วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

เศรษฐกิจ-อสังหาฯ อนาคต “เจริญ”แน่ เจริญ โภคภัณฑ์ หรือ เจริญ สิริวัฒนภักดี’? โปรดสังวร…การลงทุนมีความเสี่ยง(สูง)

On November 1, 2018

คอลัมน์ : บทความพิเศษ

ผู้เขียน :  ดร.โสภณ พรโชคชัย

(โลกวันนี้ฉบับพิเศษ ขึ้นปีที่20)

ปี 2562 อนาคตเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไรและตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยจะเป็นอย่างไร ต้องฉายภาพข้อมูลล่าสุดของปี 2561 และอดีตที่ผ่านมา ที่สำคัญโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยจริงหรือ หรือเป็นโทษภัยต่อประเทศชาติ?

เศรษฐกิจไทยปี 2562

ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ได้นำคณะออกสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในเขตปริมณฑลของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ บริเวณตลาดรังสิต ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต และโดยรอบ บริเวณตลาดสำโรงและอิมพีเรียล สำโรง บริเวณตลาดอ้อมน้อยและโดยรอบ เพื่อทราบความคิดเห็นของประชาชนต่อภาวะเศรษฐกิจ อันจะทำให้รัฐบาลได้มีข้อมูลเพื่อประกอบการวางแผนพัฒนาประเทศต่อไป ในระหว่างวันที่ 8-9 สิงหาคม 2561 โดยสัมภาษณ์ประชาชนที่บรรลุนิติภาวะแล้วจำนวน 1,002 ราย

ณ พ.ศ. 2561 คะแนนที่ประเมินได้คือ 3.7 ต่ำกว่าคะแนน 5-6 ซึ่งเป็นคะแนนกลางๆอยู่ค่อนข้างมาก แสดงว่าสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนั้นไม่ดีอย่างชัดเจน หากเทียบกับเมื่อปี 2560 ปรากฏว่าคะแนนอยู่ที่ 4.7 ดีกว่าปี 2561 แสดงว่าเศรษฐกิจตกต่ำลงกว่าที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นในปี 2562 แต่ก็ยังต่ำกว่าปี 2560 หรืออาจจะรวมก่อนหน้านี้ด้วยอยู่ดี

ทุกที่ที่สำรวจมีสภาพคล้ายกันหมดคือ เศรษฐกิจปี 2561 แย่กว่าปี 2560 และคาดว่าจะดีขึ้นในปี 2562 กลุ่มข้าราชการประเมินสถานการณ์ไว้ดีกว่ากลุ่มอื่นๆ ทั้งนี้เพราะข้าราชการเป็นอาชีพที่มีความมั่นคง ยังมีโบนัสและการขึ้นเงินเดือนอย่างต่อเนื่อง กลุ่มลูกจ้างเอกชนก็ยังมองเศรษฐกิจในแง่ดีกว่ากลุ่มอาชีพอื่น จะสังเกตได้ว่ากลุ่มคนงานระดับล่าง เช่น คนงานก่อสร้าง และกลุ่มเจ้าของกิจการขนาดเล็กแบบ Self Employed มองเศรษฐกิจตกต่ำอย่างมาก เพราะได้รับผลกระทบในทางลบมากเป็นพิเศษ

ทั้งนี้ จากคำให้สัมภาษณ์ของประชาชน หลายคนมองว่าเศรษฐกิจในปี 2562 จะดีกว่าปี 2561 เพราะหากมีการเลือกตั้ง สถานการณ์เศรษฐกิจจะดีขึ้น มีมิตรประเทศกลับมาคบค้ามากขึ้น หลายคนคาดหวังว่าการเลือกตั้งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ได้รัฐบาลชุดใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจมาบริหารประเทศ ทำให้ประเทศก้าวพ้นจากภาวะฝืดเคือง แต่หากไม่มีการเลือกตั้ง สถานการณ์ก็จะตกต่ำลงไปอีก

