วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567

ส่งสัญญาณอะไร?

On October 18, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

การเมืองไทยกับกองทัพไทยเป็นอำนาจคู่ขนานที่แยกกันไม่ขาด ช่วงเวลาที่การเมืองเข้มแข็งก็สามารถควบคุมกองทัพได้ แต่เมื่อไรที่ภาคการเมืองอ่อนแอกองทัพก็เข้ามามีบทบาทครอบงำ ชี้นำ จนถึงยึดอำนาจมาไว้ในมือได้ ท่าทีและแนวคิดของผู้นำทหารต่อการเมือง โดยเฉพาะผู้นำกองทัพบกในแต่ละยุคสมัยถือว่ามีความสำคัญ ยิ่งช่วงเวลาใกล้ผลัดเปลี่ยนอำนาจจากคณะรัฐประหารไปสู่รัฐบาลเลือกตั้งจากประชาชนยิ่งมีความสำคัญ เมื่อ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.คนปัจจุบัน ออกมายืนยันว่ากองทัพมีความเป็นกลางทางการเมือง จึงน่าสนใจว่าคำยืนยันนี้มีระดับความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด และการไม่ยืนยันว่าจะไม่มีรัฐประหารเกิดขึ้นอีกต้องการส่งสัญญาณอะไรไปถึงนักการเมืองและประชาชนในช่วงก่อนที่จะมีการเลือกตั้งหรือไม่

การเมืองไทยกับกองทัพแยกกันไม่ออก แม้โดยสถานะกองทัพจะถือเป็นหน่วยงานในสังกัดของรัฐบาล มีหน้าที่ทำตามนโยบาย ทำตามคำสั่ง

แต่ในความเป็นจริงกองทัพมีพลังอำนาจมากพอที่จะเข้าเกียร์ว่างได้ และมีพลังอำนาจมากพอที่จะยึดอำนาจการปกครองมาไว้ในมือตัวเองได้

ดังนั้น ท่าทีของผู้นำกองทัพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทัพบกที่มีบทบาทอย่างมากในทางการเมือง จึงมีความสำคัญและน่าสนใจ เพราะแนวคิดของผู้บัญชาการกองทัพบกในแต่ละยุคแต่ละสมัยย่อมมีผลทางการเมือง

พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบัน แสดงทรรศนะต่อการเมืองอย่างน่าสนใจว่า

“กองทัพบกจะต้องเผชิญกับการดำเนินการสู่การเลือกตั้งหลายๆอย่าง โดยในวันนี้จะมีการสั่งการผู้บังคับหน่วยให้ดำเนินการตอบสนองนโยบายรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดไหน และจะสั่งการให้ผู้บังคับหน่วยทำงานให้รัดกุม เพราะต้องถูกจับจ้องจากนักการเมือง เพราะกองทัพบกสวมหมวก 2 ใบในฐานะกองทัพบกและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่ากองทัพบกมุ่งช่วยเหลือประชาชน ไม่ได้หาเสียง ไม่รู้จะหาเสียงไปเพื่ออะไร ในทางกลับกันทหารช่วยเหลือประชาชนด้วยใจ เราเป็นทหารอาชีพ เราไม่ได้เป็นนักการเมือง แต่ต้องระมัดระวัง เนื่องจากถูกจับตาแน่นอน เพราะกองทัพและ คสช. เป็นเนื้อเดียวกัน

ผมทำงานเกินร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้วไม่ว่าใครจะเป็นนายผม ซึ่งความเป็นกลางขึ้นอยู่กับมุมมองของใคร แต่เรามั่นใจว่าเราเป็นกลาง ขอให้พวกท่านมั่นใจว่ากองทัพเป็นกลาง ส่วนอุปสรรคตอนนี้คือการทำให้ประชาชนเข้าใจบทบาทหน้าที่ของกองทัพ และขอให้แยกแยะให้ถูก

ย้อนไปในสมัยรัฐบาลรักษาการ ได้เกิดวิกฤตทางการเมือง กองทัพก็ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลนั้นเช่นเดียวกัน และตอนนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประสานงานขอกำลังพลกองทัพเพื่อช่วยเหลือ ซึ่งจะมองว่าเป็นกลางหรือไม่ เพราะทหารก็ต้องไป เนื่องจากกองทัพบกได้รับภาษีอากรของประชาชน”

ประโยคที่ถือเป็นไฮไลท์ของการให้สัมภาษณ์ของผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบันคือการพูดถึงโอกาสที่จะมีการทำรัฐประหารเกิดขึ้นอีกในอนาคตข้างหน้า

“ถ้าวันนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ตัดสินใจ บ้านเมืองจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งได้คาดหวังอย่างยิ่งว่าเหตุการณ์รุนแรงในประเทศจะไม่เกิดขึ้นอีก เพราะกองทัพไม่มีวันชนะประชาชน ขณะที่ประชาชนออกมาเผาบ้าน ออกมาทำระเบิด ท่านนั่นแหละที่ทำให้ประเทศพ่ายแพ้ ผมมั่นใจว่าถ้าการเมืองไม่เป็นต้นเหตุการจลาจลก็ไม่มีอะไร”

ไม่ยืนยัน ไม่รับปากว่าจะไม่ทำรัฐประหารในระหว่างที่คุมอำนาจสูงสุดในกองทัพบก

อย่างไรก็ตาม หากนำคำพูดของผู้บัญชาการทหารบกวัดน้ำหนักความน่าเชื่อถือก็น่าสนใจว่าระหว่างคำยืนยันว่ากองทัพมีความเป็นกลางทางการเมืองกับไม่รับประกันว่าจะมีการทำรัฐประหารเกิดขึ้นอีกหรือไม่ในอนาคต อย่างไหนมีความน่าเชื่อถือมากกว่ากัน

คำยืนยันว่ากองทัพมีความเป็นกลางทางการเมือง น่าเชื่อถือหรือไม่

ไม่รับประกันว่าจะมีรัฐประหารเกิดขึ้นอีก น่าเชื่อถือหรือไม่

ทั้งนี้ หากย้อนดูการแสดงท่าทีและการปฏิบัติของอดีตผู้บัญชาการทหารบกหลายคนในช่วงที่เกิดวิกฤตทางการเมืองเป็นเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมา ประชาชนน่าจะตอบตัวเองได้ว่าเชื่อในสิ่งที่ผู้บัญชาการทหารบกพูดหรือไม่

สุดท้ายน่าสนใจว่าการไม่ยืนยันเรื่องไม่ทำรัฐประหารต้องการส่งสัญญาณอะไรไปถึงนักการเมืองและประชาชนในช่วงก่อนมีการเลือกตั้งหรือไม่


You must be logged in to post a comment Login