วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

‘เอ็นจีโอ’จอมเนรคุณหักเหลี่ยมโหด

On October 31, 2018

คอลัมน์ โลกอสังหาฯ ‘
เอ็นจีโอ’จอมเนรคุณหักเหลี่ยมโหด
โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย
(โลกวันนี้วันสุข (2-9 พฤศจิกายน 2561)
วันนี้ขอเสนอเรื่องราว “น้ำเน่า” ในวงการเอ็นจีโอ เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้เห็นว่าในบรรดา “คนทำดี” ก็ยังอยู่ในวังวน “นรก” อยู่ดี พวกนี้ก็สะสมอสังหาริมทรัพย์กันสนุกมือเช่นกัน

ในวงการเอ็นจีโอซึ่งย่อมาจากคำ “Non-Governmental Organizations” (NGOs) หรือองค์กรที่มิใช่ภาครัฐแต่ไม่ใช่ภาคเอกชนธุรกิจ ซึ่งมักอ้างเป็นเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรนั้น ก็มี “หนังชีวิต” ที่พอจะเล่าขานเป็น “ตำนาน” ได้เช่นกัน ผมเองก็เคยทำงานที่แรกในเอ็นจีโอแห่งหนึ่งคือมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมเมื่อปี 2523 ในสมัยที่ยังเป็นโครงการหนึ่งของสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“น้ำเน่า” เรื่องนี้เกิดขึ้นจากการมีเอ็นจีโอสาวใหญ่รุ่นลายครามที่เริ่มงานรุ่นราวคราวเดียวกับผมนี่แหละ เป็นเอ็นจีโอที่ทำงานจริงจัง ปากกล้า ทำงานช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส โดยเฉพาะผู้ที่ติดโรคร้ายบางอย่าง เอ็นจีโอสาวใหญ่รายนี้เกาะกระแสโรคร้ายจนโด่งดัง มีเงินหมุนเวียนในองค์กรปีละนับร้อยล้าน มีลูกน้องร่วมร้อยก็ว่าได้ ถ้าเป็นบริษัทก็มีขนาดเท่ากับบริษัทขนาดกลางค่อนข้างใหญ่เลยทีเดียว

ngo

ตอนนี้เอ็นจีโอสาวใหญ่คนนี้ไม่ได้ทำงานด้านนี้อีกต่อไปแล้ว หอบเงินที่สะสมมาหลายสิบล้านไป “ตั้งตัว” ซื้อบ้านและที่ดินซึ่งก็คืออสังหาริมทรัพย์นับสิบๆล้านบาทในจังหวัดในภูมิภาคอื่นห่างไกลจากกรุงเทพมหานคร แถมเปิดกิจการหารายได้แบบแก้เหงา

การทำงานเอ็นจีโอของคนบางคนสามารถ “เม้ม” เก็บไว้เพื่อตัวเองมหาศาล ยิ่งพวกนักบวชที่มีคนถวายเงินให้จนชินตาก็คงยิ่งสะสมได้มากกว่านี้อีก การสะสมที่ดีและเพิ่มมูลค่าได้มากที่สุดอย่างหนึ่งก็คืออสังหาริมทรัพย์นั่นเอง ดังนั้น จึงจะเห็นว่ารายนี้ซื้อทรัพย์ไว้มากพอสมควร

ส่วนสามีที่ทำงานเอ็นจีโอในสาขาที่ใกล้เคียงกันก็เลิกร้างจากงานเอ็นจีโอกลับมาอยู่บ้านด้วยกัน ตัดขาดจากวงการเอ็นจีโอที่เคยทำโดยสิ้นเชิงเช่นกัน แต่นี่ไม่ใช่การ “เกษียณอายุ” แบบปรกติทั่วไป เพราะการทำงานเอ็นจีโอก็ยังทำกันได้ ไม่ได้มีวันเกษียณอายุที่ 60 ปี หลายคนอายุเลยเลข 7 ไปแล้วก็ยังทำงานได้ จะเห็นได้ว่าเอ็นจีโอหญิงคนนี้เกษียณแบบเออร์ลี่รีไทร์มาตั้งแต่อายุ 50 เศษๆ เป็นการเกษียณแบบจำยอม เพราะเจอลูกน้องจอมเนรคุณหักเหลี่ยมโหด

เอ็นจีโอหญิงใหญ่รายนี้มีเลขานุการสาวคู่ใจ สาวคนนี้แรกๆก็เป็นแค่เลขานุการตาม “ลูกพี่” ต้อยๆ แต่เพราะเป็นคนหัวไวจึงเรียนรู้สายสนกลในของ “ลูกพี่” ได้เป็นอย่างดี มาระยะหลังๆกลายเป็น “มือขวา” ออกงานบรรยายต่างๆแทน “ลูกพี่” อยู่บ่อยครั้ง จนในที่สุดก็ “ปีกกล้าขาแข็ง” ออกไปตั้งเอ็นจีโอของตัวเองที่ทำงานในสายงานเดียวกันแข่งกันเองซะนี่