รัฐบาลควรเร่งช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรในประเทศ เช่น การประกันราคาผลิตผลทางการเกษตรเช่นที่ผ่านมา เร่งหาตลาดสินค้าไทยให้ได้มากขึ้น แม้แต่ค่าแรงขั้นต่ำก็ควรปรับทุกปีเพื่อความอยู่รอดของประชาชนระดับล่าง ขณะเดียวกันต้องเร่งลดความเหลื่อมล้ำโดยใช้มาตรการด้านภาษี ซึ่งขณะนี้มุ่งเน้นแต่การสนับสนุนผู้มีรายได้สูง

ที่สำคัญการเลือกตั้งต้องบริสุทธิ์ยุติธรรม โดยอาจเชิญผู้แทนองค์การสหประชาชาติมาร่วมจัดการเลือกตั้ง เพื่อให้ได้รัฐบาลของประชาชนมาบริหารประเทศอย่างแท้จริง

6-05

ทิศทางธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย

จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย 8 เดือนแรกปี 2561 พบว่ามีโครงการอสังหาฯที่เปิดใหม่ทุกประเภทรวม 242 โครงการ จำนวน 63,098 หน่วย มูลค่ารวมประมาณ 273,684 ล้านบาท เฉลี่ยหน่วยละ 4.337 ล้านบาท แต่ละโครงการมีขนาดเฉลี่ย 261 หน่วย

ดังนั้น ในเบื้องต้นคาดการณ์ว่าทั้งปี 2561 จะมีโครงการใหม่อยู่ที่ประมาณ 363 โครงการ จำนวน 94,647 หน่วย มูลค่ารวม 410,526 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับจำนวนโครงการลดลง 11% จำนวนหน่วยลดลง 17% และมูลค่าโครงการลดลง 7% เมื่อเทียบกับปี 2560

อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจรายเดือนยังอาจน้อยกว่าความเป็นจริงประมาณ 5% และคาดว่าใน 4 เดือนหลังของปี จำนวนโครงการ จำนวนหน่วย และมูลค่าต่อเดือน น่าจะเพิ่มขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยของ 8 เดือนแรก 10% เพราะในช่วงปลายปีน่าจะมีการเปิดตัวมากเป็นพิเศษ ประมาณการได้ว่าจำนวนโครงการที่เปิดในปี 2561 น่าจะมี 394 โครงการ รวม 102,692 หน่วย มูลค่ารวม  445,421 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2560 เท่ากับจำนวนโครงการลดลง 4% จำนวนหน่วยลดลง 10% แต่มูลค่าเพิ่มขึ้น 1% หรือแทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลย ส่วนราคากลับจะเพิ่มขึ้น 12% แสดงว่า

1.การเปิดตัวในปี 2561 หดตัวลงกว่าปี 2560 แสดงชัดเจนว่าเศรษฐกิจไม่ดี

2.ราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 3.858 ล้านบาทต่อหน่วยในปี 2560 เป็น 4.337 ล้านบาทในปี 2561 แสดงว่าสินค้าราคาสูงขายได้ดีกว่าราคาถูก จึงมีโครงการราคาสูงมากขึ้น

ยิ่งกว่านั้นศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทยยังพบว่า เฉพาะตลาดที่อยู่อาศัยที่ซื้อขายในปี 2560 มีมูลค่าการขายโดยรวมและที่ให้ต่างชาติซื้อไป โดยตลาดที่อยู่อาศัยทั่วประเทศมีการซื้อขายกันถึง 576,396 ล้านบาท ในจำนวนนี้ 113,280 ล้านบาทถูกซื้อโดยชาวต่างชาติ หรือราว 20% ส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (https://goo.gl/fpbv6m) หากไม่มีกำลังซื้อต่างชาติ ตลาดที่อยู่อาศัยคงซบเซากว่านี้

