วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567

นิวเคลียร์ใต้พิภพ / โดย ศิลป์ อิศเรศ

On August 24, 2018

คอลัมน์ : ร้ายสาระ

ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ

(โลกวันนี้วันสุข  ประจำวันที่ 24-31 สิงหาคม 2561)

หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 บรรดาประเทศมหาอำนาจต่างแข่งขันกันทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ ทำให้นานาประเทศกังวลใจว่าจะทำให้เกิดมลภาวะจนเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต จึงตกลงกันว่าห้ามทำการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ไม่ว่าจะบนบก บนอากาศ หรือในน้ำโดยเด็ดขาด ขณะที่อเมริกาละเมิดข้อตกลงสนธิสัญญาด้วยการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ใต้พื้นดิน

ระเบิดนิวเคลียร์ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับสิ่งของเครื่องใช้ทั่วๆไป ทุกครั้งที่มีการออกแบบระเบิดนิวเคลียร์รุ่นใหม่ก็ต้องมีการทดสอบประสิทธิภาพ ช่วงสงครามเย็นอเมริกาทำการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์มากกว่า 1,000 ครั้ง สถานที่ทดสอบส่วนใหญ่จะใช้ทะเลทรายเนวาดาหรือไม่ก็กลางมหาสมุทรแปซิฟิก

รัสเซียก็ไม่ยอมน้อยหน้า เร่งพัฒนาโครงการผลิตอาวุธนิวเคลียร์เพื่อถ่วงดุลอำนาจ ตามมาด้วยอังกฤษ ฝรั่งเศส และจีน ทำให้หลายประเทศเริ่มกังวลใจว่าสารกัมมันตรังสีจากการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์จะแผ่กระจายปกคลุมไปทั่วโลก ทำอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะมนุษย์ จึงมีการประชุมในเจนีวาเมื่อปี 1958 ลงมติว่าจะติดตั้งเครื่องตรวจจับและวัดแรงสั่นสะเทือนทั่วโลก เพื่อตรวจดูว่ามีที่ไหนบ้างที่ทำการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์

ปี 1959 อัลเบิร์ต แลตเตอร์ นักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน เกิดไอเดียว่าหากไม่ต้องการให้มีคนจับได้ว่ากำลังทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ก็ให้ทดสอบใต้ดิน ผิวหน้าดินจะทำหน้าที่กรองแรงสั่นสะเทือน ทำให้มีแรงสั่นสะเทือนน้อยมากจนเครื่องไม่สามารถตรวจจับแรงสั่นสะเทือนได้

เพื่อเป็นการพิสูจน์ทฤษฎีนี้ อัลเบิร์ตทำการทดสอบโดยใช้ระเบิดขนาด 100 กิโลตัน ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าระเบิดนิวเคลียร์ที่ทิ้งลงที่ฮิโรชิมาถึง 6 เท่า แต่คณะกรรมาธิการพลังงานปรมาณูอเมริกาไม่มั่นใจว่าการทดสอบของอัลเบิร์ตจะถูกต้อง จึงมีมติให้ทำการทดลองด้วยระเบิดนิวเคลียร์จริง

ถูกหวยใต้ดิน

แต่การทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ใต้พิภพไม่ใช่ว่าจะใช้พื้นที่ใดก็ได้ นักวิทยาศาสตร์เจาะจงว่าสถานที่ทดสอบจะต้องมีชั้นเกลือขนาดใหญ่ เพราะรอบชั้นเกลือจะไม่มีหลุมน้ำมันดิบหรือแหล่งน้ำที่สารกัมมันตรังสีจะไปปนเปื้อน

จากการสำรวจพบว่าสถานที่บริเวณเมืองแบกซ์เตอร์วิล รัฐมิสซิสซิบปี มีชั้นเกลือที่หนาแน่นอยู่ต่ำลงไปใต้ดินที่ความลึก 1,000 ฟุต สถานที่แห่งนี้รู้จักกันในชื่อโดมเกลือทาทัม ขณะเดียวกันในปี 1963 มีการเรียกร้องให้บรรดาประเทศมหาอำนาจลงนามในสนธิสัญญาห้ามทดสอบระเบิดนิวเคลียร์บนชั้นบรรยากาศ ไม่ว่าจะเป็นบนบก บนอากาศ หรือในน้ำ

เป็นโอกาสอันดีที่จะหลบเลี่ยงข้อตกลงในสนธิสัญญา วันที่ 22 กันยายน 1964 อเมริกาเดินหน้าทำการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ใต้ดินลูกแรกขนาด 5.3 กิโลตัน นำไปฝังลงในชั้นเกลือใต้พิภพที่ความลึก 2,700 ฟุต แต่ปัญหาคือพื้นที่บริเวณนั้นไม่ได้เวิ้งว้างว่างเปล่าเหมือนกลางทะเลทรายเนวาดา หากแต่มีชุมชนที่อยู่อาศัยรายรอบ

ประชาชนราว 400 ครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในรัศมี 5 ไมล์ ถูกอพยพออกนอกพื้นที่ แต่การทดลองไม่ได้เกิดขึ้น เพราะกระแสเปลี่ยนทิศทาง ทำให้ต้องยกเลิก รัฐบาลจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้อพยพในอัตราผู้ใหญ่คนละ 10 ดอลลาร์ และเด็กคนละ 5 ดอลลาร์

