วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567

ไม่ใช่สุดท้าย?

On March 22, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

การใช้อำนาจมาตรา 44 เด้ง “สมชัย” พ้นเก้าอี้ กกต. แม้ทำให้เสียรังวัด เพราะลบล้างคำพูดที่ว่าไม่แทรกแซงองค์กรอิสระอย่างสิ้นเชิง แถมถูกมองว่าส่งสัญญาณถึง กกต.ที่เหลือรวมถึงองค์กรอื่นว่าอย่าล้ำเส้น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อผู้มีอำนาจ แต่มีแนวโน้มความเป็นไปได้ว่าหลังจากนี้จะมีการใช้อำนาจมาตรา 44 เกิดขึ้นอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพิจารณาจากคำพูดที่ว่าหากพรรคการเมืองไม่มาพูดคุยตามคำเชิญในช่วงเดือนมิถุนายนจะไม่สามารถกำหนดวันเลือกตั้งได้ ในขณะที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องจัดเลือกตั้งภายใน 150 วัน หลัง พ.ร.ป.ฉบับสุดท้ายประกาศใช้อย่างเป็นทางการ หากกำหนดวันเลือกตั้งไม่ได้อาจถึงขั้นต้องใช้มาตรา 44 แก้รัฐธรรมนูญกันเลยทีเดียว

สถานการณ์บ้านเมืองวันนี้มีความชัดเจนระดับหนึ่งแล้วว่าไม่น่าจะมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)

เมื่อผู้มีอำนาจทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยืนยันชัดเจนว่าไม่ยื่นตีความ ขณะที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ยืนยันเช่นกันว่าไม่ยื่น

อย่างไรก็ตาม ต้องรอดูว่าหลังนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ทำเรื่องแสดงความห่วงใยถึงนายกฯแล้วจะเปลี่ยนใจอะไรหรือไม่

เหตุผลที่จะไม่ยื่นตีความดูเหมือนจะพูดไปในทำนองเดียวกันเพื่อให้ประชาชนเข้าใจว่าไม่ต้องการให้โรดแม็พเลือกตั้งถูกยืดออกไปจากกำหนดเดิม ซึ่งดูย้อนแย้งจากตอนลงมติให้เลื่อนบังคับใช้ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ออกไปอีก 90 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา จนทำให้โรดแม็พขยับจากปลายปีนี้ไปเป็นเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า

โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพิจารณาจากคำพูดที่ว่าหากพรรคการเมืองไม่มาพูดคุยตามคำเชิญในช่วงเดือนมิถุนายนจะไม่สามารถกำหนดวันเลือกตั้งได้ก็ดูเหมือนว่าจะมีความย้อนแย้งกันอยู่ในตัวพอสมควร

ทั้งนี้ ในทางกฎหมายไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ กฎหมายเลือกตั้ง ไม่มีข้อใดกำหนดให้นายกฯเรียกพรรคการเมืองมาคุยก่อนกำหนดวันเลือกตั้ง

ตามกฎหมายกำหนดกรอบเวลาไว้แน่นอนแล้วว่าจะต้องจัดเลือกตั้งภายในกี่วันหลัง พ.ร.ป. ฉบับสุดท้ายคือ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ประกาศใช้

ถ้าเชิญแล้วพรรคการเมืองไม่มาหรือมาไม่ครบแล้วไม่กำหนดวันเลือกตั้งจนเกินกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนดถือว่าทำผิดกฎหมาย ก็ต้องรับผิดชอบส่วนนั้นไป

อย่างไรก็ตาม นายกฯยังมีอำนาจพิเศษมาตรา 44 ที่สามารถสั่งเปลี่ยนแปลงอะไรก็ได้ตามต้องการ เหมือนอย่างที่สั่งปลดนายสมชัย ศรีสุทธิยากร ให้พ้นจากการทำหน้าที่กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

แม้เหตุผลในทางเปิดเผยจะบอกว่าปลดเพราะไม่อยากให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ เนื่องจากนายสมชัยลงสมัครเป็นเลขาธิการ กกต.

แต่ในความเป็นจริงความได้เปรียบเสียเปรียบไม่ได้อยู่ที่นายสมชัยยังเป็น กกต. อยู่หรือไม่ เพราะแม้จะพ้นตำแหน่งแล้วแต่ความสัมพันธ์ที่ทำงานร่วมกับ กกต. อื่นอีก 4 คนมายาวนาน ผ่านร้อนผ่านหนาวหลายเรื่องมาด้วยกัน หาก กกต. ทั้ง 4 คนจะเลือกนายสมชัยเป็นเลขาฯ กกต. ก็คงไม่มีอะไรมาเปลี่ยนใจได้

หลายฝ่ายจึงเห็นตรงกันว่าเหตุผลที่แท้จริงในการปลดนายสมชัยน่าจะมาจากพักหลังทำตัวปีนเกลียวให้สัมภาษณ์แสดงความเห็นในเชิงลบจนกระทบต่อผู้มีอำนาจหลายครั้ง โดยเฉพาะการพูดถึงหมากเกมที่จะทำให้การเลือกตั้งถูกยืดหรือเลื่อนออกไปจากกำหนดเดิม

นอกจากนี้ยังมองได้ว่าการปลดนายสมชัยเป็นการส่งสัญญาณตรงถึง กกต.ที่เหลืออีก 4 คนว่าอย่าล้ำเส้น เพราะสามารถถูกเด้งพ้นเก้าอี้ได้ตลอดเวลา แม้จะเพิ่งถูกต่ออายุให้นั่งทับเก้าอี้ต่อไปได้จนกว่าจะมี กกต.ชุดใหม่เข้ามารับไม้ต่อแม้จะอายุครบเกษียณ 70 ปีแล้วก็ตาม

คำสั่งเด้งนายสมชัยจึงลบล้างคำพูดที่ว่าไม่แทรกแซงองค์กรอิสระอย่างสิ้นเชิง

ทั้งนี้ หากพิจารณาตามเงื่อนเวลาที่สั้นลง เงื่อนเวลาที่กำหนดกรอบไว้ในกฎหมายแต่ละฉบับ ทำให้เชื่อได้ว่าจากนี้มีความเป็นไปได้ว่าจะมีการใช้อำนาจมาตรา 44 ออกมาแก้ปัญหาและจัดระเบียบให้ทุกอย่างเข้าที่เข้าทางตามต้องการก่อนปล่อยให้มีเลือกตั้งมากขึ้น

หรือหากไม่สามารถกำหนดวันเลือกตั้งได้ หากพรรคการเมืองไม่มาร่วมวงพูดคุยตามคำเชิญอย่างที่ประกาศเอาไว้จริง บางทีอาจได้เห็นการใช้อำนาจมาตรา 44 แก้รัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ต้องจัดเลือกตั้งภายใน 150 วันหลัง พ.ร.ป.ฉบับสุดท้ายมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ


You must be logged in to post a comment Login