การที่ไทยอนุญาตให้ต่างชาติซื้อบ้านและห้องชุดได้โดยไม่มีข้อจำกัดเป็นการทำลายเศรษฐกิจครัวเรือนของไทยเอง เพราะต่างชาติมาแย่งซื้อสินค้าที่อยู่อาศัยของไทย ทำให้ราคาเพิ่มขึ้น ชาวบ้านไม่สามารถซื้อบ้านเป็นของตัวเองได้ เพราะรายได้ไม่สมดุลกับราคาบ้านที่ถีบตัวสูงขึ้นจากกำลังซื้อของต่างประเทศ จึงควรมีมาตรการคุ้มครองคนในประเทศ ยกตัวอย่างในต่างประเทศ

1.สิงคโปร์ กำหนดให้ต่างชาติซื้อบ้านได้ แต่ต้องเสียภาษี 20% ถ้าเป็นบริษัทมาซื้อต้องเสียภาษี 25% เพื่อป้องกันการเก็งกำไรโดยชาวต่างชาติ

2.มาเลเซีย กำหนดให้ราคาบ้านที่ต่างชาติซื้อได้ต้องเกิน 2 ล้านริงกิต (ประมาณ 16 ล้านบาทไทย) ไม่ใช่ให้ซื้อได้ทุกระดับราคา

3.ออสเตรเลีย ให้ต่างชาติซื้อได้แต่บ้านมือหนึ่ง ห้ามซื้อบ้านมือสอง เพื่อให้การคุ้มครองผู้ซื้อบ้านในประเทศ

4.นิวซีแลนด์ ยกเลิกการให้ต่างชาติซื้อที่อยู่อาศัย

5.ไต้หวัน ให้ต่างชาติโดยเฉพาะจีนซื้อได้ แต่มีมาตรการ 3-4-5 คือ ซื้อแล้วไม่อาจขายต่อได้ในระยะเวลา 3 ปีแรก ซื้อแล้วไปอยู่อาศัยในไต้หวันได้ไม่เกิน 4 เดือนต่อปี และกู้เงินในไต้หวันซื้อได้ไม่เกิน 50% นั่นเอง

ดังนั้น ในปี 2562 คาดว่าตลาดที่อยู่อาศัยจะกระเตื้องขึ้น เนื่องด้วยรัฐบาลมีโครงการสาธารณูปโภคต่างๆ และมีการเลือกตั้ง ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นด้วยความหวังว่าจะได้รัฐบาลที่ถนัดด้านเศรษฐกิจมากขึ้น คาดว่าในปี 2562 จะมีการเติบโตของตลาดอสังหาฯไม่น้อยกว่าปี 2560 หรืออาจจะมากกว่าก็ได้ อย่างไรก็ตาม หากมีความปั่นป่วนทางการเมือง ไม่มีการเลือกตั้ง ภาวการณ์ก็จะซบเซาลงต่อไป

6-02

อีอีซีช่วยเหลือหรือช่วยเถือชาติ?

ตามที่รัฐบาลกำลังเร่งผลักดันโครงการอีอีซี ก็มีคำถามว่าโครงการนี้จะส่งผลดีจริงหรือ ในด้านต่างชาติที่จะมาลงทุนเชื่อว่ามีน้อย เหตุผลสำคัญไม่ใช่เพราะประเทศไทยไม่ดึงดูดความสนใจจนต้อง “ประเคน” ให้ต่างชาติมาลงทุน แต่เป็นเพราะปัญหาความไม่มั่นคงทางการเมือง รัฐประหาร และการเลือกตั้งที่อาจไม่เป็นไปตามนานาอารยประเทศ

ตามข้อมูลของธนาคารโลกจะเห็นว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) ตกต่ำลงในช่วงน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 และทะยานสูงขึ้นมาใหม่ จนกระทั่งรัฐประหาร 2557 (https://bit.ly/2xzoMhs) ดังนั้น หากมีการเลือกตั้งตามนานาอารยประเทศโดยเร็ว ซึ่งคณะรัฐประหารในช่วงแรกก็ยังบอกว่า “ขอเวลาอีกไม่นาน” แต่ปัจจุบันย่างเข้าปีที่ 5 แล้ว