เรื่อง “ลูกน้อง” ลาออกไปทำงานที่มั่นคงกว่า เช่น ไปสังกัดธนาคาร หรือแม้แต่ออกไปตั้งบริษัทแข่งกับผมในฐานะ “ลูกพี่” เก่า เป็นเรื่องปรกติ ผมเองก็เคยเจอบ้าง แต่ก็ไม่มีปัญหา ได้แต่อนุโมทนาให้เขาได้ดี ในเชิงธุรกิจต่างก็มีลูกค้ามาใช้บริการได้มากมาย ไม่ถือเป็นการแข่งขัน ยิ่งกว่านั้นบางรายยังให้เกียรติกลับมาทำงานกันใหม่ ผมก็ยินดีอ้าแขนรับและชวนให้มาอยู่ร่วมกันพัฒนาองค์กรให้เข้มแข็ง พยายามจัดสวัสดิการต่างๆให้ดี เพื่อให้เขาสบายใจที่จะอยู่ แทนที่จะ “หนีไปตายดาบหน้า”

แต่ในวงการเอ็นจีโอพวกแหล่งทุนมีจำกัด โดยเฉพาะแหล่งทุนจากต่างประเทศ คนที่เด่นดังกว่าจะได้รับความสนใจมากกว่า คนที่ด้อยกว่าก็ไม่ค่อยได้รับทุน จนถึงขั้น “พับฐาน” หมดอนาคต เพราะไม่มีแหล่งทุนเข้ามาให้ทำงาน เป็นต้น อันที่จริงการให้ทุนแบบนี้ถือเป็นการครอบงำวงการเอ็นจีโอโดยการชักใยจากต่างประเทศ ไม่ใช่การแข่งขันเสรีในทางธุรกิจ อาจมีอันตรายต่อความมั่นคงของชาติได้เช่นกัน

เอ็นจีโอสาวใหญ่ที่เป็น “ลูกพี่” รายนี้มีฐานะทางสังคมเทียบเท่า “ครูหยุย” นี่ถ้าลงเล่นการเมืองหรือไปจับกับขั้วอำนาจป่านนี้ก็คง “ติดปีกบิน” แบบ “ครูหยุย”” ไปแล้ว แต่เสียดายเทียบกับ “ครูหยุย” ไม่ได้ ประการแรก “ครูหยุย” มีความระมัดระวัง ไม่ยอมให้ลูกน้องคนไหนมาแย่งบทบาท อีกประการ “ครูหยุย” เป็นคนนุ่มนวล ไม่เอะอะโผงผางหรือ “ขวานผ่าซาก” แบบเอ็นจีโอสาวใหญ่รายนี้ ดังนั้น “โศกนาฏกรรม” หรือ “ละครน้ำเน่า” จึงไม่เคยเกิดกับ “ครูหยุย”

มากล่าวถึงอดีตเลขาฯสาวที่ไต่เต้าขึ้นมา “วัดรอยเท้า” นั้น เธอเป็นคนที่มีบุคลิกดีมาก อ่อนน้อม แถมปากหวาน ทำให้ประสานงานกับฝ่ายต่างๆได้ดีกว่า สุดท้ายก็ถึงขั้นเนรคุณด้วยการ “หักเหลี่ยมโหด” หักหน้าอดีต “ลูกพี่” คาเวทีด้วยชุดข้อมูลที่ต่างกันมากจนเอ็นจีโอสาวใหญ่หน้าแตก “หมอไม่รับเย็บ” ไปหลายครั้ง และในที่สุดเอ็นจีโอสาวใหญ่ดังกล่าวก็หมดที่ยืน ลาขาดจากเวทีเอ็นจีโอในวงการนั้น ต้องยุบเลิกหน่วยงาน และตัวเองก็จำต้องเออร์ลี่รีไทร์

อีกแง่หนึ่ง การทำงานเอ็นจีโอนานๆก็ทำให้มี “เงินทอน” สามารถหอบเงินกลับบ้านเกิดไปซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยและการลงทุนในบั้นปลายของชีวิตต่อไป และก็มีชีวิตอยู่อย่างสุขสบายจากเงินสะสมดังกล่าว การทำดีโดยไม่ด่างพร้อยโจ่งแจ้ง (แม้จะปากไม่ดี) ก็ทำให้มีฐานะดีขึ้น ไม่ใช่อยู่แบบจนๆแต่อย่างใด และหากเทียบกับพนักงานบริษัทเอกชนที่ทำงานจนเกษียณอายุ พนักงานเหล่านั้นอาจมีเงินสะสมน้อยกว่าเอ็นจีโอแบบนี้เสียอีก และหลังเกษียณยังต้องทำงานแบบ “ปากกัดตีนถีบ” เพื่อความอยู่รอด

ความโปร่งใสเป็นสิ่งที่พึงตรวจสอบในวงการเอ็นจีโอ เงินทอน อสังหาริมทรัพย์ที่ครอบครอง ก็ควรตรวจสอบเช่นกัน เพราะคนเหล่านี้ไม่ได้ทำธุรกิจ แต่ไม่รู้ไปเอาเงินมาจากไหนซื้อทรัพย์สิน ซึ่งถ้าประเมินด้วยผู้ประเมินค่าทรัพย์สินมืออาชีพก็เป็นเงินไม่น้อย สังคมจึงควรตรวจสอบวงการเอ็นจีโอนี้ อย่าให้เขาอ้างความจนหรืออ้างคนจนมาหากินเข้ากระเป๋าตัวเอง

 


You must be logged in to post a comment Login