหนดให้ “วันเลือกตั้ง” ไม่ช้ากว่าวันที่ 9 พฤษภาคม 2562

8.เห็นอย่างนี้…การกำหนดให้เลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 ก็ทำได้สิ ช้าก่อน…อย่าเพิ่งโล่งใจ ลองไปดูบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 กัน

9.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 268 บัญญัติไว้ว่า “ให้ดําเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญนี้ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามมาตรา 267 (1) (2) (3) และ (4) มีผลใช้บังคับแล้ว” สรุปได้ง่ายๆว่า รัฐธรรมนูญฯกำหนดให้ “การเลือกตั้งแล้วเสร็จ” ภายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2562

10.“การเลือกตั้งแล้วเสร็จ” ในรัฐธรรมนูญไม่เหมือนกับ “การกำหนดวันเลือกตั้ง” ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทั้งตัวข้อความและสาระสำคัญ เพราะ “การเลือกตั้งแล้วเสร็จ” หมายถึงภารกิจของการดำเนินการเลือกตั้งทั้งหมดของคณะกรรมการการเลือกตั้งแล้วเสร็จ ซึ่งกินความตั้งแต่การกำหนดวันเลือกตั้ง การจัดการเลือกตั้งให้เสรีและเป็นธรรม จนถึงการประกาศผลการเลือกตั้งแล้วเสร็จภายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ด้วย

11.เมื่อมีความแตกต่างกันใน “ภารกิจ” เช่นนี้ ต้องยึดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเท่านั้น เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทําใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฯ บทบัญญัติหรือการกระทํานั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้

12.เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องดำเนินการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 และด้วยเหตุที่ข้อกฎหมายกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการเลือกตั้งภายใน 60 วันหลังวันเลือกตั้ง วันเลือกตั้งจึงไม่ควรช้ากว่าวันที่ 11 มีนาคม 2562

13.การเสนอให้กำหนดวันเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 จึงสุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญฯ เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้งอาจไม่สามารถประกาศผลการเลือกตั้งได้ภายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 และอาจมีผู้ไปร้องให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ คณะกรรมการการเลือกตั้งถูกฟ้องร้องทั้งแพ่งและอาญา

14.หากศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องร้องเรียนให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ สภานิติบัญญัติแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเรื่อยๆอย่างไม่มีกำหนดตามบทบัญญัติในมาตรา 263 และ 264 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

15.หากศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาในการพิจารณายาวนานอาจไม่มีการเลือกตั้งใหม่ในปีนี้ หรือหากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ จะมีการเลือกตั้งใหม่อีกเมื่อไรไม่มีใครทราบได้ เพราะบทเฉพาะกาลไม่มีกำหนดเงื่อนเวลาในสถานการณ์จำลองนี้

16.ดังนั้น การเลื่อนเลือกตั้งอาจนำไปสู่การไม่มีเลือกตั้งไปอีกนาน

นพ.สุรพงษ์สรุปความเห็นในตอนท้ายว่า “#เลื่อนเลือกตั้ง เท่ากับไม่มีเลือกตั้ง”

เลื่อนก็แพ้ ไม่เลื่อนก็แพ้

นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ค (6 มกราคม) ว่า Not to be too optimistic แต่ แต่ แต่ สำหรับอภิสิทธิ์ชนไทยๆ เลื่อนก็ไม่ชนะ ไม่เลื่อนก็ไม่ชนะ Election is a must in the modern world การเลือกตั้งกลายเป็นพิธีกรรม เป็นธรรมเนียมที่ต้องกระทำในโลกสมัยใหม่ ไม่ว่าประเทศจะปกครองด้วยระบอบอะไรๆก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยแบบสหรัฐหรือสหราชอาณาจักรที่มี 2 พรรคใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นคอมมิวนิสต์ (ในนาม) มีพรรคเดียวแบบจีน เกาหลีเหนือ หรือเวียดนาม หรือแม้แต่ประเทศคณาธิปไตยทหารอย่างพม่า ในที่สุดต่างก็ต้องมีเลือกตั้ง

