วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

เลื่อนอีกแล้ว

On April 25, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

กระแสเลื่อนเลือกตั้งที่เงียบไปพักใหญ่ถูกจุดพลุขึ้นมาอีกครั้งจากมุมมองของ “นิพิฏฐ์” ที่เชื่อว่า “ปาฏิหาริย์ทางกฎหมาย” ยังคงไม่สิ้นสุด โดยชี้เป้าให้จับตาดูการตีความคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ซึ่งน่าจะรู้ผลในเร็ววันนี้ ผลการตีความอาจทำให้การเลือกตั้งต้องถูกเลื่อนออกไปอีกอย่างน้อย 1 ปี หรือนานกว่านั้น ยกเว้นแต่จะมีการใช้ “อำนาจพิเศษ” สร้างปาฏิหาริย์มุมกลับเพื่อคงโรดแม็พเลือกตั้งไว้ อย่างไรก็ตาม อำนาจพิเศษถ้าใช้บ่อยจะคลายความขลัง จากที่เรียกว่าปาฏิหาริย์อาจกลายเป็นเลอะเทอะได้

ความยุ่งเหยิงวุ่นวายในการสรรหาผู้เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติคว่ำเพื่อเริ่มต้นนับหนึ่งสรรหาใหม่ โดยอ้างปัญหาเรื่องคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม ท่ามกลางเสียงร่ำลือพร้อมคลิปฉาวว่าเป็นไปตามใบสั่ง จนนำมาซึ่งการใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 7/2561 ให้ระงับการสรรหาไว้ก่อนจนกว่าจะมีการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.กสทช. (ฉบับที่ 2) ใน 2 ประเด็นที่เห็นว่าอาจเป็นปัญหาหากยังให้กระบวนการสรรหาดำเนินต่อไป

2 ประเด็นที่ต้องแก้ไขคือเรื่องคุณสมบัติของผู้เข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการ กสทช. ที่คณะกรรมการสรรหาตีความแตกต่างออกไปจากข้อกำหนดของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นไปได้ทั้งตัวกฎหมายเขียนไว้ไม่ชัดเจนและจงใจตีความให้เกิดปัญหา

อีกประเด็นคือเรื่องระยะเวลาของการสรรหาที่กำหนดไว้สั้นเกินไป จนทำให้กระทบต่อความรอบคอบในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เข้ารับการสรรหา

ส่วนระยะเวลาในการแก้ไขกฎหมายจะนานแค่ไหนนั้น ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาไว้ ทำให้กรรมการ กสทช. ชุดปัจจุบันต้องนั่งรักษาการในตำแหน่งต่อไปเรื่อยๆจนกว่ากระบวนการแก้ไขกฎหมายจะเรียบร้อยและสรรหากรรมการชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทนได้

นี่ขนาดเป็นกฎหมายที่เขียนกันเอง อนุมัติกันเอง และใช้กันเองในแวดวงแม่น้ำ 5 สาย และเป็นกฎหมายที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งที่มีการใช้เทคนิคขั้นสูงกว่าในการซ่อนปมยังมีปัญหาจนต้องใช้อำนาจพิเศษเว้นวรรคเพื่อปรับแก้

คงไม่ต้องพูดถึงกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ยังลูกผีลูกคนอีกหลายฉบับที่รอการตีความจากศาลรัฐธรรมนูญว่าจะมีปัญหาตามมาขนาดไหนหลังการตีความ

ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ผ่านความเห็นชอบจาก สนช. แล้ว แต่ สนช. ส่งตีความทั้งที่เป็นคนพิจารณาเห็นชอบร่างกฎหมายมาเองกับมือ มี 2 ฉบับอย่างที่รู้กันคือ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการชี้แจงของผู้เกี่ยวข้องก่อนศาลจะตัดสิน

อีกฉบับซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว แม้ สนช. ไม่ได้ยื่นตีความ แต่พรรคการเมืองยื่นตีความเพราะมีการใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 แก้ไขเพิ่มเติมคือ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ซึ่งผลการตีความทั้ง 3 ฉบับล้วนมีผลกระทบต่อกำหนดการเลือกตั้งตามโรดแม็พ

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ชี้ชวนให้ประชาชนร่วมกันจับตาดูผลการตีความโดยเชื่อว่าปาฏิหาริย์ทางกฎหมายยังไม่สิ้นสุด

“หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 ขัดต่อรัฐธรรมนูญจริงจะทำให้คำสั่งดังกล่าวเป็นโมฆะ และเกิดปัญหาทางข้อกฎหมายว่าถ้าคำสั่งนี้ขัดรัฐธรรมนูญและเป็นโมฆะ คสช. จะตัดสินใจอย่างไรระหว่างให้กฎหมายเดิมบังคับใช้ต่อไปหรือให้ทำการแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับคำสั่งศาล

ถ้าให้ปรับแก้ก็ต้องเริ่มต้นกระบวนการพิจารณากฎหมายกันใหม่ โดยกระบวนการดังกล่าวต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป แต่หากไม่ต้องการยื้อก็สามารถใช้อำนาจมาตรา 44 สั่งปรับแก้ได้ ซึ่งวิธีนี้จะกระทบโรดแม็พนิดหน่อย เหล่านี้คือปาฏิหาริย์ทางกฎหมายที่คนส่วนใหญ่ยังคิดไม่ถึง ข่าวที่ว่าจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 หรืออุกกาบาตตกใส่ประเทศไทยยังไม่น่ากลัวเท่าปาฏิหาริย์ทางกฎหมายที่ คสช. จะเลือกใช้เพื่อยื้อเลือกตั้ง ทั้งหมดอยู่ที่ความพอใจของ คสช. ว่ามีความจริงใจที่จะกำหนดให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นเมื่อใดกันแน่

จะเห็นว่าการเขียนกฎหมายยุคนี้ค่อนข้างมีปัญหาทั้งตั้งใจให้มีปัญหาและไม่ตั้งใจให้มีปัญหาจนต้องใช้ “อำนาจพิเศษ” ตามแก้เป็นลิงแก้แห อำนาจพิเศษที่ใช้สร้างปาฏิหาริย์ หากใช้บ่อยเกินไปอาจกลายเป็นเลอะเทอะได้


You must be logged in to post a comment Login