วันพุธที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

แผนใหม่เป้าหมายเดิม

On July 23, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

การเดินเข้าหาแกนนำคนเสื้อแดงและแกนนำ กปปส. ในระดับล่างของกลุ่มสามมิตรถือเป็นความพยายามครั้งใหม่เพื่อสลัดภาพลักษณ์เป็นกลุ่มการเมืองสนับสนุนสืบทอดอำนาจ โดยจับจุดว่าประชาชนเบื่อหน่ายความขัดแย้งที่ยังดำรงอยู่ และกังวลว่าหลังเลือกตั้งไม่ว่าจะเลือกข้างไหนความขัดแย้งจะปะทุขึ้นอีก จึงปรับหมากมาเล่นบทโซ่ข้อกลางเชื่อมทุกฝ่ายเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างความปรองดองไปพร้อมกับรักษาระยะห่างกับคนในรัฐบาลทหาร คสช. ด้วยการลดการพูดถึงเรื่องสนับสนุน “บิ๊กตู่” กลับมาเป็นนายกฯ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะปรับหมาก แต่เชื่อว่ายังดำรงเป้าหมายเดิมตั้งแต่เริ่มต้นไม่เปลี่ยนแปลง

ความเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไปเชื่อว่าจะเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะการเดินสายของกลุ่มสามมิตรเพื่อรวบรวมสมัครพรรคพวกเข้ามาทำงานร่วมกัน

ก้าวย่างของแกนนำกลุ่มสามมิตรถือว่ามีความน่าสนใจมาก

เป็นความน่าสนใจตรงการแสดงบทบาทสร้างความปรองดองด้วยการพยายามดึงคนทุกฝ่ายเข้ามาเป็นพวก

ย้อนไปจุดเริ่มต้นความเคลื่อนไหวของกลุ่มสามมิตร เริ่มจากการทาบทามอดีต ส.ส. เข้าร่วมงาน โดยเฉพาะอดีต ส.ส. ของพรรคเพื่อไทย ซึ่งพื้นที่เป้าหมายหลักอยู่ในภาคอีสาน

ทำให้ถูกมองว่ามีความพยายามลดทอนกำลังของคู่แข่งสำคัญในสนามเลือกตั้ง

ความพยายามที่ 2 ถูกขยายไปยังบรรดาแกนนำคนเสื้อแดงในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งทำให้ถูกมองว่าต้องการตัดกำลังพรรคเพื่อไทยให้ถึงระดับฐานราก

ความพยายามที่ 3 ขยับไปหาแกนนำชาวนาในกลุ่มต่างๆ เพื่อให้คำยืนยันแนวทางแก้ปัญหาราคาข้าวว่าจะทำให้ขายได้ไม่ต่ำกว่าตันละ 8,000 บาท ซึ่งเป็นระดับราคาที่ชาวนาอยู่ได้ไม่เดือดร้อน ทำให้ถูกมองว่ามุ่งทลายภาพจำโครงการรันจำนำข้าวของพรรคเพื่อไทยที่บรรดาชาวนายังคงโหยหาอยู่ทุกครั้งที่ราคาข้าวตกต่ำ

ความพยายามที่ 4 ก้าวข้ามจากเป้าหมายที่เป็นกำลังหลักของพรรคเพื่อไทยในระดับรากหญ้าด้วยการเข้าหาบรรดาแกนนำ กปปส. ในพื้นที่ต่างๆ โดยยังโฟกัสพื้นที่ภาคอีสานเป็นหลักเพื่อดึงเข้ามาเป็นพวก

ความน่าสนใจในการล้ำเข้าไปในกลุ่ม กปปส. อยู่ตรงที่การพยายามสร้างภาพให้ประชาชนเห็นว่ากลุ่มสามมิตรทำงานการเมืองไม่เลือกข้าง ไม่เลือกฝ่าย มีเป้าหมายหลักคือการสร้างความปรองดอง ดึงคนทุกสีเสื้อทุกกลุ่มเข้ามาทำงานร่วมกัน

ถ้าถามว่าทำไมกลุ่มสามมิตรต้องการได้ภาพเป็นนักสร้างความปรองดองทางการเมือง

คำตอบน่าจะอยู่ที่ประชาชนส่วนมากเบื่อความขัดแย้งที่มีตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมาเต็มทีแล้ว

การเดินหมากเป็นโซ่ข้อกลางสร้างความปรองดองในชาติของกลุ่มสามมิตรถือว่าคลำถูกจุด เดินถูกทาง

ทั้งนี้ เนื่องจากประชาชนส่วนมากยังมองเห็นภาพความขัดแย้งทางการเมืองดำรงอยู่อย่างชัดเจน และหวั่นว่าความขัดแย้งจะปะทุขึ้นมาอีกครั้งหลังเลือกตั้ง

เลือกพรรคเพื่อไทยก็มองเห็นความขัดแย้งที่รออยู่เบื้องหน้า

เลือกพรรคอนาคตใหม่ก็มองเห็นความขัดแย้งที่รออยู่เบื้องหน้า

เลือกพรรคประชาธิปัตย์ก็มองเห็นความขัดแย้งที่รออยู่เบื้องหน้า

เลือกพรรครวมพลังประชาชาติไทยของ กปปส. ก็มองเห็นความขัดแย้งที่รออยู่เบื้องหน้า

จึงเกิดช่องว่างให้กลุ่มสามมิตรแทรกตัวเข้ามาในฐานะโซ่ข้อกลางสร้างความปรองดอง ด้วยการดึงตัวแทนกลุ่มการเมืองทุกฝ่ายเข้ามาทำงานร่วมกัน

แม้ก่อนหน้านี้ภาพลักษณ์ของกลุ่มสามมิตรจะเด่นชัดเรื่องสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ โดยการประกาศหนุน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

แต่ในระยะหลังจะเห็นว่ากลุ่มสามมิตรเริ่มรักษาระยะห่างจากคนในรัฐบาลทหาร คสช. เพราะจับกระแสได้ว่าประชาชนไม่ค่อยยอมรับในภาพลักษณ์ก่อนหน้านี้ พร้อมกับสร้างภาพลักษณ์ใหม่ในการเป็นโซ่ข้อกลางสร้างความปรองดอง

จากความเคลื่อนไหวนี้ทำให้พอมองเห็นได้ว่าเงื่อนไขทางการเมืองเปลี่ยนไปแล้ว บางทีที่เคยคาดกันว่าอาจเห็นการเปิดหน้าเล่นการเมืองของแกนนำในรัฐบาลทหาร คสช. บางคน อาจต้องปรับหมากใหม่ ไม่ออกหน้าแต่ให้การสนับสนุนอยู่ข้างหลัง

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะออกหน้าหรือหนุนหลัง และไม่ว่าจะปรับหมากทางการเมืองอย่างไร เชื่อว่าเป้าหมายของกลุ่มสามมิตรยังคงเหมือนเดิมตั้งแต่เริ่มต้นไม่เปลี่ยนแปลง


You must be logged in to post a comment Login