ดังนั้น คณาธิปไตยทหารไทยที่เหมือน แต่ก็ต่างจากพม่าตรงที่ยังมีสถาบันกษัตริย์ แม้จะยื้อ จะเลื่อนเลือกตั้งมาหลายปี ก็คงต้องยอมให้มีเลือกตั้งแน่นอน และที่น่ากลัวสำหรับคณาธิปไตยทหารไทยกับผู้สนับสนุนหลัก+พรรคการเมืองตัวแทนคือ ทำอย่างไรถึงจะ “ไม่แพ้” แล้วถูกชำระ ทั้งนี้ทั้งนั้น ดูเหมือนว่าฝ่ายเขา ฝ่ายกระทำรัฐประหาร ถึงเลื่อนก็แพ้ ถึงไม่เลื่อนก็แพ้ ส่วนฝ่ายตรงข้าม ฝ่ายถูกรัฐประหารกระทำ ถึงเลื่อนก็ชนะ ถึงไม่เลื่อนก็ชนะ

เลื่อนหรือล้มเลือกตั้ง?

ขณะที่โพลสำรวจความคิดเห็นแฟนเพจไอลอว์เรื่องการเลื่อนเลือกตั้งระหว่างวันที่ 2-5 มกราคม ปรากฏว่ามีผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนเลือกตั้งอย่างน้อย 2,928 คน หรือร้อยละ 98 และเห็นด้วยกับการเลื่อนเลือกตั้งอย่างน้อย 72 คน หรือร้อยละ 2 ซึ่งผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนเลือกตั้งเสนอว่า ถ้ามีการเลื่อนเลือกตั้งก็ควรแก้กติกาเลือกตั้ง เช่น ให้หมายเลขผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นแบบพรรคเดียวเบอร์เดียว และให้ คสช. อยู่ในสถานะ “รัฐบาลรักษาการ”

เมื่อยังไม่มีการประกาศ พ.ร.ฎ.การเลือกตั้ง ซึ่งนายวิษณุกล่าวว่ารัฐบาลได้ทูลเกล้าฯไปแล้วตั้งแต่ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2561 กกต. ก็ยังไม่สามารถกำหนดวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการได้ ตราบใดที่ยังไม่มีคำตอบชัดเจน กระแสการเมืองก็ยังพุ่งเป้าไปที่รัฐบาล คสช. และ กตต. โดยเฉพาะกระแสข่าวว่าพรรคการเมืองฝ่ายสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์และ “ระบอบ คสช.” เริ่มไม่มั่นใจว่าจะชนะการเลือกตั้งจึงต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไปให้นานที่สุด เพื่อใช้อำนาจและกลไกรัฐพลิกสถานการณ์กลับมาให้มั่นใจว่าจะชนะการเลือกตั้ง

การเลือกตั้งไม่ใช่เรื่องสกปรกสิ่งที่สกปรกคือรัฐประหาร

การเลื่อนการเลือกตั้งครั้งนี้ซึ่งจะเป็นการเลื่อนการเลือกตั้งครั้งที่ 6 ไม่ใช่แค่ทำลายความหวังของประชาชน แต่ยังทำลายความเชื่อมั่นประเทศและทำลายความน่าเชื่อถือของ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะประชาคมโลกไม่ให้ความเชื่อมั่นประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลกระทบถึงเศรษฐกิจให้วิกฤตหนักยิ่งขึ้น

อย่างที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ระบุว่า ช่วงสิ้นปีประชาชนทุกคนกำลังมีความหวังและมองไปจุดเดียวกันคือวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 จะมีการเลือกตั้ง เป็นวันแห่งความหวัง วันที่จะปลดล็อกทางการเมือง วันที่จะเปิดประตูความเป็นไปได้ใหม่ๆ แต่ คสช. กลับทำลายความหวังนั้น ทำให้การเมืองอยู่ในภาวะชะงักงันอีกครั้งหนึ่ง ยิ่งการเลือกตั้งไม่มีความชัดเจนทอดยาวออกไปยิ่งทำให้เศรษฐกิจเสียหาย

นายธนาธรยังย้ำว่า การเลือกตั้งไม่ใช่เรื่องสกปรก สิ่งที่สกปรกคือการทำรัฐประหารและรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหาร การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่น่าเชิดชูและมีเกียรติ เป็นศักดิ์เป็นศรีของประเทศ ยิ่งเลือกตั้งช้าจะยิ่งมีเวลาเตรียมตัวมากขึ้น แต่ก็หมายถึงความสูญเสียมากขึ้นของประเทศชาติ

