วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

กรม สบส.แนะสปา/นวดโฆษณาให้เหมาะสมไม่เวอร์อวดอ้างสรรพคุณการรักษาโรค

On June 8, 2018

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แนะร้านสปา/นวดทุกแห่ง ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดโฆษณาให้เหมาะสมห้ามโฆษณาเวอร์โอ้อวดเกินจริงหรือก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในบริการ โดยเฉพาะการอวดอ้างสรรพคุณว่าสามารถรักษาโรคได้ หากพบมีโทษหนักถึงขั้นพักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาต

นายแพทย์ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล รองโฆษกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุขและผู้อำนวยการกองสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ให้สัมภาษณ์ว่า จากข้อมูลของกองสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ กรม สบส. พบว่า ปัจจุบัน ทั่วประเทศมีสถานประกอบการเพื่อสุขภาพทั้งสปา นวดเพื่อสุขภาพ หรือเสริมความงาม ที่ขึ้นทะเบียนกับกรม สบส.และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เกือบ 3,000แห่ง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลายแห่งจึงต้องมีการแข่งขันกันในด้านธุรกิจ ด้วยการจัดโปรโมชั่น หรือขึ้นป้ายโฆษณาเพื่อดึงดูดให้ประชาชนเข้ารับบริการกับตน ซึ่งตามกฎหมายพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 มิได้ห้ามให้มีการโฆษณาแต่อย่างใด แต่ผู้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการฯ จะต้องดำเนินการให้ถูกต้องและเหมาะสมตามที่กฎหมายกำหนด ไม่โฆษณาในลักษณะที่เป็นเท็จ โอ้อวดเกินจริง หรือส่อไปในทางลามกอนาจาร โดยเฉพาะการอวดอ้างสรรพคุณของการบริการว่าสามารถรักษาหรือป้องกันโรคได้นั้นยิ่งห้ามโดยเด็ดขาดเนื่องด้วย สถานประกอบการเพื่อสุขภาพนั้นจัดตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการที่เกี่ยวกับการดูแลและเสริมสร้างสุขภาพโดยวิธีการบำบัดด้วยน้ำหรือการนวดร่างกายเป็นหลักมิได้มีบทบาทในการป้องกัน บำบัด รักษาโรคแต่อย่างใด

“การนวดเพื่อบำบัด รักษาโรค และฟื้นฟูสุขภาพโดยใช้ศาสตร์นวดไทยนั้น หากผู้นวดขาดความชำนาญก็อาจจะทำให้เกิดอาการฟกช้ำ กล้ามเนื้ออักเสบ บวมแดงหรืออาจจะส่งผลกระทบต่อโรคประจำตัวของผู้รับบริการได้ จึงต้องกระทำในสถานพยาบาล และรับบริการจากแพทย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยเท่านั้นดังนั้น การโฆษณาว่าสถานประกอบการเพื่อสุขภาพของตนสามารถให้บริการบำบัดรักษาโรค อาทิ โรคไมเกรน, โรคเกาต์, โรครูมาตอย หรือกระดูกทับเส้น ฯลฯ จึงถือว่าเป็นการโฆษณาในลักษณะที่เป็นเท็จโอ้อวดเกินจริง ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับการประกอบกิจการ หากพนักงานเจ้าหน้าที่ฯตรวจพบจะมีคำสั่งให้ผู้ประกอบกิจการแก้ไขให้ถูกต้องในระยะเวลาที่กำหนด และหากไม่ดำเนินการแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนดจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ซึ่งมีโทษถึงขั้นพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต”นายแพทย์ภัทรพลกล่าว

ทั้งนี้ กรม สบส.ขอเชิญชวนให้ประชาชนทุกคนมาร่วมเป็นเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคในด้านระบบบริการสุขภาพ หากพบเห็นเบาะแสการกระทำผิดของสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง หรือแอบแฝงบริการผิดกฎหมายในเขตกรุงเทพฯ สามารถแจ้งได้ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนกรม สบส.ทางหมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7000 ต่อ 18618 และกองสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ หมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7080 หรือทางเฟซบุ๊ก : ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน สบส.กระทรวงสาธารณสุข ในวันและเวลาราชการ แต่หากอยู่ในส่วนภูมิภาคสามารถแจ้งได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ เพื่อร่วมคุ้มครองประชาชนให้ได้รับบริการที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ปลอดภัย


You must be logged in to post a comment Login