วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

ถอดรหัส‘มาร์ค’

On June 18, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

การแสดงออกทางความคิดและการแสดงท่าทีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งบนเวทีเสวนา อภิปราย และการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในระยะหลัง หากถอดรหัสกันดีๆจะมองเห็นความเป็นจริงของการเมือง สถานะของ คสช. ในปัจจุบัน และทิศทางการเมืองในอนาคต ซึ่งน่าจะเกิดจากการถอดบทเรียนเหตุการณ์การเมืองในช่วงที่ผ่านมา จึงไม่แปลกที่ได้เห็นนายอภิสิทธิ์ยืนอยู่บนหลักการมากขึ้นทั้งในคำพูดและการกระทำ ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวมของการเมืองในอนาคตข้างหน้า อย่างไรก็ตาม การเมืองที่ยืนอยู่บนหลักการจะเกิดขึ้นได้จริงก็ต้องลบทิ้งฉายา “ดีแต่พูด” ให้ได้เสียก่อนเท่านั้น

งานเสวนาหัวข้อ “อนาคตประชาธิปไตยไทย ข้ามพ้นกับดักความหวัง” ซึ่งจัดขึ้นในโอกาสครบรอบ 69 ปี การสถาปนาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา มีคนติดตามค่อนข้างมากและถูกนำมาพูดถึงในหลายประเด็น

ที่น่าสนใจที่สุดคงจะเป็นคำพูดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ตีความแล้วทำให้เราได้เห็นทิศทางการเมืองและความเป็นจริงทางการเมืองชัดเจนมากขึ้น

ความจริงประการแรกคือ การประกาศเจตจำนงว่าต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญของ คสช. และเชื่อว่าหลังเลือกตั้งจะมีเสียง ส.ส. เกินกว่ากึ่งหนึ่งในสภาที่ต้องการปรับแก้รัฐธรรมนูญแบบยกเครื่องใหม่

แม้นายอภิสิทธิ์จะไม่แสดงความต้องการแก้ไขอย่างสุดโต่งว่าต้องทำทันทีหลังการเลือกตั้ง แต่ข้อเสนอให้ฝ่ายการเมืองร่วมกันทำหน้าที่ชี้ให้ประชาชนเห็นว่ารัฐธรรมนูญของ คสช. เป็นอุปสรรคต่อการเมืองการปกครอง การพัฒนาประเทศ และการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนอย่างไร เพื่อสะสมแนวร่วมให้ได้จำนวนมากก่อนแก้ไข เพื่อไม่ให้ติดกับดักการต่อต้านแก้ไขเหมือนที่ผ่านมา ไม่ให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าแก้เพื่อเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายการเมือง ถือเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ

ข้อเสนอและแนวคิดนี้สะท้อนความจริงที่ว่ารัฐธรรมนูญของ คสช. ไม่เป็นประชาธิปไตยและตอบโจทย์ปฏิรูปประเทศอย่างที่สร้างภาพเอาไว้

ความจริงประการที่สองคือ กรณีที่นายอภิสิทธิ์พูดทำนองว่าหลังการเลือกตั้งใครที่ได้อำนาจบริหารประเทศแล้วเห็นว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ คสช. ทิ้งไว้ไม่ตอบโจทย์พัฒนาประเทศ และมีแนวทางที่ดีกว่า ควรกล้าที่จะนำเสนอแนวนโยบายนั้นกับประชาชนและดำเนินการตามแนวนโยบายของตัวเอง เป็นการแสดงให้เห็นว่าการวางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเขียนกฎหมายแกมบังคับให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องทำตามเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม

ข้อเสนอและแนวคิดนี้สะท้อนความจริงที่ว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อาจเป็นตัวถ่วงการพัฒนาประเทศให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ในอนาคตที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

ความจริงประการต่อมาคือ กรณีนายอภิสิทธิ์พูดในทำนองที่ว่าบรรดาประกาศและคำสั่งของ คสช. หลายฉบับที่ยังไม่ปรับแก้หรือยกเลิกเป็นอุปสรรคต่อการเดินหน้าเลือกตั้งตามโรดแม็พ และเป็นอุปสรรคต่อการสร้างบรรยากาศประชาธิปไตย โดยเฉพาะเรื่องการปิดกั้นเสรีภาพโดยนำเรื่องความสงบสุขมาเป็นข้ออ้าง

คำพูดทำนองนี้แม้จะเป็นการพูดตามหลักการ แต่สะท้อนให้เห็นว่านายอภิสิทธิ์หรืออาจจะเหมารวมพรรคประชาธิปัตย์ไม่พึงใจต่อท่าทีและกติกาที่ คสช. กำหนดและแสดงออก

คนที่มีอคติอาจมองว่าที่พูดเช่นนี้เพราะกติกาและท่าที คสช. ไม่เอื้ออำนวยให้พรรคประชาธิปัตย์ได้เปรียบพรรคการเมืองอื่น แต่หากพิจารณาอีกมุมหนึ่งอาจคิดได้ว่าเป็นการแสดงออกถึงการถอยห่างจากกลุ่มอำนาจปัจจุบัน ส่วนเหตุที่ต้องรักษาระยะห่างเป็นไปได้ว่าเพราะประชาชนส่วนใหญ่พากันแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อ คสช. มากขึ้น

ข้อเสนอและแนวคิดนี้สะท้อนความจริงที่ว่าหลังการเลือกตั้ง คสช. อาจถูกโดดเดี่ยวจากพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคใหญ่ 2 พรรค แม้จะมีพรรคใหม่และอดีต ส.ส. ส่วนหนึ่งเป็นกองหนุน และมี ส.ว. จากการแต่งตั้งรอยกมือให้ในสภา 250 เสียง แต่เส้นทางสืบทอดอำนาจคงไม่ง่าย

ความจริงประการสุดท้ายที่ถอดรหัสได้จากคำพูดและท่าทีของนายอภิสิทธ์ที่แสดงออกทั้งบนเวทีเสวนาและการให้สัมภาษณ์ทั่วไปในระยะหลัง ทำให้ค่อนข้างเชื่อได้ว่านายอภิสิทธิ์ใช้เหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมาเป็นบทเรียนในการกำหนดทิศทางการเมืองของตัวเองและพรรค

จากนี้ไปอาจได้เห็นพรรคประชาธิปัตย์ยืนอยู่บนหลักการมากขึ้นทั้งในคำพูดและการกระทำ ซึ่งจะทำให้การเมืองในอนาคตข้างหน้าเป็นการเมืองที่สร้างสรรค์ ไม่คิดแต่จะเอาชนะโดยไม่เลือกวิธีการเหมือนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม การเมืองเชิงสร้างสรรค์ การเมืองที่เล่นกันตามกติกาและเล่นกันแต่ในสภา จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากยังไม่ยอมละทิ้งฉายา “ดีแต่พูด”


You must be logged in to post a comment Login