ในด้านผังเมือง ถือเป็นเรื่องวิตถารสุดแปลกในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะยังไม่มีผังเมืองชัดเจน ซึ่งตามข่าวระบุว่า “เปิดผังใช้ที่ดินในอีอีซีพัฒนา 5 ปีแรก 136,509 ไร่” (19 สิงหาคม 2561 : https://bit.ly/2CbtDuA) และระบุว่า “จะเป็นการดำเนินงานภายใต้พื้นที่ที่มีเพียงประมาณ 8.33 ล้านไร่เท่านั้น…พื้นที่ที่ใช้ในทางเศรษฐกิจในระยะ 5 ปีแรก (2561-2565) จะมีอยู่จำนวน 136,509 ไร่ เช่น เขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ 4 พื้นที่ จำนวน 18,484 ไร่ เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายใน 21 แห่ง จำนวน 86,755 ไร่ โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ 13,870 ไร่ พื้นที่ท่าเรือมาบตาพุด พื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง พื้นที่พัฒนาเมืองใหม่ และพื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจ 15,500 ไร่ เป็นเพียงการประมาณการความต้องการเบื้องต้นเท่านั้นที่กรมโยธาธิการและผังเมืองจะนำไปจัดทำผังการใช้ที่ดินให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาอีอีซีที่มีอยู่ที่คาดว่าจะดำเนินการจัดทำให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้”

ข้อน่าสังเกตก็คือ ทุกประเทศทั่วโลกหากมีการวางพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เขาจะวางผังเมืองก่อน แต่ของไทยกลับไม่มี นี่คือการเปิดทางให้เอกชนพัฒนาที่ไหนก็ได้ที่มีที่ดินอยู่แล้วมาขออนุมัติ แล้วแบบนี้จะถือว่ามีความโปร่งใสได้อย่างไร แบบนี้จะมีผังเมืองที่แท้จริงที่ควบคุมสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ได้อย่างไร?

ต่อกรณีเมืองใหม่ในอีอีซีนั้นก็เป็นเมืองที่ไม่มีความเป็นจริงเลย คำถามคือ ทำไมต้องสร้างเมืองใหม่ ฉะเชิงเทรา พัทยา และระยอง ซึ่งไม่มีความจำเป็นเลย สร้างขึ้นเพื่อดึงชาวต่างชาติมาซื้อแบบ 100% ตามแผนหรือไม่ ปล่อยให้มีการกว้านซื้อที่ดินกันเองคือเหตุผลที่ไม่ต้องมีผังเมืองใช่หรือไม่ วางผังแบบขาดความเป็นไปได้อย่างชัดเจน โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://bit.ly/2oA9wwA

ในด้านทางรถไฟควรใช้เส้นทางกรุงเทพฯ-ชลบุรีสายใหม่ แทนที่จะต้องไปอ้อมที่ฉะเชิงเทราที่ทำให้ใครที่อยู่แถวนั้นมีผลประโยชน์หรือไม่ เส้นทางที่อ้อมนี้จะทำให้เพิ่มระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร ถ้ารถไฟแต่ละเที่ยว แต่ละวัน ต้องเสียเวลาไปกลับอ้อมระหว่างกรุงเทพฯและชลบุรี-ระยอง แค่นี้ก็เป็นความสูญเสียมหาศาลแล้ว

ยิ่งกว่านั้นในพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 (พ.ร.บ.อีอีซี) ยังมีข้อบกพร่องมากมาย เช่น มาตรา 35 ให้สํานักงานและผู้ซึ่งทําธุรกรรมกับสํานักงานในกิจการเกี่ยวกับที่ดินและอสังหาฯบรรดาที่กฎหมายกําหนดให้ต้องมีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมายนั้น ซึ่งตรงข้ามกับชาติอื่น เช่น สิงคโปร์ แค่ต่างชาติมาซื้อห้องชุดยังต้องเสียภาษีซื้อ 15% ฮ่องกง 30% แต่ไทยไม่เก็บค่าธรรมเนียม แถมภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ร่างกันอยู่ก็ต่ำจนแทบไม่ต้องเสีย อย่างนี้จะถือว่าเราเสีย “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” หรือไม่

