วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567

สร้างดาวคนละดวง

On November 8, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

การแตกหน่อของพรรคเพื่อไทยแม้จะมีคำอธิบายอย่างสวยหรูว่าเป็นไปตามยุทธศาสตร์ “แยกกันเดินร่วมกันตี” แต่เริ่มมีคนตั้งคำถามว่าสวยหรูจริงอย่างที่พูดหรือไม่ เพราะเป็นที่ทราบกันว่าหลังนายใหญ่ นายหญิง ถูกกันออกไป บรรดาบิ๊กเนมที่เหลือในพรรคมีคนระดับเดียวกันมากเกินไป ไม่มีใครโดดเด่นกว่าใคร ทำให้คิดว่าน่าจะถึงคิวของตัวเองที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำคนใหม่ แต่เมื่อผู้มีอำนาจไม่เคาะให้เกิดความชัดเจนย่อมเกิดความกระอักกระอ่วนใจ ผสมโรงกับกติกาเลือกตั้งใหม่ การออกไปสร้างป้อมค่ายตัวเองจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ขนาดอยู่บ้านหลังเดียวกันยังแย่งกันโชว์พาวเพื่อให้ตัวเองโดดเด่น แยกกันอยู่แล้วถึงยังจับมือกันได้ก็ไม่แนบแน่นเหมือนเดิม เรื่องแบบนี้ในอดีตมีตัวอย่างให้เห็นมาแล้ว แตกตัวออกไปแล้วมีแต่แข่งกัน “สร้างดาวคนละดวง” มากกว่า “แยกกันเดินร่วมกันตี”

การแตกหน่อของพรรคเพื่อไทยออกเป็นพรรคเพื่อธรรม พรรคเพื่อชาติ และล่าสุดคือพรรคไทยรักษาชาติ ถูกอธิบายอย่างสวยหรูว่าเป็นไปตามยุทธศาสตร์ “แยกกันเดินร่วมกันตี”

แต่เริ่มมีคนตั้งคำถามว่าหลังฉากยุทธศาสตร์อันสวยหรู “แยกกันเดินร่วมกันตี” มีอะไรอีกหรือไม่

แน่นอนว่าเหตุผลที่ใช้หยิบยกมาอธิบายย่อมเป็นที่เข้าใจได้ในทางการเมือง

 

a21ไม่ว่าจะเป็นการแยกกันไปเก็บเกี่ยวคะแนนเสียงเลือกตั้งตามระบบเลือกตั้งใหม่ที่ใช้บัตรใบเดียวนำทุกคะแนนมาคิดคำนวณเพื่อหาจำนวน ส.ส. ที่แต่ละพรรคพึงมี และนำมาใช้แบ่งสัดส่วนโควตา ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งทุกคนเห็นตรงกันว่าระบบการเลือกตั้งนี้ไม่เอื้อต่อพรรคการเมืองใหญ่ เพราะจะได้โควตา ส.ส.บัญชีรายชื่อน้อยลง

เมื่อระบบเอื้อกับพรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดเล็ก การแตกตัวเป็นหลายพรรคคือทางแก้ปัญหา

ไม่ว่าจะเป็นการแยกตัวออกมาเพื่อหาที่ลงให้อดีต ส.ส.ระดับบิ๊กเนม เพราะสำนักงานใหญ่คนแน่น และการเลือกตั้งแบบใหม่หากอยากเป็น ส.ส. ต้องลงสมัครระบบเขตจึงจะมีโอกาสมากกว่าสมัครในระบบบัญชีรายชื่อ

ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลที่ว่าแยกพรรคออกมาเพื่อรองรับกระแสข่าวการยุบพรรคเพื่อไทยที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง

คำอธิบายเหล่านี้ในทางการเมืองถือว่ารับฟังได้

แต่ในความเป็นจริงอาจแตกต่างกันออกไป

จริงอยู่ว่าหลังผ่านการล้างมา 2 น้ำด้วยการยุบพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน จะทำให้พรรคเพื่อไทยมีความเป็นปึกแผ่นเข้มแข็งมากขึ้น เพราะคงเหลือแต่เลือดแท้ที่มีแนวความคิดทางการเมืองไปในทิศทางเดียวกัน

แต่ปัญหาที่ซ่อนอยู่ภายใต้ความเป็นปึกแผ่นเข้มแข็งคือ บารมีทางการเมืองที่ข่มกันเองในหมู่แกนนำบิ๊กเนม ไม่มีใครเฉิดฉายโดดเด่นเหนือกว่าใคร

ยิ่งหัวเรือใหญ่ตระกูลชินวัตรทั้ง “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” ถูกกันออกไปอยู่วงนอก บิ๊กเนมที่เหลือจึงคิดว่าน่าจะถึงคิวของตัวเองที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำทัพคนใหม่

แต่เมื่อนายใหญ่ นายหญิง ไม่เคาะให้เกิดความชัดเจน ย่อมเกิดความกระอักกระอ่วนใจในหมู่บิ๊กเนมขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา ดังที่มีกระแสข่าวเล็ดลอดออกมาตลอดเวลาก่อนหน้านี้

การออกไปสร้างป้อมค่ายของตัวเองจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

แม้จะเป็นการจากกันด้วยดี จากกันแบบมีเยื่อใย แต่การจับมืออาจไม่แนบแน่นเหมือนเก่า

b2

ดร.พิพัฒน์ ปราโมทย์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี หนึ่งในเซเลบการเมืองของฝั่งที่เรียกตัวเองว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย แสดงทรรศนะผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว แม้จะไม่ชัดเจนว่าเป็นการพูดถึงการแตกหน่อของพรรคเพื่อไทย แต่มีความน่าสนใจและอาจใช้อธิบายการแตกหน่อของพรรคเพื่อไทยได้ โดยระบุว่า

“ในฝ่ายประชาธิปไตย แยกกันเดิน ร่วมกันตี มันไม่เคยมีจริงตั้งแต่ก่อนยุคตุลาแล้ว มันมีแต่แยกกันเดิน ตีกันเอง ปัญหาใหญ่ๆคือ แพ้กันเองไม่เป็น มีระบบวรรณะ อวดก้าวหน้า ผูกขาดทุกสิ่ง เข้มงวดหลักการกับทุกคนยกเว้นพวกตน นี่ถ้าเผด็จการมันจับทางได้นะ งามไส้ มันแค่คอยเปิดประเด็นให้ถกเถียง ได้โชว์พาว ได้อวดพระเอก นางเอก แค่นี้ก็ตีกันเละเทะแล้ว”

นี่ไม่ใช่สิ่งที่เกินเลย เพราะในอดีตมีตัวอย่างให้เห็นกันมาแล้ว และปัจจุบันก็ยังมีให้เห็นอยู่ถึงการแพ้กันเองไม่เป็น มีระบบวรรณะ อวดก้าวหน้า ผูกขาดทุกสิ่ง เข้มงวดหลักการกับทุกคนยกเว้นพวกตน โชว์พาว แย่งกันเด่นเป็นพระเอก นางเอก

ยิ่งแยกไปอยู่บ้านคนละหลัง กินข้าวคนละหม้อ ใครจะยอมใคร แข่งกัน “สร้างดาวคนละดวง” มากกว่า “แยกกันเดินร่วมกันตี”


You must be logged in to post a comment Login