1 เดือนได้รัฐบาลใหม่

ประเด็นการเลื่อนการเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งนายวิษณุอ้างว่าระยะเวลาการประกาศผลจะกระทบต่อพระราชพิธีสำคัญ โดยตีความเป็นไม้บรรทัดที่ “ช้าที่สุด” ตามกรอบเวลา 60 วันหลังการเลือกตั้งคือวันที่ 24 เมษายน 2562 ทั้งที่การประกาศผลการเลือกตั้งจะช้าหรือเร็วอยู่ที่ กกต. ซึ่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. หรือ “กฎหมายเลือกตั้ง” มาตรา 127 สั่งชัดเจนให้ กกต. ต้องตรวจสอบและประกาศผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ “โดยเร็ว” แต่กำหนดกรอบเวลา “ไม่น้อยกว่า 60 วัน” ซึ่งไม่ได้หมายความว่า กกต. ต้องประกาศผลการเลือกตั้งในวันที่ 60

แม้มีข้อร้องเรียนเรื่องการทุจริตมากอาจใช้เวลามากขึ้น แต่ถ้า กกต. ทำงานอย่างรวดเร็วก็สามารถทำให้เสร็จสมบูรณ์ 95% ก่อนกำหนดเวลา 60 วันได้ โดยเว็บไซต์ iLaw นำการเลือกตั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมา ซึ่ง กกต. สามารถประกาศผลการเลือกตั้งได้ภายในเวลาไม่ถึง 1 เดือนคือ

การเลือกตั้งปี 2548 วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 กกต. ประกาศผลการเลือกตั้งชุดแรกที่ไม่มีปัญหาได้ในเวลา 5 วัน และสามารถประกาศผลการเลือกตั้งได้ถึง 95% ในเวลา 16 วัน สามารถเปิดประชุมสภาได้ใน 31 วันนับจากวันเลือกตั้ง และลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้ในวันแรกที่เปิดสภา หรือใช้เวลาทั้งสิ้น 31 วัน

การเลือกตั้งปี 2550 วันที่ 23 ธันวาคม 2550 กกต. ประกาศผลการเลือกตั้งชุดแรกที่ไม่มีปัญหาได้ในเวลา 11 วัน และประกาศผลการเลือกตั้งได้ถึง 95% ในเวลา 29 วัน สามารถเปิดประชุมสภาได้ใน 30 วันนับจากวันเลือกตั้ง และลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้ใน 6 วันหลังจากเปิดสภา หรือใช้เวลาทั้งสิ้น 36 วัน

การเลือกตั้งปี 2554 วันที่ 3 กรกฎาคม 2554 กกต. ประกาศผลการเลือกตั้งชุดแรกที่ไม่มีปัญหาได้ในเวลา 9 วัน และประกาศผลการเลือกตั้งได้ถึง 95% ในเวลา 24 วัน สามารถเปิดประชุมสภาได้ใน 30 วันนับจากวันเลือกตั้ง และลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้ใน 3 วันหลังจากเปิดสภา หรือใช้เวลาทั้งสิ้น 33 วัน

การเลือกตั้งที่มีแนวโน้มจะถูกเลื่อนออกไปอีกเป็นครั้งที่ 6 โดยรัฐบาล คสช. อ้างว่าไม่ควรมีกิจกรรมทางการเมืองมาทับซ้อนการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2562

ปัญหาเลื่อนไม่เลื่อนการเลือกตั้งจึงอยู่ที่การทำงานของ กกต. จะทำได้ “เร็วที่สุด” ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้หรือไม่ แม้จะต้องมีการ “เลือกตั้งซ่อม” ก็ตาม กกต. ก็ยังสามารถประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการได้ 95% ของจำนวน ส.ส. และเปิดการประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีได้ภายในระยะเวลา 30 วันเท่านั้น

การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ก็จะได้ประมาณปลายเดือนมีนาคม 2562 เพื่อจัดงานพระราชพิธีสำคัญของคนไทยทั้งประเทศ ข้ออ้างเปลี่ยนกำหนดวันเลือกตั้งของนายวิษณุที่อ้างว่าการเปิดประชุมรัฐสภาหรือการเลือกนายกรัฐมนตรีจะชนกับขั้นตอนการเตรียมงานพระราชพิธีสำคัญจึงเป็นข้อกล่าวอ้างที่ฟังไม่ขึ้น