โคงการแซลมอน-สเตอร์ลิง

กำหนดการทดลองครั้งใหม่มีขึ้นในวันที่ 22 ตุลาคม 1964 ประชาชนถูกอพยพออกนอกพื้นที่อีกครั้ง เวลา 10.00 น. เสียงระเบิดภายใต้ชื่อโครงการแซลมอนดังกึกก้อง แรงระเบิดทำให้แผ่นดินสั่นสะเทือน เกิดหลุมลึก 110 ฟุตที่ชั้นเกลือ บรรณาธิการนิตยสาร Hattiesburg American ซึ่งอยู่ห่างออกไปถึง 30 ไมล์ บอกว่าอาคารสำนักพิมพ์สั่นไหวนานถึง 3 นาที

ประชาชน 400 คนร้องเรียนว่าบ้านเรือนได้รับความเสียหายจากการทดลอง บ้างก็เกิดรอยร้าว บ้างก็ปล่องไฟล้ม ข้าวของในบ้านได้รับความเสียหาย ท่อประปาแตกทำให้น้ำไหลนองท่วมบ้าน บ้านของฮอเรนซ์ เบิร์ก ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ข้าวของกระเด็นกระจัดกระจายไปทั่วบ้าน

วันที่ 3 ธันวาคม 1966 รัฐบาลทำการทดลองครั้งที่ 2 ภายใต้ชื่อโครงการสเตอร์ลิง คราวนี้พวกเขาใช้ระเบิดขนาด 350 ตัน หย่อนลงไปในหลุมเกลือที่เกิดจากการระเบิดเมื่อ 2 ปีก่อน เครื่องตรวจจับรับแรงสั่นสะเทือนได้ต่ำกว่าความเป็นจริงถึง 100 เท่า ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าหากทำการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ในสถานที่ที่เป็นโพรงหรือถ้ำจะยากต่อการตรวจจับ

จากการทดลองทั้ง 2 ครั้ง ได้ข้อสรุปว่าทฤษฎีของอัลเบิร์ตไม่ถูกต้องนัก เพราะแม้ทดลองระเบิดนิวเคลียร์ใต้พิภพ เครื่องตรวจจับแรงสั่นสะเทือนก็สามารถตรวจจับได้อยู่ดี แต่ข้อดีก็คือหากมีประเทศใดแอบทดลองระเบิดนิวเคลียร์ใต้พิภพก็จะมีคนรู้ทันที การทดลองระเบิดนิวเคลียร์ใต้พิภพที่ยากต่อการตรวจจับจะต้องใช้ระเบิดที่มีขนาดไม่เกิน 150 ตัน

ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

หลังจากการทดลองโครงการแซลมอน นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้กรวดถมลงในหลุมระเบิดและเททับด้วยคอนกรีตเพื่อป้องกันไม่ให้สารกัมมันตรังสีแผ่กระจายออกมาจากหลุม แต่หลังจากนั้น 2 เดือน นักวิทยาศาสตร์ทำการเจาะพื้นที่เพื่อหย่อนเครื่องมือตรวจวัดลงในหลุมระเบิด การกระทำนี้ฝุ่นปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีบางส่วนลอยฟุ้งขึ้นมาบนผิวหน้า

เหตุการณ์เดียวกันนี้เกิดขึ้นซ้ำอีกครั้งในโครงการสเตอร์ลิง ทำให้รัฐบาลต้องส่งเจ้าหน้าที่มากำจัดสารปนเปื้อนหลายต่อหลายครั้งเพื่อให้มั่นใจว่าสภาพแวดล้อมปลอดภัยต่อสิ่งมีชีวิตเหมือนก่อนทำการทดลอง แต่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นไม่มั่นใจ เรียกร้องให้รัฐบาลมาดูแลอย่างใกล้ชิด

ปี 1972 มีการนำตัวอย่างหินจากโดมเกลือทาทัมไปตรวจสอบ พบว่ายังมีการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสี ทำให้รัฐบาลต้องสร้างแผ่นป้ายทองเหลืองฝังบนเสาหินเตือนไม่ให้มีการขุดดินบริเวณที่ใช้ทดสอบระเบิดนิวเคลียร์

ปี 2000 รัฐบาลสร้างระบบน้ำประปาเพื่อให้ประชาชนโดยรอบมีน้ำสะอาดใช้โดยไม่ต้องพึ่งแหล่งน้ำธรรมชาติ เนื่องจากพวกเขายังคงหวั่นเกรงว่าแหล่งน้ำธรรมชาติอาจปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากการทดลองระเบิดนิวเคลียร์เมื่อปี 1964 และ 1966

ปัจจุบันกระทรวงสาธารสุขยังคงส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบสภาพแวดล้อมบริเวณโดมเกลือทาทัมเป็นประจำ และยังไม่พบว่ามีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในบริเวณนี้แต่อย่างใด

679-1

1.ระเบิดแซลมอนและสเตอร์ลิงถูกหย่อนลงหลุม

679-2

2.ความสั่นสะเทือนจากการทดลองระเบิด

679-3

3.นักวิทยาศาสตร์ตรวจสอบตัวอย่างจากโดมเกลือทาทัม

679-4

4.เจ้าหน้าที่กำหนดขอบเขตที่ต้องอพยพประชาชน

679-5

5.นักข่าวรอทำข่าวการทดลอง

679-6

6.ประชาชนมุงดูการทดลอง

679-7

7.บ้านของฮอเรนซ์ เบิร์ก

679-8

8.ข้าวของกระจัดกระจายในบ้านฮอเรนซ์

679-9

9.ชาวบ้านต้องเอาเสามาค้ำปล่องไฟ

679-10

10.ป้ายเตือนห้ามขุดดินบริเวณโดมเกลือทาทัม


You must be logged in to post a comment Login