นอกจากจะเหมือนยกแผ่นดินให้ต่างชาติแล้ว ยังไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการโอน ทั้งที่แม้แต่คนไทยก็ต้องเสีย แต่กลับยกต่างชาติให้อยู่เหนือกว่าคนไทยแท้ๆ ซึ่งคนไทยมีแต่เสียเปรียบต่างชาติมากขึ้น

มาตรา 39 ที่ว่า “…อาจรวมถึงอุตสาหกรรมการบริการ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการจัดประชุม หรืออุตสาหกรรมอื่นใดด้วยก็ได้ แต่อย่างน้อยต้องประกอบด้วยอุตสาหกรรมด้านต่างๆดังต่อไปนี้…”

ข้อแย้งก็คือ อุตสาหกรรมการบริการ ท่องเที่ยว จัดประชุม ฯลฯ ถามว่าเกี่ยวกับเทคโนโลยีชั้นสูงและสิ่งแวดล้อมตรงไหน คนไทยก็ทำได้ดีอยู่แล้ว นี่เท่ากับอ้างเพื่อหาทางให้ต่างชาติมา “ฆ่า” อุตสาหกรรมไทยโดยเฉพาะใช่หรือไม่ แสดงว่ารัฐจะกำหนดอุตสาหกรรมอื่นๆได้อีก ยิ่งทำให้ต่างชาติพาเหรดกันมายึดประเทศไทย

ส่วนที่อ้างเรื่องยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ ดิจิทัลและการแพทย์ครบวงจรนั้น ไม่ต้องไปไกลถึงภาคตะวันออก เพราะตั้งในนิคมอุตสาหกรรมใกล้ๆก็ได้ ไม่สิ้นเปลืองงบประมาณมหาศาลแบบ “ขี่ช้างจับตั๊กแตน” อีกด้วย

มาตรา 48 ให้ผู้ประกอบกิจการหรืออยู่อาศัยในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้รับสิทธิประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างตามที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด ดังต่อไปนี้ (1) สิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นของคนต่างด้าว (2) สิทธิในการนำคนต่างด้าวเข้ามาและอยู่อาศัยในราชอาณาจักร (3) สิทธิในการที่จะได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากร (4) สิทธิในการทำธุรกรรมทางการเงิน (5) สิทธิประโยชน์อื่น… ข้อแย้งก็คือ เท่ากับให้สิทธิพิเศษเหนือคนไทยทั่วไป ทำให้คนไทยเป็นพลเมืองชั้น 2

มาตรา 49 ให้ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นคนต่างด้าวตามประมวลกฎหมายที่ดิน มีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดิน หรือภายใต้การจำกัดสิทธิของคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด แล้วแต่กรณี

ข้อโต้แย้งนี้คือ ไม่ใช่แค่เช่าที่ดิน 99 ปี แต่เป็นการประเคนที่ดินให้ต่างชาติทั้งที่ก็ไม่เห็นมีใครเรียกร้องอะไรเลย

มาตรา 52 การเช่า เช่าช่วง ให้เช่า หรือให้เช่าช่วงที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์…มิให้นําความในมาตรา 540 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2542 มาใช้บังคับ…ห้ามมิให้ทําสัญญาเช่าเป็นกําหนดเวลาเกินห้าสิบปี… การต่อสัญญาเช่าอาจทําได้ แต่จะต่อสัญญาเกินสี่สิบเก้าปีนับแต่วันครบห้าสิบปีไม่ได้…