ระวังสิ้นสุดทางเลื่อน

กระแสการต่อต้านเลื่อนการเลือกตั้งที่ร้อนกระฉูดในโลกโซเชียล โดยเฉพาะแฮชแท็ก “#เลื่อนแม่มึงสิ” ในทวิตเตอร์ที่สะท้อนความอึดอัดของคนรุ่นใหม่ประมาณ 5 ล้านคนที่เชื่อว่าจะเป็นปัจจัยชี้ขาดการเลือกตั้งครั้งนี้จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 52 ล้านคน ที่ขณะนี้ยังงงและสับสนเรื่องการเลือกตั้ง รวมถึงจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะกติกาการเลือกตั้ง ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ “เนติบริกร” นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ออกแบบให้พรรคการเมืองอ่อนแอเพื่อมีรัฐบาลผสม และยังมี ส.ว.ลากตั้งอีก 250 คน ควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ไม่ว่าจะเลื่อนการเลือกตั้งหรือล้มการเลือกตั้ง รัฐบาลทหารและ คสช. ก็มีแต่ได้กับได้ เพราะอยู่ในอำนาจต่อไปพร้อมกับอำนาจมาตรา 44 ที่สามารถจัดสรรงบประมาณ อนุมัติโครงการต่างๆ และแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการได้ตามอำเภอใจเหมือนที่ผ่านมา

จึงไม่มีใครเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่อยากอยู่นาน และไม่อยากเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่เคยปฏิเสธที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ทั้งพวกพ้องและคนใกล้ตัว รวมถึงพรรคพลังประชารัฐที่มี 4 รัฐมนตรีเป็นแกนนำพรรคควบเก้าอี้รัฐมนตรี ก็ประกาศชัดเจนสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์อย่างภาคภูมิใจ

บัดนี้จึงมีเสียงเตือนดังๆถึง กกต. ทั้ง 7 คนว่า ถ้าเลื่อนวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 มีนาคม หาก กกต. ประกาศผลเลือกตั้งไม่ทัน 60 วัน หรือไม่ทันเส้นตายวันที่ 9 พฤษภาคม และอาจมีการฟ้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ก็อาจมีความผิดทั้งทางแพ่งและอาญา ต้องชดใช้ค่าจัดการเลือกตั้งกว่า 5,000 ล้านบาท

ขณะที่ “ทั่นผู้นำ” ก็ยังลอยตัว เดินสายหาเสียงแบบเนียนๆไปเรื่อยๆ เพราะไม่ว่าจะเลื่อนการเลือกตั้งไปนานแค่ไหนหรือไม่ “ทั่นผู้นำ” ก็ยังคงเกาะเก้าอี้ไว้อย่างเหนียวแน่น

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์วันนี้ไม่เหมือน 4-5 ปีที่ผ่านมา ความแน่นอนก็อาจไม่แน่นอน โดยเฉพาะกระแสความอึดอัดและไม่พอใจของประชาชนที่ขณะนี้ลงไปถึงนักเรียนมัธยมศึกษาแล้ว

แม้ “ทั่นผู้นำ” จะเย้ยหยันว่ามีสักกี่คน และอย่าให้ความสำคัญ หรือเพราะถูกกล่าวหาว่าบ้าคลั่งประชาธิปไตยระดับเหรียญทอง อย่างที่มีการขู่กลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวต้านเลื่อนการเลือกตั้งว่าจะอยู่บนแผ่นดินนี้ไม่ได้

แต่การสะสมความอึดอัดมากว่า 4 ปีของประชาชนที่อยู่ภายใต้กระบอกปืน จนแม้แต่เด็กนักเรียนนับแสนยังตะโกนกระหึ่มในโซเชียลว่า #เลื่อนแม่มึงสิ

อะไรก็เกิดขึ้นได้เมื่อกำแพงหลังที่ใช้พิงเริ่มเสื่อมไปด้วย!

ระวัง.. สิ้นสุดทางเลื่อน!!??

 


You must be logged in to post a comment Login