ข้อโต้แย้งคือ เท่ากับจะทำให้มีการ “งุบงิบ” ทำสัญญาซ้อนให้กลายเป็นถูกกฎหมายใช่หรือไม่ ยิ่งกว่านั้นยังปล่อยให้เช่าช่วงได้อีกด้วย พวกต่างชาติไม่ใช้ที่ดินแล้วยังปล่อยให้เช่าช่วงได้อีก ทั้งที่ที่ดิน ส.ป.ก.4-01 เกษตรกรไม่ใช้ทำเกษตรแล้วยังต้องคืนหลวง แต่กรณีนี้กลับปล่อยให้ต่างชาติมาหากินกับที่ดินไทย

มาตรา 58 ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ… (1) ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินทั้งหมดหรือบางส่วน… (2) สามารถใช้เงินตราต่างประเทศเพื่อชําระค่าสินค้าหรือบริการระหว่างผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ…

ข้อโต้แย้งก็คือ ต่างชาติสามารถใช้เงินตราสกุลของตัวเองได้ ต่อไปคงเอาไปซื้อก๋วยเตี๋ยวได้ ประเทศไทยก็คงเหมือนกัมพูชาที่ใช้แต่เงินดอลลาร์กันจนจะกลายเป็นประเทศราชทางการเงินของมหาอำนาจไปแล้ว

มาตรา 59…(1) ในกรณีที่การประกอบวิชาชีพใดมีกฎหมายกําหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพหรือผู้ขออนุญาต

ต้องมีสัญชาติไทย หรือต้องได้รับใบอนุญาต จดทะเบียน หรือรับรองก่อนการประกอบวิชาชีพตามกฎหมายแล้ว คณะกรรมการนโยบายอาจประกาศให้ผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาต จดทะเบียน หรือรับรองให้ประกอบวิชาชีพนั้นในประเทศที่คณะกรรมการนโยบายกําหนด สามารถประกอบวิชาชีพนั้นเพื่อกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้…

ข้อโต้แย้งคือ แสดงว่าเราจะไม่ยกระดับนักวิชาชีพคนไทย แต่จะให้นักวิชาชีพต่างชาติมาเอาเปรียบนักวิชาชีพไทยใช่หรือไม่

6-03

บทสรุป

โดยสรุปแล้วเศรษฐกิจไทยขณะนี้จึงเข้าข่าย “รวยกระจุก จนกระจาย” ขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่มีใครรู้สึกเลยว่าเศรษฐกิจดีขึ้น ส่วนผู้มีอำนาจอ้างว่าเศรษฐกิจดีขึ้นเรื่อยๆและประเทศเจริญขึ้น จึงมีคำถามว่าเหมือนที่มีการพูดเสียดสีกันว่า เศรษฐกิจดีจริงสำหรับ “เจริญ…โภคภัณฑ์” และ “เจริญ…สิริวัฒนภักดี” ซึ่งเป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ แต่ประเทศชาติและประชาชนทั่วไปไม่ได้ “เจริญ” ตามไปด้วย

เศรษฐกิจประเทศจะดีขึ้นหรือไม่ก็ต้องดูว่าปี 2562 การเลือกตั้งและรัฐบาลใหม่จะเป็นอย่างไร

ส่วนภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็จะล้อตามภาวะเศรษฐกิจ โดยคาดการณ์ว่าจะดีขึ้นในปี 2562 เช่นกัน เพราะรัฐบาลก็พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจและพัฒนาสาธารณูปโภค ส่วนอีอีซีซึ่งเหมือนเป็น “ความหวังสุดท้าย” นั้น คิดง่ายๆว่าทำไมเดี๋ยวนี้เราไม่พูดถึงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนกันแล้ว แต่มุ่งเน้นไปที่อีอีซี ซึ่งจะเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษภัยนั้น

ทุกฝ่ายพึงสังวรและโปรดสังวรว่า…การลงทุนมีความเสี่ยง (สูง)

6-04


You must be logged in to post a comment Login